ปวดท้องน้อย (Pelvic pain)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ปวดท้องน้อย หรือ ปวดอุ้งเชิงกราน (Pelvic pain) คือ อาการปวดที่เกิดในช่องท้องส่วนล่าง ส่วนใต้ต่อสะดือลงไป ที่เรียกว่า ‘ท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน’ ซึ่งปวดท้องน้อย เป็นอาการ ไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ) โดยเป็นอาการที่เกิดจากโรค/ภาวะผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในท้องน้อยซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นกับว่าเกิดโรค/ภาวะผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใดในท้องน้อย ดังนั้นปวดท้องน้อยจึงมีสาเหตุได้มากมาย อย่างไรก็ตามประมาณ 10-15% ของผู้ป่วย แพทย์หาสาเหตุไม่พบ

อนึ่ง:

  • ถ้าอาการปวดท้องน้อยเกิดอย่างเฉียบพลันโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน หรือเป็นๆหายๆในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เรียกว่า “ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน/ฉับพลัน(Acute pelvic pain)”
  • แต่ถ้าอาการปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป เรียกว่า “ปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain)”
  • อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านนิยาม การปวดท้องน้อยเฉียบพลัน หรือ เรื้อรัง โดยใช้ระยะเวลาที่ 6 เดือน แทน 3 เดือน

ปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเป็นอาการพบบ่อย เป็นอาการพบทุกเพศและทุกวัย แต่โดยทั่วไปเป็นอาการในผู้ใหญ่ ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชาย, ในผู้หญิงมักพบในช่วงวัยเจริญพันธ์ทั้งปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง, ส่วนในผู้ชายมักพบในวัยสูงอายุกว่าในผู้หญิงโดยพบเป็นการปวดเรื้อรังมากกว่าปวดเฉียบพลัน

ท้องน้อยคือส่วนไหนของร่างกาย?

ปวดท้องน้อย

ท้องน้อย หรือ อุ้งเชิงกราน หรือ ช่องท้องส่วนล่าง (Pelvis หรือ Pelvic cavity หรือ Lower abdomen) หมายถึง ช่องท้องส่วนล่าง คือ ส่วนล่างต่อสะดือลงไป เป็นช่องท้องส่วนที่อยู่ในวงล้อมของ กระดูกปีกสะโพก (Iliac bones) ที่เป็นกรอบอยู่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา, กระดูกหัวหน่าว (Pubic bone) ทางด้านหน้า, และกระดูกสันหลังส่วนกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (Sacrum)และกระดูกก้นกบ (Coccyx) อยู่ทางด้านหลัง

ภายในท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานมีอวัยวะหลากหลาย เช่น ส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ (ลำไส้ใหญ่ตอนล่างที่เรียกว่า ไส้ตรง และ ทวารหนัก; อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร), อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่าง(คือ ท่อไตตอนล่าง, และกระเพาะปัสสาวะ), และยังประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ท่อ/หลอดน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง เส้นประสาท และเนื้อเยื่อพังผืด

ในผู้หญิง: นอกจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆดังกล่าวแล้ว ท้องน้อยของผู้หญิงยังประกอบด้วยเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นระบบอวัยวะเพศภายในสตรี คือ ช่องคลอด, มดลูก (ตัวมดลูก และปากมดลูก), ปีกมดลูก, ท่อนำไข่, และรังไข่

ในผู้ชาย: นอกจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆดังกล่าวแล้ว (ยกเว้นที่มีในผู้หญิง) เนื้อเยื่อ/อวัยวะในท้องน้อยผู้ชาย ยังประกอบด้วย อวัยวะที่เป็นระบบสืบพันธ์ชาย คือ ต่อมลูกหมาก และ อัณฑะ (เฉพาะในบางคนเป็นส่วนน้อยมากที่อัณฑะยังคงค้างอยู่ในท้องน้อย ทั่วไปเมื่อแรกเกิด อัณฑะจะอยู่ในท้องน้อย และจะเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะก่อนคลอดหรือภายในประมาณ 1 ปีหลังคลอด) กรณีที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งปกติคือในถุงอัณฑะ อัณฑะจะค้างอยู่ในท้องน้อย ที่เรียกว่า ภาวะ/โรคอัณฑะค้างในท้อง

ปวดท้องน้อยมีสาเหตุจากอะไร?

ปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเป็นอาการพบบ่อย โดยเฉพาะพบบ่อยมากใน ผู้หญิง ที่เกือบทุกคนเคยผ่านอาการปวดท้องน้อยมาแล้วทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยมักพบเกิดในวัยเจริญพันธ์ มักเป็นสาเหตุจากโรคของอวัยวะเพศภายในสตรี(โรคในระบบสูตินรีเวช) เช่น ปวดประจำเดือน เป็นต้น

ส่วนในผู้ชาย พบน้อยกว่าในผู้หญิงมาก มักเป็นการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และพบในผู้ชายสูงวัยกว่าในผู้หญิง เช่น จากโรคของต่อมลูกหมาก(เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ) หรือจากโรคของกระดูกสันหลัง

อย่างไรก็ตาม ปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเป็นอาการที่เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

ก. สาเหตุของปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเฉียบพลัน : เช่น

  • โรคของอวัยวะเพศ:
    • ในผู้หญิง: เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ, เยื่อบุมดลูกอักเสบ, ปีกมดลูกอักเสบ, ท่อนำไข่อักเสบ, รังไข่อักเสบ, และ/หรือติดเชื้อในเนื้อเยื่อต่างๆของช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานที่เรียกว่า การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานที่รวมทั้งการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ท้องนอกมดลูก, ปวดท้องจากตกไข่, รังไข่บิดขั้ว, การแตกของถุงน้ำรังไข่, โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, โรคเนื้องอกมดลูก, ภาวะปวดประจำเดือน, การใส่ห่วงคุมกำเนิด, ซึ่งสาเหตุทั้งหมดรวมกัน คิดเป็นประมาณ 50-55% ของการปวดท้องน้อยทั้งหมดในผู้หญิง
    • ในผู้ชาย:
      • โรค/สาเหตุที่พบบ่อย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน, โรคหนองในเทียม
      • โรคที่พบประปราย เช่น อัณฑะอักเสบ, ท่อต่างๆของอัณฑะอักเสบ/ถุงเก็บอสุจิอักเสบ (Epididymitis), อัณฑะบิดขั้ว, โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • โรคของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • โรคของระบบทางเดินอาหาร: เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, ลำไส้อักเสบ
  • แพทย์หาสาเหตุไม่พบ ประมาณ 10-15%

ข. สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง : เช่น

  • โรคในระบบอวัยวะสืบพันธ์:
    • ในผู้หญิง: จากโรคของอวัยวะเพศภายในสตรีที่เรื้อรัง เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, โรคเนื้องอกมดลูก, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยเรื้อรัง, ปวดประจำเดือนเรื้อรัง, โรคมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
    • ในผู้ชาย: ที่พบบ่อย คือ ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ, โรคต่อมลูกหมากโต(โรคบีพีเอช/ BPH)
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคระบบทางเดินอาหาร: เช่น จากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งทวารหนัก โรคไส้เลื่อน(ในผู้ชาย)
  • จากภาวะมีพังผืดในช่องท้องน้อยซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากโรค/ภาวะต่างๆของท้องน้อย เช่น เคยผ่าตัดในท้องน้อย (เช่น ไส้ติ่งอักเสบ) หรือจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในท้องน้อย(ในผู้หญิง)
  • โรคกล้ามเนื้อ และ/หรือ โรคกระดูก เช่น กล้ามเนื้อในช่องท้องน้อยอักเสบเรื้อรัง ข้อกระดูกปีกสะโพกอักเสบ หรือโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม
  • ปัญหาทางอารมณ์/ จิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า
  • โรคอื่นๆ: เช่น โรคงูสวัดของผิวหนังส่วนท้องน้อย

มีอาการอื่นร่วมกับปวดท้องน้อยไหม?

ปวดท้องน้อย/ ปวดอุ้งเชิงกราน มักมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเสมอ และจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน เมื่อสาเหตุเกิดจากระบบทางเดินอาหาร
  • เมื่อสาเหตุเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการปวดท้องน้อยตอนล่างด้านขวา(ตำแหน่งไส้ติ่ง) ร่วมกับมีไข้ และอาจมีคลื่น-ไส้อาเจียน
  • เมื่อสาเหตุเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ: อาจปวดท้องน้อยเหนือกระดูกหัวหน่าว(ตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะ) ปัสสาวะขัด แสบขณะปัสสาวะและหลังปัสสาวะ เบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด
  • เมื่อสาเหตุเกิดจากการเสื่อมของกระดูก: จะมีอาการปวดที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เดิน ยืน นอน หรืออาการชาบริเวณขา และเท้า หรือขาอ่อนแรง
  • เมื่อเป็นปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ: มักจะเครียด อ่อนล้า นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ เบื่ออาหาร มีปัญหาทางเพศสัมพันธ์

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปวดท้องน้อยอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของการปวดท้องน้อย ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติความเครียดในชีวิต/ครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • อาจมีการตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจปัสสาวะ
  • อาจมีการตรวจเลือด เช่น ซีบีซี (CBC)
  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจภาพท้องน้อยด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • การตรวจส่องกล้องต่างๆทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งบางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเมื่อตรวจพบรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ในผู้หญิง: จะมีการซักถามประวัติทางการแพทย์ และการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • สอบถามประวัติประจำเดือน ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
    • การคุมกำเนิด
    • อาจมีการตรวจภายใน
    • อาจตรวจการตั้งครรภ์

รักษาปวดท้องน้อยอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการปวดท้องน้อย/ ปวดอุ้งเชิงกราน คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. รักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยขึ้นกับแต่ละสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกราน เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่ออาการเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การผ่าตัดเมื่ออาการเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบ

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข. การรักษาตามอาการ คือ การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น

  • การใช้ยาแก้ปวด
  • การใช้กายภาพบำบัด
  • ยาคลายเครียด
  • การรักษาด้านจิตเวช

ปวดท้องน้อยรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรงหรือการพยากรณ์โรคของอาการปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกราน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ถ้าเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคไส้ติ่งอักเสบ จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาหาย
  • แต่ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ มะเร็งปากมดลูก ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม การปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง มักเป็นสาเหตุให้ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง เพราะมักก่อให้เกิดผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในเรื่องของการงาน และในเพศสัมพันธ์

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดท้องน้อย? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกราน เช่น

  • กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล (Paracetamol)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ
    • มีไข้
    • มีสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศผิดปกติ เช่น ตกขาวผิดปกติ
    • มีแผลที่อวัยวะเพศ
    • มีอาการทางปัสสาวะร่วมด้วย เช่น ปวด แสบขัดเวลาปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • อุจจาระเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด
    • มีโรคซีด
    • ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้-อาเจียน อาจร่วมกับมีไข้
    • ปวด เจ็บ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือมีปัญหาทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว/นกเขาไม่ขัน(ในผู้ชาย)
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
    • ปวดท้องน้อยมาก(ในผู้หญิง อาจร่วมกับประจำเดือนผิดปกติ) และอาจร่วมกับโรคซีด(มักเกิดจากท้องนอกมดลูก)
    • มีไข้ อาจร่วมกับท้องเสีย หรือท้องผูก และ/หรือคลื่นไส้-อาเจียน ซึ่งอาจเกิดจาก ไส้ติ่งอักเสบได้เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนล่าง

ดูแลตนเองอย่างไรหลังพบแพทย์แล้ว? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองหลังพบแพทย์และรู้สาเหตุปวดท้องน้อย/ปวดอุ้งเชิงกรานแล้ว ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปวดท้องน้อยมากขึ้น คลื่นไส้-อาเจียน มีอาการชานิ้วเท้า เท้า หรือขา
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น หรือกลับมามีอาการที่เคยมีแต่ได้รักษาหายแล้ว เช่น มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด(ในผู้หญิง) ซีด ปัสสาวะขัด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนต่อเนื่อง ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันปวดท้องน้อยอย่างไร?

การป้องกันอาการปวดท้องน้อย คือ การป้องกันสาเหตุซึ่งต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ แต่โดยทั่วไป การป้องกันที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ไม่ส่ำส่อนทางเพศ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ ทุกวัน
  • รักษาสุขภาพจิต
  • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆร่วมกับปวดท้องน้อยที่ภายหลังดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือเมื่ออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า และเพื่อป้องกันการกลายเป็นอาการ/โรคที่เรื้อรัง

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pelvis [2020, Aug8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pelvic_pain [2020, Aug8]
  3. https://www.nhs.uk/conditions/pelvic-pain/ [2020, Aug8]