งูกัด (Snake bite) – Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • อาการและสัญญาณของการถูกงูกัด
  • สาเหตุ
  • พยาธิสรีรวิทยา
    • พิษงู
  • การป้องกันการถูกงูกัด
  • การรักษา
    • การระบุชนิดของงู
    • การปฐมพยาลเบื้องต้น
    • การพันรอบบริเวณแผลที่ถูกงูกัด
    • เซรุ่มต้านพิษ
    • ผลกระทบเรื้อรัง
    • การรักษาที่ล้าสมัย
    • การรักษาที่กำลังพัฒนา
  • ระบาดวิทยา
  • กลไกพิษงู
    • การกัดเพื่อการล่าและการป้องกันตัว
    • การวัดปริมาณพิษ
    • การพ่นพิษ
  • สังคมและวัฒนธรรม
  • การวิจัย
  • สัตว์อื่นๆ

เกริ่นนำ

การถูกงูกัดคืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกงูกัด โดยเฉพาะจากงูพิษ โดยสัญญาณที่พบจากการถูกงูพิษกัดคือพบรอยแผลเจาะสองจุดจากเขี้ยวของงู ในบางครั้งงูอาจฉีดพิษงูในการกัด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแดง บวม และปวดอย่างรุนแรงในบริเวณที่ถูกกัด โดยอาจใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงในการปรากฏอาการ และอาจตามด้วยอาการอาเจียน ตาพร่ามัว รู้สึกเสียวตามแขนขา และเหงื่อออก แผลงูกัดส่วนมากมักเกิดในบริเวณมือ แขน หรือขา การเกิดความกลัวหลังจากการถูกกัดเป็นเรื่องปกติ โดยมีอาการหัวใจเต้นเร็ว และรู้สึกวิงเวียนคล้ายเป็นลม พิษงูอาจก่อให้เกิดอาการตกเลือด ไตวาย ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง การตายของเนื้อเยื่อรอบๆ แผล หรือปัญหาการหายใจ และอาจทำให้สูญเสียอวัยวะ หรือเกิดปัญหาเรื้อรังอื่นๆ หรืออาจถึงแก่ชีวิต

ผลของการถูกกัดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู บริเวณของร่างกายที่ถูกกัด ปริมาณพิษงูที่ฉีดเข้าไป สุขภาพร่างกายของผู้ที่ถูกกัด และการให้เซรั่มแก้พิษงูโดยแพทย์อย่างทันท่วงทีหรือไม่ โดยเด็กมักมีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากขนาดตัวที่เล็กกว่า การแพ้พิษงูอาจทำให้อาการซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจรวมถึงอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งต้องทำการรักษาเพิ่มเติม และในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิต

งูใช้การกัดในการล่าเหยื่อและป้องกันตนเอง โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกกัดได้แก่ การทำงานกลางแจ้งด้วยมือ เช่น ในการเกษตร ป่าไม้ และการก่อสร้าง เป็นต้น งูที่สามารถฉีดพิษได้นั้นประกอบด้วย งูในตระกูลอีลาปิด (เช่น งูสามเหลี่ยม งูเห่า และงูแมมบา) งูหางกระดิ่ง และงูทะเล ซึ่งงูส่วนใหญ่ไม่มีพิษและฆ่าเหยื่อโดยการรัดตัว เราสามารถพบงูพิษได้ในทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา และเรามักไม่สามารถระบุชนิดของงูที่กัดได้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้ว่าการถูกงูกัดเป็น "ปัญหาสุขภาพที่ถูกละเลยในประเทศในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนหลายประเทศ" และในปี ค.ศ. 2017 องค์การอนามัยโลกจัดให้การได้รับพิษจากงูเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (ประเภท A) องค์การอนามัยโลกยังประมาณการว่ามีผู้ถูกงูกัดระหว่าง 4.5 ถึง 5.4 ล้านคนต่อปี  และจากตัวเลขเหล่านี้ 40-50% ของผู้ถูกกัดมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องรักษาตามมา นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดดังกล่าวอาจอยู่ประมาณ 80,000 ถึง 130,000 คนต่อปี โดยจุดประสงค์ของประกาศนี้คือเพื่อส่งเสริมการวิจัย ขยายโอกาสการเข้าถึงเซรุ่มแก้พิษงู และปรับปรุงการรักษางูกัดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

การป้องกันงูกัดสามารถทำได้โดยการสวมรองเท้าป้องกัน การหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่งูอาศัยอยู่ และไม่หยิบจับงูขึ้นมา การรักษาส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของงู โดยแนะนำให้ล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำ และพยายามให้แขนหรือขาอยู่นิ่ง แต่ไม่แนะนำให้ดูดพิษออกด้วยปาก ใช้มีดกรีดแผล หรือใช้สายรัดเหนือแผล การใช้เซรุ่มแก้พิษงูมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตจากการถูกกัดแต่อาจมีผลข้างเคียง ชนิดของเซรุ่มที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของงูที่กัด แพทย์มักจะให้เซรุ่มแก้พิษตามประเภทของงูที่พบในพื้นที่หากไม่ทราบชนิดของงูที่กัด โดยการหาเซรุ่มแก้พิษที่ถูกชนิดเป็นเรื่องยากในบางพื้นที่ของโลก และทำให้การให้เซรุ่มบางครั้งไม่ได้ผล ปัญหาเพิ่มเติมคือราคาของการรักษาเหล่านี้ เซรุ่มแก้พิษมีผลเพียงเล็กน้อยต่อบริเวณรอบๆ แผลจากการถูกกัด และอาจจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหายใจได้ในบางกรณี

จำนวนผู้ถูกงูพิษกัดในแต่ละปี อาจสูงถึงห้าล้านคน ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับพิษประมาณ 2.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 ถึง 125,000 คน ความถี่และความรุนแรงของการกัดนั้นแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยการถูกงูพิษกัดมักพบได้ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และเขตพื้นที่ลาตินอเมริกา ซึ่งพื้นที่เขตชนบทได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด การเสียชีวิตจากงูพิษกัดมักไม่ค่อยพบในออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ถูกงูพิษกัดประมาณ 7,000 ถึง 8,000 คนต่อปี (ประมาณหนึ่งใน 40,000 คน) และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 คน (ประมาณหนึ่งใน 65 ล้านคน)

อาการและสัญญาณของการถูกงูกัด

อาการแรกที่พบได้บ่อยที่สุดจากการถูกงูกัดคือความกลัวอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว และผิวหนังเย็นชื้นจากเหงื่อ โดยอาการและสัญญาณของการถูกงูกัดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของงู

การถูกงูกัดแบบไม่ปล่อยพิษและการถูกงูที่ไม่มีพิษกัดยังอาจทำให้เกิดบาดแผลที่รุนแรงได้ แผลกัดอาจติดเชื้อจากน้ำลายของงู และเขี้ยวงูบางครั้งอาจมีพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น Clostridium tetani และอาจต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักเพื่อป้องกัน

การถูกงูกัดส่วนใหญ่ไม่ว่าจากงูพิษหรือไม่มีพิษนั้นจะมีอาการในบริเวณแผล โดยอาการปวดเล็กน้อยและมีรอยแดงมักเกิดขึ้นในกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการกัด โดยอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัด การถูกกัดโดยงูพิษกลุ่มงูแมวเซาและงูเห่าบางสายพันธุ์อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง โดยเนื้อเยื่อในบริเวณที่ถูกกัดอาจบวมและไวต่อการสัมผัสภายในห้านาที โดยในจุดที่ถูกกัดนั้นอาจมีเลือดออกและเกิดแผลพุพอง และอาจนำไปสู่การตายของเนื้อเยื่อ อาการขั้นต้นทั่วไปของการถูกกัดโดยงูหางกระดิ่งและงูพิษอื่นๆ รวมถึงอาการเหนื่อยล้า ตกเลือด อาการอ่อนแรง คลื่นไส้ และอาเจียน โดยอาจเป็นภัยคุกคามชีวิตเมื่อเวลาผ่านไป โดยพัฒนาเป็นความดันโลหิตต่ำ การหายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วอย่างรุนแรง การตกเลือดภายในอย่างรุนแรง การรับรู้ที่เปลี่ยนแปลง ไตวาย และการล้มเหลวทางเดินหายใจ

การถูกกัดโดยงูบางชนิด เช่น งูสามเหลี่ยม งูปะการัง งูหางกระดิ่งโมฮาเว่ และงูหางกระดิ่งจุด อาจทำให้รู้สึกเจ็บน้อยหรือไม่มีอาการเจ็บเลยถึงแม้ว่าพิษของงูเหล่านี้จะร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม บางคนรายงานว่ารู้สึกถึงรสชาติคล้าย "ยาง" "มิ้นท์" หรือ "โลหะ" หลังจากถูกกัดโดยงูหางกระดิ่งบางชนิด และงูเห่าที่พ่นพิษและงูริคัลส์สามารถพ่นพิษใส่ดวงตาของคน ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทันที การเคลื่อนไหวของลูกตาลดลง และบางครั้งอาจถึงขั้นตาบอดได้

การถูกกัดโดยงูพิษกลุ่มงูแมวเซาส่วนใหญ่และงูในตระกูลอีลาปิดจากออสเตรเลียบางชนิดจะทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้มีเลือดไหลออกเองจากปาก จมูก และแม้กระทั่งแผลเก่าที่ดูเหมือนจะหายดีแล้ว อวัยวะภายในอาจมีเลือดออก รวมถึงสมองและลำไส้ และมักพบการช้ำของผิวหนัง (Ecchymosis)

พิษของงูในตระกูลอีลาปิด รวมถึงงูทะเล งูสามเหลี่ยม งูเห่า งูจงอาง งูแมมบา และงูอีกหลายชนิดจากออสเตรเลีย มีสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการพิษทางประสาทโดยผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติในการมองเห็น เช่น อาการตามัว ความรู้สึกผิดปกติทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงปัญหาในการพูดและหายใจ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอาจมีหลายอาการ และอาการที่กล่าวมานี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด โดยอาจเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที

พิษจากงูพิษเกือบทุกชนิดและงูเห่ากับงูทะเลบางชนิดทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ  โดยเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจะเริ่มตายทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า Rhabdomyolysis ภาวะนี้อาจทำให้ไตเสียหายเนื่องจากการสะสมของโปรตีนไมโอโกลบินในท่อไต ภาวะนี้ร่วมกับความดันโลหิตต่ำ อาจก่อให้เกิดไตวายเฉียบพลัน และอาจถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา

การถูกงูกัดยังเป็นที่ทราบกันว่าทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ในสัดส่วนที่สูงของผู้รอดชีวิต

สาเหตุ

ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ชาวนา นายพราน และชาวประมงมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกงูกัดเป็นส่วนใหญ่ โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อคนเหยียบงูหรือเข้าใกล้ตัวงูเกินไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป การถูกงูกัดมักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้เลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยง

ชนิดของงูที่มีพิษร้ายแรงนั้นขึ้นอยู่กับภูมิภาคของโลก ในแอฟริกานั้นได้แก่ งูแมมบา งูเห่าอียิปต์ งูพัฟแอดเดอร์ และงูไวเปอร์พรม ในตะวันออกกลางได้แก่ งูไวเปอร์พรมและงูในตระกูลเอลาปิด ในละตินอเมริกาได้แก่งูในตระกูล Bothrops และ Crotalus โดยในตระกูลหลังรวมถึงงูหางกระดิ่ง ในอเมริกาเหนือ งูหางกระดิ่งเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากที่สุด โดยมากถึง 95% ของการเสียชีวิตจากการถูกงูกัดในสหรัฐอเมริกาเกิดจากงูหางกระดิ่ง Western และ Eastern diamondback โดยจุดที่ถูกกัดมากที่สุดคือที่บริเวณมือเนื่องจากคนถูกกัดจากการจับงูหรือจากการวางมือโดยไม่ระมัดระวัง ข้อเท้าเป็นจุดที่ถูกกัดมากเป็นอันดับสอง เนื่องจากงูมักจะซ่อนตัวหรือพรางตัวอย่างดีเพื่อหลบนักล่า ผู้ที่ถูกกัดส่วนใหญ่จึงมักถูกกัดโดยไม่ทันตั้งตัว และเรื่องที่ว่างูหางกระดิ่งมักเตือนก่อนกัดเป็นเพียงแค่ความเชื่อที่ผิด โดยส่วนมากการกัดจะเป็นสิ่งแรกที่สดงให้เห็นว่างูอยู่ใกล้ เนื่องจากงูพิษส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงเช้ามืด ย่ำรุ่ง หรือกลางคืน จึงมีแนวโน้มที่จะเจองูในช่วงเช้าตรู่หรือบ่ายแก่ๆ อย่างไรก็ตาม งูบางสายพันธ์อย่างเช่น Western diamondback อาจเจอได้ทุกช่วงเวลาของวัน และในความเป็นจริงนั้นการถูกงูกัดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อทั้งงูและคนต่างก็ออกมาเดินเล่นในสวนหรือบนทางเท้า เด็กมักจะถูกกัดในขณะที่เล่นอยู่ใกล้บ้านมักจะคลานใต้ระเบียง กระโดดใส่พุ่มไม้ หรือยกไม้จากกองไม้ แต่อย่างไรก็ตามการถูกกัดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นขึ้นเมื่อคนจับงูหางกระดิ่ง ในเอเชียใต้ เคยเชื่อกันว่างูเห่าอินเดีย งูสามเหลี่ยม งูไวเปอร์รัสเซล และงูไวเปอร์พรมเป็นอันตรายที่สุด อย่างไรก็ตาม งูชนิดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหารุนแรงได้เช่นกัน

พยาธิสรีรวิทยา

เนื่องจากการฉีดพิษเป็นกระบวนการที่งูเลือกทำเองได้ งูพิษทุกชนิดจึงสามารถกัดโดยไม่ฉีดพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ งูอาจทำการกัดแห้งเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพิษให้กับสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่เกินกว่าที่พวกมันจะกินได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า Venom metering แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการกัดแห้งจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์งู เช่น 80% ของการกัดจากงูทะเลที่โดยปกติแล้วมีนิสัยขี้อายจะไม่ส่งผลให้เกิดการฉีดพิษ ในขณะที่การกัดจากงูพิษวงศ์ย่อยงูหางกระดิ่งมีอัตราการฉีดพิษใกล้เคียง 25% นอกจากนี้ งูบางสกุล เช่น งูหางกระดิ่ง สามารถควบคุมปริมาณพิษที่ฉีดออกมาได้เอง โดยองค์ประกอบของพิษแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละสายพันธุ์ของงูพิษ บางชนิดส่งผลกระทบมากที่สุดต่อระบบทางเดินหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตของเหยื่อในขณะที่บางชนิดทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้พิษของแต่ละสายพันธุ์มีสารเคมีเฉพาะตัว บางครั้งต้องพัฒนาเซรุ่มแก้พิษสำหรับสายพันธุ์เฉพาะ ด้วยเหตุนี้มาตรการการรักษามาตรฐานจึงอาจใช้ไม่ได้ผลในทุกกรณี

การกัดแห้งบางครั้งอาจเกิดจากการจับเวลาที่ไม่แม่นยำของงู ซึ่งอาจปล่อยพิษออกมาก่อนที่เขี้ยวจะเจาะลึกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ งูบางชนิดโดยเฉพาะงูรัดขนาดใหญ่ในตระกูลงูหลามและงูเหลือมแม้ไม่มีพิษก็สามารถทำให้เกิดบาดแผลร้ายแรงได้ โดยเฉพาะงูขนาดใหญ่ที่มักจะทำให้เกิดแผลฉีกขาดรุนแรง และบางครั้งงูอาจดึงตัวออกมา ทำให้เนื้อของผู้ถูกกัดถูกฉีกขาดจากเขี้ยวแหลมคมที่ฝังอยู่ในผิวหนัง แม้ว่าการกัดจากงูไม่มีพิษจะไม่อันตรายถึงชีวิตเท่ากับการกัดจากงูพิษ แต่ก็สามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ชั่วคราว และอาจนำไปสู่การติดเชื้อร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • พิษงู

มีข้อมูลเสนอข้อมูลว่างูได้พัฒนากลไกที่จำเป็นต่อการสร้างและฉีดพิษขึ้นในช่วงยุคไมโอซีน ในช่วงกลางยุคเทอร์เชียรี ซึ่งงูส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นนักล่าซุ่มโจมตีขนาดใหญ่ในซูเปอร์แฟมิลี Henophidia ซึ่งใช้การรัดในการฆ่าเหยื่อ เมื่อทุ่งหญ้าเปิดกว้างเข้ามาแทนที่ป่าบางส่วนของโลก งูบางตระกูลจึงวิวัฒนาการให้มีขนาดตัวเล็กลงและคล่องตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การปราบและฆ่าเหยื่อเป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับงูขนาดเล็ก จึงนำไปสู่การวิวัฒนาการของพิษงู โดยทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ต่อมพิษวิวัฒนาการมาจากต่อมน้ำลายพิเศษ พิษเองก็วิวัฒนาการผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โดยคงคุณสมบัติที่มีประโยชน์ในการฆ่าหรือปราบเหยื่อไว้

ทุกวันนี้เราสามารถพบงูหลากหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในระยะต่างๆ ของการวิวัฒนาการนี้นี้ เช่น งูหางกระดิ่ง ซึ่งเป็นงูที่มีประสิทธิภาพฉีดพิษที่สูง ด้วยความสามารถในการเก็บพิษปริมาณมาก เขี้ยวกลวงที่เหวี่ยงเข้าตำแหน่งก่อนกัด และเขี้ยวสำรองที่พร้อมจะทดแทนเขี้ยวที่เสียหาย นอกจากนี้งานวิจัยเกี่ยวกับ Toxicofera กลุ่มสัตว์บรรพบุรุษของสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดในปัจจุบัน ยังเสนอกรอบเวลาวิวัฒนาการของพิษงูที่เก่ากว่าที่คาดการ ซึ่งอาจย้อนไปถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย

พิษงูถูกสร้างขึ้นในต่อมพาโรติดที่ได้รับการดัดแปลงซึ่งปกติจะทำหน้าที่ในการหลั่งน้ำลาย โดยพิษถูกเก็บไว้ในโครงสร้างที่เรียกว่า Alveoli ซึ่งอยู่ด้านหลังดวงตาของงู และถูกขับออกมาโดยความจงใจผ่านเขี้ยวกลวงของงู

พิษงูหลายชนิดเช่นงูพิษในวงศ์งูหางกระดิ่งนั้นมีผลกระทบต่อระบบอวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ โดยพิษเหล่านี้ประกอบด้วยสารพิษหลากหลายชนิด เช่น สารที่เป็นพิษต่อเซลล์ พิษต่อระบบเลือด พิษต่อระบบประสาทและต่อระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้เกิดอาการที่หลากหลาย พิษงูอาจทำให้เกิดพิษต่อเซลล์โดยการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เช่น Hyaluronidases collagenases proteinases และ Phospholipases ซึ่งนำไปสู่การสลายเนื้อเยื่อ (Dermonecrosis) และการอักเสบในบริเวณที่ถูกกัด ทำให้เกิดความเจ็บปวด บวม และตุ่มน้ำ การทำลายเมทริกซ์นอกเซลล์ (Extracellular matrix) โดยเอนไซม์ Metalloproteinases ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้เกิดเลือดออก ทำลายกล้ามเนื้อ โพรงเนื้อเยื่อ และทำให้เกิดตุ่มน้ำและผิวเน่า

การหลั่งของสารก่อการอักเสบจาก Metalloproteinases ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การบวม และการแทรกซึมของเม็ดเลือดขาว และยังทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบน้ำเหลือง หรือนำพาพิษแพร่กระจายไปทั่วร่างกายผ่านระบบน้ำเหลือง เอนไซม์ Phospholipase A2 ในพิษงูจะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการสลายกล้ามเนื้อ, การหายใจลำบาก, หรือทั้งสองอย่าง เอนไซม์อื่นๆ เช่น Bradykinin potentiating peptides, Natriuretic peptides, Vascular endothelial growth factors, และ Proteases สามารถทำให้ความดันเลือดต่ำได้

พิษงูยังทำให้เกิดการทำลายไต (Nephrotoxicity) โดยผ่านทางไซโตไคน์อักเสบ พิษเหล่านี้ทำลายไตโดยตรงโดยการทำลายส่วนของไตที่เรียกว่า Glomeruli และทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนใน Bowman’s capsule หรือไตอาจถูกทำลายโดยอ้อมจากอาการช็อก การพยายามกำจัดสารพิษที่เป็นพิษต่อไต เช่น คอมเพล็กซ์ภูมิคุ้มกัน ผลิตภัณฑ์จากการสลายตัวของเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากการสลายกล้ามเนื้อ

ในภาวะการแข็งตัวของเลือดที่เกิดจากพิษงู พิษจากงูจะกระตุ้นการตกเลือดโดยการกระตุ้นการทำงาน การใช้ และการสูญเสียปัจจัยการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย โดยปัจจัยการแข็งตัวของเลือดเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในการเกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด เพื่อสร้างลิ่มเลือดและป้องกันการตกเลือด แต่พิษงูจะทำให้ปัจจัยเหล่านี้ถูกใช้จนหมด ส่งผลให้เกิดการตกเลือด

พิษงู โดยเฉพาะงูวงศ์ Crotalinae หรือกลุ่มงูพิษเขี้ยวพับในอเมริกา อาจทำให้จำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง (Thrombocytopenia) หรือทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการตกเลือดที่ไม่สามารถควบคุมได้

พิษงูเป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถทำให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อประสาท โดยทั่วไปจะเกิดเป็นอัมพาตแบบอ่อนตัวซึ่งเริ่มจากส่วนบนแล้วลามลงด้านล่าง ซึ่งเริ่มจากกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้เกิดอาการหนังตาตก (Ptosis) และการพูดผิดปกติหรือพูดไม่ชัดเจน (Dysarthria) จากนั้นจะลามลงไปยังกล้ามเนื้อระบบหายใจ ทำให้การหายใจลำบาก โดยสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxins) จะจับและปิดกั้นตัวรับที่เยื่อหุ้มเซลล์ในเซลล์ประสาทหลังไซแนปส์ หรือถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์และส่งผลกระทบต่อการปล่อยสารสื่อประสาท

สารพิษจากงูที่ถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์ (Pre-synaptic neurons) นั้นจะยากต่อการรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษเนื่องจากสารพิษเหล่านี้อยู่ภายในเซลล์และไม่สามารถเข้าถึงได้โดยตรงด้วยเซรุ่มแก้พิษ

ความรุนแรงของพิษงูนั้นมีความแตกต่างกันมากระหว่างสายพันธ์ของงูและโดยเฉพาะระหว่างวงศ์ต่างๆ ซึ่งวัดจากปริมาณพิษที่ทำให้สัตว์ทดลองตายได้ครึ่งหนึ่ง (LD50) ในหนู  โดย LD50 แบบใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) แตกต่างกันมากถึง 140 เท่าในวงศ์ Elapidae และมากกว่า 100 เท่าในวงศ์ Viperidae และปริมาณพิษที่ผลิตออกมาก็แตกต่างกันระหว่างชนิดของงู เช่น งูพิษกาบูนสามารถปล่อยพิษได้ตั้งแต่ 450 ถึง 600 มิลลิกรัมในกัดเดียว ซึ่งเป็นปริมาณพิษที่มากที่สุดในบรรดางูทั้งหมด ส่วนงูในวงศ์ Opisthoglyphous colubrids มีพิษที่แตกต่างกันตั้งแต่พิษที่อันตรายถึงชีวิต (เช่น งู Boomslang) ไปจนถึงพิษที่แทบจะไม่สังเกตเห็น (เช่น งู Tantilla)

การป้องกันการถูกงูกัด

งูมีแนวโน้มที่จะกัดเมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคาม ตกใจ ถูกยั่วยุ หรือจนมุม โดยงูอาจเข้าใกล้พื้นที่อยู่อาศัยที่มีเหยื่อเช่น หนู การควบคุมสัตว์รบกวนอย่างสม่ำเสมอสามารถลดภัยคุกคามจากงูได้เป็นอย่างมาก การรู้จักชนิดของงูที่พบบ่อยในพื้นที่ท้องถิ่น หรือขณะเดินทางหรือปีนเขาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในแอฟริกา ออสเตรเลีย เนโอโตรปิกส์ และเอเชียใต้ ซึ่งมีงูอันตรายหลายชนิด การระมัดระวังและหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่รู้จักกันว่ามีงูอันตรายหนาแน่นถือเป็นสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่งในการป้องกันงูกัด

เมื่ออยู่ในพื้นที่ป่า การเดินเท้าอย่างหนักจะสร้างแรงสั่นสะเทือนและเสียง ซึ่งมักจะทำให้งูหนีออกจากพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามวิธีมักจะใช้ได้กับงูชนิดหางกระดิ่งเท่านั้น เนื่องจากงูขนาดใหญ่และดุร้ายกว่าในบางส่วนของโลก เช่น งูแมมบาและงูเห่า จะตอบสนองอย่างดุเดือดมากขึ้น หากพบเจอการเผชิญหน้าโดยตรง ควรอยู่เงียบและอยู่นิ่ง ควรเดินถอยออกไปอย่างช้าๆ และระมัดระวังหากงูยังไม่เลื้อยหนีออกไป

การใช้ไฟฉายขณะทำกิจกรรมตั้งแคมป์ เช่น การเก็บฟืนในตอนกลางคืน อาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันการถูกงูกัด งูอาจมีความตื่นตัวผิดปรกติในคืนที่อากาศอบอุ่นโดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 21 °C (70 °F) ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการยื่นมือเข้าไปในท่อนไม้ที่เป็นโพรง พลิกหินขนาดใหญ่ หรือเข้าไปในกระท่อมเก่าหรือสถานที่ซ่อนงูอื่นๆ ควรระวังไม่ให้จับขอบหรือตะเข็บหินโดยไม่ตรวจสอบก่อนเมื่อปีนเขา เนื่องจากงูเป็นสัตว์เลือดเย็นและมักจะอาบแดดบนขอบหิน

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกงูกัดเป็นผู้ที่จงใจเสี่ยงโดยการพยายามจับงูป่าหรือการจับสัตว์เลี้ยงอันตรายของตนอย่างไม่ระมัดระวัง โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกกัดมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.1 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า

นอกจากนี้ควรที่จะหลีกเลี่ยงงูที่ดูเหมือนตายแล้วเป็นอย่างยิ่ง เพราะงูบางชนิดจะกลับหลังและยื่นลิ้นออกมาเพื่อหลอกลวงศัตรูที่อาจเป็นภัย  และศีรษะของงูที่หลุดออกจากตัวยังสามารถกัดได้โดยอัตโนมัติและอาจทำให้เกิดการกัดที่รุนแรงพอๆ กับงูที่มีชีวิต โดยการกัดจากงูที่ตายแล้วมักจะปล่อยพิษออกมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากงูที่ตายไม่สามารถควบคุมปริมาณพิษที่ฉีดออกมาได้

การรักษา

อาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่าการถูกงูกัดโดยงูชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ การกัดโดยงูคอปเปอร์เฮดในอเมริกาเหนือบริเวณข้อเท้ามักเป็นอาการบาดเจ็บปานกลางสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี แต่หากถูกกัดบริเวณท้องหรือใบหน้าของเด็กโดยงูชนิดเดียวกันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผลของการถูกงูกัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของงู ขนาด สภาพร่างกาย และอุณหภูมิของงู อายุและสภาพร่างกายของผู้ถูกกัด บริเวณและเนื้อเยื่อที่ถูกกัด (เช่น เท้า ลำตัว เส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อ) ปริมาณพิษที่ฉีดเข้าไป ระยะเวลาที่ใช้ในการรับการรักษา และสุดท้ายคือคุณภาพของการรักษานั้นๆ โดยการวิเคราะห์แบบ Systematic reviewเกี่ยวกับการจัดการการถูกงูกัดในแง่มุมต่างๆ ได้พบว่า หลักฐานส่วนใหญ่ที่ใช้ในการรักษามีคุณภาพต่ำนอกจากนี้ การวิเคราะห์แนวทางการรักษาขององค์การอนามัยโลกยังพบว่ามีคุณภาพต่ำ มีการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ และมีความเข้มงวดทางวิธีการที่ไม่ดีพออีกด้วย

  • การระบุชนิดของงู

การระบุชนิดของงูเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนการรักษาในบางพื้นที่ของโลก แต่ไม่เสมอไป ในอุดมคติแล้ว ควรนำงูที่ตายแล้วมาพร้อมกับผู้ถูกกัด แต่ในพื้นที่ที่มีการถูกงูกัดบ่อย ความรู้ในท้องถิ่นอาจเพียงพอในการระบุชนิดของงู อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคที่มีเซรุ่มต้านพิษงูแบบหลากหลาย เช่น อเมริกาเหนือ การระบุชนิดของงูไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสูง และการพยายามจับหรือฆ่างูที่ทำร้ายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกพิษซ้ำ หรือทำให้มีคนถูกกัดเพิ่ม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่แนะนำให้ทำ

งูพิษสามสายพันธ์ที่ทำให้เกิดปัญหาทางการแพทย์อย่างรุนแรงมากที่สุด ได้แก่ งูหางกระดิ่ง, งูทับสมิงคลา, และงูเห่า โดยการรู้จักชนิดของงูที่พบในท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก รวมถึงการรู้จักอาการและสัญญาณทั่วไปของพิษจากงูแต่ละชนิด ระบบการให้คะแนนสามารถนำมาใช้เพื่อพยายามระบุชนิดของงูที่กัดโดยอิงจากลักษณะอาการ แต่ระบบการให้คะแนนเหล่านี้มักมีความเฉพาะเจาะจงอย่างมากกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฉพาะ และอาจได้รับผลกระทบจากการมีอยู่ของงูที่ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่หลบหนีหรือถูกปล่อยออกมา

  • การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

คำแนะนำในการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัดมักแตกต่างกันเนื่องจากงูแต่ละชนิดมีพิษไม่เหมือนกัน โดยบางชนิดจะส่งผลกระทบต่อระบบทั่วร่างกายอย่างรุนแรงแต่มีผลเพียงเล็กน้อยที่บริเวณที่กัด ในกรณีเช่นนี้ การจำกัดพิษให้อยู่ในบริเวณที่ถูกกัดโดยการกดและตรึงบริเวณนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ ในขณะที่พิษของงูบางชนิดจะทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อเฉพาะที่รอบๆ บริเวณที่ถูกกัด ซึ่งการตรึงอาจทำให้ความเสียหายในบริเวณนั้นรุนแรงขึ้น แต่ก็อาจลดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยรวมลงได้ โดยการประเมินว่าว่าความเสี่ยงนี้คุ้มค่าหรือไม่ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากงูในแต่ละประเทศแตกต่างกัน วิธีการปฐมพยาบาลจึงแตกต่างกันไปตามพื้นที่เช่นกัน

องค์กรหลายแห่ง รวมถึงสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) และกาชาดอเมริกัน (American Red Cross) แนะนำให้ล้างบาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด อย่างไรก็ตาม คำแนะนำในการรักษาผู้ถูกงูกัดของประเทศออสเตรเลียไม่แนะนำให้ทำความสะอาดบาดแผล เนื่องจากคราบพิษที่เหลืออยู่บนผิวหนังหรือผ้าพันแผลจากการถูกกัดสามารถใช้ร่วมกับชุดทดสอบระบุชนิดของงูเพื่อช่วยระบุสายพันธุ์ของงูได้ ซึ่งจะช่วยเร่งการ

  • การพันรอบบริเวณแผลที่ถูกกัด

จนถึงปี ค.ศ. 2008 มีหลักฐานทางการแพทย์ที่จำกัดเกี่ยวกับการพันรอบบริเวณแผลที่ถูกกัดด้วยการใช้ผ้ายืด โดยวิธีนี้แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ถูกงูกัดในออสเตรเลีย (เนื่องจากงูในตระกูล Elapids ซึ่งมีพิษทำลายระบบประสาท) และไม่แนะนำให้ใช้กับการถูกงูที่มีพิษไม่ทำลายระบบประสาท เช่น งูที่พบในอเมริกาเหนือและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยกองทัพอังกฤษแนะนำให้ใช้การพันรอบบริเวณแผลที่ถูกกัดในทุกกรณีที่ไม่ทราบชนิดของงู

วัตถุประสงค์ของการพันรอบบริเวณแผลที่ถูกกัดคือการจำกัดพิษให้อยู่ภายในแขนหรือขาที่ถูกกัด และป้องกันไม่ให้พิษเคลื่อนผ่านระบบน้ำเหลืองไปยังอวัยวะสำคัญ โดยวิธีการนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ได้แก่ การใช้แรงกดเพื่อป้องกันการระบายน้ำเหลือง และการตรึงแขนหรือขาที่ถูกกัดเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อโครงสร้างที่อาจทำให้พิษเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

  • เซรุ่มต้านพิษ

ก่อนการพัฒนาเซรุ่มต้านพิษ การกัดจากงูบางชนิดนั้นนับว่าถึงชีวิตเสมอ แม้จะมีความก้าวหน้าในการรักษาขั้นฉุกเฉิน แต่เซรุ่มต้านพิษยังคงเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพียงวิธีเดียวในการจัดการกับพิษงู โดยที่เซรุ่มต้านพิษตัวแรกถูกพัฒนาในปี ค.ศ. 1895 โดยแพทย์ชาวฝรั่งเศส อัลเบิร์ต คาลเมตต์ สำหรับการรักษาการกัดของงูเห่าอินเดีย การผลิตเซรุ่มต้านพิษนั้นเริ่มจากการฉีดพิษจำนวนเล็กน้อยให้กับสัตว์ (โดยทั่วไปคือม้า หรือ แกะ) เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นแอนติบอดีที่ได้จะถูกเก็บจากเลือดของสัตว์นั้น

เซรุ่มต้านพิษจะถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายผ่านหลอดเลือดดำ และทำงานโดยการจับและลบล้างฤทธิ์เอนไซม์พิษ โดยเซรุ่มต้านพิษไม่สามารถย้อนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจากพิษได้ ดังนั้นการรักษาด้วยเซรุ่มต้านพิษควรได้รับการดูแลโดยเร็วที่สุด เซรุ่มต้านพิษสมัยใหม่มักเป็นชนิดหลายประเภทร่วมกันซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านพิษของงูหลายชนิด โดยบริษัทเภสัชกรรมที่ผลิตเซรุ่มต้านพิษมักมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ของตนให้ตรงกับชนิดของงูที่มีอยู่ในพื้นที่เฉพาะเขต แม้ว่าบางคนอาจเกิดอาการผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อเซรุ่มต้านพิษ เช่น อาการช็อกจากการแพ้เซรุ่ม แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินผลข้างเคียงดังกล่าวมักจะสามารถรักษาได้ และดังนั้นข้อดีของการใช้เซรุ่มต้านพิษมักจะมีมากกว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ใช้เซรุ่มต้านพิษ โดยการให้ยาด้วยอะดรีนาลีน (เอพิเนฟรีน) เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงจากเซรุ่มต้านพิษก่อนที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมในกรณีที่อาการข้างเคียงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนยาต้านฮิสตามีนไม่ปรากฏว่ามีประโยชน์ในการป้องกันอาการข้างเคียง

  • ผลกระทบเรื้อรัง

ผลกระทบสุขภาพเรื้อรังจากการถูกงูกัดรวมถึงแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การตัดอวัยวะ โรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่ออื่นๆ โดยการรักษาผลกระทบเรื้อรังจากการถูกงูกัดยังไม่ถูกวิจัยเพียงพอต่อการรักษา

  • การรักษาที่ล้าสมัย

การรักษาต่อไปนี้เคยได้รับการแนะนำแต่ปัจจุบันถือว่าไม่มีผลหรืออาจเป็นอันตราย รวมถึงการใช้รัดห้ามเลือด การกรีดแผล การดูดพิษ การประคบเย็น และการใช้กระแสไฟฟ้าบำบัด โดยกรณีที่การรักษาเหล่านี้ดูเหมือนจะได้ผลอาจเป็นผลจากการถูกงูไม่มีพิษกัด

    • การรัดห้ามเลือดในบริเวณแขนขาที่ถูกงูกัดโดยทั่วไปไม่แนะนำ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าวิธีนี้เป็นวิธีปฐมพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเหมือนตามที่ใช้โดยทั่วไป โดยพบว่าการรัดห้ามเลือดไม่มีผลในกรณีการกัดของงู Crotalus durissus แต่มีผลลัพธ์ที่เป็นบวกในบางกรณีการรัดห้ามเลือดที่ใช้ถูกวิธีสำหรับพิษของงูในฟิลิปปินส์ การรัดห้ามเลือดที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการลดหรือหยุดการไหลเวียนของเลือดอาจทำให้เกิดเนื้อตายเน่าซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งการใช้ผ้าพันแผลแบบกดมักจะมีประสิทธิภาพพอๆ กันและปลอดภัยกว่า
    • การกรีดแผลบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งมักทำก่อนการดูดพิษ ไม่แนะนำเนื่องจากทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมและเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ การใช้ไฟหรือเงินไนเตรต (ที่รู้จักกันในชื่อหินนรก) เพื่อเผาแผลก็เป็นการกระทำที่อาจเป็นอันตรายได้
    • การดูดพิษด้วยปากหรือปั๊มนั้นไม่มีผลและอาจทำให้ร่างกายส่วนที่ได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายเพิ่มเติม การดูดหลังจากสามนาทีจะเอาพิษออกมาในปริมาณน้อยแบบไม่มีผลต่อการรักษา โดยจะดูกพิษออกมาได้น้อยกว่าหนึ่งพันส่วนของพิษที่ถูกฉีดตามการศึกษาในมนุษย์ ในการศึกษาในหมู การดูดไม่เพียงแต่ไม่ช่วยแล้ว แต่ยังนำไปสู่การเนื้อเน่าในพื้นที่ที่ถูกดูด การดูดด้วยปากเสี่ยงต่อการเป็นพิษเพิ่มเติมผ่านเยื่อบุในปากของผู้ช่วย รวมถึงการปล่อยแบคทีเรียเข้าสู่บาดแผลของผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้อีกด้วย
    • การแช่ในน้ำอุ่นหรือนมเปรี้ยว และการใช้หินงู (ที่รู้จักกันในชื่อ la Pierre Noire) ซึ่งเชื่อว่าดูดพิษออกมาเหมือนกับที่ฟองน้ำดูดซับน้ำ
    • การใช้สารละลายโพแทสเซียมเพอร์แมงเกเนตหนึ่งเปอร์เซ็นต์หรือกรดโครมิกบนบริเวณแผลเปิด โดยกรดโครมิกนั้นเป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็ง
    • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหลังจากการเผาหรือการฆ่าเชื้อในบริเวณแผล
    • การใช้กระแสไฟฟ้าบำบัด โดยในการทดลองกับสัตว์แสดงให้เห็นว่าวิธีนี้ไม่มีผลและอาจเป็นอันตราย

ในกรณีที่อาการรุนแรงในพื้นที่ที่ห่างไกล การพยายามรักษาเหล่านี้ได้ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เลวร้ายกว่าการกัดโดยงูพิษที่มีที่อ่อนถึงปานกลาง ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด การรัดห้ามเลือดที่รัดแน่นกับแขนขาที่ถูกกัดอาจทำให้การไหลเวียนเลือดในแขนขาถูกตัดขาด เมื่อผู้ป่วยไปถึงสถานพยาบาลที่เหมาะสมอาจจะต้องตัดแขนขาของทิ้ง

  • การรักษาที่กำลังพัฒนา

ในขณะนี้มีการพัฒนายาและการรักษาใหม่ๆ หลายชนิดสำหรับการถุกงูกัด ตัวอย่างเช่น Dimercaprol ซึ่งเป็นสารจับโลหะ (Metal chelator) ได้รับการพิสูจน์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าสามารถต้านการทำงานของเมทัลโลโปรตีนเนสในพิษงูที่ขึ้นอยู่กับ Zn2+ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาภูมิคุ้มกันโมโนโคลนอลเจลโพลิเมอร์ และสารยับยั้งขนาดเล็กที่เรียกว่า Varespladib อีกด้วย โดยขณะนี้กำลังพัฒนาชุดผลลัพธ์หลัก (core outcome set) ซึ่งเป็นรายการผลลัพธ์ที่ตกลงร่วมกันสำหรับการวิจัยการรักษางูกัดในอนาคต

ระบาดวิทยา

ก่อนหน้านี้มีการประมาณการเกี่ยวกับการถูกงูกัดมีว่าจำนวนผู้ถูกกัด 1.2 ถึง 5.5 ล้านราย โดยถูกงูฉีดพิษอยู่ที่ประมาณ 421,000 ถึง 2.5 ล้านราย และทำให้เสียชีวิตตั้งแต่ 20,000 ถึง 125,000 ราย โดยการประมาณการที่ใหม่กว่าระบุว่าในปี ค.ศ. 2019 มีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดทั่วโลกประมาณ 63,400 ราย โดย 51,100 รายในจำนวนนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากการรายงานการถูกงูกัดไม่เป็นข้อบังคับในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ของการถูกงูกัดไม่ชัดเจนเท่าที่ควร โดยผู้รอดชีวิตจากการถูกงูกัดหลายรายมีความเสียหายของเนื้อเยื่ออย่างถาวรเนื่องจากพิษซึ่งนำไปสู่การทุพพลภาพ การได้รับพิษงูและการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเขตเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีรายงานการเสียชีวิตจากงูกัดมากที่สุดในโลก ในขณะนี้มีหลักฐานที่จำกัดเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการระบาดวิทยาของการถูกงูกัด แต่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของความเสี่ยงในการถูกงูกัด เช่น อัตราการถูกกัดจะเพิ่มขึ้นในอเมริกาเหนือ ในอเมริกาใต้และโมซัมบิก รวมถึงอัตราการถูกงูกัดที่เพิ่มขึ้นในศรีลังกา

การถูกงูกัดส่วนใหญ่มักมาจากงูไม่มีพิษ จากสายพันธุ์งูที่รู้จักประมาณ 3,000 สายพันธุ์ทั่วโลก มีเพียง 15% เท่านั้นที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งสามารถพบงูได้ในทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา โดยตระกูลงูที่มีความหลากหลายมากที่สุดและแพร่กระจายกว้างขวางที่สุดคือกลุ่มงูโคลูบริด ซึ่งมีประมาณ 700 สายพันธุ์ที่มีพิษ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 5 สกุลเท่านั้นที่เคยมีรายงานว่าทำให้มนุษย์เสียชีวิต ได้แก่ งูบูมสแลง, งูทวิก, งูคีลแบ็ค, งูเขียว, และงูเพรียว

ในทั่วโลก การถูกงูกัดมักจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่งูมีการเคลื่อนไหวและมนุษย์มักจะอยู่กลางแจ้ง โดยพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เขตร้อนมีรายงานการถูกงูกัดมากที่สุด ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ถูกกัดส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 27 ปี โดยเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเสียชีวิตจากการถูกงูกัด

กลไกพิษงู 

เมื่องูพิษกัดเป้าหมาย งูจะปล่อยพิษผ่านระบบส่งพิษ โดยระบบส่งพิษของงูประกอบด้วยต่อมพิษสองข้าง กล้ามเนื้อบีบอัด ท่อพิษ ปลอกฟัน และฟัน ต่อมพิษหลักและรองทำหน้าที่เก็บพิษที่ใช้ในระหว่างการปล่อยพิษ กล้ามเนื้อบีบอัดจะหดตัวในขณะกัดเพื่อเพิ่มความดันในระบบส่งพิษ พิษที่ถูกอัดจะเดินทางผ่านท่อพิษหลักไปยังท่อพิษรองที่นำลงมาผ่านปลอกฟันและฟัน จากนั้นพิษจะถูกปล่อยออกทางรูฟัน โดยปริมาณรวมและอัตราการไหลของพิษที่ส่งเข้าสู่เป้าหมายมีความแตกต่างกันอย่างมาก บางครั้งอาจมากกว่าถึงสิบเท่า หนึ่งในปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดในปริมาณพิษคือชนิดและขนาดของงู โดยงูขนาดใหญ่กว่ามักจะปล่อยพิษในปริมาณที่มากกว่า

  • การกัดเพื่อการล่าและการป้องกันตัว

การกัดของงูสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือการกัดเพื่อการล่าหรือการป้องกันตัว โดยในการโจมตีเพื่อป้องกันตัว อัตราการปล่อยพิษและปริมาณพิษที่ปล่อยออกมาจะสูงกว่าการกัดเพื่อการล่าเหยื่อเป็นอย่างมาก ซึ่งการกัดเพื่อป้องกันตัวสามารถปล่อยพิษได้มากกว่าถึง 10 เท่า และอัตราการไหลของพิษสูงกว่าถึง 8.5 เท่า พฤติกรรมนี้สามารถอธิบายได้จากความต้องการของงูที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว แม้จะใช้กลไกการปล่อยพิษคล้ายกัน แต่การโจมตีเพื่อการล่าจะแตกต่างจากการโจมตีเพื่อป้องกันตัว โดยงูมักจะปล่อยเหยื่อหลังจากกัด เพื่อให้เหยื่อวิ่งหนีไปและตายในภายหลัง การปล่อยเหยื่อช่วยป้องกันงูไม่ให้ได้รับบาดเจ็บจากการตอบโต้ และกลิ่นของพิษจะช่วยให้งูหาตำแหน่งเหยื่อหลังจากเหยื่อเสียชีวิตแล้ว โดยปริมาณพิษที่ฉีดเข้าไปเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักของเหยื่อ พิษในปริมาณมากช่วยให้งูฆ่าเหยื่อขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การปล่อยพิษในปริมาณน้อยลงยังคงมีประสิทธิภาพสำหรับเหยื่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญเนื่องจากพิษเป็นทรัพยากรที่ใช้พลังงานสูงในการผลิต

  • การวัดปริมาณพิษ

การวัดปริมาณพิษ คือความสามารถของงูในการควบคุมปริมาณพิษที่ปล่อยออกไปสู่เป้าหมายในระหว่างการกัดตามแต่ละสถานการณ์ ความสามารถนี้มีความสำคัญเนื่องจากพิษเป็นทรัพยากรที่จำกัด สัตว์ขนาดใหญ่จะมีความไวต่อพิษน้อยกว่า และสถานการณ์ต่างๆ ต้องการระดับของแรงที่แตกต่างกัน โดยมีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนสมมติฐานการวัดปริมาณพิษ ตัวอย่างเช่น งูมักใช้พิษมากขึ้นในกรณีการกัดเพื่อป้องกันตัว ปล่อยพิษมากขึ้นให้กับเหยื่อขนาดใหญ่ และสามารถกัดโดยไม่มีพิษ (Dry bite) ซึ่งหมายถึงการกัดจากงูพิษที่ปล่อยพิษออกมาน้อยมากหรือไม่มีเลย ทำให้เป้าหมายไม่แสดงอาการ แต่อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการหลายกลุ่มเกี่ยวกับการวัดปริมาณพิษในงู โดยทางเลือกหนึ่งต่อการวัดปริมาณพิษคือสมมติฐานความสมดุลของความดัน (Pressure balance hypothesis)

ทฤษฎีการควบคุมความดันอธิบายว่าการดึงกลับของปลอกเขี้ยวเป็นกลไกหลักในการสร้างการไหลของพิษออกจากระบบการส่งพิษ เมื่อแยกออกมาแล้ว การดึงกลับของปลอกเขี้ยวได้รับการแสดงในการทดลองว่าก่อให้เกิดความดันสูงมากในระบบการส่งพิษ วิธีการคล้ายกันถูกใช้ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่สำคัญ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหลักที่รับผิดชอบในการหดและบีบพิษจากต่อมพิษ และจากนั้นวัดความดันที่เกิดขึ้น พบว่าความดันที่เกิดจากการดึงกลับของปลอกเขี้ยวมีค่ามากกว่าความดันที่สร้างโดยกล้ามเนื้อการบีบพิษหลายเท่า งูไม่มีการควบคุมประสาทโดยตรงต่อปลอกเขี้ยวและปลอกเขี้ยวสามารถดึงกลับได้เฉพาะเมื่อเขี้ยวเข้าสู่เป้าหมาย โดยผิวหนังและร่างกายของเป้าหมายให้ความต้านทานมากพอในการดึงกลับของปลอกเขี้ยว ดังนั้นทฤษฎีการควบคุมความดันจึงสรุปว่าปัจจัยภายนอกซึ่งรวมถึงการกัดและกลศาสตร์ทางกายภาพเป็นสาเหตุของปริมาณพิษที่ถูกปล่อยออกมา

  • การพ่นพิษ

การพ่นพิษเป็นอีกวิธีหนึ่งในการส่งพิษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงูเห่าบางชนิดในเอเชียและแอฟริกา ในการพ่นพิษนั้นกระแสของพิษจะถูกขับออกไปด้วยความดันสูงมากถึง 3 เมตร (300 เซนติเมตร) โดยงูมักเล็งกระแสพิษไปที่ดวงตาและใบหน้าของเป้าหมายเพื่อเป็นการป้องกันตนเอง ในการวิจัยนั้นมีงูเห่าที่ไม่พ่นพิษซึ่งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกลไกที่เป็นเอกลักษณ์ของการพ่นพิษ โดยต่างจากงูพิษที่ไม่พ่นพิษซึ่งมีรูออกเป็นรูปวงรียาวงูพิษที่พ่นพิษมีรูออกเป็นวงกลมที่ปลายเขี้ยว  การที่งูพ่นพิษสามารถดึงปลอกเขี้ยวบางส่วนได้โดยการย้ายปีกคอและหดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ทำให้สามารถสร้างความดันสูงภายในระบบการส่งพิษ แม้ว่าเทคนิคการพ่นพิษจะเป็นระบบการส่งพิษที่พบได้น้อยกว่า แต่พิษที่ถูกพ่นออกมายังสามารถทำให้เกิดผลกระทบได้หากถูกกลืนเข้าไป

สังคมและวัฒนธรรม

งูเป็นสัตว์ที่ได้รับการเคารพบูชาพร้อมทั้งถูกกลัวโดยอารยธรรมโบราณ ซึ่งชาวอียิปต์โบราณได้ทำการบันทึกการรักษาบาดแผลจากงูตั้งแต่ราชวงศ์ที่สิบสามในปาปิรุสบรุกลิน ซึ่งรวมถึงงูพิษอย่างน้อยเจ็ดชนิดที่พบในภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน เช่น งูพิษเขา ในศาสนายูดาห์ เนหุชทานเป็นเสาที่มีงูทองสัมฤทธิ์ติดอยู่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ได้รับพลังจากพระเจ้า ที่สามารถนำการรักษามาสู่อิสราเอลที่ถูกงูแมวเซากัดขณะเดินทางในทะเลทรายหลังจากการอพยพออกจากอียิปต์ โดยการรักษาถูกกล่าวว่าสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การมองไปที่เนหุชทานที่มอเสสยกขึ้น

ในอดีตนั้นการถูกงูกัดถูกมองว่าเป็นวิธีการลงโทษในบางวัฒนธรรม โดยมีรายงานว่าในช่วงยุคห้าราชวงศ์และสิบอาณาจักรของจีนในสมัยของราชวงศ์ฮั่นใต้ และในประเทศอินเดียใช้การลงโทษประหารชีวิตแบบหนึ่งคือการโยนคนลงไปในหลุมงู ทำให้พวกเขาตายจากการถูกงูกัด ตามความเชื่อที่เป็นที่นิยมราชินีคลีโอพัตราที่ 7 แห่งอียิปต์ได้ฆ่าตัวตายหลังจากที่ได้ยินข่าวการตายของมาร์ค แอนโทนี โดยการให้ตัวเองถูกงูกัด—โดยสันนิจฐานว่าเป็นงูเห่าอียิปต์ ในขณะที่นักเขียนโบราณบางคนในยุคนั้นเชื่อว่ามีการใช้ยาพิษโดยตรง

การถูกงูกัดในฐานะใช้เป็นวิธีการฆาตกรรมลับได้ถูกนำเสนอในเรื่องเล่าเช่น "The Adventure of the Speckled Band" ของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแทบไม่มีเลย โดยมีเพียงไม่กี่กรณีที่ได้รับการบันทึกไว้ เช่น มีข้อเสนอแนะว่า บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอาจถูกฆ่าด้วยพิษงูแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดอย่างไรก็ตาม และมีการบันทึกกรณีการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการให้งูกัดอย่างน้อยหนึ่งกรณีในวรรณกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถูกกัดโดยงูพิษพัฟแอดเดอร์ที่มือ

การวิจัย

ในปี ค.ศ. 2018 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้จัดให้การถูกงูกัดเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกมองข้าม และในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลกได้เปิดตัวกลยุทธ์เพื่อป้องกันและควบคุมการถูกงูกัด ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการที่มุ่งเป้าไปที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบและระบบสุขภาพของของชุมชน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์นโยบายพบว่าการจัดอันดับการถูกงูกัดในวาระสุขภาพโลกของ WHO ยังเปราะบาง เนื่องจากความลังเลในการรับรองโรคในชุมชนโรคเขตร้อนที่ถูกมองข้ามและลักษณะอาณานิคมที่มองเห็นได้ของเครือข่ายที่ผลักดันวาระนี้

สัตว์อื่นๆ

สัตว์หลายชนิดมีภูมิต้านทานต่อพิษจากงูที่พบในระบบนิเวศเดียวกัน ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่าในมนุษย์บางคนก็อาจสร้างภูมิต้านทานเช่นกัน

อ่านตรวจทานโดย นพ. ธัชชัย วิจารณ์

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Snakebite [2024, October 21] โดย พงศธร แกมแก้ว