พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

PCOS คือ อะไร?

PCOS หรือ พีซีโอเอส เป็นคำย่อมาจากคำว่า Polycystic ovarian/ovary syndrome บางครั้งย่อเป็น POS (พีโอเอส แต่นิยมน้อยกว่าการย่อว่า พีซีโอเอส) หมายถึง กลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ เป็นการเรียกชื่อตามลักษณะของรังไข่ที่ตรวจพบโดยเครื่องอัลตราซาวน์จะเห็นเป็นถุงน้ำเล็กๆ (Cyst) หลายๆใบในรังไข่

PCOS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่าง กายสตรี ทำให้ประจำเดือนไม่ปกติ ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง และมีลักษณะของฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีสิว หรือขนดกกว่าผู้หญิงทั่วไป

PCOS เกิดจากสาเหตุใด?

พีซีโอเอส

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิด PCOS ยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันเชื่อว่า เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมคล้ายกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และกลุ่มอาการเมทาบอลิก (Metabolic syndrome, กลุ่มอาการที่มีผลต่อการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง) และพบว่า หากแม่มีประวัติเป็น PCOS ลูกสาวมักมีอาการคล้ายคลึงกัน

กลไกการเกิดกลุ่มอาการเหล่านี้ คือ

1. สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus, สมองส่วนลึกในสมองใหญ่ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ) มีการหลั่งฮอร์โมน Gonadotropin releasing hormone (GnRH) ที่กระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมอง ผิดปกติ ส่งผลทำให้ส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง สร้างฮอร์โมน LH (Luteinizing hor mone) มากเกินไป ไม่เป็นสัดส่วนปกติกับ ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ของรังไข่ที่เรียกว่า Theca cell ให้สร้างฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น จึงมีผลไปกระทบกับระบบสืบพันธุ์ของผู้ป่วย เพราะฮอร์โมนเพศชายสูง จะไปทำให้การเจริญเติบ โตของฟองไข่ในรังไข่หยุดชะงัก ไม่มีการพัฒนาต่อไปจนเกิดตกไข่เหมือนในภาวะปกติ ทำให้ไม่มีไข่เพื่อรอรับการปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิ มีผลทำให้มีบุตรยาก

นอกจากนั้น เมื่อไม่มีการตกไข่ รังไข่ก็จะไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progeste rone) ไปเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก และหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนปกติในกรณีไม่มีการตั้งครรภ์ จึงส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนอีกชนิดที่สร้างจากรังไข่ด้วย คือ เอสโตรเจน (Estrogen) จึงส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน หรือขาดประจำ เดือน หรือ ประจำเดือนไม่มา ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือนไปคราวละนานๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป เลือดจึงไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกขาดเลือด จึงมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นหย่อมๆ สตรีผู้นั้นจึงมีประจำเดือนแบบกะปริดกะปรอยได้

2. การดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin resistant) เมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน (ฮอร์โมนควบคุมการใช้น้ำตาลของร่างกาย) น้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้นไปอีก จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ (Hyperandroge nism) มีผลทำให้ไม่เกิดการตกไข่ดังกลไกที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 นอกจากนี้ทำให้ ผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกด้วย

PCOS มีความสำคัญอย่างไร? ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร?

ความชุกของกลุ่มอาการ PCOS พบได้ประมาณ 5-10% ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เป็นสาเหตุให้สตรีในวัยรุ่นมีประจำเดือนผิดปกติบ่อยที่สุด ผลจากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้มีการกระทบต่อ ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism, กระบวนการใช้พลังงาน) ของร่างกาย และต่อระบบการเจริญพันธุ์ หากไม่ได้รับการดูแลรักษา ความผิดปกติจะเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว ได้แก่

1. โรคเบาหวาน

2. โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจ

3. โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

4. เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม

5. โรคความดันโลหิตสูง

PCOS มีอาการผิดปกติอย่างไรบ้าง?

PCOS เป็นกลุ่มอาการ ไม่ใช่โรคใดโรคหนึ่ง ความผิดปกติเกิดจากการที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายสูงกว่าปกติ อาการผิดปกติมีได้ตั้งแต่อาการน้อยๆ จนอาการมาก อาการที่พบบ่อย คือ

1. ประจำเดือนผิดปกติ การที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบจะทำให้กลไกการทำงานของระ บบเจริญพันธุ์ผิดปกติไป ทำให้ประจำเดือนผิดปกติซึ่งมีได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อยคือ หลายๆเดือนจึงเป็นประจำเดือน 1 ครั้ง แต่ละครั้งที่มีประจำเดือน เลือดจะออกมากและนาน แต่สตรีบางคนมีอาการมาก ทำให้ประจำเดือนอาจขาดหายไปเป็นปีก็ได้ บางคนอาจมีประจำเดือนกะ ปริดกะปรอยนานเป็น 10-20 วัน

2. อ้วน น้ำหนักตัวเกิน เป็นภาวะที่พบร่วมกับ PCOS ได้บ่อยมาก ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ภาวะอ้วนทำให้เกิด PCOS หรือ ภาวะ/กลุ่มอาการ PCOS ทำให้อ้วน แต่ความอ้วนทำให้เกิดการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้เพิ่มอาการของ PCOS มากขึ้นเรื่อยๆ

3. ใบหน้ามีสิว ผิวมัน เนื่องจากเป็นภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีการสร้างไข มันที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบ ก็กลายเป็นสิวตามมา

4. มีขนดกที่ แขน ขา ตามลำตัว มีหนวด เนื่องจากเป็นภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง

5. มีศีรษะล้านแบบเพศชาย จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย

6. มีบุตรยาก เนื่องจากมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ จึงมีผลไปกระทบกับกลไกการเจริญพันธุ์ ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ ประกอบกับเป็นประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้มีบุตรยาก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะ PCOS?

สตรีส่วนมากมักไม่ค่อยทราบว่าตนเองเป็น PCOS แม้แต่สตรีที่ผอมก็เป็น PCOS ได้ เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็น PCOS แล้วต้องมีการดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะ แทรกซ้อน สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นกิจวัตร ได้แก่

1. ลดความอ้วน ควบคุมอาหาร การควบคุมน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อผอมลง การทำงานของระบบฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนจะมาสม่ำ เสมอมากขึ้น

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. ลดความเครียด

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

บางครั้งเป็นการยากที่ตัดสินใจไปพบแพทย์ เนื่องจากในวัยรุ่นเอง ประจำเดือนจะมาไม่ค่อยปกติอยู่แล้ว แต่หากโรคนี้ได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆในอนาคตได้

ควรจะไปพบแพทย์เมื่อ

1. ประจำเดือนหายไปทีละนานๆ คือ ขาดประจำเดือนเกิน 3 เดือน โดยไม่มีปัจจัยอื่น เช่น ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

2. ประจำเดือนมากะปริดกะปรอยนานกว่าปกติ

3. มีขนขึ้นที่หน้าหรือตามตัวมากผิดปกติ

4. มีสิวมากผิดปกติ

5. อ้วนมาก

แพทย์วินิจฉัยภาวะ PCOS อย่างไร?

เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ ใช้ตามข้อตกลงของผู้เชี่ยวชาญในยุโรป (Rotterdam criteria 2003) โดยใช้เกณฑ์ 2 ใน 3 ของอาการดังต่อไปนี้

1. การตกไข่น้อยกว่าปกติ หรือไม่ตกไข่ (ขาดประจำเดือน)

2. มีอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง

3. ลักษณะรังไข่จากการตรวจอัลตราซาวด์มีถุงน้ำหลายใบ

ดังนั้นการวินิจฉัย คือแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติต่างๆ ได้ แก่

1. ซักประวัติเกี่ยวกับระบบของการมีประจำเดือน ความสม่ำเสมอ ความถี่ห่าง ปริมาณ ลักษณะ

2. ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจดูลักษณะขนขึ้นตามร่างกายมากกว่าปกติหรือ ไม่ มีหนวด มีเคราหรือไม่

3. คำนวนดัชนีมวลกาย (Body mass index ย่อว่า BMI/บีเอมไอ = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วย ส่วนสูงเป็นเมตร 2 ) ว่าอ้วนหรือไม่ โดย

4. ตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน โดยการตรวจทางหน้าท้อง หรือการตรวจผ่านทางช่องคลอด แต่การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดจะเห็นภาพรังไข่ได้ชัดเจนกว่า จะเห็นถุงน้ำเล็ก ๆขนาด 2-10 มิลลิเมตร จำนวน 8-12 ใบที่ขอบของรังไข่

มีแนวทางการรักษากลุ่มอาการ PCOS อย่างไร?

แนวทางการรักษา PCOS แบ่งเป็น

1. ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตร และมีความผิดปกติของประจำเดือน

i. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม

เป็นยากลุ่มแรกที่แพทย์เลือกใช้รักษากลุ่มอาการนี้ หากยังไม่ต้องการมีบุตรและมีประจำ เดือนมาไม่ปกติ เพราะฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin, ฮอร์โมนโปรเจสเตรอนที่มนุษย์สัง เคราะห์ขึ้น) ในยาเม็ดคุมกำเนิด จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวและเปลี่ยนลักษณะของเยื่อบุโพรงมด ลูก ทำให้สามารถป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญมากเกินไปจนกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยต้องเลือกใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชายน้อยๆ เช่น Cyproterone acetate ที่อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิด Diane-35® ส่วนฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดจะไปกดการทำงานของ สมองไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง และรังไข่ ทำให้ลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ประจำเดือนจะมาอย่างสม่ำเสมอจากการควบคุมด้วยยา ผลข้างเคียงของยาก็เหมือนยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไป คือ มีคลื่นไส้ อาเจียนได้บ้าง

ii. ยาฮอร์โมนโปรเจสติน

การให้ยาฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียวเป็นรอบๆ รอบละ 10-14 วัน ใช้แก้ปัญหาการขาดประจำเดือนขาดหายไปนานๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป แต่วิธีนี้ไม่สามารถลดฮอร์โมนเพศชายได้ เพราะยาไม่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายเหมือนในยาเม็ดคุมกำ เนิดชนิดรวม ผลข้างเคียงของยา อาจรู้สึกอืด แน่นท้อง หงุดหงิด ตัวบวม

iii. ยาต้านเบาหวาน Metformin

เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคเบาหวานมานาน โดยไปยับยั้งการผลิตน้ำตาลกลูโคส (Glu cose) จากตับ ช่วยเพิ่มฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้ลดระดับอินซูลินลง จึงมีผลทำให้รังไข่สร้างฮอร์ โมนเพศชายลดลง ทำให้อาการต่างๆดีขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสการเจริญของไข่ ทำให้มีการตกไข่ และส่งผลให้มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือนปกติสูงขึ้น นอกจาก นี้ยังช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้การควบคุมน้ำหนักง่ายขึ้น ยาตัวนี้อาจควบคุมเรื่องประจำ เดือนได้ไม่สม่ำเสมอเหมือน ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย คือ คลื่น ไส้อาเจียน

2. กลุ่มที่ต้องการมีบุตร

2.1. การรักษาด้วยยา

i. Clomiphene citrate

ยากระตุ้นการตกไข่ชนิดนี้มักถูกเลือกใช้เป็นตัวแรก เพราะมีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ราคาไม่แพง และผลข้างเคียงต่ำ โดยให้ Clomid® 50 มิลลิกรัม รับประทานติดต่อ กัน 5 วัน ในวันที่ 2, 3, 4 หรือ 5 ของการมีประจำเดือน พบว่า ประสิทธิภาพของยาทำให้เกิดการตกไข่ได้ 70-80% และตั้งครรภ์ได้ 35-40% การให้ยากลุ่มนี้สามารถให้ได้ 3-6 รอบ หากยังไม่ประสบผลสำเร็จ ควรเลือกใช้ยาหรือวิธีอื่น

ii. ยาต้านเบาหวาน Metformin

ตามกลไกที่กล่าวมาแล้ว ใช้ขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ระยะเวลานาน 6-8 เดือน สามารถเพิ่มอัตราการตกไข่ได้เกือบ 80% และตั้งครรภ์ได้ 35-40%

iii. ให้ Clomiphene citrate ร่วมกับ Metformin เพื่อเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการตกไข่ และทำให้การตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้

2.2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถชักนำให้เกิดการตกไข่ด้วยยาในกลุ่มสตรีที่มีบุตรยาก ต้องทำการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องเข้าไป แล้วทำการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือด้วยเลเซอร์ที่ผิวรังไข่ให้เป็นจุดๆ ( Ovarian drilling) 4-8 จุด เพื่อเป็นการกระ ตุ้นให้เกิดการตกไข่ และการตั้งครรภ์ พบว่าวิธีนี้ทำให้เกิดการตกไข่ได้ประมาณ 60-70% และอัตราการตั้งครรภ์เป็นประมาณ 52-66%

3. การรักษาภาวะที่มีฮอร์โมนชายสูง แล้วทำให้เกิดสิว หรือ ขนมากผิดปกติ มีหลายวิธี ได้แก่

1. ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม ตามกลไกที่กล่าวมาในเบื้องต้นยาเม็ดคุมกำ เนิดทุกตัวสามารถลดความรุนแรงของสิวและผิวมันได้ ควรเลือกยาที่มีส่วนประกอบโปรเจนตินที่มีฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชายน้อย

2. ยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย เช่น Cyproterone acetate, Spironolac tone, Flutamide

3. ยาเพิ่มความไวอินซูลิน ซึ่งก็คือ Metformin นั่นเอง

4. ยาฮอร์โมน GnRH agonist เมื่อให้ไปนานๆ จะไปกดการลดการหลั่งฮอร์ โมน FSH, LH

5. การจี้รังไข่ด้วยไฟฟ้า

6. การฟอกสีขน/การถอนขน/ครีม หรือ ยากำจัดขน ใช้ช่วยในกรณีมีขนเยอะมาก รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล

PCOS รักษาหายขาดหรือไม่?

PCOS เป็นกลุ่มอาการที่คาดว่าน่าจะเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม การรักษาให้หาย ขาด อาจไม่สามารถทำได้

แต่สามารถทำให้อาการต่างๆบรรเทาลงได้ พบว่ามีความผิดปกติที่รังไข่ในสตรีกลุ่มนี้ตั้ง แต่อยู่ในครรภ์มารดา จนมาเป็นวัยรุ่นแล้วจึงแสดงอาการออกมา ส่วนเมื่ออายุมากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน การสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ลดลง จะทำให้อาการต่างๆดีขึ้น

ป้องกันการเกิด PCOS อย่างไร?

การป้องกัน PCOS คือ

1. การควบคุมน้ำหนัก เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้

2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

3. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน รับประทานผักสดและผลไม้มากๆ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและไขมันสูง

บรรณานุกรม

  1. เสวก วีระเกียรติ. PCOS: polycystic ovary syndrome. กรุงเทพ: บียอนด์ เอ็นเตอร์ไพรช์ , 2551.
  2. Azziz R, Woods KS, Reyna R, Key TJ, Knochenhauer ES, Yildiz BO. The prevalence and features of the polycystic ovary syndrome in an unselected population. J Clin Endocrinol Metab 2004; 89:2745–9.
  3. Kahsar-Miller MD, Nixon C, Boots LR, Go RC, Azziz R. Prevalence of polycystic ovary syndrome (PCOS) in first-degree relatives of patients with PCOS. Fertil Steril 2001; 75:53–8.
  4. Pfeifer SM, Kives S. Polycystic ovary in the adolescent. Obstet Gynecol Clin N Am 2009; 36: 129–52.
  5. Costello MF, Eden JA. A systematic review of reproductive system effects of metformin in patient with polycystic ovary syndrome. Fertil Steril 2003; 79: 1-13.
Updated 2017,Dec23