การดูแลตนเองเมื่อปวดเข่า (Self care for knee pain)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: ปวดเข่าคือโรคอะไร?

การปวดข้อเข่าหรือการปวดเข่า (Knee pain) คือ อาการที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่มักจะเป็นในผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และรอง รับน้ำหนักตัวไว้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะเดินขึ้นลงบันไดจะมีแรงกระทำที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าได้ถึง 4 เท่าของน้ำหนักตัว นอกจากนี้ การที่ข้อเข่ารับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลาจากท่ายืนหรือท่านั่งที่งอเข่าเป็นเวลานานๆ การนั่งยองๆและการนั่งขัดสมาธิจะเพิ่มแรงกดที่ผิวข้อเข่าจนทำให้ข้อเข่าเสื่อมในที่สุด ร่วมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมของข้อเข่าที่เป็นไปตามวัยที่สูงขึ้น

สิ่งที่บ่งชี้ว่าบุคคลเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมแล้วคือ อาการปวดข้อเข่า ในระยะเริ่มแรกมักมีอาการปวดข้อเข่าเป็นๆหายๆ เมื่อได้พักข้อเข่าแล้วอาการปวดจะทุเลาลง แต่เมื่อมีข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น อาการปวดข้อเข่าจะทวีความปวดเพิ่มขึ้น จนเป็นอาการสำคัญที่นำไปพบแพทย์เพื่อการรักษาอาการปวดข้อเข่า และมักเป็นการปวดชนิดเรื้อรังต้องใช้เวลาในการรักษา จนส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลในการทำกิจวัตรประจำวัน การดำเนินชีวิต และความผาสุกในชีวิต หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาคือ ขาโก่ง ข้อเข่าติดแข็งจนเดินไม่ได้ อาจนำไปสู่การรักษาที่มากขึ้นด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในที่สุด

ดังนั้น การดูแลตนเองเมื่อปวดข้อเข่าจึงจำเป็นในการจัดการความปวดให้บรรเทาความปวด ให้มีความสุขสบายขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำเพื่อขจัดสาเหตุและการดูแลตน เองเพื่อป้องกันการปวดข้อเข่ามากขึ้น

การดูแลตนเองเมื่อปวดข้อเข่าทำได้อย่างไร?

 

การดูแลตนเองเมื่อปวดข้อเข่าเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง ก่อนอื่นที่จะจัดการดูแลตนเองเมื่อมีการปวดข้อเข่าได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าเสียก่อน โดยปัจจัยหลักที่พบบ่อยของการปวดข้อเข่าคือ การนั่งที่ไม่ถูกวิธีเช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน และทำอยู่บ่อยๆจนเป็นนิสัย การขึ้นลงบันไดวันละหลาย ๆครั้ง รวมทั้งการยืนเป็นเวลานาน

ดังนั้น จึงขอเสนอแนะวิธีการจัดการความปวดข้อเข่าด้วยตนเองที่มีวิธีการที่ไม่ใช้ยาและการใช้ยาเพื่อลดความปวดข้อเข่าดังนี้

ก. การไม่ใช้ยา: เช่น

  • การพักข้อเข่า: ในขณะที่มีอาการปวดข้อเข่านั้น เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ทำให้ข้อเข่าที่มีการอักเสบและปวดนั้นได้พักจากการทำกิจกรรมต่างๆโดยการนอนพัก ใช้หมอนนุ่มๆรองใต้เข่าข้างที่ปวดให้ข้อเข่างอเล็กน้อยจะช่วยลดการเกร็งจึงลดข้ออักเสบ ทำให้ลดปวดลงได้ “ไม่ควรบีบนวดข้อเข่าขณะปวด” เพราะการบีบนวดจะทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบข้อฯและมีอาการปวดมากขึ้น แต่เมื่ออาการปวดลดลงควรออกกำลังเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อรอบข้อฯแข็งแรงและยังป้องกันกล้ามเนื้อฯลีบอีกด้วย
  • การใช้อุปกรณ์เพื่อให้ข้ออยู่นิ่ง: เป็นการดามข้อหรือใช้เครื่องพยุงข้อไว้ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องในช่วงที่มีข้อเข่าอักเสบมาก เมื่อหายปวดแล้วจึงเอาเครื่องพยุงข้อออกและเคลื่อน ไหวข้อได้เช่น การใส่ปลอกเข่าเป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเข่าให้ได้อยู่นิ่งและลดอาการปวดข้อเข่าได้ หรือประยุกต์ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อเข่าให้กระชับไม่แน่นเกินไปจะช่วยให้อาการปวดข้อเข่าทุเลาลง
  • การประคบร้อน/การประคบข้อเข่าด้วยความร้อน: ความร้อนจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว สามารถนำสารอาหารมาเลี้ยงบริเวณข้อเข่าและเกิดการเผาผลาญอาหารมากขึ้นจึงส่งผลให้อาการปวดลดลงและลดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า ควรใช้ความร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส (Celsius) ความร้อนที่ใช้ได้ผลดีควรเป็นความร้อนชนิดเปียกเช่น ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือผ้าไอน้ำความร้อนมาประคบบริเวณข้อเข่าข้างที่ปวด เปลี่ยนตำแหน่งประคบบ่อยๆเพื่อลดอันตรายจากการพองไหม้บริเวณข้อเข่าที่ถูกประคบ และใช้เวลาประ คบที่เหมาะสมแต่ละครั้งไม่เกิน 15 – 20 นาที
  • การบริหารข้อเข่า: เป้าหมายสำคัญของการบริหารข้อเข่าคือ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง ป้องกันข้อติดแข็ง และลดแรงกระทำต่อข้อเข่า การออกกำลังข้อเข่าที่ดีควรทำเมื่อไม่มีอาการปวดข้อเข่า เพราะหากบริหารข้อเข่าขณะที่มีอาการปวดจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ดังนั้นการบริหารข้อเข่าสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ เช่น
    • ท่านั่ง: ให้นั่งชิดเก้าอี้ เหยียดเข่าตรง แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 - 10 หรือเท่าที่ทำได้ในระยะแรกๆเมื่อเริ่มทำ แล้วเอาขาลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำสลับข้าง ข้างละอย่างน้อย 10 ครั้งต่อชุด ควรทำวันละ 2 - 3 ชุด
    • ท่านอน: ให้ผู้สูงอายุนอนหงาย ชันเข่าข้างหนึ่ง แล้วเหยียดเข่าตรงด้านตรงข้ามแล้วเกร็งเข่าด้านเหยียดตรง นับ 1 - 10 แล้วเอาขาลง ทำสลับข้างซ้ายและขวา ข้างละ 10 ครั้งต่อชุด ควรทำวันละ 2 - 3 ชุด
      *นอกจากนี้ การออกกำลังกายด้วยการขยับข้อเข่า เช่น การเดินเร็ว การรำไทเก๊ก จะ   ช่วยให้มีความสมดุลระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายกับการใช้แรงที่มีผลกระทบต่อข้อเข่าน้อย แต่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของข้อเข่า ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมจึงควรออกกำลังชนิดนี้ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายชนิดนี้ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม จะช่วยชะลอความเสื่อมของข้อ ลดอาการปวดและความพิการของข้อลงได้
  • การให้ความรู้: โดยให้ความรู้เรื่องการจัดการความปวด ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่น การใช้อิริยาบถไม่ถูกต้อง การยืนนานๆ นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ เป็นต้น โดยปรับ เปลี่ยนการใช้อิริยาบถที่เหมาะสมเช่น การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพับเพียบ การนั่งชักโครกแทนการนั่งยองๆบนส้วมซึม การยืนรีดผ้าโดยใช้ม้าเตี้ยๆรองขาข้างหนึ่งแทนการนั่งรีดผ้า เป็นต้น รวมทั้งลดน้ำหนักตัวส่วนเกินให้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อลดการทำงานของข้อเข่าที่แบกรับน้ำหนักตัวและช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้

 ข. การใช้ยา: เช่น

  • การใช้ยาแก้ปวด: ยาแก้ปวดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า เช่นยา พาราเซตามอล (Paracetamol) รับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด, ทุก 4 - 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า, ยาพาราเซ็ทตามอลเป็นยาตัวแรกที่ควรเลือกใช้เพื่อลดปวดข้อเข่า เนื่องจากยานี้ปลอดภัย ราคาถูก และพบปัญหาอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงน้อย ยานี้จึงเป็นยาบรรเทาปวดที่ใช้รักษาข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการปวดเล็กน้อย, แต่ไม่ควรรับประทานยาเกินวันละ 4 กรัม และ ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน, เพราะอาจมีผลต่อตับทำให้เกิดตับแข็งตามมาได้
  • การใช้ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์/เอ็นเสด (NSAID): ยากลุ่มนี้มีทั้งชนิดรับประทาน และยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอกเพื่อช่วยลดอาการปวดข้อเข่าที่ได้ผลดี, อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการใช้ยานี้อาจมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง คือ ปวดท้อง, มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร), และอาจมีผลต่อไตทำให้เกิดไตวายได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ, จึงต้องใช้ยาในกลุ่มนี้อย่างระมัดระวังเพราะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารและต่อไตโดยเฉพาพในผู้สูงอายุ
  • การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าข้อเข่า: การใช้ยากลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ และใช้เฉพาะในผู้ที่ปวดข้อเข่ามากและมีน้ำ/ของเหลวในข้อเข่า, และไม่สามารถรับประทานยาได้, การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าจะทำเพียงชั่วคราว, โดยหลังรักษาอาการปวดจะดีขึ้นมากในสัปดาห์แรก, ทั่วไป แพทย์จะใช้ยานี้ได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์จากผลข้างเคียงของยาที่มีมาก เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • การใช้ครีมพริก: ทาบริเวณข้อเข่าที่ปวดทาวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน, ยาจะออกฤทธิ์ลดจำนวนสารกระตุ้นการปวดที่ปลายเส้นประสาท ทำให้ลดปวดจากข้อเข่าเสื่อมได้ ซึ่งเมื่อไม่มีอาการปวดข้อเข่าแล้วควรหยุดใช้ครีมชนิดนี้, การใช้ครีมพริกในกรณีที่มีการปวดข้อเข่าควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ใช้เป็นรายๆ เพราะบางรายอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณที่ทาครีมนี้ได้มากๆ
  • ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค(Disease modifying agent)ของข้อเข่าเสื่อม: เป็นยาที่เชื่อว่าป้องกันและชะลอการเสื่อมของข้อเข่าและของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าให้กลับมาสู่โครงสร้างปกติ, ยาในกลุ่มนี้ เช่น กลูโคซามีน (Glucosamine sulfate), ไดอะเซอรีน (Diacerein), เพื่อคงการทำงานของน้ำไขข้อให้คงคุณสมบัติของความยืดหยุ่นและความหนืด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทุเลาลง  อาการปวดลดลง  องศาการเคลื่อนไหวข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น

อนึ่ง: จากผลการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วย 212 รายที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับยากลูโคซามิน ซัลเฟตขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลานาน 3 ปี พบว่า อาการปวดข้อลดลง และข้อเข่าสามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้น,  อย่างไรก็ตามการใช้ยาในกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด, ไม่ควรซื้อยาฯมารับประทานเอง เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของยาตามมา เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ไม่สบายท้อง ปวดหัว และอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อ Warfarin ได้,  ซึ่งยากลูโคซามิน ซัลเฟต ในทางการแพทย์ยังมีข้อถกเถียงว่า ควรจัดอยู่ในกลุ่มเป็นยารักษาโรค หรือ เป็นอาหารเสริม

สรุป

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดข้อเข่า ควรมุ่งขจัดสาเหตุของการปวดข้อเข่าเป็นประเด็นสำคัญ  

เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า การดูแลให้บรรเทาความปวด เริ่มจากการบรรเทาอาการปวดที่ไม่ต้องใช้ยาก่อนโดย

  • การพักข้อเข่า
  • การใช้อุปกรณ์ให้ข้อเข่าได้อยู่นิ่ง
  • และการประคบด้วยความร้อน

และหากการดูแลดังกล่าวไม่ได้ผล จึงใช้ยา

  • โดยเริ่มจากยาแก้ปวดที่มีความปลอดภัยสูงเป็นลำดับแรก คือ ยาพาราเซตามอล, ส่วนยาชนิดอื่นๆต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์

การป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อมและการส่งเสริมความแข็งแรงของข้อเข่าจะช่วยชะลอความการเสื่อมของข้อเข่า, และลดอาการปวดเข่าที่ได้ผลดี

บรรณานุกรม

  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. (2551). ประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 6 : ยากับโรคผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ: นิวไทยมิตรการพิมพ์.
  2. ไพจิตต์ อัศวธนบดี. (บรรณาธิการ).(2556).Rheumatology for nurse practitioners and allied health professionals.กรุงเทพฯ: บริษัท ซิตี้พริ้นท์ จำกัด.
  3. ประเสริฐ อัสสันตชัย.(บรรณาธิการ) (2554). ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการป้องกัน. กรุงเทพฯ: ยูเนี่ยน ครีเอชั่น.
  4. ผ่องศรี ศรีมรกต.(บรรณาธิการ).(2553). การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ.เล่ม กรุงเทพฯ: ไอกรุ๊ป เพรส.
  5. มนสภรณ์ วิทูรเมธา. (2555). การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อ.กรุงเทพฯ: โครงการสวนดุสิต กราฟฟิคไซท์
  6. วรรณี สัตยวิวัฒน์. (2553).การพยาบาลออร์โธปิดิกส์. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพมหานคร: เอนพีเพรส.
  7. Jesen , T,S., Wilson,p.r. & Rice ,A.S. (2003). Clinical pain management chronic pain.London:Arnold.
  8. Smeltzer,S.C .et al. (2008). Brunner & Suddarth’s textbook of medical-surgical nursing.11th ed. Philadelphia: Lippincott William & Wilkins
  9. Warfield, C.A & Fausett, H.J.(2002). Manual of pain management. 2nd Philadelphia: Lippincott William & Wilkins.
  10. https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(00)03610-2/fulltext [2022,Oct29]
  11. https://medlineplus.gov/ency/article/003187.htm  [2022,Oct29]