ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: นิยาม การอักเสบ สาเหตุโรค ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ

การอักเสบ (Inflammation) คือ การตอบสนองของหลอดเลือด (Vascular tissue) ต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นเกิดอาการ บวม แดง ร้อน เจ็บ/ปวด และอาจมีอาการไข้เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักของการอักเสบมี 2 สาเหตุ คือ

  • สาเหตุจากการติดเชื้อโรค
  • และสาเหตุจากที่ไม่ใช่การติดเชื้อโรค

 ซึ่งโรคต่างๆที่เกิดจากทั้ง 2 สาเหตุจะใช้ยาในการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงยาแก้อักเสบ/ยาต้านอักเสบ หรือ ยาฆ่าเชื้อ/ยาต้านเชื้อ จึงอาจทำให้คนทั่วไปสับสนว่าเป็นยาชนิดเดียว กัน ดังนั้นถ้ามีใคร/บุคคลากรทางการแพทย์ใช้คำว่า ยาแก้อักเสบ ควรสอบถามให้ชัดเจนว่า “ใช่ยาฆ่าเชื้อหรือไม่”

 บทความนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจของผู้ใช้ยาว่า ในทางการแพทย์ เมื่อใช้คำต่างๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อ/ยาต้านเชื้อ หรือ ยาแก้อักเสบ/ยาต้านอักเสบ/ยาต้านการอักเสบ บุคคลากรด้านการแพทย์เหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร เพื่อผู้ใช้ยาจะได้ไม่สับสนและจะได้เข้าใจได้ว่า ตนกำลังใช้ยากลุ่มใดอยู่เพื่อรักษาโรคอะไร รวมถึงจะได้พูดคุยปรึกษาสอบถามบุคคลากรที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ได้ถูกต้องตรงกับที่ตนสงสัยและด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน

บทความนี้ขอกล่าวในหัวข้อหลัก 3 หัวข้อ ซึ่งแต่ละหัวข้อหลักจะมีหัวข้อย่อยที่จะกล่าว ถึงเฉพาะหลักสำคัญของยาแต่ละกลุ่ม/ประเภทยา โดยหัวข้อหลักของกลุ่ม/ประเภทยา คือ ยาฆ่าเชื้อ, ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์, และยาต้านอักเสบสเตียรอยด์

ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial drugs):

ยาฆ่าเชื้อ ในภาพรวมหลักมีหัวข้อดังนี้ คือ    

ก. 'ยาฆ่าเชื้อ' ทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

 ยาฆ่าเชื้อ หมายถึง ยา/กลุ่มของสารที่ได้จากธรรมชาติและ/หรือจากการสังเคราะห์ทางเคมี โดยเป็นสารที่มีฤทธิ์ฆ่าหรือหยุดหรือต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพ ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา  โปรโตซัว  ปรสิต  เชื้อไวรัส

ข. ทางเภสัชแบ่ง’ยาฆ่าเชื้อ’เป็นประเภทใดบ้าง?

ยาฆ่าเชื้อ แบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม/ประเภทตามประเภทเชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่

  • กลุ่มใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial drug, Antibiotic drug) เรียกว่า ยาปฏิชีวนะ/ยาฆ่าแบคทีเรีย /ยาต้านแบคทีเรีย
  • กลุ่มที่ใช้รักษาโรคเชื้อรา เรียกว่า ยาฆ่าเชื้อรา หรือ ยาต้านเชื้อรา(Antifungal drugs)
  • กลุ่มที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อปรสิต เรียกว่า ยาฆ่าปรสิต(Antiparasitic drugs)
  • กลุ่มที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัส เรียกว่า ยาฆ่าไวรัส หรือ ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)

ค. ‘ยาฆ่าเชื้อ’อยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาฆ่าเชื้อ มีรูปแบบได้หลากหลาย ได้แก่

  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจอยู่ในรูปของ ยาเม็ด, แคปซูล, ยาผงแกรนูล (Granule)/ผงหยาบ สำหรับผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอน, ยาฉีด, ครีม, ยาหยอดหู, ยาหยอดตา, ขี้ผึ้งป้ายตา
  • ยาฆ่าเชื้อรา อาจอยู่ในรูปของยาเม็ด, แคปซูล, ครีม, ยาสารละลาย, ยาเหน็บช่องคลอด, ยาฉีด
  • ยาฆ่าปรสิต อาจอยู่ในรูปของ ยาเม็ด, ยาเม็ดเคี้ยว, ยาน้ำแขวนตะกอน
  • ยาฆ่าเชื้อไวรัส อาจอยู่ในรูปของ ยาเม็ด, ยาฉีด, ครีม, ยาหยอดตา, ขี้ผึ้งป้ายตา

ง. มีข้อบ่งใช้’ยาฆ่าเชื้อ’อย่างไร?

ข้อบ่งชี้หลักของการใช้ยาฆ่าเชื้อ คือ

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคติดเชื้อต่างๆที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ,  โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร,   โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs) ใช้รักษาโรคเชื้อราต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง(เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า), ที่สมอง, ที่ปอด
  • ยาต้านปรสิต (Antiparasitic drugs) ใช้รักษาโรคต่างๆที่เกิดจากปรสิต เช่น ไข้จับสั่น, โรคพยาธิตัวตืด (เช่น ตืดวัว,  พยาธิตืดหมู) , พยาธิไส้เดือน
  • ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) ใช้รักษาโรคต่างๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม, อีสุกอีใส, งูสวัด, เอชไอวี

จ. มีข้อห้ามใช้’ยาฆ่าเชื้อ’อย่างไร?

ข้อห้ามหลักในการใช้ยาฆ่าเชื้อ คือ *ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ โดยรวมถึง

  • การแพ้ยาฆ่าเชื้อกลุ่มที่มีโครงสร้างหลักคล้ายกันด้วย
  • และควรระวังการแพ้ยาข้ามกลุ่มยาได้ เช่น คนที่แพ้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Penicillin อาจแพ้ยากลุ่ม Cephalosorin ได้เช่นกัน

ฉ. มีข้อควรระวังใช้’ยาฆ่าเชื้อ’อย่างไร?

ข้อควรระวังหลักในการใช้ยาฆ่าเชื้อ คือ เมื่อเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองเพราะยาฆ่าเชื้อมีหลายชนิดที่การใช้ขึ้นกับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของอาการ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาเพื่อที่จะใช้ยาฆ่าเชื้อได้ถูกโรค, เพื่อได้รับการรักษาที่ได้ผล, และเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

ช. การใช้’ยาฆ่าเชื้อ’ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ยาฆ่าเชื้อ อาจผ่านรกหรือปนออกมากับน้ำนมแม่ ดังนั้นต้องเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อในขนาดต่ำที่สุดที่ให้ผลในการรักษาและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เช่น กลุ่มเตตร้าไซคลิน/Tetracycline, อีริโทรมัยซิน/Erythromycin), และยาต้านเชื้อรา กรีสซิโอฟูลวิน (Griseofulvin) เป็นต้น

ซ. การใช้’ยาฆ่าเชื้อ’ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุ จะมีการทำงานของร่างกายแย่ลง จึงต้องพิจารณาปรับขนาดยาฯโดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวยาที่ตับหรือที่ขับออกทางไต นอกจากนี้ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันอยู่แล้ว การใช้ยาฆ่าเชื้อจึงอาจเพิ่มโอกาสเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยาจนทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิมหรือถึงขั้นตายได้

ฌ. การใช้’ยาฆ่าเชื้อ’ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)มีระบบการทำงานของร่างกายที่ยังเจริญไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นขนาดของยาฆ่าเชื้อในเด็กต้องพิจารณาจากอายุและน้ำหนักตัว ควรใช้ยาฆ่าเชื้อด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)ที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเตตร้าไซคลินในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เพราะจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง และฟันมีสีผิดปกติ

ญ. อันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้’ยาฆ่าเชื้อ’คืออะไร?

ยาฆ่าเชื้อทุกชนิดมีอันตราย (ผลข้างเคียง) โดยความรุนแรงที่เกิดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของยาที่ใช้ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบมากคือ คลื่นไส้อาเจียน, อาจเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ไปจนถึงอาการขั้นรุนแรงจนอาจถึงตายได้ เช่น เกิดภาวะแอแนฟิแล็กซิส(Anaphylaxis)

ฎ. คำแนะนำโดยสรุป:

  • ควรใช้’ยาฆ่าเชื้อ’ต่อเมื่อเป็นคำแนะนำจากแพทย์,เภสัชกรและพยาบาล
  • ไม่ควรซื้อยากินเอง
  • และต้องใช้ยาให้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง, ไม่หยุดใช้ยาเองถึงแม้อาการจะหายแล้ว

ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSIAD: Non steroidal anti inflamma tory drug):

ยาเอ็นเสด ในภาพรวมหลักมีหัวข้อดังนี้ คือ   

ก. ‘ยาเอ็นเสด’ ทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด  คือ ยาที่ใช้ต้านการอักเสบ(Anti-inflammatory)ที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ แต่ลักษณะอาการอักเสบจะคล้ายกับการอักเสบจากติดเชื้อ ได้แก่  อาการบวม แดง ร้อน เจ็บ/ปวด และอาจมีไข้  ดังนั้นยาต้านอักเสบจึงใช้เป็นยาแก้ปวด (Analgesia), และยังใช้เป็นยาลดไข้ (Antipyretic)ได้อีกด้วย เช่น การอักเสบในโรคเกาต์, โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง

เมื่อเกิดการอักเสบ ร่างกายจะสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดและของอาการอักเสบ ดังนั้นถ้าเรากินยาเอ็นเสด ยาจะไปยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน ทำให้หาย/บรรเทาจากอาการเหล่านั้นได้

ข. ทางเภสัชแบ่ง ‘ยาเอ็นเสด’เป็นประเภทใดบ้าง?

ทางเภสัชแบ่งยาเอ็นเสดเป็นกลุ่ม/ประเภทต่างๆ ดังนี้

  • Non-specific COX inhibitors หรือ Traditional NSAIDs เช่นยา แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen), ไพร็อกซีแคม (Piroxicam), เมเฟนามิก แอซิด (Mefenamic acid), เป็นต้น แต่ยากลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงจากยา คือ ปวดท้องจากระคายเคืองกระเพาะอาหาร, คลื่นไส้อาเจียน, ท้องอืด, เลือดออกง่ายและหยุดไหลช้า
  • COX-2 inhibitors เช่นยา เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib) ซึ่งยากลุ่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มแรกได้

ค. ‘ยาเอ็นเสด’อยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

รูปแบบของยาเอ็นเสด คือ ยาเม็ด, แคปซูล, ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม, ยาฉีด, ยาน้ำแขวนตะกอน, ครีม, เจล

ง. มีข้อบ่งใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ของยาเอ็นเสด คือ

  • ต้านอักเสบ (Anti inflammation) เช่นจาก โรคข้อรูมาตอยด์, ข้ออักเสบ, เข่าเสื่อม, ข้ออักเสบจากโรคเกาต์
  • ลดปวด (Analgesia) เช่น ปวดศีรษะไมเกรน, ปวดฟัน, ปวดประจำเดือน, ปวดจากโรคมะเร็ง
  • และลดไข้ (Antipyretic)

จ. มีข้อห้ามใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ อย่างไร?

ข้อห้ามใช้ยาเอนเสด คือ

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆรวมถึงแพ้ยาที่มีโครงสร้างหลักคล้ายกัน
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เลือดออกในทางเดิน อาหาร) และ/หรือ มีแผลทะลุ/ลำไส้ทะลุ
  • ห้ามใช้ในผู้ที่เป็น โรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก

ฉ. มีข้อควรระวังใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ อย่างไร?

 ข้อควรระวังหลักในการใช้ยาเอ็นเสด คือ

  • ระมัดระวังการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร คือ ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร, ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี, ใช้ยานี้ในขนาดสูง, ใช้ยาเอ็นเสดร่วมกับยาสเตียรอยด์, ใช้ยาเอ็นเสดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ใช้ยาเอ็นเสดร่วมกันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
  • ควรระวังในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะยากลุ่ม COX-2 inhibitors อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ช. การใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ห้ามใช้ยาเอ็นเสดในสตรีตั้งครรภ์ไตรมาสแรก(อายุครรภ์ 1 - 3 เดือน) เพราะยาอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้, และไตรมาสสุดท้าย (อายุครรภ์ 7 - 9 เดือน) เพราะยามีฤทธิ์ลดการบีบตัวของมดลูกจึงทำให้คลอดช้าและอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดเลือดไหลไม่หยุดหลังคลอด(ภาวะตกเลือดหลังคลอด),  นอกจากนี้ยาฯอาจปนทางน้ำนมส่งผลข้างเคียงถึงทารกที่เลี้ยงด้วยนมมารดาได้

ดังนั้นในหญิงกลุ่มนี้หากมีอาการปวดหรือมีไข้ควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอล(Paraceta mol) แทน

ซ. การใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี รวมทั้งผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นแผลหรือเลือดออกในทาง เดินอาหาร ควรรับประทานยาเอ็นเสดร่วมกับยาข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้เพื่อป้องกันภาวะดัง กล่าว

  • ไมโสพรอสทอล (Misoprostol) ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ยาลดกรดในกลุ่ม Proton pump inhibitors เช่นยา โอเมพราโซล (Omeprazole) , แลนโซพราโซล (Lansoprazole), เอสโอเมพราโซล (Esomeprazole)
  • ยาลดกรดในกลุ่ม H2-receptor antagonist เช่นยา รานิทิดีน (Ranitidine)

ฌ. การใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเอ็นเสดในเด็ก: ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการราย(Reye's syndrome,  สมองและตับถูกทำลาย)

ญ. อันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ ‘ยาเอ็นเสด’ เป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงหลักของยาเอ็นเสด์ คือ

  • ทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย ทำให้เกิดแผลและ เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • หลอดเลือด: ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดช้า โดยเฉพาะเมื่อมีแผลที่ใดของร่างกายก็ตาม
  • ไต: ยานี้เพิ่มการสะสมของโซเดียมและน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายบวมน้ำอาจทำให้เกิดไตวายได้
  • ผิวหนัง: ผื่นเล็กน้อยจนถึงผื่นอย่างรุนแรง

ฎ. คำแนะนำโดยสรุป: หากคนไข้เจ็บป่วยไปซื้อยาหรือหาหมอ ควรถามให้ชัดเจนว่ายาที่ได้รับมีข้อบ่งใช้อย่างไร เพราะคำว่าแก้อักเสบอาจทำให้สับสนระหว่างแก้อักเสบจากการติดเชื้อ/ฆ่าเชื้อ หรือแก้อักเสบ/ต้านอักเสบจากการ ปวด บวม แดง ร้อน เพื่อจะได้กินยาถูกต้อง ได้ผลการรักษาตรงตามโรคที่เป็นจริงๆ และไม่เกิดอันตรายจากการใช้ยา

ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ (Glucocorticoid หรือ Corticosteroid):

ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ หรือมักเรียกสั้นๆว่า ยาสเตียรอยด์ หรือ สเตียรอยด์ ในภาพรวมหลักมีหัวข้อดังนี้ คือ

ก. ‘ยาสเตียรอยด์’ ทางเภสัชหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์/ยาสเตียรอยด์ จะอยู่ในกลุ่ม ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) หรือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากต่อมหมวกไต (Adrenal cortex) นอกจากจะมีฤทธิ์ต้านอักเสบ (Anti-inflammatory effects) แล้วยังมีผลต่อระบบเมแทบอลิซึม/การเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกาย/สันดาป(Metabolic effects) เช่น การสร้างน้ำตาลกลูโคส/Glucoseจากกรดอะมิโน, มีฤทธิ์สลายโปรตีน,ไขมัน (Catabolic effects) และกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Immunosuppressive)

ข. ทางเภสัชแบ่ง ‘ยาสเตียรอยด์’ เป็นประเภทใดบ้าง?

แบ่งยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาได้เป็นหลายกลุ่ม/ประ เภทดังนี้

  • ยาที่ออกฤทธิ์สั้น คือ ออกฤทธิ์ทันที หรือ ในระยะเวลาเป็นนาที เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) และยาคอร์ติโซน(Cortisone)
  • ยาที่ออกฤทธิ์นานปานกลาง คือ ออกฤทธิ์ในระยะเวลาเป็นชั่วโมง เช่นยา เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone) และ ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)
  • ยาที่ออกฤทธิ์ยาว คือ อออกฤทธิ์ช้าแต่อยู่ได้นานเป็นวันหรือหลายวัน เช่นยา เบต้าเมดทาโซน (Betamethasone) และ เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone)

ค. ‘ยาสเตียรอยด์’ อยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ อาจมีจำหน่ายในรูปแบบ  ยาเม็ด, ยาฉีด, ครีม, ขี้ผึ้ง, สารละลาย, โลชั่น, ยาหยอดตา, ยาหยอดหู, ขี้ผึ้งป้ายตา, ยาพ่นจมูก, ยาพ่นคอ

ง. มีข้อบ่งใช้ ‘ยาสเตียรอยด์’ อย่างไร?

มีข้อบ่งใช้หลักของยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ คือ

  • รักษาภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal insufficiency)ที่เกิดจากต่อมหมวกไตส่วนนอกทำงานลดลง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนต่อมหมวกไตในร่างกายลดลงผิดปกติ
  • รักษากลุ่มอาการคุชชิง(Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายได้รับยา สเตียรอยด์มากเกินไป เกิดจากใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำหรือมีเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • รักษาภาวะอักเสบใน โรคภูมิแพ้,  และโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง  
  • รักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • รักษากลุ่มอาการ Respiratory distress syndrome (ภาวะกดการหายใจในทารกแรกเกิด)
  • โรคผิวหนังบางชนิด เช่น สะเก็ดเงิน, ผิวหนังอักเสบ, แมลงกัด/ต่อย (เช่น ตุ่มแพ้แมลงกัด)
  • รักษาโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia), ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะในการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ rejection) เช่น การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูก

จ. มีข้อห้ามใช้ ‘ยาสเตียรอยด์’ อย่างไร?

ข้อห้ามหลักของการใช้ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ คือ หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคจิต, โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคกระดูกพรุน และโรคติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อ

ฉ. มีข้อควรระวังใช้ ’ยาสเตียรอยด์’อย่างไร?

ข้อควรระวังหลักในการใช้ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ คือ

  • เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงมาก จึงควรใช้ยาฯในขนาดที่น้อยที่สุด และในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะควบคุมโรคได้
  • ใช้ยาฯเฉพาะที่ เช่น ยาพ่นในการรักษาโรคหืดแทนการใช้ยากินหรือยาฉีด
  • บ้วนปากหลังการใช้ยาฯแบบพ่นคอหรือพ่นจมูก เพื่อลดการเกิดโรคเชื้อราใช้ช่องปาก
  • เมื่อเห็นผลการรักษาแล้ว ต้องค่อยๆลดขนาดยาลง ไม่หยุดยาทันทีเพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดสเตียรอยด์(ลดยาฯตามคำสั่งแพทย์๗

ช. การใช้ ‘ยาสเตียรอยด์’ ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ ควรใช้ยาชนิดที่ผ่านรกในปริมาณน้อยที่ สุดเช่น เพร็ดนิโซน (Prednisone) และ เมทิลเพร็ดนิโซโลน (Methylprednisolone) ยกเว้นในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์จะคลอดก่อนกำหนด อาจเลือกใช้ยาที่ผ่านรกได้ง่ายเช่น เด็กซาเมตาโซน (Dexamethasone) หรือ เบต้าเมตาโซน (Betamethasome) เพราะใช้ป้องกันภาวะกดการหายใจในทารกแรกเกิดได้

ซ. การใช้ ‘ยาสเตียรอยด์’ ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุเพราะจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายและรุนแรง

ฌ. การใช้ ‘ยาสเตียรอยด์’ ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ระยะยาวในเด็กอาจส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า   นอกจากนี้ผิวของเด็กบางกว่าของผู้ใหญ่ การใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปของยาทาอาจทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเด็กมากเกินไป

ญ. อันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ ’‘ยาสเตียรอยด์’ เป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงหลักของยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ คือ

  • การใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงนานกว่า 2 สัปดาห์ทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิง ลักษณะที่พบในผู้ป่วยประเภทนี้ คือ ใบหน้ากลม (Moon face), อ้วนที่บริเวณลำตัว ยกเว้นแขน ขา, ขนดก, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • ผิวหนังบาง มีรอยแตก และพบรอยช้ำได้ง่าย
  • อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารได้
  • การใช้ยานี้ในระยะยาวอาจทำให้เป็น ต้อกระจก และ ต้อหิน
  • ทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกาย
  • บดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ/ภาวะติดชื้อ

ฎ. คำแนะนำโดยสรุป: ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์/ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่มีประโยชน์มาก และถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง แต่หากใช้ยาไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ(ผลข้างเคียง)ได้มากเช่นกัน ดังนั้นผู้บริโภคควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือจากเภสัชกรก่อนว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ แล้วใช้ยาในขนาด และระยะเวลาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง โดยเฉพาะยาชุด (ยาที่มีการจัดเตรียมไว้แล้ว) หรือยาลูกกลอน เพราะอาจมียาสเตียรอยด์ผสมอยู่ด้วย

หมายเหตุ

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวม ยาฆ่าเชื้อ, ยาแก้อักเสบ) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. พนาวรรณ คุณติสุข. การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics drugs) อย่างถูกต้องและเหมาะสม. วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต. 21 (กรกฎาคม-กันยายน 2554) : 193-195
  2. พรทวี เลิศศรีสถิต และสุชีลา จันทร์วิทยานุชิต. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory.  https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/NSAIDS.pdf   [2023,Jan7]  
  3. ณัฐวุธ สิบหมู่. เภสัชวิทยา. กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2552
  4. Faulkner, C.M., et al. Unique aspects of antimicrobial use in older adults. Aging and infectious disease. 40 (April 2005) : 997-1004
  5. Nicolle L.E. Use of antimicrobials during pregnancy. Can. Fam. Physician 33 (May 1987) : 1947-1951
  1. MIMS Thailand. 124 th ed. Bangkok : UBM Medica, 2011.
  2. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
  3. Marciniak B., et al. Glucocorticoids in Pregnancy. Current pharmaceutical biotechnology. 12 (2011) : 750-757
  1. Aulakh R. and Singh S. Strategies for minimizing corticosteroid toxicity: A review. Indian J Pediatr, 75 (2008) : 1067-1073
  2. MIMS Thailand. 124 th ed. Bangkok : UBM Medica, 2011.
  3. https://www.facebook.com/FDAThai/photos/a.185157358218101.47538.184587321608438/397207430346425/ [2023,Jan7]
  4. https://www.youtube.com/watch?v=9SC1ts2eprU  [2023,Jan7]