บวมน้ำ (Edema)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

บวมน้ำ(Edema) คือ อาการเกิดจากน้ำในหลอดเลือดแทรกซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามาอยู่ระหว่างเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งอยู่รอบๆหลอดเลือดนั้นๆจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นๆบวมใหญ่ขึ้น

บวมน้ำ ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการ(โรค-อาการ-ภาวะ)ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอาการตามธรรมชาติ เช่น ตาบวมหลังร้องไห้, หรือเป็นอาการหนึ่งของโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น โรคตับแข็ง โรคไต ภาวะหัวใจล้มเหลว, อาจบวมได้ ทั้งตัว, หลายๆตำแหน่งในร่างกายพร้อมกัน, หรือเพียงเฉพาะจุด/ตำแหน่งเดียว, ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุ, ซึ่งโดยทั่วไป มักพบบ่อยที่สุดในส่วน เท้า ข้อเท้า และขา, ที่พบบ่อยรองลงมาคือ ใบหน้าโดยเฉพาะรอบๆตา, ริมฝีปาก, มือ, และนิ้วมือ

บวมน้ำ/อาการบวมน้ำ เป็นอาการพบบ่อยทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมจากทุกสาเหตุ พบทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โอกาสเกิดบวมน้ำใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย

บวมน้ำเกิดได้อย่างไร?

บวมน้ำ

บวมน้ำ/อาการบวมน้ำเกิดจากหลายกลไก ที่พบบ่อย คือ จากความดันในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น, จากร่างกายขาดโปรตีน, จากความผิดปกติของผนังหลอดเลือด, และจากมีน้ำคั่งในหลอดเลือดมากกว่าปกติ

ก. จากความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น: เช่น

  • ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น: เช่น โรคไตที่ส่งผลให้ไตสร้างฮอร์โมนควบคุมน้ำและเกลือโซเดียมผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการดูดซึมน้ำและเกลือโซเดียมกลับเข้าร่างกาย/เข้าหลอดเลือดสูงกว่าปกติ
  • ความดันในหลอดเลือดเลือดดำสูงขึ้นจากสาเหตุต่างๆ: เช่น มีการอุดตันทางเดินของหลอดเลือดดำจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือจากภาวะหลอดเลือดขอด
  • การไหลเวียนเลือดลดลง: เช่นจาก ยืนหรือนั่งห้อยเท้านานๆ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การตั้งครรภ์โดยเฉพาะครรภ์ในระยะ3เดือนสุดท้ายซึ่งครรภ์จะโตจนกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้อง

ข. ร่างกายขาดสารโปรตีน: โปรตีนในหลอดเลือดโดยเฉพาะชนิดแอลบูมินเป็นตัวอุ้มน้ำให้คงอยู่ในหลอดเลือด เมื่อร่างกายขาดโปรตีนหรือมีปริมาณโปรตีนในเลือดลดต่ำลง น้ำในหลอดเลือดจึงซึมออกจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบๆหลอดเลือดได้ง่าย เช่น

  • ภาวะขาดอาหาร
  • โรคตับแข็งที่ตับสร้างโปรตีนได้ลดลง
  • โรคไตเรื้อรัง หรือ โรคไตรั่วที่ไตไม่สามารถดูดซึมโปรตีนในน้ำปัสสาวะกลับเข้าสู่หลอดเลือด/ร่างกายได้ ร่างกายจึงสูญเสียโปรตีนออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติส่งผลให้ปริมาณโปรตีนในเลือดต่ำลง
  • ภาวะมีแผลไหม้ขนาดใหญ่ ร่างกายจะเสียโปรตีนผ่านทางน้ำเหลืองของรอยแผลไหม้ ส่งผลให้โปรตีนในเลือดต่ำ

ค. ความผิดปกติของหลอดเลือด/ผนังหลอดเลือด: ส่งผลให้เกิดน้ำฯซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดนั้นๆ เช่น

  • ภาวะหลอดเลือดอักเสบ
  • ผนังหลอดเลือดบาดเจ็บ เช่น จากแรงกระแทก, จากการขยี้ตา
  • โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน
  • โรคภูมิแพ้ หรือ อาการแพ้ต่างๆ
  • หลอดเลือดขยาย เช่น ผลข้างเคียงจากยา, สารเคมี,
  • หลอดเลือดแตก บาดเจ็บ เช่น แรงกระแทก แรงขยี้ตา

ง. มีน้ำคั่งในหลอดเลือดมากกว่าปกติ: จึงส่งผลให้มีน้ำซึมจากหลอดเลือดเข้าเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ส่งผลให้เกิดอาการบวม เช่น

  • กินอาหารเค็มจัดต่อเนื่องเพราะเกลือโซเดียม/เกลือแกงเป็นสารอุ้มน้ำ
  • ผลของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ เช่นจาก ยาเม็ดคุมกำเนิด, ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนรก, ฮอร์โมนช่วงก่อนมีประจำเดือน

อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของบวมน้ำ?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ ที่พบบ่อย คือ

  • การยืน, นั่ง , เดิน นานๆ
  • ช่วงก่อนมีประจำเดือน, ช่วงการตั้งครรภ์ จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้มีน้ำคั่งในเลือดสูงขึ้น
  • การติดเชื้อต่างๆ
  • การแพ้ยา หรือแพ้สารต่างๆ รวมทั้งการแพ้พิษสัตว์ และแมลง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันบางชนิด, ยาฮอร์โมนบางชนิด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคตับแข็ง
  • ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • โรคหลอดเลือดขอด
  • โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • กินอาหารเค็มจัด(เกลือโซเดียม/เกลือแกง)ต่อเนื่อง

มีอาการอื่นร่วมกับบวมน้ำไหม?

อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือ

ก. อาการจากตัวของบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ: ซึ่งจะคล้ายกันในทุกผู้ป่วย เช่น

  • เห็น/รู้สึกว่าเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนั้นใหญ่ขึ้น
  • เมื่อเอานิ้วมือกด ผิวหนังส่วนที่บวม มักบุ๋มลง และยังคงบุ๋มต่ออีกระยะเวลาหนึ่งหลังเลิกกด
  • รู้สึกแน่น/คับบริเวณที่บวม เช่น ใส่แหวนแล้วคับเมื่อนิ้วบวม, สวมรองเท้าคับเมื่อเท้าบวม
  • ชาบริเวณที่บวมจากปริมาณน้ำที่บวมกดทับปลายประสาท
  • เจ็บปวดบริเวณที่บวมน้ำจากเส้นประสาท/เนื้อเยื่อส่วนนั้นถูกกดทับ
  • รู้สึกหนักส่วนที่บวม เช่น หนักขาเมื่อขาบวม
  • เป็นตะคริวได้ง่ายเพราะขาดเลือดหมุนเวียนโดยเฉพาะที่ขาจากการบวมกดหลอดเลือดให้ตีบแคบลง
  • เจ็บ แดง ร้อน เมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อในส่วนที่บวม และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • น้ำหนักตัวเพิ่มรวดเร็วเมื่อบวมน้ำมากต่อเนื่อง เช่น ท้องบวม/ท้องมาน

ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย เมื่อมีสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ท้องบวม แน่นอึดอัด เมื่อเกิดจากมีน้ำในท้อง เช่น โรคตับแข็ง, โรคมะเร็งที่ลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง
  • เห็นหลอดเลือดดำโป่งพองทั่วไปเมื่อเกิดจากหลอดเลือดขอด
  • มีอาการผิดปกติทางปัสสาวะ เช่น อาจปัสสาวะมาก หรือ น้อยผิดปกติเมื่อเกิดจากโรคไตเรื้อรัง

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุบวมน้ำอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยบวมน้ำ/อาการบวมน้ำและหาสาเหตุได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการและอาการร่วมต่างๆของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติกินยาต่างๆรวมถึงสมุนไพร การแพ้ยา
  • ตรวจดูและคลำตำแหน่งที่บวม
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพอวัยวะที่บวมด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน), และ/หรือ เอมอาร์ไอ
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี กรณีสงสัยสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ตรวจเลือดดู โรคซีด/ตรวจซีบีซี, การทำงานของตับ หรือไต, และระดับโปรตีน

รักษาบวมน้ำอย่างไร?

แนวทางการรักษาบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือ การรักษาอาการบวมน้ำร่วมกับการรักษาสาเหตุ

ก. การรักษาอาการบวมน้ำ: ทั่วไป เช่น

  • พักการใช้เนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนที่บวม
  • ถ้าเกิดที่เท้า/ขา เมื่อนั่งหรือนอนให้ยกเท้าสูง
  • ถ้าบวมในวงกว้าง หรือบวมทั้งตัวแพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะ(ยาขับน้ำ)ร่วมด้วย
  • แนะนำ/ปรับพฤติกรรมการบริโภค เช่น
    • กินอาหารโปรตีนสูงขึ้นกรณีบวมจากขาดโปรตีน
    • จำกัดการดื่มน้ำ เช่น กรณีภาวะหัวใจล้มเหลว
    • จำกัดอาหารเค็ม(เกลือโซเดียม)
  • แนะนำการใส่เครื่องนุ่งห่มที่หลวม สบาย ไม่ให้คับ บีบรัด

ข. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละสาเหตุรวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com) เช่น โรคไตเรื้อรัง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ตับแข็ง

บวมน้ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของบวมน้ำ/อาการบวมน้ำขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • รุนแรงน้อยเมื่อเกิดจาก นั่ง ยืนนานๆ หรือ หลอดเลือดขอด
  • รุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดจาก ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคตับแข็ง, หรือโรคไตเรื้อรัง
  • รุนแรงที่สุดเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง

ผลข้างเคียงจากบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ: เช่น

  • แน่น อึดอัด ส่วนที่บวม
  • ชา เป็นตะคริวในตำแหน่งที่บวม
  • เคลื่อนไหวส่วนที่บวมได้ลำบาก
  • เพิ่มโอกาสติดเชื้อและแผลหายช้าในส่วนที่บวม

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง/ การพบแพทย์เมื่อมีบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ ที่สำคัญ คือ

  • เคลื่อนไหวร่างกายพอควรกับสุขภาพเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด อย่านั่ง หรือยืนนานๆ ควรต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน
  • จำกัดอาหารเค็ม(เกลือโซเดียม)
  • สวมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่หลวมสบาย ไม่รัดแน่น
  • รักษาความอบอุ่นของ มือ เท้า เสมอ เช่น การสวมถุงมือ ถุงเท้า ในสภาพอากาศที่เย็น
  • นั่ง นอน ยกเท้าสูงเสมอ
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลบริเวณที่บวมเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งแผลจากการเกา (ควรตัดเล็บให้สั้นเสมอ) ซึ่งแผลมักหายช้า เพราะเลือดไหลเวียนได้น้อย
  • ควบคุม ดูแล รักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
    • มีอาการบวมต่อเนื่องข้ามวัน
    • เจ็บปวดในบริเวณที่บวม และ/หรือ มีอาการชา
    • บริเวณที่บวมมีอาการเขียวคล้ำ
    • มีอาการของการบวมอักเสบ คือ บวม แดง ร้อน มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ)
    • มีแผลบริเวณที่บวม
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อมีอาการบวมร่วมกับ
    • มีอาการทางการหายใจ หรืออาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก, เหนื่อยง่าย, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืด-เป็นลม, และ/หรือ วิงเวียน

ป้องกันบวมน้ำอย่างไร?

การป้องกันบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือการป้องกันสาเหตุ และเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อการดูแลตนเองฯ’ ที่สำคัญ คือ

  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบทุกมื้อป้องการการขาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีน
  • ป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงซึ่งต่างกันในแต่ละโรค เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุรา

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001).
  2. O’Brien, J., and Chennubhotla, R. (2005). Treatment of edema. Am fam Physician. 71, 2111-2117
  3. https://www.cvphysiology.com/Microcirculation/M010 [2021,June12]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK53445/ [2021,June12]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Edema [2021,June12]