คางทูม (Mumps)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคคางทูม (Mumps หรือ มัมส์ หรือ Epidemic parotitis) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ‘มัมไวรัส (Mumps virus หรือ พารามิกโซไวรัส/Para myxovirus)’ ที่ทั่วไปเรามักเรียกว่า ‘ไวรัสคางทูม’, และก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณแก้มหน้าหู เหนือขากรรไกร ที่เรียกว่า ‘ต่อมพาโรติด (Parotid glands)’ ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งโรคอาจเกิดกับต่อมน้ำลายเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ นอกจากนั้นอาจเกิดกับต่อมน้ำลายอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร, และ/หรือต่อมน้ำลายใต้คาง ซึ่งพบได้น้อยกว่ามาก และเมื่อเกิดกับต่อมน้ำลายอื่นๆ มักต้องเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมพาโรติดด้วยเสมอ

คางทูม เป็นโรคพบบ่อย มักพบในช่วงฤดูหนาวและในต้นฤดูร้อน พบทั่วโลก พบในทุกอายุ แต่มักเกิดในเด็กปฐมวัย อายุ 2 - 5 ปี แต่ปัจจุบันพบสูงขึ้นในช่วงวัยรุ่น และพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน

โรคคางทูมมีอาการอย่างไร?

คางทูม

อาการของโรคคางทูม เกิดหลังสัมผัสโรค (ระยะฟักตัวทั่วไปประมาณ 14 - 18 วัน แต่อาจเร็วได้ถึง 7 วัน หรือนานได้ถึง 25 วัน) โดยจากไวรัสก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายพาโรติด

ทั้งนี้อาการ ได้แก่

  • เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ, ปวดเมื่อยตัว, เบื่ออาหาร
  • หลังจากนั้น 1 - 2 วัน
    • ไข้จะสูงขึ้นได้ถึง 39 องศาเซลเซียส(Celsius ย่อว่า C๐)
    • จะเจ็บบริเวณหน้าหู และขากรรไกร
    • ต่อมาต่อมน้ำลายพาโรติดด้านมีอาการจะค่อยๆโตขึ้น อาจโตมากถึงระดับลูกตา และเจ็บมาก
    • อาจมีอาการเจ็บแก้มและเจ็บหู ด้านเดียวกับต่อมน้ำลายที่เกิดโรค อย่างไรก็ตาม ประมาณ 30%ของผู้ป่วย ไม่มีอาการอื่น ยกเว้นมีเพียงต่อมพาโรติดโตเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไป อาการและต่อมน้ำลายที่โตจะค่อยๆยุบหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 7 - 10 วัน

*อนึ่ง ประมาณ 1ใน3ของผู้ติดเชื้อไวรัสคางทูม จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก เช่น ต่อมพาโรคติดโตไมมากเพียงอาการเดียว

โรคคางทูมติดต่อไหม? ติดต่ออย่างไร?

คางทูม เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาเชื้อฯในอากาศเข้าไป และ/หรือ สัมผัสน้ำลาย/ละอองน้ำลายของผู้ป่วย จัดเป็นโรคที่ ‘ติดต่อง่ายมาก’ คือจาก ละอองลมหายใจ, น้ำลาย, ละอองน้ำลาย ของผู้ป่วย, จะเข้าสู่ เยื่อตา เยื่อจมูก และช่องปากของผู้ที่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยคางทูมทั้งจากผู้ป่วยที่มีอาการและจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อฯนี้แต่ไม่มีอาการ

นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อได้จากเชื้อที่ติดค้างอยู่ตาม ราวบันได ของเล่น ของใช้ต่างๆ แก้วน้ำ ช้อน ฯลฯ เมื่อมือเราสัมผัส แล้วมาสัมผัสกับ ตา จมูก ช่องปากของเรา

โดยช่วงระยะเวลาในการกระจายเชื้อ คือ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 5-10 วัน หลังจากมีการบวมของต่อมน้ำลาย

โรคคางทูมรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค โดยทั่วไป คางทูมเป็นโรคไม่รุนแรง มักหายได้เองภายใน 7 - 10 วันนับจากมีอาการ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย แต่เมื่อเกิดในวัยรุ่นหรือในผู้ใหญ่ ความรุนแรงโรคมักสูงกว่าในเด็กปฐมวัยมาก จากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน(กล่าวในหัวข้อถัดไป)สูงขึ้น

อนึ่ง:

  • เมื่อเกิดเป็นคางทูมแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต ไม่กลับมามีการติดเชื้ออีก แต่บางรายเป็นส่วนน้อยอาจติดเชื้อได้อีก แต่อาการจากการเป็นซ้ำมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียง
  • วัคซีนคางทูม เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาก ในประเทศที่เจริญแล้ว รวมถึงประเทศไทยที่ให้บริการฉีดวัคซีนนี้โดยครอบคลุมอยู่ในสิทธิสุขภาพทุกระบบ และเด็กทุกคนที่คลอดจากสถานพยาบาล แพทย์ไทยจะมีการนัดหมายเพื่อการให้วัคซีนนี้เป็นประจำเริ่มที่อายุประมาณ 9-12เดือน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม, เข็มที่ 2 ที่อายุ 4-6ปี โดยเป็นการฉีดในรูปแบบวัคซีนรวม เข็มเดียวคุมได้ 3 โรคคือ หัด(Measles), คางทูม(Mumps), และ หัดเยอรมัน(Rubella), ทั่วไปเรียกว่า ‘วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR vaccine), แนะนำอ่านรายละเอียดวัคซีนนี้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์’

ผลข้างเคียงจากโรคคางทูมมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน/ภาวะแทรกซ้อน) จากโรคคางทูม พบได้สูงขึ้นเมื่อเกิดโรคในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนคางทูม(กรณีเคยได้รับวัคซีน คางทูมแล้ว พบเกิดคางทูมซ้ำได้น้อยมาก แต่อาการมักน้อยกว่าเกิดโรคครั้งแรก), หรือในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ: แต่อาการมักไม่รุนแรงพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย
  • โรคสมองอักเสบ: พบน้อย แต่ถ้ารุนแรงอาจทำให้เสียชีวิต พบประมาณ 1% และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง
  • ในผู้ชาย: อาจพบการอักเสบของอัณฑะ/ อัณฑะอักเสบ โดยโอกาสเกิดสูงขึ้นถ้า คางทูมเกิดในวัยรุ่นหรือวัยผู้ ใหญ่พบได้ 20 - 30% ของผู้ป่วย
    • อาการอัณฑะอักเสบมักเกิดประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำลายอักเสบ โดยอัณฑะจะบวม เจ็บ และอาจกลับมามีไข้ได้อีก อาการต่างๆจะเป็นอยู่ประมาณ 3 - 4 วัน (อาจนานได้ถึง 2 - 3 สัปดาห์) อัณฑะจะยุบบวม และขนาดอัณฑะจะเล็กลง
    • ทั่วไปการอักเสบมักเกิดกับอัณฑะข้างเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่พบเกิด 2 ข้างได้ 10 - 30%
    • หลังเกิดอัณฑะอักเสบ ประมาณ 13%ของผู้มีอัณฑะอักเสบข้างเดียว และ 30 - 87% ของผู้มีอัณฑะอักเสบ 2 ข้าง จะมีบุตรยาก (Impaired fertility) บางคนอาจเป็นหมันได้ สาเหตุมีบุตรยากเกิดจากการฟ่อลีบของอัณฑะข้างที่อักเสบ จึงส่งผลให้การสร้างจำนวนอสุจิลดลง และ/หรือการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิผิดปกติ
  • ในผู้หญิง:
    • อาจมีการอักเสบของรังไข่/รังไข่อักเสบ ได้ประมาณ 5% แต่มักไม่มีผลให้มีบุตรยาก หรือ เป็นหมัน
    • ถ้าโรคเกิดในหญิงตั้งครรภ์ มีรายงานพบเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งบุตรได้

นอกจากนั้น ผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้บ้าง แต่พบน้อย คือ

  • ข้ออักเสบ
  • ตับอ่อนอักเสบ และ
  • หูอักเสบ (หูติดเชื้อ, หูน้ำหนวก) บางคนอาจรุนแรงจนอาจเกิดหูหนวกถาวร

แพทย์วินิจฉัยโรคคางทูมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคคางทูมได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ขณะนั้นมีการระบาดของโรคนี้ หรือมีคนใกล้ชิด /โรงเรียน ฯลฯ เป็นโรคนี้หรือไม่ และประวัติการได้รับวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ การตรวจดูช่องปาก ช่องคอ และการตรวจคลำต่อมน้ำลาย และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ
    • ตรวจหาไวรัสคางทูมจากน้ำลาย, จากสารคัดหลั่งในช่องปาก, จากน้ำปัสสาวะ, และ/หรือ จากน้ำไขสันหลัง (การเจาะหลัง),
    • และ/หรือ ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้านทาน (Antibody/แอนติ บอดี) ของคางทูมไวรัส

มีวิธีดูแลรักษาโรคคางทูมอย่างไร? และควรพบแพทย์เมื่อไร?

ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะในโรคคางทูม ไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย) การรักษาเพียงประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ ที่สำคัญคือ

  • ให้ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol), *ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากยาแอสไพรินได้ (การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย)
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเจือจางบ่อยๆ
  • รับประทานอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.cm เรื่อง ‘ประเภทอาหารทางการแพทย์’)
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
    • ไข้สูง ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และไข้ไม่ลงภายใน 1-2 วันหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น
    • แต่เมื่อเป็นคนมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ มีโรคประจำตัว, ผู้สูงอายุ, ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, หญิงตั้งครรภ์, หรือในเด็กเล็ก, ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
  • ปวดต่อมน้ำลายมาก และอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาแก้ปวด
  • กินอาหาร และ/หรือดื่มน้ำได้น้อย
  • เมื่อกังวลในอาการ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน/ทันที เพราะอาจเป็นอาการจากผลข้างเคียง/ ผลแทรกซ้อนที่อันตรายของโรคคางทูม ได้แก่
    • ไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะมาก
    • คอแข็ง
    • ปวดท้องมาก

มีวิธีป้องกันโรคคางทูมไหม?

วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งปัจจุบัน เด็กไทยในโรงเรียนต่างๆได้รับการฉีดวัคซีนนี้อยู่แล้วในรูปแบบวัคซีนรวม เอ็มเอ็มอาร์ โดยฉีด (เข้ากล้ามเนื้อ) 2 เข็ม เข็มแรกที่อายุประมาณ 9 - 12 เดือน เข็มที่ 2 ที่อายุประมาณ 4 - 6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะคงอยู่ตลอดชีวิต

นอกจากวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ การป้องกันโรคคางทูมด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่

  • แยกผู้ป่วยประมาณ 9 - 10 วันหลังเริ่มมีต่อมน้ำลายโต เพราะเป็นระยะแพร่เชื้อสำคัญ
  • ควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงาน ช่วงระยะแพร่เชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยง การคลุกคลี การเล่น การสัมผัส กับคนเป็นโรคนี้
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสคางทูม
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ที่รวมถึง ไม่ใช้แก้วน้ำ และช้อน ร่วมกัน

บรรณานุกรม

  1. http://nvi.go.th/index.php/vaccine-knowledge/epi-program[2019,Aug31]
  2. https://reference.medscape.com/article/966678-overview#showall[2019,Aug31]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Mumps[2019,Aug31]
  4. https://www.cdc.gov/mumps/index.html[2019,Aug31]
  5. https://www.cdc.gov/mumps/vaccination.html[2019,Aug31]