ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วกว่าเซลล์ปกติ การใช้ยาเพื่อรักษาโรคมะเร็งจึงมุ่งไปในการพัฒนาให้ได้ตัวยาที่มีคุณสมบัติในการลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ด้วยวิธีการต่างๆผ่านการศึกษาวัฎจักรของทั้งเซลล์ปกติและของเซลล์มะเร็ง

ในกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ เซลล์เก่าต้องมีการจำลองสารรหัสพันธุกรรม/สารพันธุกรรม ขึ้นได้แก่ ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งก่อนเริ่มต้นกระบวนการแบ่งเซลล์ นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวิจัยยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการจำลองสารรหัสพันธุกรรมขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)”

ยาฟลูอโรยูราซิลหรืออีกชื่อหนึ่งว่า “5-FU (5 Fluorouracil)” มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างสารรหัสพันธุกรรมโดยขัดขวางการสังเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานของสารรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอและ อาร์เอ็นเอที่มีชื่อว่า ไทมิดีน (Thymidine) ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างสารรหัสพันธุกรรมที่สมบูรณ์ได้จึงนำไปสู่การยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เก่าเพื่อให้ได้เซลล์ใหม่

ปัจจุบันยาฟลูออโรยูราซิลมี 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์คือ ยาฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ (Intravenous, IV) และยาน้ำชนิดใช้ภายนอก (Topical Solution) ซึ่งยาทั้งสองรูปแบบมีสถานะทางกฎหมายเป็นยาควบคุมพิเศษและยาอันตรายตามลำดับ อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเท่านั้น

ยาฟลูออโรยูราซิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูออโรยูราซิล

ยาฟลูออโรยูราซิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษามะเร็งดังต่อไปนี้เช่น

ก. มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

ข. มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่รวมลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรงด้วย (Colonrectal Cancer)

ค. มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer)

ง. มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer)

นอกจากนี้ยังมีการใช้ในข้อบ่งใช้อื่นๆที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Unlabeled Use) ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษาเช่น มะเร็งทวารหนัก (Anal Cancer) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer) มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มะเร็งอวัยวะระบบศีรษะและคอ (Head and Neck Cancer) มะเร็งท่อน้ำดี (Hepatobiliary Cancer) เนื้องอกหรือมะเร็งเน็ต (NET; Neuro endocrine tumor, เนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์อวัยวะระบบต่อมไร้ท่อ หรือเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนได้) มะเร็งองคชาติ/มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile Cancer) มะเร็งต่อมไทมัส (Thymic Cancer)

สำหรับยาฟลูออโรยูราซิลชนิดใช้ทาภายนอก มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาเนื้องอกที่ผิวหนังชนิด Actinic Keratosis และมะเร็งผิวหนังชนิด Supericial Basal Cell Carcinoma

ยาฟลูออโรยูราซิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สารพันธุกรรม/สารรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) เป็นสารที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เป็นตัวกำหนดหน้าที่การทำงานของเซลล์ มีโครงสร้างพื้นฐานเรียกว่า นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ซึ่งประกอบไปด้วยสารอินทรีย์ชนิดต่างๆเข้ารวมกันเป็นกรดนิวคลิอิก (Nucleic Acid) เพื่อประกอบร่วมกันเป็นสารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ

ในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ในร่างกายต้องมีการจำลองสารรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ (DNA และ RNA) ขึ้นก่อน โดยมีการสร้างอาร์เอ็นเอก่อนแล้วสร้างดีเอ็นเอตามมา เซลล์มะเร็งเองก็มีกลไกการแบ่งเพิ่มจำนวนของเซลล์เช่นเดียวกับเซลล์ปกติของร่างกายแต่เป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่ามาก

กลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่มจำนวนเซลล์คือการสร้างดีเอ็นเอ (DNA) จากนิวคลีโอไทด์สำคัญที่ชื่อ ไทมิดีน (Thymidine; T) โดยพบว่ายาฟลูออโรยูราซิลซึ่งเป็นโปรดรัก (Prodrug)/ยาที่อยู่ในรูปไม่แสดงฤทธิ์ เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นสารฟลูออโรดีออกซียูรีดีนโมโนฟอสเฟต (Fluorodeoxyuridine Monophosphate; FdUMP) ที่แสดงฤทธิ์ซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทมิดีเลตซินเทส (Thymidilate Syntase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สร้างไทมิดีน (Thymidine) ทำให้เซลมะเร็งไม่สามารถสร้างไทมิดีนในดีเอ็นเอได้จึงเกิดเป็นดีเอ็นเอที่ไม่สมบูรณ์ที่นำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นจึงช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ยาฟลูออโรยูราซิลยังจับกับสารยูริดีนไทรฟอสเฟต (Uridine Triphosphate, สารที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของเซลล์) ในอาร์เอ็นเอของเซลล์มะเร็งซึ่งจะรบกวนการสังเคราะห์โปรตีนและรบกวนกระบวนการทำงานของอาร์เอ็นเอ ทำให้ได้อาร์เอ็นเอที่ผิดปกติซึ่งนำไปสู่การตายของเซลละเร็งเช่นกัน

ยาฟลูออโรยูราซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูออโรยูราซิลที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยมี 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ได้แก่

ก. เภสัชภัณฑ์ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือด (Sterile Solution for Injection) มีขนาดความแรง 50 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร (50 mg/mL) ขนาดบรรจุ 10, 50 และ 100 มิลลิลิตรต่อบรรจุภัณฑ์

ข. เภสัชภัณฑ์ยาน้ำสำหรับใช้ทาภายนอก (Topical Solution) ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัมต่อยาขนาด 100 กรัม

ยาฟลูออโรยูราซิลมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาฟลูออโรยูราซิลมีขนาดหรือวิธีใช้ยาเช่น

ก. ยาฟลูออโรยูราซิลชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด: เป็นการฉีดยานี้เข้าเส้นเลือดดำ (Intravenous) ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาและระยะเวลาการใช้ยานี้ขึ้นกับข้อบ่งใช้และสภาวะของผู้ป่วยซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสม ส่วนมากเป็นการใช้ร่วมกับยาต้านมะ เร็ง/ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆเช่น Cisplatin

ข. ยาฟลูออโรยูราซิลชนิดทาภายนอก: ให้ทายาที่รอยโรควันละ 1 หรือ 2 ครั้งขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา โดยควรทายาในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน ไม่ควรทายาจำนวนครั้งน้อย หรือมากครั้งกว่าที่แพทย์สั่ง โดยอาจสวมถุงมือหรือใช้มือเปล่าในการนี้ หากใช้มือเปล่าในการทายานี้ต้องล้างมือให้สะอาดโดยทันทีหลังการทายานี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาฟลูออโรยูราซิล ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้ยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆอยู่ เช่น ยา Cisplatin รวมไปถึงยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเช่น ยาอาซาไธโอพรีน (Azathio prine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาไซโรไลมัส (Sirolimus) ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) รวมถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
  • ประวัติโรคติดเชื้อต่างๆ
  • ประวัติการใช้รังสีรักษาทั้งในปัจจุบันหรือในอดีตที่ผ่านมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการทำงานของตับหรือของไตบกพร่อง หรือประวัติโรคหัวใจ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ให้ยาฟลูออโรยูราซิลตามกำหนด ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายวันรับการบริหารยาต่อไป

ยาฟลูออโรยูราซิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูออโรยูราซิลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนแรง มึนงง ปวดศีรษะ ผมร่วง ผิวแห้ง ผิวแตกเป็นแผล ตามีน้ำตามากหรือมีตาไวต่อแสงมากกว่าปกติ มีอาการบวม แดง หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดยานี้ หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์/พยาบาลผู้ทำการรักษาทราบ หรือควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

ยาฟลูออโรยูราซิลอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงเช่น ท้องเสียมาก มีแผล ในปาก การมองเห็นเปลี่ยนไป มือและเท้าบวมแดงหรือลอก อาจมีอาการเหมือนติดเชื้อเช่น มีไข้ เจ็บคอ อาจมีมีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นสีน้ำตาลหรือมีเลือดปน/อาเจียนเป็นเลือด มีจ้ำห้อเลือดขึ้นตามผิวหนัง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเหนียวและมีสีดำเข้มหรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือผู้ป่วยอาจเกิดการแพ้ยาหลังได้รับยานี้เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปากและหนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดัง กล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบมาโรงพยาบาลทันทีหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ยาฟลูออโรยูราซิลอย่างไร?

เนื่องจากยาฟลูออโรยูราซิลออกฤทธิ์ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายลดลง ดังนั้นเพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยานี้ ผู้ใช้ยานี้ควรปฏิบัติดังนี้

  • ดูแลสุขอนามัยของตนเองให้สะอาดอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอโดยเฉพาะก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดหรือในที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเช่น ห้างสรรพสินค้า
  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มและควรบ้วนปากเป็นประจำด้วยน้ำเกลือโรงพยาบาล(Normal saline) หรือน้ำสะอาดโดยเฉพาะทุกครั้งหลังการบริโภค
  • รับประทานอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความชื่อ ประเภทอาหารทางการแพทย์) ที่มีใยอาหารสูง
  • หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่กลางแดดหรือที่ที่มีแสงแดดจ้า สวมแว่นตาดำ/แว่นกันแดด เมื่อต้องไปในที่ที่มีแสงสว่างจ้า
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้เช่น อาหารที่มีรสจัด และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • แจ้งให้แพทย์/พยาบาลทราบ/รีบมาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอวันนัดหากมีไข้สูง มีอาการเหมือนเป็นโรคติดเชื้อเช่น เจ็บคอ มีไข้ มีแผลในช่องปากมากจนมีปัญหาต่อการบริโภค

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออโรยูราซิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออโรยูราซิลเช่น

  • ไม่ควรใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์เพราะว่ายานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ผู้ป่วยหญิงควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้การคุมกำเนิดที่เหมาะสมในระหว่างการใช้ยานี้และยังคงต้องคุมกำเนิดต่อเนื่องหลังการใช้ยานี้แล้วอย่างน้อยอีก 6 เดือน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตรเนื่องจากยานี้อาจขับออกทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ป่วยชายที่กำลังใช้ยานี้ควรได้รับการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายและไม่ควรพยายามมีบุตรในระหว่างการใช้ยานี้และหลังการใช้ยาไปแล้วอีก 6 เดือน เนื่องจากยานี้สามารถหลั่งออกมาพร้อมกับน้ำอสุจิระหว่างการมีเพศสัมพันธ์และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกได้
  • เอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจิเนส (Dihydropyrimidine Dehydrogenase; DPD) จากตับมีความสำคัญในฐานะที่ช่วยเมทาบอไลต์ (Metabolite)/ช่วยในกระบวนการเปลี่ยนรูปและกำจัดยาฟลูออโรยูราซิลออกนอกร่างกาย หากเคยมีประวัติว่ามี DPD ต่ำกว่าปกติ/มีโรคตับ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดการสะสมของยานี้ในร่างกายสูงมากจนมีโอ กาสได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้มากกว่าคนปกติ
  • ยาฟลูออโรยูราซิลจะทำให้กระบวนการสมานแผล/แผลหายช้าลง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใดๆควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบถึงการใช้ยานี้ก่อนการนัดผ่าตัด/หัตถการทางทันตกรรม
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccines)/วัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อที่มีชีวิตอยู่ขณะได้รับยานี้เช่น วัคซีนโรคหัด (Measles) วัคซีนโรคหัดเยอรมัน (Mumps) และวัค ซีนโรคคางทูม (Rubella) เพราะอาจติดโรคจากวัคซีนได้ เพราะยานี้ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยต่ำลงจึงติดเชื้อได้ง่ายถึงแม้เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำอย่างชนิดที่นำมาใช้ทำวัคซีน นอกจากนั้นผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาฟลูออโรยูราซิลหรือภายหลังการได้รับยานี้ไปแล้วอีกประมาณ 6 เดือนอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายเช่นกันเนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วยจะต่ำกว่าปกติ
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จะทำให้ระดับเม็ดเลือดขาว/ระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจวัดระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต ด้วยยานี้จะทำให้อาการโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออโรยูราซิล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟลูออโรยูราซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูออโรยูราซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆดังต่อไปนี้เช่น

ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อไปนี้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิล

  • วัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccines) เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำกว่าปกติขณะได้รับยานี้ ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนเชื้อเป็นได้
  • ยาโคลซาพีน (Clozapine) เนื่องจากจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาฟลูออโรยูราซิลที่รุนแรงขึ้นเช่น ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำมาก
  • ยาที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิต้านทานเช่น ยาไพมิโครไลมัส (Pimecrolimus) ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) เนื่องจากผู้ที่ใช้ยาฟลูออโรยูราซิลจะมีภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำกว่าปกติอยู่แล้ว จึงไม่ควรได้รับยาอื่นที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันฯลดลงไปอีก

ข. ยาฟลูออโรยูราซิลอาจทำให้ความเข้มข้นของยาบางชนิดในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จึงต้องระมัดระวังผลข้างเคียงและพิษจากยาดังกล่าวหากใช้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิลเช่น

  • ยาลดความดันโลหิต: เช่น ยาคาร์วิไดลอล (Carvedilol)
  • ยาต้านชัก: เช่น ยาฟอสฟีไนทอยด์ (Fosphenytoin) ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ยาลาโคซาไมด์ (Lacosamide)
  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่เสตียรอยด์: เช่น ยาไดโคลฟีแนก (Diclofenac)
  • ยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์: เช่น ยาลีฟลูโนไมด์ (Leflunomide)
  • ยาบรรเทาอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ในหญิงวัยหมดประจำเดือน: เช่น ยาออสพีมิพีน (Ospemifene)

ค. ยาบางชนิดอาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาฟลูออโรยูราซิลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จึงต้องระมัดระวังและตรวจสอบผลข้างเคียงหรือพิษจากยาฟลูออโรยูราซิลอย่างสม่ำเสมอหากมีการใช้ร่วมกันเช่น

  • ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร: เช่น ยาไซเมทิดีน (Cimetidine)
  • ยารักษาโรคกระดูกพรุน: เช่น ยาดีโนซูแมบ (Denosumab)
  • อนุพันธุ์ของยากรดโฟลิก: ลิวโคโวริน (Leucovorin)
  • ยาฆ่าเชื้อ: เช่น ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
  • ยากดภูมิคุ้มกันฯ: ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus)

ง. ยาฟลูออโรยูราซิลอาจทำให้ระดับของยาบางชนิดลดลง ซึ่งอาจทำให้ยาที่ใช้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิลไม่เกิดประสิทธิผลหรือไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การใช้ยา 2 ชนิดร่วมกันอาจต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของยาเหล่านั้นเช่น

  • วัคซีนบีซีจี/BCG และวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccines) ชนิดต่างๆ
  • ยาที่มีฤทธิ์ต้านวิตามินเค (Vitamin K Antagonists) เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

ควรเก็บรักษายาฟลูออโรยูราซิลอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วควรเก็บยาฟลูออโรยูราซิลในที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่ควรเก็บในตู้เย็นหรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และควรเก็บภายในกล่องที่มาพร้อมกับตัวยาจากบริษัทผู้ผลิต เก็บยาให้พ้นแสงแดด มือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาฟลูออโรยูราซิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูออโรยูราซิลมีอีกชื่อหนึ่งว่า 5-ฟลูออโรยูราซิล (5 Fluorouracil) หรือนิยมเรียกย่อว่า 5 เอฟยู (5 FU) ยานี้ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยมียาชื่อการค้า ชื่อบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายได้แก่

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Fluorouracil, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:897-900.
  2. Daniel B. Longley, D. Paul Harkin and Patrick G. Johnston. 5-FLUOROURACIL: MECHANISMS OF ACTION AND CLINICAL STRATEGIES. Nature. 2003;3:330-8.
  3. Fluorouracil. Cancer Research UK http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancers-in-general/treatment/cancer-drugs/fluorouracil [2016,April23]
  4. DPD deficiency and Fluorouracil. Cancer Research UK http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancers-in-general/cancer-questions/dpd-deficiency-and-fluorouracil [2016,April23]
  5. Fluorouracil. Chemocare http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/fluorouracil.aspx [2016,April23]
  6. Summary of Product Characteristic. Fluorouracil 50 mg/ml Injection. Emc. UK http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/636 [2016,April23]
  7. Summary of Product Characteristic.Efudix Cream. Emc UK http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/6219 [2016,April23]
  8. Stroud RM, Santi DV, Hardy LW, Montfort WR, Jones MO, Finer-Moore JS. Atomic structure of thymidylate synthase: target for rational drug design. Science. 1987;235(4787):448–55.
  9. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,April23]
  10. กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี. กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัด. http://www.slideshare.net/jumponutta/ss-37363385 [2016,April23]
  11. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. Basic Principles of Chemotherapy http://www.med.cmu.ac.th/dept/pediatrics/04-divisions_home_thai/08-hema-onco-home/panja-book/chapter3.html [2016,April23]