ดานาซอล (Danazol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ดานาซอล (Danazol, ชื่อการค้าในต่างประเทศคือ Danocrine) คือ กลุ่มยาฮอร์โมนชนิดแอนโดรเจน(Androgen hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย (Male sex hormone) ยาดานาซอลมีข้อบ่งใช้ในการรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis), ภาวะมีก้อนในเต้านมชนิด Fibrocystic breast changes และโรค Hereditary angioedema/แองจิโออีดีมา (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดานาซอลจะเกี่ยวข้องกับระบบต่อมใต้สมองและรังไข่ (Pituitary -ovarian axis) โดยมีผลยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน Follicle-stimulating hormone (FSH) และฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของไข่และของการตกไข่ซึ่งมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial tissue) ฟ่อและหลุดลอกรวมถึงมีผลลดอัตราการเจริญ เติบโตของเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ (Abnormal breast tissue) นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ยาดานาซอลเพื่อลดความรุนแรงของโรค Hereditary angioedema ได้โดยตัวยามีผลเพิ่มสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีชื่อว่า คอมพลีเมนท์ชนิดซี4 (Complement component 4) เนื่องจากพบว่าโรค Hereditary angioedema นี้เกิดจากร่างกายขาดสารภูมิคุ้มกันฯคอมพลีเมนท์ซึ่งมีบท บาทในการยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดอาการแพ้ต่างๆอันเป็นอาการแสดงของโรค (เช่น อาการบวมตามร่างกาย ปวดท้อง กล่องเสียงบวม และอาจมีลมพิษแบบเรื้อรัง)

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่อันตรายของยาดานาซอลคือ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis, DVT), โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary Embolism, PE),  ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบอุดตัน (Stroke) รวมถึงภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Pseudotumor cerebri) โดยแพทย์และเภสัชกร ควรแนะนำให้ผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดทราบอาการและอาการแสดงของภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่น หน้าเบี้ยว รู้สึกชาครึ่งซีก ปวดหัว  หรือปวดหัวแบบไมเกรนโดยปวดเป็นจังหวะ (Pulsating intracranial sounds) คลื่นไส้อาเจียนแบบพุ่งออกมา ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ดังนั้นก่อนการเริ่มใช้ยาดานาซอล แพทย์ผู้รักษาจะประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากยานี้เทียบกับประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ

ยาดานาซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ดานาซอล

 ยาดานาซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:เช่น

  • รักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  • รักษาภาวะมีก้อนเต้าในนมชนิด Fibrocystic breast changes  
  • รักษาโรค Hereditary angioedema/แองจิโออีดีมา (โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบน้อยมาก ที่ผู้ป่วยจะมีอาการบวมรุนแรงตามเนื้อตัวจากการแพ้บ่อยมาก)

ยาดานาซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดานาซอลคือ ตัวยาจะกดการทำงานของกระบวนการระบบต่อมใต้สมองและรังไข่ (Pituitary-ovarian axis) ซึ่งส่งผลต่อการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปริน (Gonadotrophins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง(Pituitary) ที่ทำหน้าที่กระตุันให้เกิดการตกไข่ กลไกของยาดานาซอลจะทำให้การสร้างฮฮร์โมนเอสโตรเจนที่ถูกสร้างโดยรังไข่ที่จะมีผลต่อการกระตุ้นฮอร์โมนเอฟเอสเอช (Follicle-stimulating hormone, FSH: ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างไข่และทำให้ไข่สุก) และฮอร์โมนแอลเอช (Luteinizing hormone, LH: ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ ) ถูกยับยั้งอีกด้วย

 ยาดานาซอลยังมีผลต่อการลดความเข้มข้นของสารภูมิต้านทานที่อยู่ในร่างกายหรือที่มีชื่อเรียกว่า อิมมิวโนโกลบูริน (Immunoglobulin, Ig) ทั้งชนิด IgA, IgG และ IgM อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถใช้ในการรักษาอาการแพ้ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของ Autoantibodies (สารภูมิต้าน ทานที่ต่อต้านตนเอง) ที่สัมพันธ์กับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ได้

รวมถึงในแง่การใช้ยาดานาซอลเพื่อรักษาโรค Hereditary angioedema นั้นพบว่า ยาดานาซอลมีผลเพิ่มสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีชื่อว่า คอมพลีเมนท์ชนิดซี4 (C4) ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของโรค Hereditary angioedema ได้ เพราะโรคนี้เกิดจากร่างกายขาดสารภูมิคุ้มกันฯคอมพลีเมนท์ซึ่งมีบทบาทในการยับยั้งปฏิกิริยาการแพ้ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการแสดง คือ อาการบวมตามร่างกาย ปวดท้อง กล่องเสียงบวม และอาจจะมีลมพิษแบบเรื้อรังได้

ยาดานาซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบของยาดานาซอลที่มีจำหน่ายมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์:

  • ยาแคปซูล (Capsule) สำหรับรับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม

ยาดานาซอลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาดานาซอลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

  1. ไม่มีข้อบ่งใช้ยาดานาซอลในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
  2. ขนาดยาในผู้ใหญ่ผู้หญิงสำหรับการรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis): ขนาดยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยจะปรับตามการตอบสนองของผู้ป่วย โดยปกติแล้วขนาดยาสูงสุดคือ 400 มิลลิกรัมต่อวันรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยปกติแล้วการเริ่มรับประทานยา แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มรับประทานยาดานาซอลในช่วงเริ่มต้นของการมีรอบเดือน/ประจำเดือน
  3. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาภาวะมีก้อนเนื้อในเต้านมชนิด Fibrocystic breast changes: ขนาดยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยจะปรับตามการตอบสนองของผู้ป่วย โดยปกติแล้วขนาดยาสูงสุดคือ 400 มิลลิกรัมต่อวันรับประทานวันละ 2 ครั้ง
  4. ขนาดยาในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรค Hereditary angioedema: ขนาดยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยจะปรับตามการตอบสนองของผู้ป่วย โดยปกติแล้วขนาดยาสูงสุดคือ 200 มิลลิกรัมรับประทานวันละ 2 - 3 ครั้งในช่วงแรก หลังจากนั้นแพทย์อาจปรับขนาดยาลง
  5. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่องในผู้ใหญ่: ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตหรือมีภาวะไตทำงานบกพร่อง
  6. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องในผู้ใหญ่: ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับหรือมีภาวะตับทำงานบกพร่อง
  7. ยานี้สามารถบริโภคได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาดานาซอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ต้องตรวจสอบการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยก่อนเริ่มใช้ยาดานาซอล
  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดานาซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เนื่องจากยาดานาซอลมีผลพิษต่อทารกในครรภ์จึงห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ รวมถึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยานี้ในระหว่างการตั้งครรภ์เนื่องจากยาอาจส่งผลพิษต่อทารกในครรภ์ แต่สามารถพิจารณาใช้เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่ายามีประโยชน์เหนือความเสี่ยง
  • แจ้งแพทย์ของท่านให้ทราบหากท่านมีประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบัน/ในอดีตเช่น ประวัติมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis, DVT), โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด/ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary Embolism, PE), ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบอุดตัน (Stroke) หรือมีประวัติสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack, TIA), การทำงานของตับผิดปกติรุนแรง, การทำงานของไตผิดปกติรุนแรง, การทำงานของหัวใจผิดปกติ

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ยาดานาซอลเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 - 3 ครั้งต่อวันโดยสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อยา เพื่อให้การรับประทานยาเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและป้อง กันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน

กรณีลืมรับประทานยาดานาซอลให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือเกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับ ประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 21.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 21.00 น. ตอนเวลา 8.00 น. วันรุ่งขึ้นก็ให้รับประทานยามื้อ 21.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 21.00 น. เมื่อคืน ตอนเวลา 14.00 น.วันถัดมา ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 21.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

กรณีรับประทานยาดานาซอลวันละ 2 - 3 ครั้ง หากลืมให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติกรณีรับประทานวันละ 2 ครั้ง และเกิน 4 ชั่วโมงจากเวลารับประ ทานยาปกติกรณีรับประทานวันละ 3 ครั้ง) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 9.00 น. และ 21.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 9.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 9.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 9.00 น. ตอนเวลา 16.00 น.ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 21.00 น. ในขนาดยาปกติตามแพทย์สั่ง โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาดานาซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาดานาซอล เช่น

ก. อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบได้บ่อยๆ: เช่น สิว, ผิวหน้ามัน, น้ำหนักเพิ่ม, อาการบวมตัว แขน ขา, มีขนขึ้นบริเวณใบหน้า, ผมร่วง, เสียงเปลี่ยนคล้ายเสียงผู้ชาย (ในเพศหญิง), อารมณ์แปรปรวน

ข. อาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆที่อาจพบได้: เช่น อาการร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า (Hot flushes), อาการคันและรู้สึกแห้งบริเวณช่องคลอด/ภาวะช่องคลอดแห้ง, เวียนศีรษะ, อาการรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, รอบเดือน/ประจำเดือนอาจไม่สม่ำเสมอ, สมรรถภาพหรือความต้องการทางเพศอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง

ค. อาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง: เช่น เป็นลม, ระดับไขมันในเลือดชนิดดีในร่างกายที่มีชื่อว่าเอชดีแอล (HDL) ลดลง, ภาวะโลหิตจาง/โรคซีด, ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ภาวะชัก, ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ Pseudotumor cerebri, การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต (Cerebrovascular accident), ภาวะตับอักเสบ (Hepatitis), ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis), ภาวะตัวเหลือง ตาเหลืองจากน้ำดี(Jaundice)

มีข้อควรระวังการใช้ยาดานาซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดานาซอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตรเนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์และยาสามารถขับผ่านทางน้ำนมได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจ, โรคตับ, โรคไต ทำงานบกพร่อง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจเนื่องจากยาสามารถทำให้เกิดภาวะคั่งน้ำ/ บวมน้ำในร่างกายได้รวมถึงความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดเนื้องอกจากฮอร์โมนหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดเลือดออกทางช่องคลอด
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังมีซิสต์ที่รังไข่/ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst) แต่ก็มีซิสต์รังไข่บางชนิดที่สามารถใช้ยานี้ได้ การใช้ยานี้ในกรณีนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Throm bosis, DVT), โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary Embolism, PE), ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน (Stroke) หรือมีประวัติสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack, TIA), การทำงานของตับผิดปกติรุนแรง, การทำงานของไตผิดปกติรุนแรง, การทำงานของหัวใจผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงที่มีโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria: กลุ่มอาการที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่ร่างกายสร้างสารที่มีชื่อว่า พอฟีริน/Porphyrin: สารที่ทำงานร่วมกับฮีโมโกลบินในการนำพาออกซิเจนเข้าสู่เม็ดเลือดแดงเพื่อนำไปเลี้ยงระบบต่างๆของร่างกาย) มากเกินไปจนทำให้เกิดอาการเช่น ปวดท้อง, อาเจียน, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ภาวะสับสน, เกิดภาพหลอน/ประสาทหลอน, ผิวหนังไวต่อแสง) เนื่องจากยาดานาซอลจะส่งผลกระตุ้นให้โรคโพรฟีเรียเกิดกำเริบได้
  • สุภาพสตรีที่มีความผิดปกติของเต้านมเช่น เจ็บเต้านมหรือเต้านมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงจากปกติ ควรได้รับการตรวจร่างกายและการตรวจเต้านมจากแพทย์ผู้รักษาเพื่อวินิจฉัยความผิด ปกตินั้นก่อนการเริ่มใช้ยาดานาซอล
  • ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ ผิวอาจไวต่อแสงแดดมากขึ้น แนะนำให้ใช้ยาทากันแดด/ ครีมกันแดดระหว่างใช้ยานี้และหลีกเลี่ยงการอาบแดด
  • สุภาพสตรีที่กำลังได้รับยานี้อยู่ควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นๆที่ไม่ใช่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเช่น ใช้ถุงยางอนามัยชายหรือใส่ห่วงคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงที่กำลังใช้ยานี้อยู่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดานาซอลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดานาซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดานาซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาดานาซอล ร่วมกับยาลดไขมันในเลือดกลุ่มยาสแตติน (Statin) เช่นยา ซิมวาสะตาติน (Simvastatin), โลวาสสะตาติน (Lovastatin), อะทอวาสสะตาติน (Atorvastatin), ฟลูวาสสะตาติน (Fluvastatin) เนื่องจากการใช้ยาทั้งสองร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพิษต่อกล้ามเนื้อและอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ได้
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาดานาซอล ร่วมกับยาวาร์ฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) เนื่องจากการใช้ยาทั้งสองร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์จะเฝ้าติดตามความแข็งตัวของเลือด/ค่าไอเอนอา (INR, International normalized ratio)
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาดานาซอล ร่วมกับยาซัยโรลิมัส (Sirolimus: ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) เนื่องจากการใช้ยาทั้งสองร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพิษจากยาซัยโรลิมัสได้ เช่น โลหิตจาง, ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มีไข้, ท้องเสีย
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาดานาซอล ร่วมกับยาเบาหวานชนิดต่างๆ เนื่องจากการใช้ยาทั้งสองร่วมกันจะส่งผลต่อความสามารถในการลดระดับน้ำตาลของยารักษาเบาหวาน

ควรเก็บรักษายาดานาซอลอย่างไร?

แนะนำเก็บยาดานาซอล:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาดานาซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดานาซอล  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ectopal Codal Synto
Ladogal Sanofo-aventis
Vabon Biolab

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information: Ladogal, Danazol, Sanofo-aventis.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica;2013