งูกัด (Snake bite)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

งูกัด (Snake bite) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เป็นปัญหาที่พบบ่อย และโดยเฉพาะในเวลาที่น้ำท่วม เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของงู ในประเทศไทยมีงูอยู่ราว 163 ชนิด ปัญหางูกัดที่สำ คัญและเป็นปัญหาเร่งด่วนคือ งูพิษกัด ซึ่งหากรู้ว่างูพิษเป็นชนิดใดและให้การรักษาทันเวลาและถูกต้องเหมาะสม จะสามารถทำให้หลีกเลี่ยงการเป็นอันตรายมากซึ่งในบางกรณีอาจถึงเสียชีวิตได้

ธรรมชาติของงูเป็นอย่างไร?

งูกัด

ส่วนใหญ่งูจะกัดต่อเมื่อถูกทำให้ตกใจหรืออยู่ในสภาวะถูกคุกคาม หากเป็นไปได้มันมักจะหนีผู้คน งูมักอยู่ใกล้น้ำหรือในน้ำและส่วนมากจะเป็นงูไม่มีพิษ แต่หากถูกงูกัดและไม่ทราบชนิดของงู ต้องนึกว่าเป็นปัญหาใหญ่และต้องนึกถึงงูพิษไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งตัวเล็กน้ำหนักน้อย หากถูกงูพิษกัดอาการจะมากกว่าผู้ใหญ่เพราะปริมาณของพิษมากเมื่อเทียบ กับน้ำหนักตัวน้อย

งูกัดอันตรายไหม?

เนื่องจากงูส่วนใหญ่เป็นงูไม่มีพิษ เมื่อถูกกัดอาจทำให้เกิดแผลเจ็บปวดบ้าง หรืออาจมีอา การติดเชื้อตามมาถ้าแผลสกปรก แต่คนทั่วไปมักไม่รู้จักงูและไม่ทราบว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่ จึงต้องระลึกว่าเมื่อถูกงูกัดงูนั้นอาจมีพิษไว้ก่อน ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำดังจะกล่าวต่อไป และรีบพบแพทย์ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรไปโรงพยาบาลจะดีกว่า อย่างไรก็ตามป้องกันอย่าให้งูกัดดีที่สุด

ผลข้างเคียงจากงูกัดมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากงูกัดที่อาจพบได้คือ

1. ผลเฉพาะที่จากพิษงูหรือจากเอนไซม์ (Enzyme)/สารบางชนิดในน้ำลายของงูที่อาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดตายบริเวณกว้าง ทำให้มีการสูญเสียกล้ามเนื้อเนื้อเยื่อต่างๆและ ผิวหนังโดยรอบแผล หรือแผลงูกัดติดเชื้อแบคทีเรีย บางคนต้องทำการปลูกถ่ายผิวหนังโดยตัดผิวหนังส่วนที่ดีมาปะส่วนของผิวหนังที่เสียหายไป

2. ผลที่เกิดจากพิษงูทั้งทางระบบประสาทระบบเลือดและที่ทำให้เกิดไตวาย แต่หากได้รับ การรักษาที่ถูกต้องได้เซรุ่มแก้พิษงูตามชนิดของงูและตามข้อบ่งชี้ ร่วมกับการรักษาประคับประคอง ตามอาการที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นปกติ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากการหายใจล้มเหลวหรือจากหัวใจล้มเหลว เนื่องจากพิษงูมีผลต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือจากสารโพแทสเซียม (Potassium) สูงโดยเกิดจากพิษงูทำให้เกิดการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงและของกล้ามเนื้อ หรือพิษงูส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดเลือดออกมากจากแผลหรือจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆจนเสียชีวิตได้

ชนิดของงูพิษและบริเวณที่พบงูพิษ

งูพิษในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ

1. พิษต่อระบบประสาท: งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษ งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา

งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท: ได้แก่

  • งูเห่าไทย (Cobra, Naja kaouthia) พบได้ทั่วประเทศพบมากในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง
  • งูเห่าพ่นพิษ (Spitting cobra, Naja siamensis) พบมากทางภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันตก
  • งูจงอาง (King cobra, Ophiophagus hannah) พบมากในภาคใต้และภาคกลางบางจังหวัด
  • งูสามเหลี่ยม (Banded krait, Bungarus fasciatus) พบได้ทุกภาคของประเทศ
  • งูทับสมิงคลา (Malayan krait, Bungarus candidus) พบมากทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก

2.พิษต่อระบบเลือด: งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้

งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด: แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย

  • กลุ่มแรกคือ งูแมวเซา (Typical viper) พบมากในภาคตะวันออกและภาคกลาง
  • กลุ่มที่สองเป็น Pit viper ได้แก่
    • งูกะปะ พบมากในภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคเหนือ
    • อีกชนิดหนึ่งคือ งูเขียวหางไหม้ พบมากในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3. พิษต่อไต: งูแมวเซา

งูพิษที่มีผลต่อไต: พบในงูแมวเซา อาจเป็นผลจากพิษงูโดยตรง หรืออาจเกิดจากผลทางอ้อมจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะช็อก ผลจากฮีโมโกลบิน (Hemoglobin/สารชนิดหนึ่งที่ให้สีแดงในเม็ดเลือดแดง) ที่ถูกขับออกทางไต

ทั้งนี้ งูพิษที่กัดคนไทยมากที่สุด คือ

  • งูกะปะ (40%) รองลงมาได้แก่
  • งูเขียวหางไหม้ (34%)
  • งูเห่า (12%)
  • งูแมวเซา (10%) และ
  • งูชนิดอื่นๆ (4%)

อนึ่ง : งู Green mamba (Dendroaspis angusticeps): ในภาวะน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ขณะที่คนในกรุงเทพมหานครกำลังประสบความทุกข์ยากจากมหาอุทกภัย ก็มีข่าวที่ทำให้ต้องมีความวิตกกังวลมากขึ้น จากการที่มีผู้แอบเลี้ยงงูที่มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปอาฟริกาชื่อ Green mambaและงูนี้หนีออกมา

4. งู Green mamba (Dendroaspis angusticeps)

งู Green mamba เป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตเพราะมีพิษที่เรียกว่า Muscarinic toxin มีการศึกษาส่วนประกอบละเอียดของพิษงู Green mamba พบว่ามากกว่า 50% ของส่วนประกอบเหมือนพิษงูเห่าไทย (Naja kaouthia)ที่พบได้ทั่วประเทศดังกล่าวแล้ว ซึ่งที่ประเทศซิมบับเว ได้มีการศึกษาผู้ป่วยที่งูพิษกัดจำนวนมากพบว่า 18% ของผู้ป่วยถูกงู Black และ Green mamba กัด ขณะที่งูเห่ากัด 37%

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเสียชีวิตจากงูพิษโดยรวมกัด ไม่มากคือ 1.8% การรักษาได้ผลดีด้วยเซรุ่มแก้พิษงู ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด วัค ซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และการรักษาประคับประคองตามอาการของผู้ถูกงูกัด ซึ่งเป็นวิธีรักษางูพิษกัดทุกชนิดเหมือนๆกันดังจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อการรักษางูกัด ซึ่งรวมทั้งจากงู Green mamba แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ชนิดของเซรุ่มที่ใช้ซึ่งต้องแตกต่างกันตามชนิดของงูพิษเช่น เซรุ่มพิษงู Green mamba เมื่อถูกงูชนิดนี้กัด เป็นต้น

เมื่อถูกงูพิษกัดจะมีอาการอย่างไร?

เนื่องจากพิษงูประกอบด้วยโปรตีนและเอนไซม์ (Enzyme/สารเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของ สารต่างๆในร่างกาย) หลายชนิด มีผลต่อบริเวณที่ถูกกัด และทำให้เกิดอาการต่างๆได้ทั่วร่างกาย

  • ผลต่อบริเวณที่ถูกกัด: จะมีรอยเขี้ยว 2 เขี้ยว ปวด บวม รู้สึกปวดแสบปวดร้อน มีเลือด ออกบริเวณที่ถูกกัดหรืออักเสบ (บวม แดง ร้อน) เป็นบริเวณกว้าง อาจมีบวมและเนื้อตายบริเวณนั้น สีของผิวอาจเปลี่ยนไปจากสีปกติเช่น คล้ำลงหรือมีผิวหนังพองเป็นถุงน้ำ
  • ผลทั่วร่างกาย: ที่ขึ้นอยู่กับชนิดของพิษงู
    • งูพิษที่มีพิษต่อระบบประสาท :ทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพซ้อน ตามองเห็นไม่ชัด หนังตาตก ซึ่งมักจะเกิดภายใน 1 ชั่วโมงจนถึง 10 ชั่วโมงหลังจากได้รับพิษงู จากนั้นจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หายใจลำบาก
    • งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด: มีอาการเลือดออกผิดปกติได้แก่ เลือดออกจากแผลต่างๆรวมทั้งแผลงูกัด ตามไรฟัน ตามผิวหนัง ใต้ชั้นผิวหนัง ในกล้ามเนื้อ ในทางเดินอาหาร ใน ทางเดินปัสสาวะ เลือดออกจากรอยเข็มเจาะเลือด
    • งูพิษที่มีผลทำให้เกิดไตวาย: จะปัสสาวะไม่ออก มีความดันโลหิตสูง บวม มีสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ อาจมีอาการหอบเหนื่อย
  • ผลทั่วร่างกายอื่นๆ: นอกจากดังกล่าวแล้ว อาจมีอาการทั่วไปอื่นๆร่วมด้วย เช่น
    • มีไข้
    • หมดสติ
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ท้องเดิน/ท้องเสีย หรือ
    • อาการแพ้พิษงู (บวม แดง ขึ้นผื่นคัน อาจเกิดทั้งตัว หรือเกิดเฉพาะเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด เนื้อเยื่อ/อวัยวะหนึ่ง)

เมื่อถูกงูกัดควรปฏิบัติตนเบื้องต้นอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เนื่องจากเรามักไม่รู้จักชนิดของงู ดังนั้นเมื่อถูกงูกัด ให้สันนิษฐานว่าเป็นงูมีพิษไว้ก่อน ซึ่งการปฏิบัติเบื้องต้น (การปฐมพยาบาล) และการพบแพทย์เมื่อถูกงูกัด ได้แก่

1. ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆอย่าเคลื่อนไหว ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และให้บริเวณที่ถูกงูกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจเพื่อให้พิษนั้นเคลื่อนเข้าไปในร่างกาย/กระแสเลือดได้ช้า

2. ถอดแหวนหรือสิ่งที่รัดบริเวณที่งูกัดเนื่องจากถ้าบวมจะถอดออกไม่ได้ และหาสิ่งดาม หรือทำที่ตรึงหลวมๆตรึงบริเวณที่ถูกงูกัดเพื่อลดการเคลื่อนไหว เพราะยิ่งเคลื่อนไหวพิษงูยิ่งเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น

3. ดูอาการบริเวณที่ถูกงูกัด ถ้าบวมหรือมีสีเปลี่ยนให้สงสัยว่าถูกงูพิษกัด

4. หากทำได้ ควรตรวจดูสัญญาณชีพว่าชีพจรเบาเร็วหรือไม่ การหายใจและความดันโลหิตปกติหรือไม่ มีไข้หรือไม่ ถ้ามีอาการช็อกเช่น หน้าซีดขาว เวียนศีรษะ หน้ามืด ให้ผู้ป่วยนอนราบยกเท้าสูงประมาณ 1 ฟุตและห่มผ้าห่มให้

5. รีบนำไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด (ฉุกเฉิน) อย่าวางใจว่าอาการปวดไม่มากอาจไม่มีอันตราย เพราะบางคนครั้งแรกที่ถูกกัดไม่ปวดแต่พอมีอาการปวดอาการอื่นๆก็รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ และในระหว่างทางควรโทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลเพื่อการเตรียมเซรุมได้รวดเร็วที่สุด

6. ถ้าทำได้และปลอดภัยต่อผู้ดูแล ให้นำงูตัวที่กัดและถูกตีตายไปให้แพทย์ดูด้วยหรือ ถ่ายรูปงูไปให้แพทย์ดู แต่อย่ามัวเสียเวลากับการไล่ล่างูเพราะงูอาจจะกัดได้แผลใหม่อีก และต้อง ระวังด้วยว่างูตัวที่ตีตายแล้วนั้นขณะนำมาให้แพทย์ดูอาจสามารถงับคนได้อีก (จากปฏิกิริยาที่เรียก ว่า รีเฟล็กซ์ /Reflex) ซึ่งอาจจะเกิดได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากงูเสียชีวิตแล้วจึงต้องระวังตรงบริเวณหัวงูไว้ด้วย

7. หลังพบแพทย์และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ให้ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ รวมทั้งในการดูแลแผลงูกัด

8. เมื่อแพทย์นัดให้พบแพทย์ตามนัด แต่เมื่อกังวลในอาการหรืออาการต่างๆเลวลงเช่น แผลเลวลง ปวดแผลมากขึ้น หรือแผลบวมมากขึ้น หรือมีไข้ ให้รีบพบแพทย์ก่อนนัด โดยควรพบแพทย์ภายใน 1 - 2 วันหลังจากมีอาการผิดปกติ และรีบพบแพทย์ฉุกเฉินถ้ากลับมามีอาการผิด ปกติรุนแรงเช่น มีเลือดออกไม่หยุดจากบริเวณใดก็ได้ ไข้สูง มีแขนขาอ่อนแรง หรือคลื่นไส้ อา เจียน

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัดต้อง ‘ไม่’ :

1. ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยออกกำลังมากหรือเคลื่อนไหวมากเกินไปเพราะพิษงูจะเข้าสู่กระ แสเลือดได้เร็วขึ้น ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในรถนั่งหรือนอนราบ

2. ไม่รัดแน่นบริเวณที่ถูกงูกัด การรัดอาจทำให้เนื้อตายหรือบวมเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง ควรใช้ผ้าหรือเชือกพันเหนือบริเวณที่ถูกกัดกับไม้แผ่นเล็กๆและให้นิ้วมือสอดเข้าใต้ผ้าหรือเชือกที่รัดได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยสบายได้หลายชั่วโมง และไม่ควรถอดเชือกหรือผ้าที่ผูกไว้จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลเนื่องจากพิษงูจะเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้นเมื่อถอดเชือกหรือผ้าออก อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจไม่ได้ผลในกลุ่มงูที่ทำให้เกิดพิษเฉพาะที่เช่น งูเห่า งูเขียวหางไหม้

3. ไม่ประคบบริเวณที่ถูกงูกัดเพราะพิษงูอาจเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น ส่วนการประคบเย็นอาจทำให้เนื้อเยื่อตายเพิ่มมากขึ้น

4. ไม่ใช้ของมีคมกรีดหรือใช้ไฟฟ้าจี้บริเวณที่ถูกงูกัดหรือพอกยาบริเวณแผลเนื่องจากอาจมีการติดเชื้อรุนแรงที่แผลได้

5. ไม่ใช้ปากดูดพิษงูเพราะพิษจะก่ออันตรายต่อผู้ดูดพิษงูหรือก่อการติดเชื้อต่อแผลงูกัดได้

6. ไม่ให้ผู้ป่วยกินยาหรือสารกระตุ้นหรือยาแก้ปวด ยกเว้นจะได้รับการแนะนำโดยแพทย์ หากปวดมากให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้ประ เมินความรู้สึกตัวของผู้ป่วยผิดพลาด

7. ไม่ให้ผู้ป่วยกินอาหารหรือดื่มน้ำเพราะอาจก่อการสำลักอุดทางเดินหายใจเสียชีวิต หรือเกิดภาวะปอดติดเชื้อ/ปอดบวมรุนแรงได้โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับพิษงูที่มีผลต่อระบบประสาท

8. ไม่ยกอวัยวะที่ถูกงูกัดอยู่เหนือระดับหัวใจเพราะพิษงูจะเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น

แพทย์รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดอย่างไร?

แพทย์รักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดโดย

1. แพทย์จะประเมินการหายใจ ระบบหัวใจ ว่ายังทำงานได้ปกติหรือไม่ หรือต้องการการรักษาเบื้องต้นอย่างไร หากผู้ป่วยรัดเหนือแผลมาจะคลายเชือกที่รัดออก (หลังจากประเมินผู้ ป่วยแล้ว) ทำแผลให้สะอาด

2. แพทย์จะซักประวัติเรื่องงูกัด เวลาที่ถูกกัดก่อนมาถึงโรงพยาบาล หรือว่าตัวงูที่นำมาเป็น งูชนิดใด หากไม่รู้จัก แพทย์จะเปรียบเทียบรูปงูกับหนังสือหรือทางอินเตอร์เน็ต แพทย์จะตรวจดูว่างู กัดจริงหรือไม่โดยดูรอยเขี้ยว (Fang mark)

3. แพทย์จะประเมินว่างูที่กัดมีพิษหรือไม่มี หากมีพิษเป็นพิษชนิดใด พิษต่อระบบประสาท ระบบเลือด หรือระบบไต โดยแพทย์จะเจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติในเลือดตามหลักฐานและความจำเป็น

4. แพทย์จะดูอาการว่า มีอาการเฉพาะที่บริเวณที่กัดหรืออาการทั่วร่างกาย และอาการรุนแรงระดับใด น้อย ปานกลาง หรือมาก (แพทย์จะมีแนวทางในการประเมิน) อาการแรกที่บ่งบอกว่ามีพิษงูเข้าสู่ร่างกายมักจะเป็นอาการที่ไม่จำเพาะได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาอาการของพิษงูต่างๆทันทีเช่น ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) หรือดูการทำงานของไต

5. แพทย์จะพิจารณาการให้เซรุ่มแก้พิษงู ตามข้อบ่งชี้และตามชนิดงู

6. แพทย์จะรักษาประคับประคองอื่นๆตามข้อบ่งชี้ และเมื่อมีอาการที่จำเป็นต้องให้การรักษาเช่น ให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดในกรณีพิษมีผลต่อระบบเลือด ใส่เครื่องช่วยหาย ใจในกรณีหายใจไม่ได้เนื่องจากพิษมีผลต่อระบบประสาท ล้างไตในกรณีไตวาย รักษาภาวะช็อกถ้ามีภาวะช็อก รักษาภาวะติดเชื้อหากมีข้อบ่งชี้ และให้วัคซีนกันโรคบาดทะยักแก่ผู้ป่วย ให้ยาแก้ปวด และรักษาแผล

7. ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกงูพิษกัด แต่ยังไม่มีอาการ แพทย์มักให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อ ติดตามอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยดูแลอาการที่อาจเกิดตามมาอย่างใกล้ชิด

ป้องกันงูกัดอย่างไร?

การป้องกันงูกัดเป็นการรักษางูกัด และป้องกันผลข้างเคียงจากงูกัดที่ดีที่สุดซึ่งได้แก่

1. หลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในบริเวณที่งูชอบซ่อนตัวอยู่เช่น ใต้ก้อนหิน ท่อนไม้ ที่รกๆ หรือกองเสื้อผ้า สิ่งของในที่มืดๆ โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมที่งูหนีน้ำมา เมื่อเข้าห้องน้ำที่ตั้งอยู่ในที่ต่ำซึ่งงูซ่อนตัวได้ถึง ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ

2. อย่าเล่นกับงูยกเว้นจะมีการฝึกมาอย่างดี

3. เมื่อจะเดินไปในบริเวณที่รกๆหรือที่มืดๆ ให้เอาไม้ตีแหวกทางเพื่อให้งูหนีไปก่อนเพื่อแน่ใจว่าไม่มีงูอยู่

4. หากต้องเดินไปในบริเวณที่งูชุกชุมควรใส่กางเกงขายาวและรองเท้าบู๊ท

บรรณานุกรม

  1. ไพบูลย์ จินตกุล, ลาวัณย์ จันทร์โฮม. งูพิษในประเทศไทย. กรุงเทพมหา นคร: บริษัทประชาชน จำกัด. 2539.
  2. อนุภาพ เลขะกุล. ผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัด. ใน: ธานินทร์ อินทรกำธรชัย. บรรณาธิการ. แนวทางการรักษาโรคโลหิตวิทยาในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร. บริษัทบียอนด์, 2543 หน้า 273-80.
  3. Kasilo OM, Nhachi CF. A retrospective study of poisoning due to snake venom Zimbabwe. Hum Exp toxicol1993;12:15-8.
  4. Kukhtina W, Weise C, Muranova TA,et al. Muscarinic toxin-like proteins from cobra venom. Eur J Biochem2000;267:6784-9.
  5. Nhachi CF, Kasilo OM. Snake poisoning in rural Zimbabwe-a prospective study. J Appl Toxicol1994;14:191-3.
  6. https://medlineplus.gov/ency/article/000031.htm [2020,Oct3]
  7. https://www.uptodate.com/contents/search?search=principles-of-snake-bite-managementworldview&sp=0&searchType=PLAIN_TEXT&source=USER_INPUT&searchControl=TOP_PULLDOWN&searchOffset=1&autoComplete=false&language=&max=0&index=&autoCompleteTerm= [2020,Oct3]