พาราคว็อท ยาฆ่าหญ้าพาราคว็อท (Paraquat)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารเคมี หรือ สารพาราคว็อท (Paraquat) เป็นสารประกอบอินทรีย์มีชื่อทางเคมีว่า N,N’-dimethyl-4,4’-bipyridinium dichloride ในประเทศไทยใช้เป็น ยากำจัดวัชพืช(Herbicide) เช่น หญ้า ทั่วไปจึงมักเรียกว่า “ยาฆ่าหญ้า”

พาราคว็อท ไม่เพียงมีพิษต่อวัชพืชเท่านั้น แต่ยังมีพิษต่อพืชใบเขียวอีกหลายชนิด หากต้นพืชสัมผัสสารพาราคว็อทจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า รีดอกซ์ (Redox activity)กับเซลล์ของพืชส่งผลทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อีกต่อไป

พาราคว็อท ยังสามารถทำให้เกิดพิษกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์ การได้รับพิษเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการคล้ายเป็นโรคพาร์กินสัน

หลายประเทศมีการใช้พาราคว็อทในการกำจัดวัชพืชก็จริง แต่ด้วยความเป็นพิษ จึงมีกลุ่มประเทศในแถบสหภาพยุโรปและประเทศอื่นอย่างเช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก ฮังการี สวีเดน เกาหลี มาเลเซีย ฯลฯ รวม 32 ประเทศที่ปฏิเสธและมีกฎหมายห้ามใช้สารพาราคว็อท

อนึ่ง ชื่อทางการค้าของสารนี้ที่จำหน่ายในท้องตลาด เช่น Gramoxone , Parazone

กลไกการออกฤทธิ์ของพาราคว็อทเป็นอย่างไร?

พาราคว็อท

สารประกอบพาราคว็อท มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวสารจะรบกวนการถ่ายเทหรือการส่งถ่ายอิเล็กตรอน(Electron, อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ ที่ใช้ในกระบวนการเกิดพลังงานของเซลล์)ในกระบวนการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ เมื่อพาราคว็อทสัมผัสกับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เช่น

  • กรณีกับพืชที่มีสีเขียว พาราคว็อทจะแย่งอิเล็กตรอนที่เกิดขึ้นในกระบวนการสังเคราะห์แสง ส่งผลปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของต้นพืช/วัชพืชและทำให้พืชตายลง
  • กรณีกับเนื้อเยื่อของสัตว์/มนุษย์ พาราคว็อทจะทำหน้าที่เป็นอนุมูลอิสระ(Oxidant) คอยแย่งอิเล็กตรอนจากเซลล์ในเนื้อเยื่อของสัตว์และมนุษย์จนส่งผลให้เกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อสัตว์/มนุษย์ในที่สุด

พิษของพาราคว็อทมีอะไรบ้าง?

พาราคว็อทสามารถก่อให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันต่อร่างกายไม่ว่าการได้รับพาราคว็อทเข้าสู่ร่างกายโดย ทางปาก, ซึมผ่านทางผิวหนัง, หรือแม้แต่การสูดดม

สถิติการเสียชีวิตจากพาราคว็อท ส่วนมากได้แก่ การใช้เป็นยาเพื่อฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ได้รับพาราคว็อทแทรกซึมผ่านทางผิวหนังด้วยขณะใช้งานขาดการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง

อาจสรุปพิษของพาราคว็อทที่เกิดต่อร่างกายดังนี้

  • มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • หากเข้าตา จะก่อให้เกิดภาวะต้อกระจก
  • กรณีสูดดมพาราคว็อท สามารถทำลายเนื้อเยื่อภายในปอด และก่อให้เกิดภาวะ/กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome ย่อว่า ARDS)
  • หากพาราคว็อทซึมเข้ากระแสเลือด จะกระจายตัวและเข้าทำลายอวัยวะต่างๆใน ร่างกาย เช่น หัวใจ ไต ต่อมหมวกไต สมอง ตับ กล้ามเนื้อ ม้าม โดยพาราคว็อทจะทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆดังกล่าวล้มเหลว เช่น หัวใจวาย ไตวาย ตับวาย ภาวะหายใจล้มเหลว สมองล้มเหลว/โคม่า
  • จากพิษของพาราคว็อทที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ หากปล่อยปละละเลยไม่บำบัดรักษา อาจทำให้เสียชีวิต(ตาย)ได้ภายใน 30 วันหลังเกิดอาการ

มียาแก้พิษของพาราคว็อทหรือไม่?

ปัจจุบัน ยังไม่มียาแก้พิษของพาราคว็อทโดยตรง กรณีพบเห็นผู้ที่กลืนสารพาราคว็อท ทางคลินิกจะใช้ถ่านกัมมันต์(Activated charcoal)100 กรัมขึ้นไปผสมน้ำให้คนไข้/ผู้ป่วยดื่ม ในครั้งแรก และให้ซ้ำเพื่อช่วยดูดซับพิษในระบบทางเดินอาหาร โดยต้องปฏิบัติหัตถการทางการแพทย์ช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการดูดซึมพาราคว็อทเข้าสู่กระแสเลือด เช่น แพทย์มักจะใช้วิธีล้างท้อง หรือใช้ยาระบาย หรือใช้การสวนทวารให้ระบายร่วมด้วย เพื่อกำจัดพาราคว็อทออกจากทางเดินอาหารให้มากที่สุดและเร็วที่สุด บางสถานพยาบาลเคยบำบัดผู้ที่ได้รับพิษจากพาราคว็อทโดยใช้ยาเคมีบำบัดที่มีชื่อว่า Cyclophosphamide ที่ขนาดมากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และประสบผลสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยมาแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า ยาแก้พิษที่ดีที่สุดคือ “การเลิกใช้” ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้นำหลักเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีสารพิษตกค้าง มาใช้ในฟาร์มหรือสวนเกษตรของตนเอง การตัดแต่งทำลายวัชพืชโดยใช้เครื่องมือกล เช่น เครื่องตัดหญ้า หรือการไถกลบวัชพืช จะทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ช่วยฟื้นสภาพผืนดินให้กลับมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลอดสารเคมี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

ปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพาราคว็อทอย่างไร?

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพาราคว็อท เช่น

ก. กรณีรับประทาน: หากผู้ป่วยยังมีสติ ให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ 100 กรัมขึ้นไป โดยนำยาถ่านกัมมันต์ มากระจายตัวในน้ำ แล้วให้ผู้ป่วยรับประทาน แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หากทำได้ให้โทรแจ้งโรงพยาบาลล่วงหน้าว่า กำลังพาผู้ป่วยมาส่งหรืออยู่ในระหว่างการเดินทาง หากต้องใช้เวลานานกว่า 15 นาทีก่อนจะถึงโรงพยาบาลแนะนำให้ใช้นิ้วล้วงคอเพื่อให้ผู้ป่วยอาเจียนออกให้มากที่สุด

ข. กรณีเข้าตา: ให้รีบล้างตาด้วยน้ำเปล่าสะอาดทันทีต่อเนื่องนาน 15 นาที โดยเปิดเปลือกตา/หนังตา หลังจากนั้นรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อแพทย์ประเมินอาการของตา

ค. กรณีสัมผัสผิวหนัง: ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนพาราคว็อทออกโดยเร็ว ล้างผิวหนังด้วยน้ำสะอาดเป็นปริมาณมากๆ หลายๆครั้ง ใช้สบู่ฟอกเพื่อทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดและปราศจากพาราคว็อทได้มากยิ่งขึ้น ถ้ามีอาการระคายเคืองผิวหนัง หลังทำความสะอาด ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว

ง. กรณีสูดดม: นำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีพาราคว็อทฟุ้งกระจายปนเปื้อน เพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์โดยเร็ว และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ควรเก็บรักษาพาราคว็อทอย่างไร?

ควรเก็บสารพาราคว็อทในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความร้อน เก็บสารพาราคว็อทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น และอยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรืออาหารสัตว์ ห้ามทิ้งพาราคว็อทลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ

ใช้พาราคว็อทอย่างไรจึงปลอดภัย?

การใช้พาราคว็อทให้ปลอดภัย ควรปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

  • อ่านคู่มือการใช้งาน โดยละเอียด และปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด
  • ผสมสัดส่วนพาราคว็อทกับน้ำอย่างเหมาะสมตามที่ระบุในเอกสารกำกับการใช้สารนี้ ปกติบริษัทผู้ผลิตจะใช้สัดส่วนต่ำๆ ที่มีประสิทธิภาพทำลายวัชพืช และก่อให้เกิดพิษต่อผู้ใช้งานน้อยที่สุด
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขณะผสมและฉีดพ่นสารพาราคว็อท เช่น
    • ใส่ถุงมือป้องกันสารเคมี
    • สวมแว่นตาป้องกันละอองเคมีเข้าตา
    • สวมเสื้อผ้าหรือชุดคลุมสำหรับฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันการซึมผ่านเสื้อผ้าและเข้าสัมผัสกับผิวหนัง
    • ใส่หน้ากากกรองสารเคมีเพื่อป้องกันการสูดดมขณะทำงานเกี่ยวกับสารพาราคว็อท รวมถึงหมวกคลุมผม
  • ขณะฉีดพ่นพาราคว็อท ควรอยู่เหนือทิศทางลม
  • อาบน้ำ สระผม ฟอกสบู่ ชำระร่างกายให้ทั่ว เพื่อกำจัดสารพาราคว็อทติดค้างตามร่างกาย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraquat#Reactivity_and_mode_of_action [2018,June16]
  2. http://www.thaipan.org/sites/default/files/fileinter/monograph_paraquat_0.pdf [2018,June16]
  3. http://publicwebsite.adama.com/documents/1297416/1298191/makhroparaquat_tcm54-44714.pdf [2018,June16]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3712150/ [2018,June16]
  5. https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/PQ [2018,June16]
  6. http://www.thaipan.org/sites/default/files/conference2558/2.6_prompisit.pdf [2018,June16]
  7. https://emergency.cdc.gov/agent/paraquat/basics/facts.asp [2018,June16]