ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร?

ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy หรือ Hydatidiform Mole) เป็นคำที่ใช้เรียกการตั้ง ครรภ์ที่รก มีลักษณะจากที่มองเห็น เป็นถุงน้ำใสๆจำนวนมากมาย อยู่ติดกันเป็นพวงคล้ายกับไข่ปลา (โดยเฉพาะไข่ของปลาอุก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดถึงน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง) หรือพวงองุ่น หรือลักษณะคล้ายเม็ดสาคูจำนวนมากมาย แต่แท้จริงเป็นเนื้องอกของเนื้อรกชนิดหนึ่งที่แบ่งตัวมากผิดปกติ เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิที่มีโครโมโซมผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวอ่อนของมนุษย์ได้ แต่จะเจริญผิดปกติเป็นถุงน้ำเล็กๆจำนวนมากมาย

 

ครรภ์ไข่ปลาอุกพบได้เรื่อยๆ แต่ไม่สูงมาก สถิติการเกิดแตกต่างกันในแต่ละประเทศ มีรายงานพบได้ตั้งแต่ 1 ใน 100 ไปจนถึง 1 ใน 5,000 การตั้งครรภ์ทั้งหมด

 

ครรภ์ไข่ปลาอุกแตกต่างจากครรภ์ปกติอย่างไร?

ครรภ์ไข่ปลาอุก

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกต่างจากครรภ์ปกติ คือ เป็นการตั้งครรภ์ไม่ปกติ โดยแบ่งเป็น

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete molar pregnancy) จะมีเฉพาะเนื้องอกของเนื้อรกทั้งหมด ไม่มีตัวทารก
  • ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารกด้วย (Incomplete molar pregnancy or partial mole) มีเนื้องอกของเนื้อรกร่วมกับมีตัวทารกด้วย แต่เป็นทารกที่ผิดปกติที่ไม่สามารถมีชีวิตเจริญ เติบโตได้
  • ครรภ์ไข่ปลาอุกที่เนื้องอกรกลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก (Invasive mole)
  • มะเร็งไข่ปลาอุก/มะเร็งรก/หรือมะเร็งเนื้อรก (Choriocarcinoma) คือเป็นครรภ์ที่เนื้องอก รก เป็นเนื้องอกชนิดเป็นมะเร็ง

 

สาเหตุของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร?

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก ยังไม่ทราบว่า เหตุใดหรือมีสิ่งใดที่ทำให้ไข่ของสตรีไม่มีโครโมโซมเพศ (โครโมโซม X) เมื่อถูกผสมจากเชื้ออสุจิ โครโมโซมของตัวอ่อนจะเป็นโครโมโซมของพ่อทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวอ่อนของมนุษย์ปกติได้

 

ปัจจัยเสี่ยงการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก ได้แก่

  • สตรีตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก (>35 ปี)
  • การตั้งครรภ์แรก
  • สูบบุหรี่
  • บางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เช่น พวกแอฟริกัน

 

ครรภ์ไข่ปลาอุกมีผลหรือทำให้เกิดอันตรายอย่างไร?

ครรภ์ไข่ปลาอุก จะเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดต่อเนื่อง

  • หากเลือดออกครั้งเดียวจำนวนมาก จะทำให้ ช็อก หมดสติได้
  • แต่หากเลือดออกทีละน้อยและไมได้ไปพบแพทย์ สามารถทำให้เกิดโลหิตจางได้
  • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกสามารถลุกลามแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก (Invasive mole) ทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกได้อย่างต่อเนื่อง การรักษาจึงจำเป็นต้องตัดมดลูก
  • นอกจากนั้น เนื้องอกครรภ์ไข่ปลาอุกยังสามารถกลายไปเป็นมะเร็งได้ (Choriocarcinoma) แต่เกิดขึ้นไม่มาก

 

ครรภ์ไข่ปลาอุกมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ได้แก่

  • ขาดประจำเดือนเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป
  • แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน มากกว่าคนตั้งครรภ์ทั่วไป (Hyperemesis gravidarum)
  • อาการครรภ์เป็นพิษ คือ มีความดันโลหิตสูงในขณะอายุครรภ์น้อยๆก่อน 20 สัปดาห์ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Beta hCG/ Human chorionic gona dotropin hormone) สูงเกินไป (โดยทั่วไปหากเป็นการตั้งครรภ์ปกติ อาการครรภ์เป็นพิษ จะเกิดเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว)
  • ขนาดของท้องมักจะโตกว่าอายุครรภ์ คล้ายครรภ์แฝด
  • อาการไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมน Beta hCG จึงไปกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากเกินไป
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด ลักษณะคล้ายการแท้งบุตร
  • บางครั้งจะพบคล้ายมีเม็ดสาคูหลุดออกมาจากช่องคลอด

 

อนึ่ง:

  • เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรพบสูตินรีแพทย์ที่ได้ฝากครรภ์ไว้ ก่อนนัดเสมอ
  • และในส่วนของอาการครรภ์เป็นพิษ และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

 

แพทย์วินิจฉัยการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก ได้จาก

ก. ประวัติอาการ: ส่วนมากผู้ป่วยจะมีประวัติการขาดประจำเดือนเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป บางครั้งจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากๆกว่าคนตั้งครรภ์ปกติ เนื่องจากมีฮอร์โมน Beta hCG มากเกินไป ต่อมามักมีเลือดออกเหมือนจะแท้งบุตร มักได้ประวัติรู้สึกท้องโตเร็วกว่าปกติ หรือท้องโตแล้วแต่ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น

 

ข. การตรวจร่างกาย: บางครั้งตรวจพบความดันโลหิตสูงได้ จากการที่มีฮอร์โมน Beta hCG ที่สูงๆ บางครั้งตรวจพบคล้ายอาการไทรอยด์เป็นพิษ มีใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก เนื่องจากมีฮอร์โมนที่คล้ายฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ตรวจพบขนาดของครรภ์ใหญ่กว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น และไม่สามารถฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้ในเวลาที่เหมาะสม

 

ค. การตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์: ถือว่ามีความสำคัญมากที่ช่วยวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้มีเลือด ออกทางช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์ โดยครรภ์ไข่ปลาอุกจะมีลักษณะพิเศษทางอัลตราซาวด์ ซึ่งทำให้วินิจฉัยได้ง่าย คือจะพบถุงน้ำจำนวนมากในโพรงมดลูกและไม่พบทารก และสามารถพบถุงน้ำรังไข่ร่วมด้วยทั้ง 2 ข้างของรังไข่

 

ง. การตรวจเลือด: เพื่อหาระดับฮอร์โมน Beta hCG ที่เป็นฮอร์โมนที่จำเพาะสำหรับช่วยวิ นิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก ฮอร์โมนนี้สร้างจากเนื้อรก ซึ่งจะทำให้มีระดับในเลือดสูงมากเมื่อเปรียบ เทียบการตั้งครรภ์ปกติ นอกจากนั้น แพทย์ยังใช้ระดับ Beta hCG ในการประเมินความรุนแรงของโรค และใช้ติดตามผลการรักษาด้วย

 

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกรักษาอย่างไร?

หลักการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก ประกอบด้วย

  • การประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนยุติการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย การตรวจเลือดเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค, การเอกซเรย์ปอดดูการแพร่กระจายของโรคนี้สู่ปอด (เพื่อช่วยการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งหรือไม่ และเพื่อประเมินระยะโรค), หากพบว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • การยุติการตั้งครรภ์

    เนื่องจากการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกไม่ใช่การตั้งครรภ์ปกติ จึงต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีการรักษาเพื่อยุติการตั้งครรภ์มี 3 วิธี คือ

    • ดูดเนื้อเยื่อในโพรงมดลูกโดยใช้เครื่องดูดไฟฟ้า (Suction curettage) เป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้เป็นส่วนมาก เพราะทำได้เร็ว และเสียเลือดน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือปกติ
    • ผ่าตัดมดลูก จะพิจารณาทำในสตรีที่มีอายุมาก มีระดับฮอร์โมน Beta hCG ในเลือดสูง เนื่องจากจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งของเนื้อรกสูง, มีมดลูกทะลุ, และมีเลือดออกจากโพรงมดลูกมาก
    • รักษาด้วยวิธีการ ข้อ 1 หรือ 2 ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเนื้อรก (Prophylaxis chemotherapy) การให้ยาเคมีบำบัดนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย แพทย์จะพิจารณาให้ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นมีความเสี่ยงสูงมีที่จะมีโอกาสกลายไปเป็นมะเร็งเท่านั้น เช่น อายุมาก ระดับฮอร์โมน Beta hCG ในเลือดสูงมาก โดยยาที่ใช้ คือ
      • Actinomycin D ให้ยานานประมาณ 5 วัน หรือ
      • Methotrexate ให้ยานานประมาณ 1สัปดาห์

 

อนึ่ง หลังการรักษา ต้องมีการติดตามการรักษา เพราะการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นการตั้ง ครรภ์ผิดปกติ และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจติดตามหลังการรักษา ผู้ ป่วยต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำดังนี้

  • ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน Beta hCG ทุกสัปดาห์ จนกว่าจะได้ผลลบติดต่อกัน 3 ครั้ง หลังจากนั้นจะตรวจเดือนละ 1 ครั้งจนครบ 1 ปี
  • ควรคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงภายใน 1 ปีแรกหลังการรักษา ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีฉีดยาคุมกำเนิด (ยาฉีดคุมกำ เนิด) หรือ ใส่ห่วงคุมกำเนิด เนื่องจากทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด จึงทำให้สับสนว่าอาจเกิดจากการเป็นโรคซ้ำขึ้นมาอีก

 

ครรภ์ไข่ปลาอุกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในครรภ์ไข่ปลาอุก โดยทั่วไปได้รับผลดีในการรักษา ซึ่งธรรมชาติของโรค

  • ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว โอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งเนื้อรกประมาณ 25 %
  • กรณีที่เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีตัวทารก โอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งเนื้อรก ประมาณ 3-6 %
  • ส่วนกรณีที่โรคลุกลามเข้ากล้ามเนื้อมดลูก ยังไม่มีรายงานสถิติที่แน่ชัดในการจะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง แต่โรคกลุ่มนี้มีโอกาสแพร่กระจายคล้ายในมะเร็งรกได้ (แต่พบได้น้อยกว่าในมะเร็งรกมาก) ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด

 

*นอกจากนั้น เมื่อเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำอีกได้ประมาณ 1-2% ดังนั้นเมื่อทราบหรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อจะได้มีการตรวจยืนยันว่า ตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ ด้วยการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

 

ดูแลตนเองเมื่อมีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีครรภ์ไข่ปลาอุก คือ

  • ต้องดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ เนื่องจากไม่สามารถตั้งครรภ์ (ครั้งนี้) ต่อไปได้
  • แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อดูดเนื้อเยื่อรกที่ผิดปกติออก
  • ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นมะเร็งเนื้อรก แพทย์จะแนะนำผ่าตัดมดลูกออก

 

เมื่อมีบุตรเพียงพอแล้ว แพทย์แนะนำอย่างไร?

หากมีบุตรเพียงพอแล้ว

  • และระดับฮอร์โมน Beta-hCG ในเลือดไม่สูงมาก ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายไปเป็นมะเร็งเนื้อรก ก็ควร
    • ทำหมันด้วยวิธีตามปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor .com บทความเรื่อง การทำหมันหญิง)
    • และต้องไปตรวจติดตามหลังการรักษากับแพทย์ตามที่กล่าวมาแล้ว
  • แต่หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเนื้อรกสูง แพทย์จะแนะนำผ่าตัดมดลูก
    • อย่างไรก็ตามแม้จะตัดมดลูกแล้ว ก็ต้องมีการตรวจติดตามจากแพทย์เหมือนเดิม เพราะการตัดมดลูกสามารถช่วยลดโอกาสที่โรคจะลุกลามเข้าไปในมดลูก แต่ไม่สามารถป้องกันการเป็นมะเร็งได้

เมื่อต้องการมีบุตรอีก แพทย์แนะนำอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคนี้ ในกรณีที่ต้องการมีบุตรอีก

  • ควรวางแผนเริ่มมีบุตรหลังจากยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกไปประมาณ 1 ปี (ซึ่งตามปกติในช่วง 1 ปีหลังการรักษา แพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดอยู่แล้ว)
  • เมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่ต้องรีบไปฝากครรภ์ และบอกแพทย์ผู้ดูแลว่าเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก แพทย์จะทำการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) โดยเร็ว เพื่อดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ เพราะโรคนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้ ประมาณ 1-2%

 

ทารกที่เกิดจากมารดาเคยมีครรภ์ไข่ปลาอุกจะปกติหรือไม่?

ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหลังจากตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกแล้ว ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ ทารกก็จะเป็นปกติเหมือนทารกทั่วไป

 

มีวิธีป้องกันตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่?

วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ

  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
  • และงดสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่

 

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/254657-overview#showall [2019,Oct26]
  2. https://www.uptodate.com/contents/hydatidiform-mole-epidemiology-clinical-features-and-diagnosis [2019,Oct26]
  3. https://www.uptodate.com/contents/hydatidiform-mole-treatment-and-follow-up [2019,Oct26]