มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งกระเพาะอาหาร(Gastric cancer หรือ Stomach cancer)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารที่จุดใดของกระเพาะอาหารก็ได้ เกิดกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง กล่าวคือ มีการแบ่งตัวเจริญเติบโตรวดเร็วและมากมายผิดปกติซึ่งร่างกายควบคุมการเจริญเติบโตนี้ไม่ได้ และเซลล์เหล่านี้รุกราน/ลุกลามทำลายกระเพาะอาหารเอง เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงกระเพาะฯ และในที่สุดแพร่กระจายทำลายระบบน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อย คือ เยื่อบุช่องท้อง ตับ ปอด

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหารชนิด มะเร็งคาร์ซิโนมา ที่เป็นชนิดพบบ่อยเกือบทั้งหมดของมะเร็งกระเพาะอาหารทั้งหมด ที่ในภาษาแพทย์เรียกว่า ‘Gastric carcinoma หรือ Carcinoma of stomach’ และโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งกระเพาะอาหาร’ จะหมายถึงมะเร็งชนิดนี้ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

ทั้งนี้ มะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดที่เรียกว่า ‘GIST (Gastrointestinal Stromal Tumor หรือ มะเร็งจิสต์)’ จะมีลักษณะการดำเนินโรค และการรักษาที่แตกต่างจากมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ จึงไม่ได้กล่าวถึงในบทนี้ เพราะเป็นมะเร็งชนิดพบน้อยมาก และโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะหมายถึง โรคมะเร็งที่เกิดจากเยื่อเมือก (Carcinoma of stomach) แนะนำอ่านรายละเอียด เรื่อง เนื้องอกจิสต์ มะเร็งจิสต์ ได้จากเว็บ haamor.com

อนึ่ง กระเพาะอาหาร (Stomach หรือ Gaster) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร เป็นอวัยวะที่ต่อเนื่องมาจากหลอดอาหาร ทำหน้าที่หลักเป็นที่พักอาหาร และมีบางส่วนของอาหารที่จะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารก่อนจะถูกส่งไปยังลำไส้เล็กซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหารเป็นส่วนใหญ่ กระเพาะอาหารประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ได้แก่ เยื่อบุชั้นในสุด หรือเยื่อเมือก (Mucosa) ชั้นถัดมาตรงกลางคือชั้นกล้ามเนื้อ และชั้นนอกสุดเป็นชั้นของเยื่อเลื่อม/เยื่อหุ้มผนังกระเพาะอาหาร(Serosa) ปกคลุมกระเพาะอาหารด้านนอกสุด

มะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในใคร?

มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหาร มักพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงประมาณ 3 เท่า และมักพบในช่วงอายุ 60-70 ปี

อะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร?

ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่มีการศึกษาพบว่า มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค คือ

  • เชื้อชาติ: อุบัติการณ์การเกิดโรคนี้มักพบมากในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี มากกว่ากลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
  • โอกาสเป็นมะเร็งนี้มากขึ้น และการรับประทานผักและผลไม้อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารชนิดเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร/เอช ไพโลไร (Helicobacter pylori ย่อว่า H. pylori ) ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้แล้วจะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อเป็นเรื้อรัง ก็จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ อาจสามารถติดต่อกันระหว่างบุคคลได้โดยการปนเปื้อนจากอุจจาระ และจากน้ำลายของผู้ติดเชื้อนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคติดเชื้อ เอช ไพโลไร’
  • การสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงขึ้น
  • โรคโลหิตจางชนิดมีเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ผิดปกติที่เรียกว่า โลหิตจางอย่างร้าย(Pernicious anemia)
  • โรคเนื้องอกของกระเพาะอาหารบางชนิด และโรคเนื้องอกของลำไส้บางชนิดที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
  • มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน

มะเร็งกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะเริ่มแรกนั้นอาจจะไม่แสดงอาการอะไร แต่เมื่อรอยโรคมีการเจริญเติบโตลุกลามมากขึ้น ก็จะมีอาการคล้ายอาการของการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร (โรคแผลเปบติคและโรคแผลในกระเพาะอาหาร) ดังต่อไปนี้ เช่น

  • อาหารไม่ย่อย และรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • คลื่นไส้เล็กน้อย มักไม่อาเจียน
  • ไม่อยากอาหาร
  • อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn)

อนึ่ง เมื่อให้การรักษาเหมือนในผู้ป่วยที่เป็นกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้ แต่มักมีอาการขึ้นมาอีก หรือมีอาการมากขึ้นเมื่อโรคเป็นมากขึ้น โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ คือ

  • มีเลือดปนในอุจจาระหรือถ่ายอุจจาระสีดำ/อุจจาระเป็นเลือด (หากกินยาบำรุงเลือดบางชนิดก็อาจจะมีถ่ายอุจจาระสีดำได้เช่นกัน)
  • คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้อง บางครั้งอาจคลำได้ก้อนเนื้อที่บริเวณลิ้นปี่
  • มีภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) ได้จากการที่รับประทานอาหารได้น้อย ร่วมกับการมีอุจจาระและ/หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • หากโรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อาจมีอาการซึ่งเกิดจากโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะนั้นๆได้ เช่น
    • คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณเหนือไหปลาร้า มักพบในด้านซ้าย
    • ตับโต, ตาเหลือง ตัวเหลือง, (โรคดีซ่าน) เมื่อโรคกระจายไปตับ
    • มีน้ำในช่องท้อง/ท้องมาน เมื่อโรคกระจายเข้าเยื่อบุช่องท้อง และหรือตับ
    • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากมีโรคกระจายไปที่ปอด
    • นอกจากนั้น เซลล์มะเร็งของกระเพาะอาหาร อาจหลุดรอดเข้าไปในช่องท้องแล้วไปเกาะกันเป็นก้อนที่รังไข่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้ด้วย

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้จาก

  • ซักประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น ลักษณะอาการปวด และสีของอุจจาระ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำช่องท้อง
  • เอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนบน หรือการเอกซเรย์กลืนแป้ง เป็นการตรวจที่ให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่มีส่วนผสมของแป้งแบเรียม (Barium) ซึ่งเป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง ซึ่งน้ำแป้งแบเรียมนั้นจะไปเคลือบผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จึงเห็นรอยโรคได้จากการตรวจทางเอกซเรย์
  • อัลตราซาวด์ภายในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Endoscopic ultrasound) เพื่อดูรอยโรคว่ามีการลุกลามไปที่ชั้นต่างๆของกระเพาะอาหารชั้น ใดบ้างหรือไม่
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง เพื่อดูรอยโรค ลักษณะของโรค และการแพร่กระจายของโรคในช่องท้อง
  • ตรวจส่องกล้องช่องท้องส่วนบน เพื่อดูรอยโรคบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
  • การตรวจเลือดอื่นๆทางห้องปฏิบัติการ
    • เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
    • เพื่อดูการทำงานของไต
    • เพื่อดูการทำงานของตับ
    • เพื่อดูระดับเกลือแร่ในเลือด
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็ง (Tumor marker) เช่น สารซีอีเอ (CEA) ซึ่งค่านี้อาจจะปกติหรือผิดปกติก็ได้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ถ้าค่าผิดปกติตั้งแต่แรกก่อนเริ่มการรักษาจะเป็นประโยชน์ในการตรวจติดตามโรคได้
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ปอด และการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
  • การตรวจอุจจาระ ดูว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารร่วมด้วยหรือไม่ โดยการดูผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา

มะเร็งกระเพาะอาหารมีกี่ระยะ?

มะเร็งกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ระยะตามคำแนะนำจากองค์กรด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) 8th ed คือ

  • ระยะที่ 1: มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามอยู่ในชั้นเยื่อเมือกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 2: แบ่งเป็น2ระยะย่อย
    • ระยะ2A: โรคลุกลามเข้าเยื่อเมือกและ/หรือเข้าชั้นกล้ามเนื้อร่วมกับลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้กระเพาะอาหาร
    • ระยะ2B: โรคลุกลามลึกถึงชั้นเยื่อหุ้มผนังกระเพาะอาหาร หรือลุกลามทะลุเยื่อหุ้มกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้กระเพาะฯ
  • ระยะที่ 3: โรคลุกลามลึกถึงเยื่อหุ้มกระเพาะอาหาร หรือลุกลามลึกจนทะลุเยื้อหุ้มกระเพาะฯ ร่วมกับมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงกระเพาะฯ
  • ระยะที่ 4: แบ่งเป็น 2ระยะย่อย
    • ระยะ4A: โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงกระเพาะฯ เช่น เยื่อบุช่องท้อง, ม้าม
    • ระยะ4B: โรคแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลกระเพาะฯ เช่น ต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ช่วงในช่องท้อง และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า, และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ตับ ปอด

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS เป็นระยะที่แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดให้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non invasive)ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว/ เยื่อเมือก เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ถ้าผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ80%ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เป็นโรคระยะพบน้อยมาก

รักษามะเร็งกระเพาะอาหารอย่างไร?

ในการดูแลรักษามะเร็งกระเพาะอาหารนั้น มีการรักษาหลักๆร่วมกันอยู่ 4 วิธี คือ การผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษา, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา แต่ก็มีการนำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ยายังมีราคาแพงมากและยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้

ก. การผ่าตัด: เป็นการรักษาหลักของการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมีการผ่าตัดอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะของโรค ความสมบูรณ์แข็งแรงของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ตัวอย่างเช่น

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมดรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงบางส่วน และเนื้อเยื่อรอบๆก้อนมะเร็ง ในบางครั้งอาจต้องตัดม้ามออกไปด้วย หลังจากนั้นจึงนำหลอดอาหารมาต่อกับลำไส้เล็กเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินและกลืนอาหารได้ตามปกติ
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน เป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารในส่วนที่มีก้อนมะเร็งอยู่ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงบางส่วน และเนื้อเยื่อรอบๆก้อนมะเร็ง ในบางครั้งอาจต้องตัดม้ามออกไปด้วย
  • การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีการอุดตันกระเพาะอาหาร เช่น การใส่ขดลวดในท่อทางเดินอาหารหรือลำไส้เล็กเพื่อถ่างขยายในบริเวณที่มีการอุดตันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้

ข. การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดนั้นจะใช้ในหลายกรณี ได้แก่

  • เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด
  • ให้ร่วมกับรังสีรักษาหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคหลังผ่าตัด เช่น มีมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แต่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และยังมีร่างกายที่แข็งแรงพอที่จะทำการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาได้
  • เพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยระยะโรคแพร่กระจาย

ค. การใช้รังสีรักษา มีการใช้รังสีรักษา 2 กรณี ได้แก่

  • ให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ดังกล่าวแล้ว
  • เพื่อบรรเทาอาการ เช่น
    • มีโรคไปอุดตันที่บริเวณหลอดอาหารหรือลำไส้เล็ก
    • มีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก สมอง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด หรือเป็นอัมพาต

ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆได้ หรือในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เช่น

  • การให้เลือด กรณีมีภาวะซีด
  • การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ
  • การให้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์(Opioid) กรณีมีอาการปวดมาก

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

ก.ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด: เช่น

  • การสูญเสียอวัยวะ
  • อาการปวดแผลผ่าตัด
  • การมีเลือดออก
  • การติดเชื้อของร่างกาย ที่รวมถึงแผลติดเชื้อ
  • และการบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง

ข.ผลข้างเคียงจากรังสีรักษ: คือ

  • ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้อง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา’
  • และผลข้างเคียงเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน’)

ค.ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด: เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ผมร่วง
  • กดไขกระดูก ทำให้มีภาวะซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ง่าย), และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)

ง. ผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย, แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล, และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรครุนแรงไหม?

ความรุนแรงของมะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ จากตัวผู้ป่วยเอง และจากการรักษา

ก. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่

  • อายุ: คือ ผู้ป่วยอายุน้อย มักจะทนการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยสูงอายุ จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • สุขภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย: คือ ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์จะสามารถทนการรักษาได้ดีกว่า จึงมีผลการรักษาดีกว่าด้วย
  • โรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย: เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและส่งผลให้มีผลข้างเคียงจากการรักษามากกว่าคนปกติ

ข. ปัจจัยจากการรักษา กล่าวคือ ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้มักมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยอัตรารอดเมื่อสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งได้หมดเป็นดังนี้ คือ

  • โรคระยะที่ 1 อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 70%
  • โรคระยะที่ 2 อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 30 - 40%
  • โรคระยะที่ 3 อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 15%
  • โรคระยะที่ 4 ที่ผ่าตัดไม่ได้ อัตรารอดที่ห้าปี 0-5%

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพะอาหารตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้ว หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมักดอง อาหารเค็ม และการสูบบุหรี่

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด