กลุ่มอาการคุชชิง(Cushing syndrome)/ภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง (Hypercortisolism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมน *Glucocorticoid/ กลูโคคอร์ติคอยด์ (หรือ Cortisol/คอร์ติซอล) มากเกินปกติ โดยสาเหตุอาจเกิดจากมีการสร้างฮอร์โมนกลุ่มนี้มากเกินจากร่างกายสร้างเอง (Endogenous glucocorticoid), หรือร่างกายมีฮอร์โมนนี้มากเกินปกติโดยได้ฮอร์โมนนี้มาจากภายนอกร่างกาย (Exogenous glucocorticoid)

กลุ่มอาการคุชชิ่ง(หลายท่านเขียนว่า Cushing’s syndrome)/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เป็นโรคพบเรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากได้รับ Glucocorticoid จากภายนอกร่างกายในรูปแบบของยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคบางโรค เช่น โรคหืด, โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง

กลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง จากสาเหตุภายนอก มีอุบัติการณ์ขึ้นกับความชุกของการใช้ยา Glucocorticoid ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นสาเหตุพบในทุกอายุตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ และทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน

ส่วนกลุ่มอาการที่เกิดจากการสร้าง *Glucocorticoid มากเกินปกติจากร่างกายสร้างเอง, พบได้น้อย, มักพบในช่วงอายุ 20 - 50 ปี แต่ก็พบได้ทุกอายุ ซึ่งบางสาเหตุจะพบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชาย เช่น ในโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง, แต่บางสาเหตุก็พบในเพศชายสูงกว่าใน เพศหญิง (เช่น ในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก), ในยุโรปมีการศึกษาพบโรคในกลุ่มอาการนี้แต่ละปีประมาณ 1.2-1.7 รายต่อประชากร 1 ล้านคน

*Glucocorticoid (ย่อว่า GC/ จีซี) หรืออีกชื่อที่เราคุ้นเคยกว่าคือ ‘คอร์ติซอล/ฮอร์โมนความเครียด’ เป็นชนิดหนึ่งของฮอร์โมนต่อมหมวกไต โดยอยู่ภายใต้การกำกับของ ACTH (Adrenocorticotropic hormone หรือ Corticotropin hormone) ที่เป็นฮอร์โมนจากตอมใต้สมอง โดย ACTH จะกระตุ้นและควบคุมการสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตที่รวมถึง Glucocorticoid

Glucocorticoid เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่เกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะเกือบทุกระบบ เช่น สมดุลของน้ำและเกลือแร่, การทำงานและการสร้างมวลกล้ามเนื้อ, การใช้พลังงานจากน้ำตาลกลูโคลส (Glucose); จากโปรตีน; และจากไขมัน, การทำงานของรังไข่ (ในเพศหญิง) และของอัณฑะ (ในเพศชาย), การเจริญเติบโตของเซลล์โดยเฉพาะช่วงวัยเด็ก, อารมณ์และการรับรู้, ภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ, และรวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ซึ่งจากหน้าที่หลากหลายของ Glucocorticoid จึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆได้ในทุกระบบอวัยวะร่างกาย เมื่อร่างกายมีภาวะผิดปกติจากมีปริมาณฮอร์โมนนี้สูงเกินปกติ โดย เฉพาะการสูงอย่างต่อเนื่อง เรื้อรัง ซึ่งเรียกโรค/ภาวะผิดปกตินี้ว่า “กลุ่มอาการคุชชิง” หรืออีกชื่อ คือ “โรค/ภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง (Hypercortisolism)”

อนึ่ง: คุชชิง (Cushing) เป็นชื่อศัลยแพทย์ระบบประสาทชาวสหรัฐอเมริกา Harvey Cushing ที่ได้รายงานในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ถึงโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดสร้างฮอร์โมน ACTH ที่กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมน Glucocorticoid, ร่างกายจึงเกิดอาการผิดปกติจากมีฮอร์โมน Glucocorticoid สูงเกิน, และเพื่อเป็นเกียรติ์กับ นพ. Cushing จึงเรียกโรคจากมีฮอร์โมน Glucocorticoid สูงเฉพาะเหตุจากเนื้องอกต่อมใต้สมองนี้ว่า “โรคคุชชิง (Cushing disease หรือ Cushing’s disease)” และเรียกโรค/ภาวะที่มีอาการต่างๆที่ผิดปกติ จากฮอร์โมน Glucocorticoid สูงจากทุกๆสาเหตุ (รวม Cushing disease ด้วย) ว่า “กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome หรือ Cushing’s syndrome)” หรือ อีกชื่อคือ ‘โรค/ภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง (Hypercortisolism)’

กลุ่มอาการคุชชิงเกิดจากอะไร?

กลุ่มอาการคุชชิง

สาเหตุของกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง คือ การที่ร่างกายมีฮอร์โมน Glucocorticoid สูงมากเกินปกติ โดยมีสาเหตุจาก 2 กลุ่มสาเหตุหลัก ได้แก่ จากร่างกายสร้างฮอร์โมน Glucocorticoid มากเกินปกติ (Endogenous glucocorticoid), และจากร่างกายได้รับฮอร์โมน Glucocorticoid อย่างต่อเนื่องมาจากภายนอกร่างกาย(Exogenous glucocorticoid)

ก. ร่างกายสร้าง Glucocorticoid มากเกินปกติ: เป็นสาเหตุพบน้อยซึ่งที่พบบ่อยเกิดจาก

  • โรคของต่อมหมวกไต: เช่น เนื้องอก, หรือมีเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ (Hyper plasia), หรือ มะเร็งบางชนิดที่เซลล์มะเร็งสร้างฮอร์โมนนี้ได้, ซึ่งโรคในกลุ่มนี้พบน้อย
  • โรคของต่อมใต้สมอง: พบประมาณ 80% ของกลุ่มร่างกายสร้าง Glucocorticoid มากเกินปกติ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดที่เซลล์สร้างฮอร์โมน ACTH ที่เรียกว่า “โรคคุชชิง/Cushing disease” ที่มักพบในช่วงอายุ 25 - 50 ปี เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายประมาณ 3 - 6 เท่า, และที่พบได้น้อยมากๆคือจากมะเร็งต่อมใต้สมอง
  • อื่นๆ: กลุ่มสาเหตุนี้พบน้อยมาก โดยเกิดจากมีเซลล์ผิดปกติในบางโรคที่สร้างฮอร์โมน ACTH ปกติฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) เรียกว่า ‘Ectopic ACTH’ ที่กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้าง Glucocorticoid มากขึ้น เช่น จาก มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก, จากเนื้องอกของอวัยวะต่างๆชนิดที่เรียกว่า คาร์ซินอยด์(Carcinoid), หรือจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Medullary carcinoma

ข. ร่างกายได้รับ Glucocorticoid ต่อเนื่องจากภายนอกร่างกาย: ซึ่งเกือบทั้งหมดได้จากยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆบางโรค เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน หรือจากยาชุดที่ขายตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกร, หรือจากเป็นส่วนผสมในยาพื้นบ้านหรือสมุนไพรต่างๆ เช่น ในยาลูกกลอน ยาต้ม ยาหม้อ

กลุ่มอาการคุชชิงมีอาการอย่างไร?

อาการต่างๆที่พบได้ในกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง แบ่งเป็น อาการทั่วไป, และอาการเฉพาะที่

ก. อาการทั้วไป: เป็นอาการพบในผู้ป่วยทุกคนไม่ขึ้นกับสาเหตุ เกิดจากผลของ Clucocorticoid ต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น

  • อาการทั่วไป: เช่น หิวบ่อย กินจุ ใบหน้าอ้วนกลมเหมือนพระจันทร์เต็มดวง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินโดยอ้วนเฉพาะส่วนกลางลำตัวคือ บริเวณไหปลาร้า ลำตัวส่วนบน พุง แต่แขน-ขาลีบ มีก้อนไขมันที่ด้านหลังคอ (ที่เรียกว่า เป็นหนอก) ปัสสาวะมากแลบ่อย นอนไม่หลับ
  • อาการทางผิวหนัง: เช่น ผิวแห้ง ผิวบางจนเห็นเส้นเลือด ผิวหนังแตกง่าย เป็นแผลง่าย เมื่อเกิดแผล แผลหายยาก ผิวแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง เป็นสิวทั้งตัวและใบหน้า
  • อาการทางโรคหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตสูง
  • อาการทางโรคต่อมไร้ท่อ: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง/โรคเบาหวาน
  • อาการทางกระดูก: เช่น มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย
  • อาการทางกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อ แขน ขา โดยเฉพาะต้นแขน ต้นขา ลีบ ไม่มีแรง
  • อาการด้านสมอง อารมณ์ จิตใจ: เช่น สับสน ความจำ/ความเข้าใจ ด้อยลง ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
  • อาการทางอวัยวะสืบพันธุ์: เช่น เพศหญิงจะมีประจำเดือนผิดปกติ (เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มามากหรือมาน้อย) มีขนดกหนาทั่วตัวและใบหน้า ภาวะมีบุตรยาก เพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลง นกเขาไม่ขัน
  • อาการทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: ฮอร์โมนตัวนี้จะกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันฯ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ข. อาการเฉพาะที่: จะแตกต่างกันในแต่ละคนขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • เมื่อเป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง: จะปวดศีรษะเรื้อรัง และมีความผิดปกติในการมองเห็นภาพ

เมื่อเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไต: มักไม่มีอาการเฉพาะที่ มีแต่อาการทั่วไป(ข้อย่อย ก.)

  • อาการจากมะเร็งปอดถ้าเกิดจากมะเร็งปอด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการคุชชิง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง คือ

  • ผู้ได้รับยาสเตียรอยด์/Gluocorticoid ต่อเนื่องทั้งยา กิน ยาฉีด ยาหยอดตา ยาทา หรือ ยาพ่น เช่น ในโรคหืด โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน หรือกินยาลูกกลอน ยาชุดต่างๆ ยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาต้ม ที่ใส่ยาสเตียรอยด์

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้ที่กินยาต่างๆจากมีโรคประจำตัว หรือซื้อยากินเองเป็นประจำ หรือกินยาลูกกลอน ยาพื้นบ้าน ฯลฯ

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคุชชิงอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ได้จาก

  • การซักถามประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆรวมทั้งสมุนไพร ยาชุด ยาพื้นบ้าน
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ และ/หรือ การตรวจน้ำลาย เพื่อดูค่าฮอร์โมน Glucorticoid และ/หรือ ค่าฮอร์โมนต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์
  • อาจมีการตรวจเลือดวิธีเฉพาะที่ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อดูระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน Glucocorticoid เช่นการตรวจที่เรียกว่า Low dose dexamethasone suppression test, Dexamethasone corticotrophin releasing hormone test

นอกจากนี้คือ การตรวจที่ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • ตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเมื่อสงสัยสาเหตุจากมะเร็งปอด
  • ตรวจช่องท้องหรือสมองด้วยเอกซเรยคอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอเมื่อสงสัยโรคของต่อมหมวกไตหรือของต่อมใต้สมอง
  • อาจรวมไปถึง ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า Octreotide scintigraphy เมื่อสงสัยโรคจากมีการสร้าง Ectopic ACTH
  • และ/หรือ การตรวจตาเพื่อดูการเห็นภาพของผู้ป่วยที่เรียกว่า การตรวจลานสายตา

รักษากลุ่มอาการคุชชิงอย่างไร?

แนวทางการรักษากลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ได้แก่ การปรับลดปริมาณฮอร์โมน Glucocorticoid ในร่างกาย, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาตามอาการ

ก. การปรับลดปริมาณฮอร์โมน Glucocorticoid: เช่น กรณีบริโภคยาสเตียรอยด์ก็จะต้องหยุดใช้ยา ซึ่งการหยุดใช้ยาสเตียรอยด์จะต้องค่อยๆปรับลดขนาดลงช้าๆ ซึ่งจะต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลด เนื่องจากถ้าลดยาทันทีหรือเร็วเกินไป ผู้ป่วยจะเกิดอาการรุนแรงจากการขาดยาตัวนี้ ที่เรียกว่า “Adrenal crisis” ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น ไข้สูง เหงื่อออกท่วมตัว ปวดท้องมาก ท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลียมาก เกิดภาวะช็อก, *ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราเป็นเหตุให้ถึงตายได้

อนึ่ง: บางกรณี แพทย์อาจใช้ยาซึ่งส่วนใหญ่เป็นยากินเพื่อช่วยลดการสร้าง Gluco corticoid จากต่อมหมวกไต ซึ่งแพทย์จะพิจารณาในผู้ป่วยเป็นกรณีไป โดยทั่วไปมักให้ในผู้ ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองที่ไม่สามารถผ่าตัดหรือให้การฉายรังสีรักษาได้, หรือผ่าตัดและ/หรือให้รังสีรักษาฯแล้วไม่ได้ผล, ซึ่งยาที่ใช้ เช่นยา Ketoconazole, Aminogluethimide, Mitotane, Metyrapone, Mifepristone, Pasireotide

นอกจากนั้น กรณีให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆแล้วยังควบคุมปริมาณ Glucocorticoid ไม่ได้ แพทย์จะปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดต่อมหมวกไตออก

ข. รักษาสาเหตุ: คือการรักษาไปตามสาเหตุที่ทำให้มี Glucocorticoid สูง เช่น

  • รักษามะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายรังสีรักษาเมื่อสาเหตุเกิดจากมะเร็งปอด
  • ผ่าตัดเนื้องอกต่อมหมวกไตหรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งในการผ่าตัดนั้นปริมาณ Glucocorticoid ในร่างกายจะลดต่ำลงทันที ส่งผลเกิดภาวะ ‘Adrenal crisis’ ได้ง่าย ดังนั้นในระยะแรกหลังผ่าตัด แพทย์มักต้องให้ยา Glucocorticoid แล้วจึงค่อยๆปรับลดขนาดยาในระยะต่อๆมา
  • กรณีเนื้องอกต่อมใต้สมอง การรักษาที่ได้ประสิทธิภาพอีกวิธี คือ การฉายรังสีรักษา

ค. การรักษาตามอาการ: คือ รักษาโรค/อาการต่างๆที่เป็นผลจาก Glucocorticoid เช่น ให้ยาเบาหวาน เมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูง, หรือให้ยาลดความดัน เมื่อมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น

กลุ่มอาการคุชชิงมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากกลุ่มอาการคุชชิง คือ

  • กระดูกหักง่ายจากโรคกระดูกพรุน
  • กล้ามเนื้อไม่มีแรงจากกล้ามเนื้อลีบ
  • ติดเชื้อต่างๆได้ง่ายจากฮอร์โมน Glucocorticoid กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • เกิดโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง จากการทำงานผิดปกติของน้ำตาลกลูโคลส และเกลือแร่ต่างๆ ที่มักรุนแรงจนก่อให้เกิดอาการทางโรคหัวใจและหลอดเลือดจนเป็นสาเหตุการตายได้

กลุ่มอาการคุชชิงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยา สเตียรอยด์การพยากรณ์โรคจะดี อาการต่างๆจะค่อยๆหายได้ (อาจเป็นหลายเดือนหรือถึงปี) หลังหยุดยา, แต่ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งการพยากรณ์โรคก็จะไม่ดี

*อนึ่ง:

  • ในผู้ที่อาการเกิดจากยา ถ้ากลับไปใช้ยาเดิมก็จะกลับเกิดกลุ่มอาการคุชชิงได้อีก
  • ในผู้ที่ควบคุมกลุ่มอาการนี้ไม่ได้ ผู้ป่วยมักตายจาก
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การติดเชื้อรุนแรง เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
    • และจากภาวะ Adrenal crisis

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • ไม่ซื้อยาสเตียรอยด์กินเอง, ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคนี้จะมีผลให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและรุนแรง
  • ดูแลควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินมากเกินไป ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุหรือที่เกิดร่วมด้วยให้ได้ดี
  • ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อ
  • ไม่ใช้ยาพื้นบ้าน ยาลูกกลอน สมุนไพร ยาชุด
  • ระมัดระวัง การเคลื่อนไหว อุบัติเหตุ เพราะกระดูกหักง่าย
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปวดหัวมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียมาก
  • อาการที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วกลับมาเป็นอีก เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, เป็นสิวมาก
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ไข้สูง เหงื่อออกท่วมตัว ปวดท้องมาก ท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก ที่มักเป็นอาการจากการขาด Glucocorticoid (Adrenal crisis) ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเพราเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงตายได้
  • กังวลในอาการ

ป้องกันกลุ่มอาการคุชชิงอย่างไร?

ป้องกันกลุ่มอาการคุชชิง/ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ได้โดย

  • ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองว่า ยาไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
  • ไม่ใช้ยาชุด ยาลูกกลอน ยาต้ม ยาหม้อ และ/หรือ สมุนไพรต่างๆที่ไม่มีการรับรองความปลอดภัยจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข)
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์รักษา โดยรักษาตาม แพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสและลดปริมาณการใช้ยากลุ่ม Glucocorticoid

บรรณานุกรม

  1. Guaraldi, F., and Salvatori, R. (2012). J Am Board Fam Med. 25, 199-208
  2. Rajput, R. (2013). Journal Indian Academy of Clinical Medicine. 14,235-241
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cushing%27s_syndrome [2021,June5]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid [2021,June5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cushing%27s_disease [2021,June5]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/2233083-overview#showall [2021,June5]
  7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551526/ [2021,June5]