อัณฑะอักเสบ (Orchitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อัณฑะ(Testis)เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธ์เฉพาะเพศชาย มี 2 ข้าง ซ้ายและขวา โดยมีหน้าที่สร้างอสุจิเพื่อการสืบพันธ์และสร้างฮอร์โมนเพศชาย/Androgen(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธ์ชาย) ซึ่งอัณฑะสามารถเกิดการอักเสบได้เช่นเดียวกับทุกอวัยวะในร่างกาย เรียกว่า “อัณฑะอักเสบ(Orchitis)” โดยรากศัพท์ของอัณฑะ มาจากคำว่า Orchis จากภาษากรีก แปลว่า อัณฑะ/Testis)

อัณฑะอักเสบ อาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว หรือ 2 ข้างพร้อมกันก็ได้ โดยทั่วไปมักพบอัณฑะอักเสบเกิดร่วมกับการอักเสบของท่อ/ถุงเก็บอสุจิ/เอพิดิไดมิส (Epididymisที่เมื่อมีการอักเสบจะเรียกว่า Epididymitis) ซึ่งเมื่ออัณฑะอักเสบเกิดร่วมกับถุงเก็บอสุจิอักเสบ จะเรียกว่า “Epididymo-orchitis”

อัณฑะอักเสบพบเกิดได้ในผู้ชายทุกวัย โดยถ้าอัณฑะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักพบเกิดในช่วงวัยใกล้ๆวัยรุนหรือในวัยรุ่น ประมาณอายุ 13-15 ปี ถ้าเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักพบในวัยอายุ 19-35ปี และถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากมีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ มักพบในวัยตั้งแต่ อายุ 50 ปีขึ้นไป

อนึ่ง ถ้าอัณฑะอักเสบมีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์เรียกว่า “อัณฑะอักเสบเฉียบพลัน” ถ้ามีอาการอยู่ในช่วงมากกว่า 6 สัปดาห์ถึง 3เดือน เรียกว่า “อัณฑะอักเสบกึ่งเฉียบพลัน” และเรียกอัณฑะอักเสบที่มีอาการเรื้อรังนานมากกว่า 3เดือนขึ้นไปว่า “อัณฑะอักเสบเรื้อรัง”

อัณฑะอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

อัณฑะอักเสบ

สาเหตุของอัณฑะอักเสบ ได้แก่

ก. อัณฑะติดเชื้อไวรัส: มักพบในชายวัยรุ่น โดยไวรัสที่เป็นสาเหตุเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยคือไวรัสคางทูม(Mump virus) ซึ่งพบว่า ในชายวัยรุ่นที่เป็นโรคคางทูม ประมาณ 20-30% อัณฑะจะติดเชื้อไวรัสคางทูมร่วมด้วย โดยมักแสดงอาการของอัณฑะอักเสบประมาณวันที่ 4-6 หลังอาการของคางทูม ส่วนสาเหตุจากไวรัสชนิดอื่นพบได้น้อยมาก เช่นไวรัส Coxsackievirus A, Varicella

ข. อัณฑะติดเชื้อจากแบคทีเรียจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: สาเหตุนี้มักเกิดร่วมกับถุงเก็บอสุจิอักเสบ มักพบในผู้ชายวัยหนุ่ม อายุ 19-35 ปี ที่พบบ่อย เช่น จากติดเชื้อ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม ที่พบได้น้อยกว่า เช่นจาก ซิฟิลิส

ค. อัณฑะติดเชื้อจากแบคทีเรียจากโรคอื่นๆ: ที่พบบ่อย คือ จากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น เชื้อ E.Coli(Escherichia coli), Pseudomonas, Klebsiella, Staphylococcus, และที่มีรายงานพบได้บ้างประปราย เช่น เชื้อวัณโรค

ง. อัณฑะติดเชื้อรา: เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยมักพบได้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (เช่น โรคเอดส์) จากเชื้อรา Candida, Actinomyces

จ. อัณฑะอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ: เช่น ในโรคหลอดเลือดอักเสบที่เรียกว่า โรค Behcet’s disease, จากอาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น ยา Amiodarone

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะอักเสบได้แก่

  • ผู้ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคางทูม/วัคซีนคางทูมที่ปัจจุบันจะอยู่ในรูปวัคซีนรวม คือ วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน
  • มีเพศสัมพันธ์ส่ำส่อน
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้เพิ่งติดเชื้อหรือกำลังติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีประวัติเคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ใส่คาสายสวนปัสสาวะ เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต
  • ผู้เคยมีประวัติผ่าตัดรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศชาย เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมาก
  • มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • มีความพิการแต่กำเนิดของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ

อัณฑะอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของอัณฑะอักเสบ ได้แก่

  • ปวด/เจ็บ และปวดหน่วง อัณฑะ/ถุงอัณฑะ อาจปวดน้อยหรือปวดมากก็ได้ โดยปวดในด้านที่มีอัณฑะอักเสบ
  • อัณฑะ/ถุงอัณฑะ บวม โดยบวมในด้านที่มีอัณฑะอักเสบ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปวด/เจ็บ เมื่อปัสสาวะ และ/หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และ/หรือเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ
  • มีหนอง หรือสารคัดหลั่งจากปากท่อปัสสาวะ
  • น้ำอสุจิเป็นเลือด
  • ปวด/เจ็บบริเวณขาหนีบ โดยปวดในด้านที่มีอัณฑะอักเสบ
  • อาการทั่วไปที่เช่นเดียวกับการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาจอาเจียน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองภายใน 1-2 วัน ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ แต่เมื่อมีอาการมากโดยเฉพาะอาการปวดอัณฑะ/ถุงอัณฑะมากและอาการเกิดเฉียบพลัน ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอาการของอัณฑะบิดตัว/อัณฑะบิดขั้ว(Testicular torsion)ที่ต้องได้รับการรักษารีบด่วนด้วยการผ่าตัด

แพทย์วินิจฉัยอัณฑะอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอัณฑะอักเสบได้จาก ประวัติอาการ การเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ” ปัจจัยเสี่ยงฯ” ประวัติการสัมผัสโรค เช่น ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำอัณฑะ/ถุงอัณฑะและอวัยวะเพศ การตรวจทางทวารหนักกรณีสงสัยสาเหตุจากโรคของต่อมลูกหมาก การตรวจเลือด ดู CBC ดูสารภูมิต้านทาน และ/หรือสารก่อภูมิต้านทานของโรคที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุ(เช่น ซิฟิลิส ) การตรวจปัสสาวะ การตรวจเชื้อ/การเพาะเชื้อจากปัสสาวะและจากสารคัดหลั่ง และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพอัณฑะด้วยอัลตราซาวด์

รักษาอัณฑะอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาอัณฑะอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: จะเป็นการรักษาที่ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่สาเหตุที่ต่างกัน เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะกรณีอัณฑะอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือจากต่อมลูกหมากอัเสบติดเชื้อ
  • การรักษาอัณฑะอักเสบจากไวรัสคางทูมคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย ไม่ฆ่าไวรัส
  • การหยุดยานั้นๆเมื่อการอักเสบเกิดจากผลข้างเคียงของยานั้นๆ
  • กรณีอัณฑะอักเสบมากจนเกิดเป็นหนอง การรักษาอาจต้องเป็นการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก
  • การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะกรณีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิด

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ซึ่งเป็นการรักษาเหมือนๆกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น การให้ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ Paracetamol หรือยาในกลุ่ม NSAIDs, ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

อัณฑะอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของอัณฑอักเสบ จะขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป อัณฑะอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์สามารถรักษาให้หายได้ แต่อัณฑะอักเสบสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีก เมื่อสัมผัส/ได้รับสาเหตุซ้ำอีก

มีผลข้างเคียงจากอัณฑะอักเสบอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากอัณฑะอักเสบ คือ ภาวะมีบุตรยาก จากเกิดการฝ่อของอัณฑะด้านที่เกิดการอักเสบ มีรายงานจากประเทศอังกฤษ พบผู้ป่วยที่มีอัณฑะอักเสบจากไวรัสคางทูมมีภาวะมีบุตรยากได้ประมาณ 13%ของผู้มีอัณฑะอักเสบจากไวรัสคางทูมทั้งหมด และรายงานนี้ยังพบว่า 24-38%ของผู้ป่วยอัณฑะอักเสบที่ได้รับการตรวจอสุจิ จะมีความผิดปกติในปริมาณและในลักษณะของตัวอสุจิได้นานถึง 3 ปีหลังการเกิดอัณฑะอักเสบ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นหมัน

อนึ่ง โดยทั่วไป ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า อัณฑะอักเสบเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะ แต่มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน พบมะเร็งอัณฑะในผู้ป่วยที่มีอัณฑะอักเสบได้ประมาณ 0.5%

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอัณฑะอักเสบหลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ร่างกายจะได้ฟื้นตัวจากอัณฑะอักเสบได้รวดเร็ว
  • พักผ่อนให้มาก ให้เพียงพอ
  • งดเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี
  • ประคบเย็นเป็นระยะๆที่อัณฑะ/ ถุงอัณฑะเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดอัณฑะ
  • สวมใส่ชุดช่วยพยุงอัณฑะ(เหมือนในโรคไส้เลื่อน)เพื่อช่วยประคองอัณฑะ ลดอาการปวด/เจ็บ/ปวดหน่วงอัณฑะ
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ หรือซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปวด/เจ็บอัณฑะมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่รักษาหายแล้ว เช่น มีไข้ มีสารคัดหลั่งจากปากท่อปัสสาวะ ปัสาวะป็นเลือด
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำได้ก้อนเนื้อในถุงอัณฑะหรือที่อัณฑะ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันอัณฑะอักเสบได้อย่างไร?

สามารถป้องกันอัณฑะอักเสบได้โดย

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูมตั้งแต่เด็กตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพกาย สุขภาพจิต แข็งแรง
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มมีแอลกอฮฮล์ เพราะจะครองสติไม่อยู่ จนอาจก่อให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย/มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
  • ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ หรือซื้อยาต่างๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
  • เมื่อมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะต้องรีบรักษา/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • รู้จักดูแลตนเองเมื่อต้องใส่คาสายสวนปัสสาวะ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การดูแลผู้ใส่คาสายสวนปัสสาวะเมื่ออยู่บ้าน”

บรรณานุกรม

  1. Davis,NF. Et al. BJU Int. 2010; 105(8):1060-1065 [2017,April15]
  2. Trojian, T. et al. Am Fam Physician. 2009;79(7):583-587[2017,April15]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/777456-overview#showall[2017,April15]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Orchitis[2017,April15]
  5. https://medlineplus.gov/ency/article/001280.html[2017,April15]