ยาล้างจมูก น้ำยาสวนล้างจมูก (Nasal wash or Nasal douche)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาล้างจมูกคืออะไร?

ยาล้างจมูก หรือน้ำยาสวนล้างจมูก (Nasal wash หรือ Nasal douche หรือบางคนใช้คำว่า Nasal irrigation หรือ Nasal lavage) คือ การล้างจมูกเพื่อเป็นการทำความสะอาดโพรงจมูก/เยื่อ จมูก/เนื้อเยื่อบุโพรงจมูก/เยื่อเมือกโพรงจมูกและไซนัส โดยใช้น้ำเกลือเพื่อล้างเอาน้ำมูกที่ติดในโพรงจมูก หนอง และสิ่งสกปรกต่างๆออกมาจากโพรงจมูก เพื่อให้โพรงจมูกโล่งสะอาด บรรเทาอาการแน่น/คัดจมูก ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในโพรงจมูก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ที่มีขนกวัด (Cilia, ขนที่ใช้โบกกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอม) ในโพรงจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถลดการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะลงได้ นอกจากการใช้น้ำเกลือล้างจมูกอาจใช้น้ำเกลือในรูปแบบยาหยอดจมูก หรือใช้น้ำเกลือในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก หรือสเปรย์พ่นเป็นละอองฝอย

น้ำเกลือล้างจมูกคืออะไร?

ยาล้างจมูก

น้ำเกลือล้างจมูกคือ น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % (0.9% Normal Saline Solution, 0.9% NSS) ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากโรงพยาบาลทุกแห่ง ร้านขายยาทั่วไป หรือเตรียมเองโดยใช้เกลือแกง/เกลือ (Sodium chloride) ½ ช้อนชาผสมกับผงฟู (Baking soda หรือ Sodium bicarbo nate) ที่ใช้ 1/8 ช้อนชาผสมกับน้ำสะอาด 240 ซีซี/CC/Cubic centimeter ทั้งนี้การใช้ผงฟูสามารถลดอาการแสบจมูกของคนไข้ได้ดีโดยเฉพาะเมื่อน้ำเกลือนั้นมีความเข้มข้นของเกลือมากเกินไป และสำหรับน้ำเกลือที่เตรียมเองควรใช้ภายใน 1 วันเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ทิ้งไป ส่วนน้ำเกลือ 0.9% NSS เก็บได้นานตามที่ระบุวันหมดอายุที่เขียนไว้บนข้างขวดน้ำเกลือ

น้ำเกลือล้างจมูกมีจำหน่ายในรูปแบบใดบ้าง?

น้ำเกลือล้างจมูกมีจำหน่ายในรูปแบบดังนี้เช่น

  • น้ำเกลือในรูปแบบของเหลว (Nasal douching)
  • น้ำเกลือพ่นเป็นละอองฝอย (Nebulization)
  • น้ำเกลือในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก (Nasal spray)

มีข้อบ่งใช้น้ำเกลือล้างจมูกอย่างไร?

ข้อบ่งใช้น้ำเกลือล้างจมูกมีดังนี้เช่น

1. ใช้ล้างทำความสะอาดโพรงจมูกเมื่อมีอาการคัดจมูก โดยชะล้างน้ำมูกที่ไหลออกมามากเกินไป เชื้อโรค สารต่างๆจากเยื่อจมูกที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammatory mediators) สารก่อภูมิแพ้ต่างๆเช่น ฝุ่นหรือละอองเกสรดอกไม้ เพื่อให้ออกมาจากโพรงจมูก

2. ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุโพรงจมูกเมื่อจมูกแห้งสาเหตุจากมีความชื้นในโพรงจมูกต่ำ

3. ช่วยให้สารคัดหลั่งในโพรงจมูกเหลวขึ้น/ลดความเหนียวลง ไม่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อให้สามารถกำจัดออกมาได้ง่าย ชะล้างสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกออกหลังการผ่าตัดจมูกทำให้แผลหายเร็วขึ้น

4. ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก

5. ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกโดยลดอาการบวมอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก

6. ช่วยระบายหนองออกจากโพรงไซนัสทำให้อาการไซนัสอักเสบดีขึ้น จึงใช้เป็นการรักษาเสริมในโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

7. การล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นจมูกหรือยาหยอดจมูก จะช่วยให้ยาเหล่านั้นผ่านเข้าไปในเยื่อจมูกได้มากขึ้นส่งผลให้ยาเหล่านั้นออกฤทธิ์ต่อเยื่อจมูกได้ดีขึ้น

มีข้อห้ามใช้น้ำเกลือล้างจมูกอย่างไร?

โดยทั่วไปการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัยทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่มีข้อห้ามในบางกรณีดังต่อไปนี้

1. ห้ามล้างจมูกในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บบริเวณใบหน้าในขณะที่แผลยังไม่หายดี เพราะอาจทำให้มีน้ำเกลือตกค้างอยู่บริเวณเนื้อเยื่อหรือตามโพรงของแผลส่งผลให้แผลติดเชื้อได้ง่าย

2. ห้ามล้างจมูกในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของระบบประสาทหรือของกล้ามเนื้อเพราะผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติเช่น อาการสั่นจากมีความผิดปกติของสมองน้อย (Intention tremor) เพราะ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักจนเกิดอาการหายใจลำบากและ/หรือถ้าสำลักเข้าปอดอาจส่งผลให้เกิดปอดบวมได้

3. ห้ามใช้น้ำเปล่า/น้ำประปาล้างจมูก เพราะน้ำเปล่าไม่สมดุลกับน้ำภายในเซลล์ร่างกาย อาจ ทำให้รู้สึกแสบโพรงจมูก คัดจมูกมากขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

มีข้อควรระวังอย่างไรในการใช้น้ำเกลือล้างจมูก?

มีข้อควรระวังการใช้น้ำเกลือล้างจมูกเช่น

1. ระวังการล้างจมูกในผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือที่เสี่ยงต่อการสำลัก

2. การล้างจมูกเป็นการรักษาช่วยเสริมการรักษาหลัก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นแต่ไม่สามารถทดแทนการรักษาหลักได้ ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลักตามอาการเช่น การใช้ยาพ่นจมูก ยาหยอดจมูก ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ต่อไป

3. ไม่ควรฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกแรงๆเพราะอาจทำให้เยื่อจมูกเกิดการระคายเคืองหรือเกิดเยื่อจมูกอักเสบ

4. น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกไม่ควรมีขวดขนาดใหญ่เกินไป เพราะการเปิดใช้และเก็บไว้นานอาจทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ ควรใช้น้ำเกลือขนาด 100 ซีซี น้ำเกลือที่ใช้แล้วเหลือควรเททิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดเดิม

5. หากน้ำเกลือเย็นเกินไป ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนล้างจมูกเพราะอาจทำให้คัดจมูกหลังจากการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยนำขวดน้ำเกลือหรือเทน้ำเกลือใส่แก้ว แล้วนำไปแช่ลงในภาชนะที่มีน้ำต้มเดือด หรือนำน้ำเกลือไปอุ่นในไมโครเวฟก่อน และก่อนที่จะนำน้ำเกลือมาล้างจมูก ควรทดสอบอุณหภูมิกับหลังมือก่อนว่าสามารถทนความร้อนได้หรือไม่

6. ขณะสั่งน้ำมูก ไม่ควรอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งเพราะอาจทำให้หูอื้อหรือแก้วหูทะลุได้ ควรสั่งน้ำมูกพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง

7. ควรล้างจมูกในขณะที่ท้องว่าง ก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากรับประทานอาหารอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการสำลักอาหาร

การล้างจมูกในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือในหญิงตั้งครรภ์และในหญิงให้นมบุตรสามารถทำได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ และรวมถึงในหญิงให้นมบุตร

การล้างจมูกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือในผู้สูงอายุสามารถทำได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ

การล้างจมูกในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การล้างจมูกในเด็กสามารถทำได้อย่างปลอดภัย โดยผู้ปกครองของเด็กควรศึกษาวิธีล้างจมูกอย่างถูกวิธี รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลเพื่อป้องกันเด็กสำลัก

สำหรับเด็กเล็กที่ไม่สามารถสั่งน้ำมูก กลั้นหายใจ หรือบ้วนเสมหะเองได้ อาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกแทนโดยหยอดข้างละ 2 - 3 หยดในขณะที่เด็กนอนหงาย รอสักครู่เพื่อให้น้ำมูกมีความเหนียวลดลงแล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก ทำซ้ำหลายๆครั้งจนจมูกโล่ง

อาการไม่พึงประสงค์จากน้ำเกลือล้างจมูกมีอะไรบ้าง?

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือมีความปลอดภัย โดยทั่วไปอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้น้ำเกลือล้างจมูกพบได้บ้างและเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ รู้สึกไม่สบายใจหรือกังวลใจในช่วงแรกที่ล้างจมูก นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อ อาจรู้สึกระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูก แสบจมูก เลือดกำเดาไหล สำลัก คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ปวดหัว ซึ่งจะเป็นอาการเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง อาการข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้สามารถลงลดได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการล้างจมูกให้ถูกต้อง รวมทั้งใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นของเกลือพอเหมาะกับเซลล์ร่างกาย ไม่จำเป็นต้องหยุดการล้างจมูกหรือใช้ยารักษาแต่อย่างใด

วิธีล้างจมูก

วิธีล้างจมูกควรปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่

1. ล้างมือให้สะอาดก่อนล้างจมูก

2. เทน้ำเกลือใส่แก้วหรือถ้วยที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาที่สะอาดดูดน้ำเกลือจนเต็มหรือตาม แพทย์พยาบาลแนะนำ

3. นั่งหรือยืนก้มหน้าเล็กน้อย เอนศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งเล็กน้อย กลั้นหายใจหรือหายใจทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกให้ชิดรูจมูกทางด้านบน แล้วฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 5 - 10 ซีซี หากมีเสมหะหรือน้ำเกลือไหลลงคอให้บ้วนทิ้งไป

4. หลังจากนั้นใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออกหรือสั่งน้ำมูกออกพร้อมกันทั้งสองข้าง

5. ทำซ้ำหลายๆครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก

6. ล้างอุปกรณ์ให้สะอาดตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ แล้วผึ่งให้แห้งเพื่อนำกลับมาใช้ครั้งต่อๆไป

บรรณานุกรม

  1. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. จมูก (nose)pharm.kku.ac.th/thaiv/pharmpractice/eent/lesson/nose/nose-doc.pdf [2016,Feb27]
  2. ปารยะ อาศนะเสน, ภาควิชาโสตนาสิก นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. คำแนะนำในการล้างจมูก. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=283 [2016,Feb27]
  3. ปารยะ อาศนะเสน, ภาควิชาโสตนาสิก นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ล้างจมูกให้ลูก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=611 [2016,Feb27]
  4. พิสนธิ์ จงตระกูล. โรคหวัด. http://web.bcnpy.ac.th/cdm/images/files/pdf/16-20-feb-58/4.pdf. [2016,Feb27]
  5. นวลจันทร์ ปราบพาล. แนวทางการบำบัดรักษาทางระบบหายใจในเด็ก. http://www.thaipediatrics.org/html/slidedetail_news.php?nid=cd00692c3bfe59267d5ecfac5310286c&head=edu [2016,Feb27]
  6. ชมรมผู้ป่วยโรคหืด. การล้างจมูก. 2558. http://thaikidspacer.com/main/content.php?id=8 [2016,Feb27]
  7. คณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพด้านการเตรียมยาและคณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษาะทางวิชาชีพทางเภสัชกรรมด้านการจ่ายยา. คู่มือทักษาตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม.
  8. Wormald P. J. et al. A Comparative Study of Three Methods of Nasal Irrigation. The Laryngoscope. 114 (December 2004) : 2,224-2,227
  9. Pinto J.M. and Jeswani S. Rhinitis in the geriatric population. Allergy, Asthma & Clinical Immunology. 6 (2010) : 1-12
  10. Tomooka L.T., Murphy C. and Davidson T.M., Clinical Study and Literature Review of Nasal Irrigation. The Laryngoscope. 110 (July 2000) : 1,189-1,193
  11. Papsin B., and Mctavish A. Saline nasal irrigation Its role as an adjunct treatment. Canadian Family Physician 49 (February 2003) : 168-173
  12. https://en.wikipedia.org/wiki/Nasal_irrigation [2016,Feb27]