ยาโอเมพราโซล (Omeprazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) คือ ยาที่ใช้รักษาอาการ กรดไหลย้อน, แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้/แผลเปบติค นอกจากนี้ยังใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ H. pylori (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร) ที่มักจะฝังตัวอยู่ในผนังกระเพาะอาหาร และทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้า จัดจำหน่ายครั้งแรกในประเทศอเมริกา เมื่อปีค.ศ.1989 (พ.ศ. 2532) ประเทศไทยเราสามารถหาซื้อยานี้ได้ตามร้านขายยาทั่วไป อีกทั้งมีใช้ในโรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน

หลังรับประทาน ยาโอเมพราโซล จะถูกดูดซึมเข้าทางลำไส้เล็ก ภายใน 3-6 ชั่วโมง และถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลงครึ่งหนึ่ง ภายในเวลา 1 - 1.2 ชั้วโมง

ยาโอเมพราโซลจะถูกขับออกจากร่างกายได้ทั้งทางปัสสาวะและอุจจาระ การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายในคำสั่งแพทย์เท่านั้น ไม่สมควรไปหาซื้อยามารับประทานเอง

ยาโอเมพราโซล

ยาโอเมพราโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาโอเมพราโซล มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาอาการกรดไหลย้อน
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ยาโอเมพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโอเมพราโซล จะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า Hydrogen-potassium Adenosinetriphosphatase ทำให้ลดการหลั่งกรดเกลือในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาการกรดไหลย้อน และแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ดีขึ้น

ยาโอเมพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโอเมพราโซลในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบของยารับประทานและยาฉีด เช่น

  • ยาแค็ปซูล ขนาด 20 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 20 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม

ยาโอเมพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาโอเมพราโซล: เช่น

ก. ผู้ใหญ่: เช่น

  • แผลในลำไส้: เช่น รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 2 - 4 สัปดาห์,
  • แผลในลำไส้เรื้อรัง: เช่น รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหาร
  • แผลในกระเพาะอาหาร: เช่น รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์
  • แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง: เช่น รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหาร
  • สำหรับกรดไหลย้อน: เช่น รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 4 – 8 สัปดาห์,
  • เมื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของกรดไหลย้อน: เช่น รับประทาน ครั้งละ 10 มิลลิกรัม และเพิ่มเป็น 20 - 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การรับประทานยานี้ ต้องแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโอเมพราโซลด้วย ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอเมพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโอเมพราโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโอเมพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโอเมพราโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง ) เช่น

  • ปวดหัว
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องอืด
  • อาจพบผื่นคันได้บ้าง
  • วิงเวียน
  • ปริมาณเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น (ตับอักเสบ)

มีข้อควรระวังการใช้ยาโอเมพราโซลอย่างไร?

ยาโอเมพราโซลมีข้อควรระวังในการใช้ยา เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาโอเมพราโซล
  • ห้ามใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาโอเมพราโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโอเมพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาโอเมพราโซลกับยาอื่นๆ เช่น

  • การใช้ยาโอเมพราโซล ร่วมกับ ยาคลายความวิตกกังวล (ยาคลายเครียด) จะส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ในตับ และทำให้ระดับยาคลายความวิตกกังวลมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ทำให้อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆของยาคลายความวิตกกังวลแสดงผลกระทบต่อร่างกายได้มากมายตามมา เช่น ง่วงนอนมาก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก ยาคลายความวิตกกังวลดังกล่าว เช่นยา Alprazolam, Diazepam
  • การใช้โอเมพราโซล ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการ ตกเลือดหรือเลือดออกง่าย (ถึงแม้จะพบได้น้อยรายก็ตาม) รวมไปถึง อาการบวม คลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย ควรต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานของยาให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วย ยาต้านการแข็งตัวของเลือดดังกล่าว เช่นยา Dicumarol, Warfarin
  • การใช้โอเมพราโซล ร่วมกับ ยาวิตามินรวมที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เพื่อบำรุงเลือดหรือรักษาอาการโลหิตจาง/โรคซีด สามารถทำให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดน้อยลง จนส่งผลให้การบำรุงเลือดด้อยประสิทธิภาพลง ควรต้องปรับระยะเวลาของการรับประทานไม่ให้ตรงกัน ทั้งนี้ แพทย์ เภสัชกร จะเป็นผู้แนะนำวิธีรับประทานที่ถูกต้อง
  • การใช้โอเมพราโซล ร่วมกับ ยาลดไขมันบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับหรือทำให้เกิดการทำลายตัวเองของกล้ามเนื้อลาย/กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ยาลดไขมันดังกล่าว เช่นยา Simivastatin, Atovastatin

ควรเก็บรักษายาโอเมพราโซลอย่างไร?

สามารถเก็บยาโอเมพราโซล: เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
  • บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ยาโอเมพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโอเมพราโซล มียาชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Airomet-Aom (แอโรเมท-ออม)Masa Lab
Amnopra (แอมโนพรา)AMN Life Science
Desec (ดีเซก)T.O. Chemicals
Dosate (โดเซท)Pharmasant Lab
Duogas (ดูโอแก๊ส)MacroPhar
Duosolin (ดูโอโซลิน)Pond’s Chemical
Eselan (อีเซแลน)Anfarm-Hellas
Eucid (ยูซิด)Greater Pharma
Gaster (แก๊สเตอร์)Unison
Gomec (โกเมค)General Drugs House
Lokit (โลคิท)Kopran
Lomac (โลแมค)Cipla
Lomicid (โลไมซิด)The United Drug (1996)
Losec MUPS (โลเซค เอ็มยูพีเอส)AstraZeneca
Madiprazole (มาดิพราโซล)Pharmadica
Metsec (เมทเซค)T P Drug
Miracid (ไมราซิด)Berlin Pharm
Moprix (โมพริกซ์)Sinensix Pharma
Mosec (โมเซค)P P Lab
Nocid (โนซิด)Farmaline
Ocid (โอซิด)Zydus Cadila
Omeman (โอเมแมน)T. Man Pharma
Omepac (โอเมแพค)Inpac Pharma
Omeprazole GPO (โอเมพราโซล จีพีโอ)GPO
Omeprazole March Pharma (โอเมพราโซล มาร์ช ฟาร์มา) March Pharma
Omeprazole U Square (โอเมพราโซล ยู สแควร์)U Square Lifescience
Omeprol (โอเมพรอล)Sinensix Pharma
Omesec (โอเมเซค)Natco
Omesec Capsule (โอเมเซค แคปซูล)The United Drug (1996)
Omezol (โอเมซอล)Standard Chem & Pharm
Omezole (โอเมโซล)Millimed
Omlek 20 (โอมเลค 20)Unique
Opramed (โอพราเมด)Charoon Bhesaj
O-Sid (โอ-ซิด)Siam Bheasach
Prazole (พราโซล)Renata
Sanosec (ซาโนเซค)Pharmahof
Seto-o (เซโต-โอ)Putchubun Dispensary
Stomec (สโตเมค)Medicine Products
Ulpracid (อัลพราซิด)Polipharm
Ulprazole (อัลพราโซล)Polipharm
Zefxon (เซฟซอน)Biolab
Zigacap (ไซกาแคพ)Bangkok Lab & Cosmetic

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Omeprazole [2021,Aug28]
  2. https://www.drugs.com/omeprazole.html [2021,Aug28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/omeprazole?mtype=generic [2021,Aug28]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/omeprazole%20gpo [2021,Aug28]