นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

นกเขาสำคัญไฉน?

นกเขา หรือศัพท์ทางการว่า ‘อวัยวะเพศชาย หรือ อวัยวะสืบพันธ์ชาย หรือ องคชาต (Penis)’ เป็นเอกสิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้กับเอกบุรุษโดยเฉพาะ สตรีเพศไม่มีโอกาสมีได้ ดังนั้นเรื่องราวที่เราจะพูดถึง จึงเป็นเรื่องของบุรุษโดยเฉพาะ สำหรับบุรุษชาติอาชาไนยหลายๆท่าน นกเขามีความสำคัญขนาดที่ว่า ตายเสียดีกว่าที่มีชีวิตโดยที่นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction ย่อว่า ED หรือ Impotence) หรือ บางคนเรียกย่อว่า โรคอีดี) แบบว่า เสียชีพอย่าเสียนกเขา ว่างั้นเถอะ

นกเขาไม่ขัน มีชื่อเรียกหลายอย่าง บ้างก็ว่า มะเขือเผา, บ่มิไก๊, ไร้น้ำยา, ล้มมิรู้โด่, แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร อาการที่เป็นก็คือ นกเขาไม่ชูคอ หรือชูไม่ผงาด ไม่สง่าผ่าเผย ไม่สามารถสุขสมทางเพศได้

จุ๊กรู จุ๊กกรู นกเขาขันได้อย่างไร?

นกเขาไม่ขัน

ยามปกตินกเขาจะหลับ จนเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือสัมผัส อาจด้วยรูป รส กลิ่น เสียง มันก็จะตื่น การตื่นมีองค์ประกอบหลายอย่างทำงานร่วมกัน แต่โดยทั่วไปต้องเมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศ สมองก็จะส่งสัญญาณไปยังอวัยวะเพศผ่านทางระบบประสาท ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อควบคุมการไหลเวียนของเลือดเข้าอวัยวะเพศชาย ในขณะเดียวกันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศจะขยายตัวขึ้นเป็นสองสามเท่า ทำให้เลือดไหลมาคั่งอยู่ภายในอวัยวะเพศ และเลือดก็ถูกกักไว้โดยเนื้อเยื่อรอบๆเนื้อเยื่ออวัยวะเพศ เป็นผลให้มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นั่นเป็นเหตุที่ทำให้นกเขาชูคอได้

ลือกันว่าปั่นจักรยานก็ทำให้นกเขาไม่ขันจริงไหม?

เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีงานวิจัยในเรื่องนี้ ว่าอานจักรยานเป็นตัวการทำให้นกเขาไม่ขันได้ ต่อมามีงานวิจัยเรื่องนี้ต่อเนื่องเป็นระยะๆ ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยบอสตัน รายงานว่า ชายที่ปั่นจักรยานมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะมีจำนวนอสุจิ (สเปิร์ม/ Sperm) ที่น้อยกว่าชายที่เล่นกีฬาประเภทอื่น 2 เท่า แถมเป็นอสุจิที่ไม่ค่อยแข็งแรงเสียด้วย

ข้อมูลจาก Massachusetts (Massachusetts Male Aging Study,MMAS) บอกว่า ถ้าปั่นน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ไม่เกี่ยวกับนกเขาไม่ขัน แต่ถ้าปั่นเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ไม่แน่เหมือนกัน

แต่ก็มีรายงานวิจัยที่ให้ผลว่า ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย ยังไม่มีรายงานว่ามีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่ต้องตระหนก ตกใจ เคยปั่นจักรยานยังไง ก็ปั่นต่อไปตามปกติ เพียงแต่เลือกอานที่นุ่มๆหน่อยก็แล้วกัน

อายุเป็นแค่ตัวเลขหรือ?

อย่าปลอบใจว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข อายุยิ่งมากขึ้น โรคเรื้อรังต่างๆก็ถามหา โรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, ถ้าสูบบุหรี่ด้วย, ก็ยิ่งมีความเสี่ยงให้เกิดโรคเหล่านี้มากขึ้น

นกเขาไม่ขันมีได้ตั้งแต่เด็กหนุ่มๆ ยันคนสูงวัย อนุมานกันว่า คนไทยที่อายุเกิน 40 -60 ปี หรือมากกว่า มีเกือบครึ่งที่นกเขาป่วย ขันน้อยๆ จนไม่ยอมขัน

คนหนุ่มก็ใช่ว่าไม่มีปัญหา อายุแค่ 30 ปีต้นๆมาปรึกษาเรื่องนกเขาไม่ขันก็มี หลายรายเป็นจากการใช้ถุงยางอนามัย ทำอย่างไรก็ไม่สู้ แต่พอถอดถุงยางทิ้ง นกเขากระดี๊กระด๊าขึ้นมาทันที เรียกว่า ความรักมีถุงมาขวางกั้น ก็เป็นอีกสาเหตุทางด้านจิตใจ

สังขารไม่ไหว หรือใจไม่สู้?

โรคประจำตัวที่เป็นต้นเหตุ พบว่าหนึ่งในสามของคนเป็นโรคเบาหวาน นกเขามักป่วย ไม่ยอมขัน นอกจากนี้ก็มี โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และในคนสูบบุหรี่ด้วย ที่มักมีอาการนกเขาไม่ขัน

นอกจากโรคประจำตัวแล้ว ยาครับ ที่เป็นต้นเหตุของนกเขาไม่ขัน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง ยาหลายๆตัวที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง/ยาลดความดันโลหิตสูง, ยานอนหลับ, ยาแก้เครียด/ยาคลายเครียด, ยาแก้แพ้, ยาลดความอ้วน, ยาปลูกหนวดปลูกผม, หรือแม้กระทั่งยาแก้โรคกระเพาะบางตัว ก็สามารถทำให้นกเขาป่วยได้

สาเหตุทางใจ มีไม่ถึงหนึ่งในห้า ซึ่งส่วนมากเกิดจาก ความเครียด, ความวิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, แม้กระทั่งบางรายที่มีประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี ทำให้เสียความมั่นใจก็สามารถทำให้นกเขาไม่เต็มใจขันได้เหมือนกัน

คุณสอบได้เกรดเท่าไร?

มีการแบ่งเกรดความแข็งของนกเขา (The Erection Hardness Score หรือย่อว่า EHS) ไว้ดังนี้

  • เกรด 4 : นกเขาแข็งตัวเต็มที่ ทำให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย เปรียบได้กับ ความแข็งของหัวแครอด หรือ แตงกวา
  • เกรด 3: นกเขาแข็งตัวไม่เต็มที่ แต่เพียงพอที่สอดใส่ได้ เปรียบได้กับความแข็งของกล้วยหอมที่ยังไม่ได้ปอกเปลือก
  • เกรด 2: นกเขาแข็งตัว แต่ไม่เพียงพอที่จะสอดใส่เพื่อมีเพศสัมพันธ์ เปรียบได้กับความแข็งของกล้วยหอมที่ปอกเปลือกแล้ว
  • เกรด 1: นกเขาตื่นตัว ขยายขนาดพองขึ้นแต่ไม่แข็ง ซึ่งเปรียบได้กับความแข็งของเต้าหู้หลอด

สรุป: วันนี้คุณทำการบ้านหรือยัง? ได้เกรดเท่าไร?

อะไรคือสัญญาณบ่งบอกประสิทธิภาพ?

เช้าๆตื่นขึ้นมา นกเขามักชูคอขันจู้ฮุกกรู ทั้งๆที่ไม่ได้มีอารมณ์ทางเพศ เขาเรียกชักธงรบประกาศศักดาว่า ข้ายังแน่ แต่ถ้าวันไหนไม่ชักธงขึ้นมา เรียกว่า นกเขาก่อการกบฏ เป็นสัญญาณทางลบที่ต้องเอาใจใส่เสียแล้ว

ส่วนในเวลาอื่น ใจสู้แต่นกเขาไม่เอาด้วยก็มี เริ่มจากอาการน้อยๆ คือ ชักธงสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง นั่นแหละสัญญาณเตือนเริ่มมาเยือนแล้ว ถ้าธงชูได้เกินครึ่ง ถือว่าอาการน้อย แต่ต้องสังวรแล้วว่า นกเขาเราเริ่มป่วยแล้ว หลายคนเมื่อเริ่มคิด ใจก็ยิ่งกังวล ทำให้มีอาการเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่า ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของสาเหตุทางใจ ดังนั้นถ้าคุณผู้ชายมีอาการที่ว่า ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ช่วยหนูด้วย ช่วยอย่างไร?

ไม่ใช่หนูซิ หนูเล็กไป ผู้ชายมักเรียกของตัวเองว่า ช้างน้อย คนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องรักษาก็คือ คนที่ไม่มีความสมดุลของชีวิตคู่

ถ้าต่างฝ่ายต่างมีความต้องการน้อย หรือน้อยจนไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิต นกเขาไม่ขัน ก็อาจไม่เป็นปัญหา ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา

แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความต้องการ แล้วอีกฝ่ายไม่สามารถตอบสนองได้ ก็เป็นเรื่องใหญ่ อาจเป็นเรื่องถึงขนาดบ้านแตกได้

ซื้อฮอร์โมนเพศชายกินเองดีไหม?

ไม่ดีแน่ เพราะยาฮอร์โมนเพศชายอาจไปกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อีกอย่าง นกเขาไม่ขันจากสาเหตุขาดฮอร์โมนเพศชายมีไม่ถึง 5 % ส่วนใหญ่มักเป็นจากโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่ ถ้าแพทย์จำเป็นต้องให้ยาฮอร์โมนเพศชาย แพทย์ต้องตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนฯก่อน แล้วต้องตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนให้ยาด้วย ดังนั้นการซื้อยาฮอร์โมนเพศชายมากินเอง นอกจากไม่ได้ผลแล้ว อาจเป็นอันตรายด้วย

ทำอย่างไรเต้าหู้หลอดถึงจะกลับมาเป็นแครอด?

ภาวะนกเขาไม่ขันเป็นเรื่องปลายเหตุ แท้ที่จริงแล้วการที่คุณผู้ชายเกิดภาวะเช่นนี้ส่วนใหญ่มักจะมีโรคที่เป็นต้นเหตุแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งต้องรักษาสาเหตุควบคู่ไปด้วย

เมื่อไปหาหมอ หมอก็ต้อง ซักถามประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย ตรวจ วัดความดันโลหิต พร้อมกับตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหา เบาหวาน(น้ำตาลในเลือด), ไขมันในเลือด, ฮอร์โมนเพศชาย, และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเพื่อดูว่า มีโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า

ส่วนการตรวจพิเศษอย่างอื่น ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่า จำเป็นต้องตรวจหรือไม่ เช่น ฉีดยาทดสอบว่านกเขายังขันได้หรือเปล่า, ตรวจสอบเส้นประสาทของนกเขาด้วยอุปกรณ์, ตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดของนกเขา, ฯลฯ เป็นต้น

การรักษาอาการนกเขาไม่ขันโดยตรง นอกเหนือจากรักษาโรคแอบแฝง/โรคประจำตัวเรื้อรัง หลักๆมี 4 แบบคือ

1. ยากิน: กินเพื่อขยายหลอดเลือดที่ตัวนกเขา ใช้กินเป็นครั้งคราวก่อนร่วมเพศ มีหลากหลายยี่ห้อ ที่ดังๆ ก็เช่น ไวอากร้า/Viagra (จากวัยทอง มาเป็นวัยกล้า) บางชนิดใช้อมใต้ลิ้นก็มี

2. ยาฉีดที่ตัวนกเขา: ใช้ในกรณีที่กินยาแล้วนกเขายังไม่ฟื้นคืนชีพ มีทั้งแบบเข็มฉีด หรือหลอดฉีดเข้าทางท่อปัสสาวะ

3. กระบอกสุญญากาศ: อาจใช้ร่วมกับยากินหรือยาฉีดก็ได้

4. ถ้าวิธีต่างๆข้างต้นยังไม่ได้ผล การผ่าตัดใส่แกนที่ตัวนกเขาก็เป็นอีกทางเลือก /p>

ป้องกันได้ไหม?

การป้องกันไม่ให้นกเขาป่วย ก็ต้องดูแลเอาใจใส่มันบ้าง โดย

1. หาหมอตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อดูว่ามีโรคร้ายซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า ถ้ามี ก็รักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่นกเขาต้องออกอาการไม่ขัน

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพจิตแจ่มใส

3. กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน

4. ไม่สูบบุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่อยู่ ก็เลิกซะ

บทสรุป

ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ คุณผู้ชายส่วนมากมักไม่ค่อยยอมรับว่า นกเขาตัวเองไม่แข็งแรง หรือคุณผู้ชายบางท่าน ยอมรับแต่ก็มีน้อยที่ยอมไปพบคุณหมอ/พบแพทย์เพื่อรักษา

ถ้าคุณผู้ชายมีสัญญาณนกเขาไม่ขัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อาการเต้าหู้หลอดก็จะกลับมาเป็นแครอดได้ ทำให้ชีวิตครอบครัวราบรื่นต่อไปได้ หรืออย่างน้อย การพบแพทย์จะได้ตรวจโรคที่ซ่อนเร้น ที่คุณเองอาจนึกไม่ถึงว่าโรคเหล่านี้เริ่มถามหาคุณแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคของหลอดเลือด เป็นต้น

อย่าปล่อยให้นกเขาของคุณ ล้มไม่ลุก ปลุกไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ก่อนจะสายเกินแก้ ซิบอกไห่

บรรณานุกรม

  1. Goldstein I, Lurie AL, Lubisich JP. Bicycle riding, perineal trauma, and erectile dysfunction: data and solutions. Curr Urol Rep. Nov 2007;8(6):491-7. [Medline].
  2. Marceau L, Kleinman K, Goldstein I, McKinlay J. Does bicycling contribute to the risk of erectile dysfunction? Results from the Massachusetts Male Aging Study (MMAS). Int J Impot Res. Oct 2001;13(5):298-302. [Medline]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/444220-overview#showall [2019,Nov16]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Erectile_dysfunction [2019,Nov16]