ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออะไร?

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(Dietary supplements หรือ Food supplements หรือ Nutritional supplements) ในทางเภสัชกรรมหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ โดยจะมีส่วนประกอบของสารอาหาร และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เอนไซม์ หรือ ใยอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่เหมือนกับยา (Drugs) จึงไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่ผู้ป่วย

อนึ่ง ในทางเภสัชกรรม “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” จะแตกต่างจาก “อาหารเสริม(Dietary supplement)” ซึ่ง อาหารเสริม หมายถึง อาหารที่ให้รับประทานเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) โดยการให้อาหารเสริมมีวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย หรือเพื่อช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตที่ดี เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาหารเสริม)

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารเสริม คืออย่างเดียวกัน และมักเรียกรวมๆว่า “อาหารเสริม”

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีกี่ประเภท?

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้

1. วิตามิน (Vitamins): เช่น วิตามินเอ (Vitamin A), วิตามินบี (Vitamin B), วิตามินซี (Vitamin C), วิตามินดี (Vitamin D), วิตามินอี (Vitamin E), กรดโฟลิก (Folic acid)

2. แร่ธาตุหรือเกลือแร่ (Minerals): เช่น แคลเซียม (Calcium), สังกะสี (Zinc), เหล็ก (Iron), แมกนีเซียม (Magnesium), ซิลีเนียม (Selenium)

3. กรดอะมิโน (Amino acids): เช่น ทริปโตเฟน (Tryptophan), กลูตามีน (Glutamine), อาร์จินีน (Arginine), ไทโรซีน (Tyrosine), ทอรีน (Taurine), กรดอะมิโนโซ่กิ่ง (Branched-chain amino acids, BCAA) ซึ่งประกอบไปด้วย วาลีน (Valine), ไอโซลิวซีน (Isoleucine) และลิวซีน (Leucine)

4. กรดไขมัน(Fatty acids): เช่น กรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3 fatty acid)กรดไขมันโอเมก้า-6 (Omega-6 fatty acid)

5. สมุนไพร และสารสกัดจากพืช (Herbs and herbal extracts): เช่น สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed), ขิง (Ginger), กระเทียม (Garlic), เอ็กไคนาเซีย (Echinacea), แปะก๊วย (Ginkgo Biloba), เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort), โสม (Ginseng), วาเลอเรียน (Valerian), คาวา (Kava)

6. สารสกัดจากสัตว์ (Animal extracts): เช่น น้ำมันปลา (Fish oil), น้ำมันตับปลา(Cod liver oil), สารสกัดจากหอยนางรม (Oyster extract), กระดูกอ่อนปลาฉลาม (Shark cartilage)

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้ คือ

  • เม็ด (Tablet)
  • เม็ดฟู่ (Effervescent Tablet)
  • แคปซูล (Capsule)
  • แคปซูลนิ่ม (Soft gelatin capsule)
  • เยลลี่เคี้ยว (Gummy)
  • ผง (Powder)
  • อิมัลชัน (Emulsion)
  • น้ำเชื่อม (Syrup)

มีข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น

1. ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เช่น ได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริม ในผู้ที่ไม่รับประทานผักหรือผลไม้ หรือรับประทานได้น้อย

2. ใช้บำรุงร่างกาย และช่วยให้ระบบอวัยวะต่างๆในร่ายกายทำงานได้ตามปกติ

3. อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูง

มีข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้สารนั้นๆ

2. ห้ามรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทนยารักษาโรค

มีข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร ?

มีข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้ เช่น

1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่อาหารหลัก ดังนั้นผู้บริโภคยังต้องบริโภคอาหารหลัก/อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม

2. ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถใช้รักษาโรค หรือใช้ลดน้ำหนัก เพราะอาจมีส่วนผสมอื่น เช่นยาลดความอ้วน ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

3. ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีฉลากถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีฉลาก ตัวอย่างเช่น สมุนไพร จะทำให้ไม่ทราบถึง ชนิด ความแรง และ/หรือ ปริมาณที่ได้รับ อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่รับประทานอยู่ได้

4. ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับยาบางชนิด ตัวอย่างเช่น หากรับประทานยา Warfarin หรือ Aspirin ร่วมกับสารสกัดจากแปะก๊วย หรือวิตามินอี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดไหลไม่หยุดได้, St. John's Wort มีผลทำให้ระดับยาบางชนิดลดลง เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาคลายเครียด ยากันชัก ยาเม็ดคุมกำเนิด จนอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล

5. หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น น้ำมันปลา สารสกัดจากกระเทียม แปะก๊วย โสม และวิตามินอี ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากแผลผ่าตัดได้ นอกจากนี้ วาเลอเรียน และคาวา เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาสลบที่ใช้ในระหว่างผ่าตัดได้

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในหญิงตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตรควรเป็น ดังนี้ เช่น

1. หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกเสริมในปริมาณ 800 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects) ของทารกในครรภ์

2. หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมเสริมในปริมาณ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดีเสริม 60 IU ต่อวัน เพื่อให้กระดูกและฟันของทั้งมารดา และทารกในครรภ์แข็งแรง

3. ไม่ควรรับประทานวิตามินเอเสริม เพราะโดยปกติจะได้รับจากอาหารอย่างเพียงพอแล้ว (ปริมาณวิตามินเอที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ คือ ไม่เกิน 8,000 หน่วย/IU/International unit ต่อวัน) การได้รับวิตามินเอในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาต่างๆหลายชนิด จึงควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่รับประทานอยู่ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

2. หากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง อาจทำให้ได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร (Dietitian) หรือนักโภชนาการ (Nutritionist) เพื่อพิจารณาว่าควรได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดเพิ่มเติม

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ถ้าเด็กรับประทานอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)ได้อย่างเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอในเด็ก

2. หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรเลือกชนิดที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และรับประทานตามปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับสารอาหารที่มากเกินไป

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจพบได้ดังนี้ เช่น

1. ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามปริมาณที่กำหนดไว้บนฉลาก หรือไม่เกินร้อยละ(%)ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน (% Daily Value) หากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้มีสารเหล่านั้นสะสมอยู่ในร่างกาย และส่งผลให้ทำให้ตับหรือไตทำงานหนัก เพื่อขับสารเหล่านั้นออกจากร่างกาย จนอาจเกิดอันตรายต่อตับและไตได้

2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จากมียาฆ่าแมลงที่ใช้ หรือจากมีโลหะหนักตกค้าง

3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย,) อาจไม่ระบุสารสำคัญทุกชนิด ไม่ระบุปริมาณสารอาหารที่ได้รับ หรืออาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีปริมาณสารอาหารมากหรือน้อยกว่าที่ระบุบนฉลาก อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น ผลต่อ ไต ตับ และระบบเลือด

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ดารณี หมู่ขจรพันธ์. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: ข้อเท็จจริงที่ควรรู้. Quality 14 (January 2008) : 090-093.
  2. วาสนา วิไลวรรณ และคนอื่นๆ. ประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่อสุขภาพของผู้บริโภค http://www.agro.cmu.ac.th/absc/data/57/57-011.pdf [2016,Nov12]
  3. U.S. Food and Drug Administration. Dietary Supplement Products & Ingredients http://www.fda.gov/food/dietarysupplements/productsingredients/default.html [2016,Nov12]
  4. U.S. Food and Drug Administration. Tips for Older Dietary Supplement Users http://www.fda.gov/food/dietarysupplements/usingdietarysupplements/ucm110493.html [2016,Nov12]
  5. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Pregnancy diet: Focus on these essential nutrients http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy-nutrition/art-20045082?pg=1 [2016,Nov12]
  6. http://www.eufic.org/article/en/artid/Food_supplements_who_needs_them_and_when/ [2016,Nov12]