ท่อปัสสาวะ (Urethra)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ท่อปัสสาวะ

Urethra (ท่อปัสสาวะ) เป็นคำมาจากภาษากรีก แปลว่า ทางผ่านของปัสสาวะ ซึ่งคือ ท่อระบายน้ำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะสู่ภายนอกร่างกาย โดยท่อปัสสาวะในผู้หญิงและในผู้ชายจะต่างกัน

  • ท่อปัสสาวะในผู้หญิง: ทำหน้าที่เป็นท่อระบายปัสสาวะเพียงอย่างเดียว จะมีขนาดสั้นกว่าในผู้ชายมาก คือมีขนาดยาวเพียงประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร เปิดออกสู่ภายนอกเหนือต่อปากช่องคลอด โดยอยู่ถัดจากปากช่องคลอดไปทางด้านหลัง คืใกล้ปากทวารหนัก ดังนั้น ท่อปัสสาวะในผู้หญิงจึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าในผู้ชายมาก โดยเป็นเชื้อโรคที่มาจากช่องคลอด และจากทวารหนัก
  • ท่อปัสสาวะในผู้ชาย: จะมีทั้งส่วนที่อยู่ในร่างกาย คือ อยู่ด้านในตรงกลางของต่อมลูกหมาก (ดังนั้นโรคของต่อมลูกหมากจึงส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางปัสสาวะได้ เช่น ปัสสาวะบ่อยจากต่อมลูกหมากอักเสบ จึงก่อการระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด จากต่อมลูกหมากโตแล้วเบียดอุดกั้นท่อปัสสาวะ) และส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย คือ อยู่ตรงกลางอวัยวะเพศชาย (องคชาต) ซึ่งนอกจากทำหน้าที่เป็นทางระบายของปัสสาวะแล้ว ท่อปัสสาวะในผู้ชายยังทำหน้าที่เป็นทางระบายออกของน้ำอสุจิ (น้ำกาม, Semen) เมื่อมีเพศเพศสัมพันธ์

ท่อปัสสาวะของเพศชาย มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ความยาวส่วนที่อยู่ในร่างกายจะประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนความยาวของส่วนที่อยู่นอกร่างกายในอวัยวะเพศจะยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร

อนึ่ง ท่อปัสสาวะทั้งของเพศหญิงและเพศชาย เป็นอวัยวะที่ติดเชื้อได้บ่อย โดยเฉพาะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนโรคอื่นๆพบได้น้อยมาก เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Urethra [2017,Aug19]