ประเภทวัตถุอันตรายและสารเคมี (Hazardous materials)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

นักวิชาการได้ให้คำนิยามวัตถุอันตราย(Hazardous materials) หมายถึง สารประกอบ หรือ สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง สารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง สารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สารที่ทำให้มีอาการแพ้ สารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบเลือด สารสร้างความเสียหายให้กับ ปอด ผิวหนัง ตา/ ลูกตาหรือ ผิวอ่อนที่มีความบอบบางตามร่างกาย เช่น เนื้อเยื่ออวัยวะเพศ สารเคมีดังกล่าวถูกจัดแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะอันตรายที่เกิดขึ้น เช่น วัตถุระเบิด วัตถุหรือสารไวไฟ สารประเภทออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ก่อให้มีการติดเชื้อ วัตถุที่มีฤทธิ์กัดกร่อนซึ่งรวมถึงสารประกอบประเภทกรด-เบส(Base)/กรด-ด่าง

ตามกฎหมายความปลอดภัยของการทำงาน ผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายจะต้องจัดทำข้อกำหนดรายละเอียดและการจัดการกับวัตถุอันตรายโดยบันทึกเป็นเอกสารข้อมูลความปลอดภัยประจำวัตถุอันตรายแต่ละตัว เราเรียกเอกสารดังกล่าวว่า Material safety data sheet หรือย่อว่า “เอมเอสดีเอส(MSDS)”

วัตถุอันตรายแบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ประเภทวัตถุอันตรายและสารเคมี

วัตถุอันตรายได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ตามลักษณะการเกิดอันตรายโดยระบุตัวเลขประจำประเภทของวัตถุอันตราย ดังนี้

  • ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด: หมายถึง วัตถุที่สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีและระเบิดขึ้นได้ โดยแบ่งวัตถุอันตรายประเภทนี้ออกเป็นอีก 6 ประเภทย่อย ดังนี้
    • ประเภท1.1 เป็นวัตถุระเบิดที่ก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างรุนแรง การระเบิดสามารถทำลายและสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและพื้นที่ได้อย่างมาก
    • ประเภท1.2 เป็นวัตถุระเบิดที่มีความรุนแรงและทิศทางการทำลายน้อยกว่าประเภท1.1
    • ประเภท1.3 เป็นวัตถุระเบิดที่สามารถก่อให้เกิดเปลวไฟ
    • ประเภท1.4 เป็นวัตถุระเบิดที่ก่อให้เกิดอันตรายเพียงเล็กน้อย ความรุนแรงจะถูกจำกัดในวงพื้นที่แคบ และสามารถสร้างความเสียหายให้กับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุวัตถุระเบิดเพียงบางส่วนเท่านั้น
    • ประเภท1.5 เป็นวัตถุที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการระเบิด หากเมื่อเกิดการลุกไหม้หรือมีเปลวไฟจึงสามารถทำให้วัตถุดังกล่าวระเบิดได้
    • ประเภท1.6 เป็นวัตถุที่เฉื่อยต่อการกระตุ้นให้ระเบิด แต่สามารระเบิดได้โดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากนัก
  • ประเภทที่ 2 เป็นวัตถุอันตรายจำพวกแก๊สต่างๆ: ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 3 หมวด
    • ประเภท2.1 แก๊สที่ติดไฟ: เช่น แก๊สอะเซทิลีน(Acetylene) และไฮโดรเจน(Hydrogen) แก๊สเหล่านี้จะติดไฟได้ต้องอาศัยแหล่งกำเนิดความร้อนและอากาศเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้ติดไฟ
    • ประเภท2.2 เป็นแก๊สที่ไม่ก่อให้เกิดการระเบิดหรือพิษ แก๊สประเภทนี้มักนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะของแก๊สแช่แข็ง หรือสารออกซิไดซิง(Oxidising agent; แก๊สที่มีความสามารถแย่งชิงอิเล็กตรอน/Electronจากสารประกอบอื่น)
    • ประเภท2.3 แก๊สพิษที่เป็นสาเหตุให้สิ่งมีชีวิตตายได้
  • ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ: เป็นวัตถุอันตรายที่มีลักษณะเป็นของเหลวที่ติดไฟง่าย มีจุดวาบไฟตั้งแต่ -18 – 23 องศาเซลเซียส ตัวอย่างของเหลวประเภทนี้ ได้แก่ อะซิโตน(Acetone) น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน
  • ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ: แยกออกเป็น 3 ประเภทย่อย
    • ประเภท4.1 เป็นของแข็งที่สามารถประทุหรือติดไฟได้เองเมื่อมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ จัดเป็นสารที่ไม่ค่อยมีความเสถียรสักเท่าใดนัก
    • ประเภท4.2 เป็นวัตถุอันตรายที่ลุกติดไฟได้เองที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง หรือลุกติดไฟ ภายใน 5 นาที หลังจากนำมาสัมผัสกับอากาศ
    • ประเภท4.3 เป็นวัตถุอันตรายที่ติดไฟเมื่อเปียกชื้น
  • ประเภทที่ 5 วัตถุออกซิไดซิ่งและออร์แกนิคเปอร์ออกไซด์(Organic peroxide): แยกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
    • ประเภท5.1 สารออกซิไดซ์: เป็นวัตถุอันตรายที่สามารถปลดปล่อยแก๊สออกซิเจน โดยออกซิเจนที่ปลดปล่อยออกมาสามารถไปเร่งปฏิกิริยาการติดไฟหรือการระเบิดให้กับสารอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจนเปอรอกไซด์(Hydrogenperoxide)
    • ประเภท5.2 ออร์แกนิคเปอร์ออกไซด์: เป็นสารประกอบที่มีอะตอมของออกซิเจนในโมเลกุลเชื่อมต่อกัน 2 อะตอม (R-O-O-R) และมีอย่างน้อย 1 อะตอมของออกซิเจน ที่เชื่อมต่อกับอะตอมของคาร์บอน
  • ประเภทที่ 6 วัตถุมีพิษและวัตถุติดเชื้อ: แบ่งเป็น
    • ประเภท6.1 วัตถุมีพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตาย หรือเกิดอันตรายอย่างรุนแรงในมนุษย์ในระหว่างที่ต้องขนส่งหรือเคลื่อนย้ายไปสถานที่ใหม่
    • ประเภท6.2 วัตถุติดเชื้อ หมายถึง วัตถุที่มีการปนเปื้อนของเชื้อที่ก่อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ริกเกตเซีย(Rickettsia, แบคทีเรียชนิดที่ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์จึงจะมีชีวิตอยู่ได้) รา รวมถึงปรสิต ซึ่งเป็นสาเหตุการก่อโรคในมนุษย์
  • ประเภทที่ 7 สารกัมมันตรังสี: เป็นวัตถุอันตรายที่คอยปลดปล่อยกัมมันตรังสีออกตลอดเวลา เช่น โคบอลต์ 60(Cobalt 60)
  • ประเภทที่ 8 สารที่มีฤทธิ์กัด-กร่อน: อาจอยู่ในสภาพของเหลว หรือของแข็ง ก็ได้ หากสัมผัสผิวหนังจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง
  • ประเภทที่ 9 วัตถุอันตรายอื่นๆ: ที่ไม่อยู่ใน 8 ประเภทข้างต้น เช่น ยาชา ขยะอันตราย สารมลพิษทางน้ำ

*อนึ่ง เราสามารถสังเกตว่า สารเคมีนั้นๆอยู่ในวัตถุอันตรายประเภทใด โดยดูฉลากบนภาชนะบรรจุ จะมีหมายเลขบอกประเภทอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ตั้งขึ้นโดยใช้แนวทแยงมุมเป็นหลัก เช่น สารออกซิไดซ์ ใช้สัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมฯที่ตั้งขึ้น ภายในสี่เหลี่ยมฯจะมีรูปสิ่งอันตราย เช่น เปลวไฟอยู่ด้านบน และมีตัวเลขที่บอกประเภทวัตถุอันตรายอยู่ด้านล่าง ซึ่งวัตถุอันตรายแต่ละประเภทก็ใช้สัญลักษณ์คล้ายๆกัน เพียงแต่ ตัวเลข สีพื้น และรูปภาพประกอบในสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะแตกต่างกันออกไป แนะนำดูภาพประกอบและคำอธิบายจากสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน(ประเทศไทย) เว็บ http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=201:-hazardous-material&catid=47:-m---m-s&Itemid=201 [2018]

รายละเอียดในเอมเอสดีเอส (MSDS) มีอะไรบ้าง?

เอมเอสดีเอส (MSDS) เป็นเอกสารหรือคู่มือความปลอดภัยของวัตถุหรือสารเคมีอันตรายนั้นๆ โดยเนื้อหาจะประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ชื่อทางเคมี หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสารนั้นๆ

2. CAS No. หมายถึงเลขทะเบียนของสารเคมีหรือวัตถุอันตราย ย่อมาจาก “Chemical Abstracts Service”

3. รายละเอียด ผู้ผลิต ผู้นำเข้า

4. การใช้ประโยชน์

5. ค่ามาตรฐานความเป็นพิษ

6. คุณสมบัติทางกายภาย และทางเคมี

7. อันตรายต่อสุขภาพ

8. ความคงตัวและการเกิดปฏิกิริยา

9. อัคคีภัย/ระเบิด

10. การเก็บรักษา/ขนส่ง

11. การกำจัด รวมถึงการป้องกันการแพร่กระจายกรณีรั่วไหล

12. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ต้องสวมใส่ขณะปฏิบัติงานกับวัตถุอันตราย

13. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

14. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือข้อมูลเชิงนิเวศน์

15. การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

*ดั้งนั้น เพื่อความปลอดภัยก่อนปฏิบัติงานกับวัตถุอันตรายประเภทใดก็ตาม ควรศึกษาคู่มือความปลอดภัยของวัตถุอันตรายตัวนั้นทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

* ทั้งนี้ ประชาชนสามารถหาอ่านคู่มือความปลอดภัยของวัตถุอันตรายได้จากเว็ปไซต์ต่างๆเช่น

  1. คู่มือความปลอดภัยของ กรดเกลือ http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8232/823249.html [2018,June30]
  2. คู่มือความปลอดภัยของ โซดาไฟ http://www.sciencelab.com/msds.php?msdsId=9924998 [2018,June30]

บรรณานุกรม

  1. https://www.tcijthai.com/news/2015/08/watch/5593 [2018,June30]
  2. https://www.ihmm.org/about-ihmm/what-are-hazardous-materials [2018,June30]
  3. https://ehs.ncsu.edu/hazardous-materials-classification/ [2018,June30]
  4. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=156 [2018,June30]
  5. https://fpsrtm.com/information/dg-classification/ [2018,June30]
  6. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2 [2018,June30]
  7. http://www.sciencelab.com/msds.php?msdsId=9924998 [2018,June30]
  8. http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=201:-hazardous-material&catid=47:-m---m-s&Itemid=201 [2018,June30]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Rickettsia [2018,June30]