น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol) เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่มีรสหวาน จัดเป็นสารอนุพันธุ์ของน้ำตาลอีกทีหนึ่ง มีการใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมผลิตอาหารโดยใช้เป็นสารที่ช่วยทำให้อาหารมีลักษณะเหนียวข้น ช่วยเพิ่มรสหวานให้กับอาหาร แต่น้ำตาลแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะมีความหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลที่เรารู้จักทั่วไปที่ให้พลังงานสูงกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบในระ ดับปริมาณที่เท่ากัน ในธรรมชาติเราสามารถพบน้ำตาลแอลกอฮอล์ได้ในพืชอย่างผักและผลไม้ ทั้งนี้ น้ำตาลที่เรารู้จักทั่วไปคือ น้ำตาลที่เป็นอาหารในหมู่คาร์โบไฮเดรตเช่น กลูโคส (Glucose) ซูโคส(Sucrose) ฟรักโตส (Fructose)

อาจจำแนกน้ำตาลแอลกอฮอล์ออกเป็นชนิดต่างๆได้ดังนี้เช่น

Glycerol, Erythritol, Threitol, Arabitol, Xylitol, Ribitol, Mannitol, Sorbitol, Galactitol, Fucitol, Iditol, Inositol, Volemitol, Isomalt, Maltitol, Lactitol, Maltotrito, Maltotetraitol, Polyglycitol

ข้อดีของน้ำตาลแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคอาจสรุปออกมาเป็นข้อๆดังนี้เช่น

  • เป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำจึงตัดปัญหาเรื่องทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • น้ำตาลแอลกอฮอล์ไม่ใช่น้ำตาลจึงไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด อาจเหมาะที่จะใช้กับผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ด้วยโครงสร้างของน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่แตกต่างจากน้ำตาล จึงทำให้กลไกการย่อยน้ำตาลของแบคทีเรียไม่สามารถใช้ได้กับน้ำตาลแอลกอฮอล์จึงส่งผลลดโอกาสของฟันผุได้มาก

จากคุณสมบัติข้างต้นได้ถูกนำมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลแอลกอฮอล์ ตัวอย่างน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและยา เช่น

  • Sorbitol: มีความหวาน 60% ของน้ำตาล ใช้เพิ่มรสหวานในลูกกวาด แยม เจลลี่ หมากฝรั่ง ยาแก้ไอ
  • Mannitol: มีความหวาน 60% ของน้ำตาล ใช้เพิ่มรสหวานในอาหารเหมือน Sorbitol อย่างลูก กวาด แยม หมากฝรั่ง ยาแก้ไอ ยาขับปัสสาวะ
  • Erythritol: มีความหวานประมาณ 70% ของน้ำตาล ใช้เพิ่มรสชาติหวานในหมากฝรั่งและเครื่องดื่มบางประเภท
  • Xylitol: มีความหวานเทียบเท่าน้ำตาล คณะกรรมการอาหารและยาบางประเทศของซีกโลกตะวันตกได้ขึ้นทะเบียนให้ Xylitol เป็นสารที่มีความหวานที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
  • Isomalt: มีความหวาน 50% ของน้ำตาล มีการยอมรับและใช้มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ประโยชน์หลักๆจะใช้เป็นองค์ประกอบในขนมหวานประเภทลูกกวาด ช็อกโกแลต คุกกี้ เค้ก ไอศกรีม แยม หมากฝรั่ง ยาแก้ไอ
  • Lactitol (Lactulose): มีความหวาน 40% ของน้ำตาล ถูกนำมาใช้ทางคลินิกเป็นยาระบายและช่วยบำบัดอาการท้องผูก แต่อาจทำให้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างเช่น ท้องอืด ท้อง เสีย และเกิดตะคริว
  • Maltitol: มีความหวาน 75 - 90% ของน้ำตาล ทางอุตสาหกรรมนำมาประกอบในลูกกวาด หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต คุกกี้ ไอศกรีม และถูกระบุว่าเป็นสารที่มีความหวานโดยไม่ทำให้เกิดฟันผุ

น้ำตาลแอลกอฮอล์ยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อยเช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง ด้วยเกิดการหมักของน้ำตาลแอลกอฮอล์ในลำไส้และอาจทำให้เกิดการกระตุ้นให้อยากขับถ่ายตามมา

ในประเทศไทยอาจพบเห็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่นำมาผลิตเป็นยาขับปัสสาวะอย่าง Mannitol ซึ่งมีใช้แต่ในสถานพยาบาลโดยต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

น้ำตาลแอลกอฮอล์

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลและใช้ทดแทนน้ำตาลในกระบวนการผลิตอาหารและยาต่างๆ

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

ก. สำหรับกลไกของน้ำตาลแอลกอฮฮล์ที่ช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ น้ำตาลแอลกอฮอล์อย่าง Mannitol ที่ถูกฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดน้ำกลับที่หน่วยไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไต) ส่งผลให้เกิดแรงดันออสโมติก (Osmotic pressure, แรงดันของสารที่เป็นของเหลว) ในกระแสเลือดและกระตุ้นให้เกิดการขับปัสสาวะตามมา

ข. กรณีกลไกที่ช่วยเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก แบบเป็นยารับประทาน คือน้ำตาลแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมจากลำไส้เป็นปริมาณต่ำ สารนี้จึงตกค้างอยู่ในลำไส้และเกิดการดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้จนกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวส่งผลให้เกิดการระบายอุจจาระตามมา

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือด
  • ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก: ยาน้ำขนาดตามแต่ละชนิดย่อยของแต่ละตัวยาซึ่งมักพบเห็นการใช้ในต่างประเทศ

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยาประเภทน้ำตาลแอลกอฮอล์จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป โดยมีปัจจัยต่างๆของผู้ป่วยที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาเช่น อาการป่วย อายุ น้ำหนักตัว มีภาวะตั้งครรภ์ ภาวะให้นมบุตร โรคประจำตัว เป็นต้น ดังนั้นจึงขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดหรือสารปรุงแต่งอาหารใดๆรวมน้ำตาลแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารต่างๆทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารต่างๆแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารอะไรอยู่ เพราะยา/สารน้ำตาลแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับสารต่างๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ถูกผลิตเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกชนิดรับประทานก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

น้ำตาลแอลกอฮอล์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ปวดศีรษะ วิงเวียน อาจมีอาการชัก หนาวสั่น มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ตาพร่า ลมพิษ ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ไตวายเฉียบพลัน

มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาลแอลกอฮอล์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาลแอลกอฮอล์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้น้ำตาลแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้น้ำตาลแอลกอฮอล์ในรูปแบบยาฉีดกับผู้ที่มีภาวะถุงลมปอดอุดตัน/โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว และต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษกับผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ปฏิบัติตามแนะนำของแพทย์เภสัชกรเมื่อมีการใช้ยาประเภทน้ำตาลแอลกอฮอล์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน (รวมยา/ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ด้วย) ยาแผนโบราณ สมุนไพร ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/ผลิตภัณฑ์ต่างๆควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาน้ำตาลแอลกอฮอล์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยา Mannitol ร่วมกับยา Cyclosporin อาจเพิ่มความเป็นพิษต่อไตจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษาน้ำตาลแอลกอฮอล์อย่างไร?

สามารถเก็บผลิตภัณฑ์น้ำตาลแอลกอฮอล์ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บผลิตภัณฑ์น้ำตาลแอลกอฮอล์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

น้ำตาลแอลกอฮอล์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mannitol Chi Sheng (แมนนิทอล ไชเช็ง)Chi Sheng
Mannitol Thai Otsuka (แมนนิทอล ไทยโอซูก้า)Thai Otsuka
Mannitol 20% ANB (แมนนิทอล 20% เอเอ็นบี) ANB

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sugar_alcohol#Common_sugar_alcohols [2016,July9]
  2. http://www.diabetes.org/food-and-fitness/food/what-can-i-eat/understanding-carbohydrates/sugar-alcohols.html?referrer=https://www.google.co.th/ [2016,July9]
  3. https://authoritynutrition.com/sugar-alcohols-good-or-bad/ [2016,July9]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Lactitol [2016,July9]
  5. https://www.sugar.org/other-sweeteners/sugar-alcohols/ [2016,July9]
  6. http://breakingmuscle.com/nutrition/what-you-need-to-know-about-sugar-alcohols [2016,July9]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=mannitol [2016,July9]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mannitol/?type=brief&mtype=generic [2016,July9]