กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กล้ามเนื้อลายสลาย หรือกล้ามเนื้อลายละลาย (Rhabdomyolysis) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อลายทั่วร่างกายได้รับบาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลันที่ส่งผลให้เกิดการบาด เจ็บและ/หรือการตายของเซลล์เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อลายและของเซลล์กล้ามเนื้อลาย ที่ส่งผลให้เกิดสารพิษและสารที่ก่อการอักเสบ ซึ่งสารเหล่านี้จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นทั้งกับกล้ามเนื้อลายและกับอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะสารพิษที่เป็นโปรตีนชนิดที่ชื่อ “Myoglobin” ถ้าปริมาณสารตัวนี้ในเลือดมีมาก สารนี้จะไปอุดกั้นที่ท่อกรองปัสสาวะในหน่วยไตส่วนที่เรียกว่า Renal tubule ส่งผลให้ไตกรองปัสสาวะไม่ได้ เกิดเป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ตายได้ในที่สุด

กลุ่มอาการ หรือ ภาวะ หรือ โรคกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย นี้เป็นโรคพบเรื่อยๆไม่บ่อยนัก สถิติการเกิดแน่นอนในภาพรวมทุกสาเหตุยังไม่ทราบ จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาลขึ้นกับแต่ละสาเหตุ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญเกิดจากกล้ามเนื้อลายได้รับบาดเจ็บรุนแรงชนิดบดทับ (Crush injury) เช่น จากแผ่นดินไหว ดินถล่ม หรือในผู้เสพสาร/ยาเสพติด (เช่น โคเคน, เฮโรอีน) ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อลายขาดเลือดเฉียบพลันจากพิษของสารเสพติดเหล่านั้นต่อสมองและต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

กล้ามเนื้อลายสลาย /กล้ามเนื้อลายละลาย เกิดในทุกอายุ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็กมาก และพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง

กล้ามเนื้อลายสลายเกิดได้อย่างไร?

กล้ามเนื้อลายสลาย

กล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย เกิดจากกล้ามเนื้อลายได้รับบาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลัน ส่งผลให้เยื่อหุ้มเซลล์กล้ามเนื้อลาย (Sarcolemma)เกิดบาดเจ็บรุนแรงจนสูญเสียการทำงานสำคัญคือ การรักษาสมดุลระหว่างโซเดียมกับแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อลาย (Monocyte) กับของเหลวที่หล่อเลี้ยงอยู่ภายนอกเซลล์กล้ามเนื้อลาย (Extracellular fluid)เสียไป ส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อลายไม่สามารถสร้างพลังงานที่ใช้ในการทำงาน/ในการดำรงชีวิตของเซลล์ได้ เซลล์กล้ามเนื้อลายจึงตายในที่สุดด้วยการสลายตัว/ละลายตัวที่เรียกว่า “Rhabdomyolysis” ซึ่งการตายของเซลล์กล้ามเนื้อลายด้วยวิธีสลายตัวนี้ จะส่งผลให้เกิดสารพิษมากมายเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดเป็นอาการและภาวะผิดปกติต่างๆ ซึ่งสารพิษตัวสำคัญและอาจเป็นสาเหตุของการตาย คือ สารพิษที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘Myoglobin’ ซึ่งจะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางไต แต่ถ้าในเลือดมีสารพิษนี้ในปริมาณสูงมาก สารพิษนี้จะไปอุดกั้นท่อกรองปัสสาวะในหน่วยไต ส่งผลให้ไตทำงานไม่ได้ เกิดเป็นภาวะไตวายเฉียบพลันขึ้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ไตเสียหายถาวร เกิดเป็นโรคไตเรื้อรัง และ/หรือผู้ป่วยตายจากไตวายได้

กล้ามเนื้อลายสลายมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลายหรือการบาดเจ็บรุนแรงต่อเยื้อหุ้มเซลล์ กล้ามเนื้อลายและต่อเซลล์กล้ามเนื้อลายได้แก่

  • อุบัติเหตุรุนแรงต่อกล้ามเนื้อลายที่มักเป็นอุบัติเหตุในลักษณะบด อัด/กด ทับ (Crush injury) เช่น จากแผ่นดินไหว ดินถล่ม
  • การออกกำลังกายหรือใช้แรงอย่างหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน
  • การชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างต่อเนื่องเช่น โรคลมชักชนิดที่เรียกว่า ภาวะชักต่อเนื่อง
  • การถอนยา(ลงแดง)ที่อาจทำให้เกิดการชักเกร็ง กระตุกรุนแรง รวมไปถึงการอาเจียนอย่างรุนแรง เช่น ในผู้เลิกสุราหรือเลิกสารเสพติดทันที
  • ภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อลายไม่ได้ใช้งานนานๆ เช่น ผู้ป่วยนอนติดเตียง จะส่งผลให้กล้ามเนื้อลายขาดเลือดจากขาดการไหลเวียนเลือด
  • การติดเชื้อรุนแรงที่พิษของเชื้อโรคก่อการบาดเจ็บโดยตรงต่อเซลล์กล้ามเนื้อลาย เช่น ในภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือในไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง
  • อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากเช่น ในโรคลมแดด, แผลไฟไหม้/น้ำร้อนลวกรุนแรง หรือภาวะที่อุณหภูมิร่างกายลดต่ำมากๆ (พบเป็นสาเหตุได้น้อย) เช่น หนาวจัด
  • การเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่างๆของร่างกายเช่น ในโรคเบาหวานระยะควบคุมโรคไม่ได้ที่เกิด ภาวะเลือดเป็นกรด, โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน), ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาจิตเวชบางชนิด, ยาดมสลบบางชนิด(เพราะยาจะกดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตและการเคลื่อนไหวร่าง กาย กล้ามเนื้อลายจึงขาดเลือด), ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มยาสแตติน(Statin), แต่พบสาเหตุเกิดจากกลุ่มนี้ได้น้อย
  • สารเสพติดต่างๆ เช่น โคเคน เฮโรอีน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆรวมทั้งกล้ามเนื้อลายขาดเลือดได้
  • พิษจากสัตว์เช่น พิษงู
  • พันธุกรรม: ผู้ป่วยบางรายจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น พันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานจากไขมัน (Carnitine deficiency) สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก
  • บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

กล้ามเนื้อลายสลายมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ อาการเฉพาะ ที่ที่เกิดกับกล้ามเนื้อลาย, อาการที่เกิดได้ทั่วร่างกาย (Systemic symptom) และอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงจากภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

ก. อาการเฉพาะที่ที่เกิดกับกล้ามเนื้อลาย: เช่น

  • กล้ามเนื้อลาย บวม ปวด กดเจ็บ มีรอยช้ำหรือห้อเลือด
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ข. อาการที่เกิดทั่วร่างกาย (Systemic symptom): เช่น

  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • สับสน
  • กระสับกระส่าย
  • ประสาทหลอน
  • ชัก
  • บวมน้ำทั่วตัว
  • ปัสสาวะน้อย
  • ปัสสาวะมีสีคล้ำ/สีชา (จากสีสารพิษ Myoglobin)

ค. อาการจากผลข้างเคียงจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ: ที่พบบ่อยคือ ไตวาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไตวาย) ซึ่งอาการจากผลข้างเคียงจะแตกต่างกันในแต่ละกรณี ขึ้นกับว่าเกิดผลข้างเคียงอะไรและรุนแรงหรือไม่

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติที่มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดัง กล่าวใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อลายสลายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัย กล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูค่าสารที่เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของกล้ามเนื้อที่สำคัญคือ ครีอะทีน(Creatine), การตรวจค่าเอนไซม์ซีพีเค(CPK test)ที่จะขึ้นสูงกว่าค่าปกติอย่างน้อย 5 - 10 เท่า
  • ตรวจเลือดดู
    • ค่าสารพิษต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของกล้ามเนื้อ เช่น แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม กรดยูริค
    • ค่าการทำงานของไต ของตับ
    • ตรวจเลือดซีบีซี
    • ตรวจปัสสาวะ ดูเม็ดเลือดแดงและสาร Myoglobin
  • อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ
    • ตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์เมื่อสงสัยสาเหตุเกิดจากโรคของต่อมไทรอยด์

รักษากล้ามเนื้อลายสลายอย่างไร?

กล้ามเนื้อสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย เป็นโรค/ภาวะรุนแรง การรักษามักเป็นการรักษาโดยรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล (แต่ในรายที่อาการน้อยและอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจจะแนะนำและให้ดูแลตนเองที่บ้านได้) โดยแนวทางการรักษาภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย คือ

  • การรักษาตามอาการ ที่สำคัญคือ
    • ป้องกันร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
    • ร่วมกับการคงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่างๆในเลือดด้วยการให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ
    • และคอยเฝ้าระวังการเกิดผลข้างเคียง คือ ภาวะไตวายด้วยการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไตเป็นระยะๆ ซึ่งถ้าเกิดไตวายอาจต้องแก้ไขด้วยการล้างไต
  • ส่วนการรักษาตามอาการอื่น เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, ยาขับปัสสาวะ (กรณีเกิดภาวะบวมน้ำ)
  • และร่วมกับการรักษาสาเหตุ: ที่จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย เช่น หยุดยานั้นๆในกรณีสาเหตุเกิดจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เป็นต้น

กล้ามเนื้อลายสลายก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย ได้แก่

  • ภาวะไตวาย (อ่านเพิ่มเติม ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไตวาย) ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะนี้เกิดได้อย่างไร
  • อาจพบภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้ง่ายจาก ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากเกล็ดเลือดจับตัวกันในหลอดเลือดที่เรียกว่า ภาวะดีไอซี (DIC: Disseminated intravascular coagulation)

กล้ามเนื้อลายสลายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย เป็นภาวะ/โรครุนแรงที่อาจทำให้ตายได้จากการเกิดภาวะไตวาย ที่พบได้ประมาณ 10 - 50% ของผู้ป่วยกล้ามเนื้อลายสลายทั้งหมด

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคในภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ความรุนแรงของอาการ, สาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุ, มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่, และเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือไม่, สุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะนี้, รวมถึงการมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เร็วหรือช้า

ทั้งนี้ ถ้าไม่มีผลข้างเคียง และผู้ป่วยพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้เร็ว รวมทั้งมีสุขภาพพื้น ฐานแข็งแรง อัตราเสียชีวิตประมาณ 5%, แต่ถ้ามีผลข้างเคียงคือเกิดไตวาย อัตราเสียชีวิตจะประ มาณ 22%, และจะเพิ่มเป็นประมาณ 59% ถ้าไตเสียหายรุนแรง

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านสำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
  • ไม่ซื้อยาต่างๆกินเองยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน การใช้ยานอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำถ้าแพทย์ไม่สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น ปัสสาวะมีสีคล้ำมากขึ้น หรือปัสสาวะน้อย ลง
  • อาการที่รักษาหายไปแล้วกลับมามีอาการอีกเช่น มีไข้ กล้ามเนื้อบวม ปัสสาวะสีคล้ำ ปัสสาวะน้อยลง
  • มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น ผิวหนังเป็นจ้ำห้อเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด หรือไอเป็นเลือด
  • กังวลในอาการ

ป้องกันกล้ามเนื้อลายสลายอย่างไร?

การป้องกันกล้ามเนื้อสลาย/กล้ามเนื้อลายละลาย คือ การป้องกันสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสียงฯ)ที่ป้องกันได้ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่

  • ป้องกันอุบัติเหตุรุนแรงทางรถด้วยการเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด
  • ป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ แต่เมื่อเกิดเป็นโรคที่เป็นสาเหตุแล้วก็ต้องรักษาควบคุมโรคให้ได้ดี
  • ไม่กินยา/ใช้ยาต่างๆพร่ำเพรื่อ กินยา/ใช้ยาต่อเมื่อปรึกษาแพทย์/เภสัชกร/พยาบาลแล้ว
  • ไม่ออกกำลังกายหักโหม รู้จักวิธีที่ถูกต้องหากเล่นกีฬาประเภทหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง
  • ไม่ใช้สาร/ยาเสพติดทุกชนิดรวมถึงแอลกอฮอล์ด้วย

บรรณานุกรม

  1. Bosch, X. et al. (2009). N Engl J Med. 361, 62-72
  2. Hunter,J. et al. (2006).Continuing Education in Anaesthesia, Critical Care & Pain. 6, 141-143
  3. Sauret, J., and Marinaides, G. (2002). Am Fam Physician. 65, 907-912
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1007814-overview#showall [2021,Sept4]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Rhabdomyolysis [2021,Sept4]
  6. https://www.healthline.com/health/rhabdomyolysis [2021,Sept4]