ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) จัดเป็นสารสังเคราะห์กลุ่ม Glucocorticoid นำมาใช้ทางการแพทย์โดยมีวัตถุประสงค์ต้านการอักเสบ เช่น ยับยั้งการอักเสบอันมีสาเหตุจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย การอักเสบของกระดูก อาการหอบในโรคหืด ภาวะภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้ต่างๆ อาทิ ผื่นคันทางผิวหนัง นอกจากนี้ยังถูกนำไปช่วยบำบัดรักษาอาการของโรคมะเร็งในเม็ดเลือด/มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ทั้งนี้การใช้ยาที่ขนาดต่างๆ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ด้วยยานี้มีผลข้างเคียงมากมาย โดยเฉพาะผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ระบบทางเดินอาหาร ระบบการทำงานของเกล็ดเลือด อีกทั้งยังมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นอีกมากมาย ดังนั้น ยานี้จึงจัดเป็นยาควบคุมที่ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ไม่สามารถซื้อหาได้เองตามร้านขายยาทั่วไป

ยาเพรดนิโซโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเพรดนิโซโลน

สรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้ ของยาเพรดนิโซโลน เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังในรูปแบบยาครีมและยารับประทาน /ยาแก้อักเสบ
  • รักษาการอักเสบของลำไส้เล็ก/ลำไส้เล็กอักเสบ
  • รักษาการอักเสบของ ตา – หู ในรูปแบบของ ยาหยอดตา และยาหยอดหู
  • ป้องกันและบำบัดอาการภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้ และโรคหืด
  • ทำเป็นยาใช้เฉพาะที่ในการรักษาริดสีดวงทวาร
  • รักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง

ยาเพรดนิโซโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เพรดนิโซโลน จะยับยั้งการเคลื่อนตัวของเซลเม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย (Polymorphonuclear Leukocytes) ที่ผ่านมาทางหลอดเลือดฝอย อีกทั้งกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เพื่อไม่ให้มีการทำลายอวัยวะที่เจ็บป่วยอยู่ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ลดการอักเสบ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น

ยาเพรดนิโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

การจัดจำหน่ายยาเพรดนิโซโลน มีหลายรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม
  • ยาครีมชนิดทาขนาดความเข้มข้น 0.5%
  • ยาหยอดหู ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.5% โดยอาจมียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมร่วมด้วย

ยาเพรดนิโซโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาเพรดนิโซโลน เช่น

  • ขนาดรับประทานของผู้ใหญ่เพื่อต้านการอักเสบอยู่ในช่วง 5-60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1-4ครั้ง/วัน
  • ขนาดรับประทานของเด็กต้องคำนวณจากน้ำหนักตัวโดยแพทย์ผู้ทำการรักษา

อย่างไรก็ตาม ขนาดของยารับประทานขึ้นอยู่กับอาการของโรคและสภาพร่างกายของผู้ ป่วย ทั้งนี้แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดการรับประทานและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะ สม

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพรดนิโซโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพรดนิโซโลน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพรดนิโซโลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาเพรดนิโซโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง จากยาเพรดนิโซโลน เช่น

  • ทำให้มีอาการบวม ด้วยยานี้ โดยก่อให้เกิดการเพิ่มของเกลือโซเดียมในร่างกาย
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • มีขนขึ้นดกทั้งตัวรวมทั้งใบหน้าด้วย
  • กระดูกพรุน
  • ต้อกระจก
  • สิว
  • ผิวหนังบาง
  • กล้ามเนื้อลีบ จึงมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ความต้านทานต่อการติดเชื้อโรคต่ำลงจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพรดนิโซโลนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยา เพรดนิโซโลน ได้แก่

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้กำเนิดบุตร
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคต้อหิน เพราะจะทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบมากขึ้น
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ด้วยจะทำให้เชื้อโรครุกลามและมีจำ นวนมากขึ้น แต่กลับซุกซ่อนอาการจากติดเชื้อโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยในโรคต่างๆหลายโรค เพราะยานี้สามารถทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น เช่น
    • โรคหัวใจ
    • โรคไต
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคกระดูกพรุน
    • ผู้ป่วยอาการโรคจิต
    • โรคต้อกระจก
    • โรคเบาหวาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิด ที่รวมถึงยาเพรดนิโซโลน ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร ต่างๆ ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้ง เมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

ยาเพรดนิโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาเพรดนิโซโลนกับยาอื่นๆ เช่น

  • ไม่แนะนำให้ใช้ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ ขณะที่รับประทานยาเพรดนิโซโลน ด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคดังกล่าวจากวัคซีนฯ อีกทั้งอาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนฯได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนไม่เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน
  • การใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) บางกลุ่ม ร่วมกับ ยาเพรดนิโซโลน สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะเกิด ขึ้นในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ยาต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เช่น Ciprofloxacin และ Ofloxacin เป็นต้น
  • การใช้ยาแก้ปวดบางกลุ่มร่วมกับยาเพรดนิโซโลน สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้าง เคียง เช่น เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องรุนแรง เวียนศีรษะ และมีลักษณะของอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากมี เลือดออกในทางเดินอาหาร กลุ่ม ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่น Ibuprofen และ Celecoxib เป็นต้น

ควรเก็บรักษายาเพรดนิโซโลนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพรดนิโซโลน เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นจากแสง / แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเพรดนิโซโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาเพรดนิโซโลน เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clinipred (คลีนิเพรด)Bangkok Lab & Cosmetic
Di-Adreson F (ได-อดรีซัน เอฟ)MSD
Exopred (อีโซเพรด)Allergan
Farakil (ฟาราคิล)Chew Brothers
Fortisone (ฟอร์ทิโซน)The Forty-Two
Inf-Oph (อินฟ์-ออฟ)Seng Thai
Levoptin Simplex (ลีวอฟทิน ซิมเพลกซ์)Archifar
Mysolone-N (มายโซโลน-เอน)Okasa Pharma
Neosolone-C (นีโอโซโลน-ซี)Chew Brothers
Neosolone-G (นีโอโซโลน-จี)Chew Brothers
Neosolone-Y (นีโอโซโลน-วาย)Chew Brothers
Neozolone (นีโอโซโลน)British Dispensary
Opredsone (โอเพรดโซน)Greater Pharma
Polypred (โพลีเพรด)Pharmasant Lab
Pred Oph Ear DropsSeng Thai
Pred Oph Eye Drops Seng Thai
Predcap (เพรดแคป)Bangkok Lab & Cosmetic
Predex (พริเดกซ์)Takeda
Pred-Forte/Pred-Mild (เพรด-ฟอร์ท/เพรด-มายด์)Allergan
Predi K.B. (เพรดิ เค บี)K.B. Pharma
Predisole (พริดิโซน)P P Lab
Predman (เพรดแมน)T. Man Pharma
Predmycin P (เพรดมายซิน พี)Allergan
Prednisolone Atlantic (เพรดนิโซโลน แอทแลนติค)Atlantic Lab
Prednisolone BJ Benjaosoth (เพรดนิโซโลน บีเจ เบญจโอสถ)BJ Benjaosoth
Prednisolone Charoen Bhaesaj (เพรดนิโซโลน เจริญ เภสัช)Charoen Bhaesaj Lab
Prednisolone Chew Brothers (เพรดนิโซโลน ชิว บาร์เทอร์)Chew Brothers
Prednisolone GPO (เพรดนิโซโลน จีพีโอ)GPO
Prednisolone Greater Pharma (เพรดนิโซโลน เกรทเตอร์ ฟาร์มา)Greater Pharma
Prednisolone Medicine Products (เพรดนิโซโลน เมดิซิน โพรดักซ์)Medicine Products
Prednisolone Medicpharma (เพรดนิโซโลน เมดิคฟาร์มา)Medicpharma
Prednisolone Pond’s Chemical (เพรดนิโซโลน พอนด์’ส เคมิคอล)Pond’s Chemical
Prednisolone Suphong Bhaesaj (เพรดนิโซโลน สุพง เภสัช)Suphong Bhaesaj
Prednisolone T.P. (เพรดนิโซโลน ที.พี)T P Drug
Prednisolone Vesco Pharm (เพรดนิโซโลน เวสโก ฟาร์มา)Vesco Pharma
Predsomed (เพรดโซเมด)Medicpharma
Presoga (พรีโซกา)Utopian

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=prednisolone [2019,Aug3]
  2. https://www.medicinenet.com/prednisolone_solutionsyrup-oral/article.htm [2019,Aug3]
  3. https://www.drugs.com/dosage/prednisolone.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Immunosuppression [2019,Aug3]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/floxin-iv-with-prednisone-1741-3087-1936-0.html [2019,Aug3]