ภาวะไข่ไม่ตก ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะไข่ไม่ตกคืออะไร?

ภาวะไข่ไม่ตก หรือ ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) คือ การไม่มีฟองไข่ตกออกมาจากรังไข่เพื่อไปรอรับการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิตามที่ควรจะเกิดขึ้นในประมาณวันที่ 14 หลังการมีประจำ เดือนในรอบก่อนหน้านี้ ซึ่งในสตรีปกติจะมีการตกไข่เดือนละ 1 ฟองทุกเดือน หรือตกไข่ทุกๆ 28 - 30 วัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในสตรีวัยเจริญพันธุ์ หากไม่มีการตั้งครรภ์ในรอบเดือนนั้นๆปกติจะมีเลือดประจำเดือนมาเดือนละ 1 ครั้ง (28 + 7 วัน) นานครั้งละ 3 - 5 วัน กลไกการมีประ จำเดือนในแต่ละเดือนเกิดจากการที่มีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นฟองไข่ (Follicles) ในรังไข่ให้เจริญเติบโตขึ้นจนมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดแล้วมีการตกไข่ (Ovulation) ออกมาจากรังไข่ เพื่อรอรับการปฎิสนธิจากเชื้ออสุจิ พร้อมกับเหตุการณ์นี้ รังไข่จะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ไปกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้นก่อนการตกไข่ (Proliferative endome trium) หลังการตกไข่จะมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ไปเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไป (Secretory endometrium) แต่หากไข่ไม่ได้รับการปฎิสนธิ เซลล์รังไข่ที่สร้างฮอร์โมนในรอบเดือนนั้นจะฝ่อไป ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนเป็นรอบๆในแต่ละเดือนที่เรียกว่า “ประจำเดือน”

หากไม่มีการตกไข่/ ไข่ไม่ตก(Anovulation) เกิดขึ้น รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไปเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนหน้าได้ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจึงไม่เกิดเป็นรอบๆเหมือนจากการมีประจำเดือนปกติ หากเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป จะเกิดการขาดเลือดทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมาเป็นหย่อมๆ ทำให้เลือดประจำเดือนออกกะปริบกะปรอยและออกนาน แต่หากเยื่อบุโพรงมดลูกหนามากและหลุดลอกออกมามากก็จะทำให้เลือดประจำเดือนออกมากและนานเช่นกัน ในกรณีที่ไม่มีการตกไข่เป็นเวลานาน เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกสามารถเปลี่ยน แปลงไปเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

อนึ่ง ภาวะไม่ตกไข่/ไข่ไม่ตก ไม่มีรายงานสถิติการเกิดที่แน่นอน เพราะผู้ป่วยมักไม่ไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วยหญิงในวัยเจริญพันธุ์มีภาวะไข่ไม่ตกได้ประมาณ 6 - 15% ช่วงวัยที่พบมักเป็นช่วงวัยรุ่นและวัยใกล้หมดประจำเดือน

ภาวะไข่ไม่ตกมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

ภาวะไข่ไม่ตก

ภาวะไข่ไม่ตก/ ไม่ตกไข่ มีผลเสีย/ผลข้างเคียงต่อร่างกายดังนี้เช่น

1. ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งมีได้หลายรูปแบบได้แก่

  • ประจำเดือน 2 - 3 เดือนมา 1 ครั้ง บางคนอาจมีประจำเดือนปีละ 1 - 2 ครั้ง
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ไม่สม่ำเสมอ
  • เมื่อเป็นประจำเดือนก็จะเป็นนานกว่าปกติหรือมีปริมาณมากผิดปกติ

2. ภาวะมีบุตรยาก

3. มีโอกาสเสี่ยงต่อโรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia)

4. มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

5. มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก?

สาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก/ไม่ตกไข่ ได้แก่

1. ระบบการทำงานที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนจากวัยเด็กมาเป็นวัยรุ่น และตอนที่รังไข่ใกล้จะหยุดทำงานได้แก่ ช่วงที่สตรีใกล้จะหมดประจำเดือน การทำงานของฮอร์โมนจะไม่สม่ำเสมอเหมือนอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์

2. ภาวะมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome: โรคพีซีโอเอส/ PCOS) ที่มีระดับฮอร์โมนเพศไม่สมดุลพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ได้

3. มีภาวะ/โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ไขมันที่สะสมในคนที่อ้วนสามารถเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ ทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายสูงซึ่งจะไปมีผลกระทบระบบการควบคุมการตกไข่

4. ภาวะเบื่ออาหารและน้ำหนักลดอย่างมาก (Anorexia nervosa) จะไปมีผลต่อสมองส่วน ไฮโปธาลามัสในการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ ทำให้การพัฒนาฟองไข่ในรังไข่ไม่ปกติจึงไม่สามารถโตไปจนเกิดการตกไข่ได้ พบภาวะนี้ได้บ่อยในพวกนางแบบหรือวัย รุ่นที่อยากผอมอย่างมาก

5. มีความเครียดซึ่งจะไปมีผลต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัสในการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์เช่นกัน ทำให้การพัฒนาฟองไข่ในรังไข่ไม่ปกติ ฟองไข่จึงไม่สามารถโตไปจนเกิดการตกไข่ได้

6. ภาวะรังไข่สร้างฮอร์โมนไม่เพียงพอ หรือภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Ovarian insufficiency)

7. การออกกำลังกายอย่างหนัก/หักโหมจะไปมีผลต่อสมองในการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์เช่นกัน ทำให้การพัฒนาฟองไข่ในรังไข่ไม่ปกติ จึงไม่สามารถโตไปจนเกิดการตกไข่ได้

8. มีโรคที่มีผลกระทบต่ออวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนการเจริญพันธุ์เช่น เนื้องอกสมองที่ไปกดบริเวณสมองไฮโปธาลามัส, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน /ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism), ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

ภาวะไข่ไม่ตกมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะไข่ไม่ตก/ไม่ตกไข่ที่พบบ่อยได้แก่

1. ขาดประจำเดือนครั้งละหลายๆเดือน

2. ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ

3. หน้าเป็นสิว ผิวมัน

4. ภาวะมีบุตรยาก

ดูแลตนเองเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

หากมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือนไปนานและตรวจไม่พบการตั้งครรภ์แล้ว ควรต้องหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุง่ายๆไปก่อน เช่น

  • หากมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ก็ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย
  • หากมีโรคประจำตัวต่างๆที่มีผลกระทบต่อฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ต้องรักษาที่โรคต้นเหตุ
  • แต่หากประจำเดือนยังไม่มานานเกิน 3 เดือน ควรไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

แพทย์วินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ได้แก่ จากอายุ โดยช่วงอายุที่พบบ่อยคือช่วงวัยรุ่นและช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน ร่วมกับประวัติอาการประจำเดือนผิดปกติ มาน้อย หรือประจำเดือนนานๆมา 1 ครั้ง หรือมีอาการของโรคร่วมต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ เช่น โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ข. การตรวจร่างกาย: โดยโรค/ภาวะนี้พบบ่อยในคนอ้วน อาจใบหน้ามีสิว ผิวมัน ขนดกมากผิดปกติ, หรืออาจไม่พบความผิดปกติใดๆ หรืออาจมีอาการของโรคต่างๆตามที่กล่าวมาแล้ว เช่น โรคเบาหวาน

ค. การตรวจภายใน: มักไม่พบความผิดปกติ

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

    • การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดจะช่วยเสริมการวินิจฉัยโรคพีซีโอเอส (PCOS) เพื่อดูลักษณะของรังไข่
    • การตรวจเลือดไม่ได้ช่วยวินิจฉัยภาวะไม่ตกไข่

จ.ในกรณีที่ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยหรือมีมากผิดปกติ แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการดูดชิ้นเนื้อ (Endometrial aspiration)จากโพรงมดลูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกไปจากปกติหรือไม่

แพทย์รักษาภาวะไข่ไม่ตกอย่างไร?

การรักษาภาวะไข่ไม่ตกแบ่งตามวัตถุประสงค์ว่าต้องการมีบุตรหรือไม่ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1. กลุ่มที่ไม่ต้องการมีบุตร: การรักษาจะโดยใช้ยาฮอร์โมนได้แก่

  • ยากลุ่มฮอร์โมนสังเคราะห์โปรเจสติน (Progestin) เช่นยา Provera หรือ Primolute N รับประทานรอบละ 10 - 12 วัน หลังหยุดยาประมาณ 2 - 3 วันจะมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา แพทย์จะให้รับประทานยาประมาณ 3 - 6 รอบเดือน
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม สามารถใช้ได้ค่อนข้างสะดวก รับประทานวันละ 1 เม็ด 1 ครั้งทุกวันติดต่อกันจนยาหมด หลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 วันจะมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา แพทย์จะให้รับประทานยาประมาณ 3 - 6 รอบเดือน

2. กลุ่มที่ต้องการมีบุตร:

  • ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ เช่นยา Clomiphene citrate

ภาวะไข่ไม่ตกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ภาวะไข่ไม่ตก/ ไม่ตกไข่ มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาได้เสมอ

หากมีภาวะไข่ไม่ตกสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

หากไม่มีไข่ตก/ ไม่ตกไข่ ไม่สามารถตั้งครรภ์ตามวิธีธรรมชาติได้ ถ้าต้องการมีบุตรควรต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์

อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมีไข่ตกโดยที่ไม่รู้ตัวคือโดยที่ไม่มีประจำเดือน ซึ่งหากมีเพศ สัมพันธ์ในช่วงไข่ตกพอดีก็สามารถตั้งครรภ์ได้

ป้องกันภาวะไข่ไม่ตกได้อย่างไร?

ป้องกันภาวะไข่ไม่ตกได้โดย

1. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน(โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน)หรือผอมมากเกินไป

2. ออกกำลังกายที่สมควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ

3. ทำจิตใจให้แจ่มใส มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เครียด

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/253190-overview#showall [2020,June6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anovulation [2020,June6]