การคุมกำเนิด (Contraception)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การคุมกำเนิดคืออะไร?

การคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้งครรภ์ (Contraception) คือ การป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยมีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์หลายกลไก เช่น

  • การป้องกันไม่ให้มีการตกไข่
  • การป้องกันไม่ให้ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิ และ
  • การป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก

ประเภทของการคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

การคุมกำเนิด

วิธีการคุมกำเนิดมีมากมายหลายชนิดสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทแล้วแต่เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภท ทั้งนี้ในที่นี้แบ่งตามระยะเวลาในการคุมกำเนิด โดยแบ่งออกเป็น

1. การคุมกำเนิดชั่วคราว: เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะมีอยู่เพียง ชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เอง เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต

2. การคุมกำเนิดถาวร: เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ทำครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอด ไม่สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เองอีก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้ว

ชนิดของการคุมกำเนิดชั่วคราวมีอะไรบ้าง?

ชนิดของการคุมกำเนิดชั่วคราวได้แก่

1. ถุงยางอนามัยบุรุษ (ถุงยางอนามัยชาย):

ผลิตจากยางลาเทค (Latex) หรือบางชนิดผลิตจากยางเทียม (Polyurethane) คุมกำเนิดโดยการสวมใส่ที่องคชาตเพศชายขณะแข็งตัว เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ ทำให้ไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ประมาณ 2 - 15%

  • ข้อดี: หาซื้อได้ง่าย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ข้อเสีย: ต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายชาย อาจขัดจังหวะการร่วมเพศ มีโอกาสที่จะแตกรั่วได้ ถุงยางชนิด Latex ไม่สามารถใช้กับวัสดุหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสเกิดการรั่วการแตกของถุงได้ และต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

2. ถุงยางอนามัยสตรี:

เป็นถุงปลายตันผลิตจากยางเทียม Polyurethane คุมกำเนิดโดยการใส่คลุมในช่องคลอดสตรีป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก ไม่เป็นที่นิยมและหาซื้อได้ยาก ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ได้ประมาณ 5 - 12%

  • ข้อดี: สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ สามารถใช้ร่วมกับเจลหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันได้ และไม่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • ข้อเสีย: หาซื้อได้ยาก ขัดจังหวะการร่วมเพศ และต้องใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

3. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม:

เป็นวิธีคุมกำเนิดที่แพร่หลาย มีผู้นิยมใช้มากที่สุด มีความสะดวกในการใช้ ประกอบ ด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) มีผลยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมด ลูกบางไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ได้ประมาณ 0.3 -8%

  • ข้อดี: ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ลดปริมาณเลือดประจำเดือน ลดอาการปวด ประจำเดือน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) นอกจากนั้น เมื่อหยุดใช้ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น
  • ข้อเสีย: ไม่เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน อายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน และอาจพบผล ข้างเคียงเช่น เลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดและคัดตึงเต้านม

4. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว:

ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว มีกลไกทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว ข้น อสุจิไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3 - 8%

  • ข้อดี: สามารถใช้ในผู้ที่กำลังให้นมบุตรได้เนื่องจากไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพ ของน้ำนม สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และสามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ได้
  • ข้อเสีย: ต้องรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน หากรับประทานผิดเวลาไป 3 ชั่วโมง ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัย ขณะใช้ยาจะไม่มีประจำเดือนแต่อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

5. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน:

ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยป้อง กันหรือเลื่อนเวลาการตกไข่ ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเป็นยาที่ใช้รับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่ลืมคุมกำเนิดหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะมีเพศสัมพันธ์เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตก ได้ผลดีที่สุดถ้ารับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ทันทีหรือในเวลาไม่เกิน 72 - 120 ชั่ว โมง พบมีอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ประมาณ 25%

  • ผลข้างเคียงคือ มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

6. แผ่นแปะคุมกำเนิด (ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง):

ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ 0.3 - 8%

  • วิธีใช้: แปะแผ่นคุมกำเนิดที่ผิวหนังบริเวณที่มีไขมันยกเว้นบริเวณเต้านม โดย 1 แผ่นแปะนาน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปลี่ยนแผ่นโดยแปะ 3 แผ่น (นาน 3 สัปดาห์) แล้วเว้น 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่เว้นไม่แปะแผ่นยาจะมีประจำเดือนมา โดยขณะแปะแผ่นยาสามารถทำกิจ กรรมอาบน้ำว่ายน้ำได้ปกติ
  • ข้อดี: ใช้การดูดซึมจากผิวหนังไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนรูปของฮอร์โมนที่ตับ จึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อตับ นอกจากนั้นยังทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุกเดือน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และเมื่อหยุดใช้สามารถตั้ง ครรภ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น
  • ข้อเสีย: ไม่เหมาะในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและอาจมีอาการข้าง เคียงเช่น คัดตึงเต้านมและเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

7. ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม:

เป็นยาฉีดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน มีกลไกป้อง กันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

  • ข้อดี: มีประจำเดือนมาทุกเดือน ใช้ยาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง จึงลดโอกาสลืมกินยา และไม่ต้องพกพายาไปไหนมาไหนด้วย
  • ข้อเสีย: ต้องได้รับการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณก้น โดยบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามใช้ในสตรีที่มีข้อห้ามต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน

8. ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว:

เป็นยาฉีดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ นอกจากนั้นยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิจึงไม่สามารถเคลื่อนผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาได้ประมาณ 0.3 - 8%

  • ข้อดี: ใช้เพียง 4 ครั้งต่อปีโดยฉีดยาทุก 3 เดือน ไม่ต้องพกพายาคุมกำเนิดติดตัว สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่ และยามีราคาถูก
  • ข้อเสีย: มีผลข้างเคียงทำให้เลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย เมื่อใช้ไปนานๆอาจไม่มีประจำเดือน อาจมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการคั่งของเกลือและน้ำในร่าง กาย และต้องได้รับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่บริเวณก้นจากบุคลากรทางการแพทย์

9. ยาฝังคุมกำเนิด:

ในปัจจุบันมีเฉพาะยาฝังคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ยามี 2 ชนิดคือ

  • แบบ 1 แท่ง สามารถคุมกำเนิดได้ 3 ปี และ
  • ชนิด 2 แท่ง สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี

กลไกการคุมกำเนิดคล้ายกับยาเม็ดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว พบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้ยาประมาณ 0.05% วิธีการฝังยาทำโดยกรีดผิวหนังบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัดขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร จากนั้นใช้อุปกรณ์สอดเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังแล้วใส่แท่งยาตาม ไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ให้ใช้ผ้าพันบริเวณแผลไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำเป็นเวลา 7 วัน

  • ข้อดี: สามารถคุมกำเนิดได้ 3 - 5 ปี สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์ โมนเอสโตรเจน และสามารถใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่
  • ข้อเสีย: ต้องได้รับการฝังยาจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมา มีหลักฐานการคุมกำเนิดโดยสามารถคลำแท่งยาได้ที่บริเวณท้องแขน อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการฝังยาเช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง และอาจพบว่าตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม

10. ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง:

เป็นอุปกรณ์พลาสติกที่มีขดลวดทองแดงพันโดยการใส่เข้าสู่โพรงมดลูก มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์โดยลดการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิทำให้เกิดการปฏิสนธิกับไข่ได้ลำบาก ร่วม กับทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ระยะเวลาในการคุมกำเนิด 3, 5 หรือ 10 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงคุมกำเนิด ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใส่ห่วงคุมกำเนิดคือ ช่วงวันที่ 1 - 5 ของการมีประจำเดือนเนื่องจากแน่ใจได้ว่า ช่วงนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และเป็นช่วงใส่ห่วงได้ง่ายเนื่องจากปากมดลูกเปิด ทั้งนี้พบอัตราตั้งครรภ์หลังใช้ ประมาณ 0.6 - 0.8%

  • ข้อดี: สามารถคุมกำเนิดได้เป็นเวลานาน เมื่อต้องการตั้งครรภ์สามารถดึงห่วงคุม กำเนิดออกได้ทันที ไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ผู้ใช้จะมีประจำเดือนทุกเดือนตามปกติ และมีรายงานว่าอาจช่วยลดอัตราการเกิดโรค มะเร็งปากมดลูก
  • ข้อเสีย: ต้องได้รับการใส่จากบุคลากรทางการแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ที่เคยคลอด บุตร ต้องทำการตรวจสายห่วงด้วยตนเองทุกเดือน ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือกำ ลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้สูงและรุนแรงขึ้น อาจมีผลข้างเคียง คือ อาการปวดหน่วงท้องน้อยและเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

11. ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนโปรเจสติน:

เป็นวัสดุพลาสติกที่มีแท่งยาฮอร์โมนโปรเจสติน โดยแท่งยาจะค่อยๆปล่อยฮอร์ โมนโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยๆ มีระยะเวลาในการคุมกำเนิด 5 ปี ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใส่ห่วงคุมกำเนิดเช่นเดียวกับห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง กลไกการป้องกันการตั้ง ครรภ์โดยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ขัดขวางการฝังตัวอ่อน มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ และพบอัตราการตั้งครรภ์หลังใช้วิธีนี้ประมาณ 0.1%

  • ข้อดี: เนื่องจากมีฮอร์โมนโปรเจสตินจึงสามารถช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยลดขนาดของเนื้องอกมดลูก (ถ้ามีเนื้องอกมดลูกอยู่) เมื่อใส่ห่วงในขณะอายุ 45 ปีสามารถใช้คุมกำเนิดจนถึงวัยหมดระดูได้ สามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรเจสตินเป็นการออกฤทธิ์เฉพาะที่ไม่ผ่านร่างกายทั้งระบบ
  • ข้อเสีย: มีราคาแพง ต้องได้รับการใส่ห่วงนี้จากบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำการตรวจสายห่วงด้วยตนเองทุกเดือน ไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีคู่นอนหลายคน อาจมีอาการข้างเคียงเช่น ปวดหน่วงท้องน้อยและเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะ ปรอย

12. วงแหวนคุมกำเนิด:

เป็นวงแหวนพลาสติกซึ่งจะค่อยๆปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยๆ กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์คล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม โดย ใส่วงแหวนคุมกำเนิดเข้าไปในช่องคลอด ให้วงแหวนคลุมปากมดลูก โดยใส่ในช่องคลอดนาน 21 วันถอดออก 7 วัน ในช่วงที่ไม่ได้ใส่วงแหวนคุมกำเนิด 7 วันนี้จะมีประจำเดือนมา หลังจากนั้นจึงใส่วงแหวนคุมกำเนิดอันใหม่

  • ข้อดี: เป็นการดูดซึมฮอร์โมนเฉพาะที่ไม่รบกวนระบบของร่างกายทั้งหมด ใส่เดือนละครั้ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
  • ข้อเสีย: ยังไม่มีจำหน่วยในประเทศไทย อาจมีการระคายเคืองช่องคลอด อาจจะเพิ่มการติดเชื้อในช่องคลอด มีตกขาวมากขึ้น อาจเกิดเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย และคัดตึงเต้านม

ชนิดของการคุมกำเนิดถาวรมีอะไรบ้าง?

ชนิดของการคุมกำเนิดถาวร ได้แก่

1. การทำหมันหญิง:

เป็นการคุมกำเนิดโดยการตัดผูกท่อนำไข่ 2 ข้าง ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเข้าปฏิสนธิ กับไข่ได้จึงไม่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งพบอัตราการตั้งครรภ์หลังผ่าตัด ประมาณ 0.2 - 0.7%

  • ข้อดี: ผ่าตัดครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการคุม กำเนิด การตั้งครรภ์ และทำให้เพิ่มความสุขทางเพศเพราะไม่ต้องกังวลต่อการตั้งครรภ์
  • ข้อเสีย: ต้องได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ มีแผลที่หน้าท้อง หากต้องการมีบุตรเพิ่มอีกต้องได้รับการผ่าตัดแก้หมันโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ในการผ่าตัดที่เฉพาะ

2. การทำหมันชาย:

เป็นการคุมกำเนิดโดยผ่าตัดผูกหลอดนำอสุจิที่บริเวณอัณฑะ ทำให้ไม่มีตัวอสุจิออกมากับน้ำเชื้อจึงไม่มีการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่

  • ข้อดี: ผ่าตัดครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต การผ่าตัดทำได้ง่ายใช้เวลาน้อย ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์จึงทำให้เพิ่มความสุขทางเพศ
  • ข้อเสีย: ต้องได้รับการผ่าตัดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมา หากต้องการมีบุตรเพิ่มอีกต้องได้รับการผ่าตัดแก้หมันโดยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการผ่าตัดเฉพาะ

ข้อควรพิจารณาในการเลือกวิธีการคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

การเลือกวิธีคุมกำเนิดควรเป็นไปโดยความสมัครใจ โดยมีข้อควรพิจารณาคือ

  • ความสะดวกในการใช้วิธีต่างๆดังกล่าว
  • ความสะดวกในการเข้าถึงการคุมกำเนิด
  • ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด
  • ความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ของวิธีคุมกำเนิด
  • ความสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคประจำตัวหรือข้อเสียในวิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธี

ควรคุมกำเนิดเมื่อไหร่?

ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์คือ เริ่มมีการพัฒนาร่างกายทางเพศ เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้สามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงควรเริ่มคุมกำเนิดตั้งแต่เมื่อคิดจะมีเพศ สัมพันธ์ตั้งแต่ครั้งแรกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ

ใครบ้างที่สมควรคุมกำเนิด?

ผู้สมควรคุมกำเนิด คือ หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) ซึ่งสามารถตั้งครรภ์ ได้แม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปี

ดังนั้น:

  • เมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปียังมีประจำเดือนและยังมีเพศสัมพันธ์ ควรคุมกำเนิดไปจนถึงหลังหมดประจำเดือนถาวรแล้วประมาณ 2 ปี
  • แต่ถ้าอายุมากกว่า 50 ปีควรคุมกำเนิดไปจนหลังหมดประจำเดือนถาวรแล้ว 1 ปี

เมื่อต้องการคุมกำเนิดควรทำอย่างไร?

เมื่อต้องการคุมกำเนิด ควรมีการปรึกษาหารือบุคคลในครอบครัวในการวางแผนครอบครัวว่า

  • ต้องการมีบุตรอีกหรือไม่
  • ต้องการคุมกำเนิดกี่ปี
  • ต้องการเว้นระยะห่างของการมีบุตรกี่ปี

จากนั้นจึงปรึกษาแพทย์ หรือ พยาบาล หรือ บุคลากรด้านสาธารณสุขที่ให้คำแนะนำในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ควรเลือกวิธีที่

  • สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายสะดวก
  • ต้องไม่มีข้อห้ามในการใช้วิธีคุมกำเนิดนั้นๆ เช่น ห้ามใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ และ
  • เลือกวิธีที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง เช่น
    • ถ้าต้องการมีประจำเดือนทุกเดือน ไม่ควรใช้ยาฉีดชนิดโพรเจสเทอโรนอย่างเดียวหรือใช้ยาฝังคุมกำเนิด เพราะเมื่อฉีดไปเป็นเวลานานอาจไม่มีประจำเดือน
  • ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานหลายปี หรือมีโรคประจำตัว หรือต้องรับประทานยาต่างๆเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและที่ปลอดภัย

บรรณานุกรม

  1. Marc A. Fritz and Leon Speroff. Family planning. Clinical Gynecologic Endocrinology And Infertility. 8th edition. Philadelphia, P.A.: Lippincott Williams & Wilkins.; 2011.
  2. Cunningham FG, et al. Williams Obstetrics. 22nd ed. New York, N.Y.: McGraw-Hill Companies, Inc.; 2005:1.
  3. Stubblefield PG, et al. Family planning. In: Berek JS. Berek & Novak's Gynecology. Philadelphia, Pa.: Lippincott Williams & Wilkins; 2007:287.
  4. https://www.acog.org/womens-health/faqs/birth-control [2021,March20]
  5. https://www.sexwise.org.uk/contraception/which-method-contraception-right-me [2021,March20]
  6. https://www.uptodate.com/contents/contraception-counseling-and-selection [2021,March20]