ซูคราโลส (Sucralose)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซูคราโลส (Sucralose) เป็นสารให้ความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดรสขม แต่ไม่จัดเป็นสารอาหาร ด้วยซูคราโลสไม่สามารถถูกย่อยโดยน้ำย่อยของร่างกายจึงไม่มีการปลดปล่อยพลังงานให้กับร่างกาย นักวิทยาศาสตร์พบว่าซูคราโลสมีความหวานเป็นประมาณ 320 - 1,000 เท่าของน้ำตาล และถูกคิดค้นสำเร็จในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) นำมาใช้ครั้งแรกในประเทศแคนาดา จากนั้นจึงกระจายสู่ประเทศอื่นเป็นลำดับอย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จนปัจจุบันมีการใช้ซูคราโลสมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งได้ให้ความสนใจและใช้ซูคราโลสเพื่อเป็นสารเพิ่มความหวานในผลิตภัณฑ์ของตน กระทั่งปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) บริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มแห่งหนึ่งซึ่งมียอดขายสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกได้ยกเลิกการใช้ Aspatame และหันมาใช้ซูคราโลสเป็นสารเพิ่มความหวานในตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของตน

อาจสรุปประโยชน์ที่เป็นภาพรวมของซูคราโลสได้ดังนี้เช่น

  • เป็นสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน ไม่กระทบต่อระดับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับการใช้กับบุคลธรรมดาและกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • เป็นสารที่ไม่สามารถทำลายโดยน้ำย่อยของร่างกายจึงส่งผลชะลอการเติบโตของแบคทีเรียในช่องปากทำให้ไม่ก่อให้เกิดฟันผุเหมือนน้ำตาล
  • ซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลตั้งแต่ 320 - 1,000 เท่า จึงใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม การใช้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้มีความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลแล้วและส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า
  • ซูคราโลสบริสุทธิ์ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ถึง 119 องศาเซลเซียส (Celsius) หากนำมาแปรรูปเป็นผงแกรนูล (Granule, ผงหยาบเม็ดเล็กๆ) จะทนอุณหภูมิได้สูงถึง 180 องศาเซลเซียสจึงเหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นเครื่องปรุงรสหวานในครัวเรือนแทนน้ำตาล

ในด้านความปลอดภัย ซูคราโลสเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการอาหารและยาของหลายประเทศรวมถึงองค์การอนามัยโลก กลุ่มนักวิชาการด้านอาหารของสหภาพยุโรป และสมาคมโรคเบาหวานของแคนาดา ฯลฯ ทั้งนี้ได้มีการทดลองใช้ซูคราโลสกับมนุษย์และสัตว์ทดลองพบว่า ให้ความปลอดภัยต่อร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่ส่งผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่อทั้งระบบการเจริญพันธุ์และระบบประสาทแต่อย่างใด มีบางหน่วยงานของต่างประเทศระบุว่าคนเราสามารถบริโภคซูคราโลสได้ 9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ

มีการศึกษาเปรียบเทียบการกระจายตัวของซูคราโลสในร่างกายมนุษย์พบว่า ปริมาณซูคราโลสที่มนุษย์บริโภคเข้าไปส่วนใหญ่จะไม่ถูกดูดซึมและจะถูกขับออกไปกับอุจจาระ มีส่วนน้อยประมาณ 10 - 27% ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้บ้างซึ่งก็ถูกกำจัดออกโดยไตและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ปัจจุบันทางคลินิกยังไม่มีข้อสรุปเสียทีเดียวว่า ซูคราโลสจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือไม่

นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการศึกษาผลกระทบของการผลิตซูคราโลสว่า จะเกิดผลกระทบต่อธรรมชาติและสภาพแวดล้อมหรือไม่

อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็ถือว่าซูคราโลสน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคทั้งในแง่สุข ภาพ และเป็นสารให้ความหวานที่มีปริมาณที่เพียงพอต่อประชากรของโลก

ซูคราโลสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซูคราโลส

ซูคราโลสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อเป็นสารปรุงแต่งความหวานในอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่ให้พลังงานต่อร่างกาย ไม่ทำให้ฟันผุ ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ไม่ส่งผลต่อระดับและการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน จึงเหมาะกับการบริโภคในผู้ที่มีสุขภาพปกติรวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

ซูคราโลสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยซูคราโลสเป็นสารที่เพิ่มความหวานที่ไม่ใช่ยา จึงไม่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการทำงานในระบบต่างๆของร่างกาย เพียงแต่จะช่วยปรับรสชาติของอาหารและผลิตภัณฑ์ยาตามความประสงค์ของผู้ผลิตเท่านั้น

ซูคราโลสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ซูคราโลสเป็นวัตถุดิบที่ใช้ปรุงแต่งรสหวานจึงมีรูปแบบการจำหน่ายในลักษณะวัตถุดิบเท่านั้น และใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่ม

ซูคราโลสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ซูคราโลสมีขนาดรับประทานคือ สามารถรับประทานซูคราโลสได้เป็นปริมาณ 9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ขนาดรับประทานของซูคราโลส 9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อ้างอิงจากหน่วยงาน Canadian Diabetes Association จากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/Sucralose

ซูคราโลสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานถึงผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่เด่นชัดจาก การใช้ซูคราโลส ด้วยปริมาณการใช้ซูคราโลสในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ในสูตรตำรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รวมถึงในการใช้ซูคราโลสที่ไม่เกิน 9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

มีข้อควรระวังการใช้ซูคราโลสอย่างไร?

เนื่องจากซูคราโลสไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาและถือเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ เพียงแต่ช่วยเพิ่มความหวานเท่านั้น จึงยังไม่มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ในทางคลินิก แต่มีกรณีห้ามใช้ซูคราโลสคือ

  • ห้ามใช้ซูคราโลสที่หมดอายุ และ
  • ห้ามเก็บซูคราโลสที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างเช่น ซูคราโลส ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งอาหารทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซูคราโลสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยา/อันตรกิริยาระหว่างซูคราโลสกับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาซูคราโลสอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์/วัตถุดิบซูคราโลสตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ระบุมากับตัวผลิตภัณฑ์ (เอกสารกำกับผลิตภํณฑ์/เอกสารกำกับยา)

ซูคราโลสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ซูคราโลสที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sunvision Sucralose (ซันวิชชั่น ซูคราโลส)Sunvision

อนึ่งชื่อการค้าของซูคราโลสที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น E955, Splenda, Zerocal, Sukrana, SucraPlus, Candys, Cukren, Nevella

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sucralose [2016,July16]
  2. https://authoritynutrition.com/sucralose-good-or-bad/ [2016,July16]
  3. https://www.drugs.com/inactive/sucralose-75.html [2016,July16]
  4. http://articles.mercola.com/sites/articles/archive/2000/12/03/sucralose-products.aspx [2016,July16]
  5. http://www.kdsweet.com/wp-content/uploads/2015/12/Sunvision-Sucralose-COA-100-mesh.pdf [2016,July16]
  6. http://www.kdsweet.com/wp-content/uploads/2015/12/Sunvision-Sucralose-MSDS.pdf [2016,July16]