โฟลิก กรดโฟลิก (Folic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดโฟลิก/ยากรดโฟลิค (Folic acid) เป็นวิตามินที่ถูกสังเคราะห์โดยมนุษย์ มีโครงสร้างทางเคมีคล้าย คลึงกับ โฟเลต/โฟเลท (Folate) ซึ่งเป็นวิตามินที่มีในธรรมชาติ บางครั้งเราจะได้ยินคำว่า ’วิตามิน-เอ็ม หรือ วิตามิน-บี 9’ ขอให้เข้าใจว่าเป็นชื่อเดียวกับกรดโฟลิก

เมื่อได้รับกรดโฟลิก ร่างกายจะเปลี่ยนโครงสร้างวิตามินนี้ให้กลายเป็นโฟเลตซึ่งเป็นวิตามิน

ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ด้วยโฟเลตช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมหรือ

ดี-เอ็น-เอ (DNA) ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการแบ่งเซลล์ของร่างกายรวมถึงการเจริญเติบโตโดย เฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ สำหรับเด็กทั่วไป วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ก็ยังมีความจำเป็นต้อง ได้รับโฟเลตอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง โฟเลตมีส่วนสำคัญในการ สร้างเม็ดเลือดแดงและป้องกันโรค/ภาวะโลหิตจาง

อาการขาดโฟเลต จะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย อาทิเช่น

  • กระทบต่อการสร้างเซลล์ประสาทของทารกในครรภ์
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์หากขาดโฟเลตจะมีอาการ เช่น
    • รู้สึกสับสน
    • ความจำเสื่อม
    • ซึมเศร้า
    • เกิดแผลในปากหรือแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย
    • ปวดศีรษะ
    • ใจสั่น
  • สำหรับคนทั่วไปหากขาดวิตามินนี้ อาจพบอาการ เช่น
    • ท้องเสีย
    • มีภาวะโลหิตจาง รวมถึง
    • การสังเคราะห์สารพันธุกรรม เช่น ดี-เอ็น-เอ บกพร่อง และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้

กรดโฟลิกถูกดูดซึมได้ดีจากลำไส้เล็ก เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะจับตัวกับโปรตีนและถูกลำ เลียงไปสะสมที่อวัยวะตับ จากนั้นจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีอีกครั้งก่อนที่เลือดจะนำไป เลี้ยงที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย กรดโฟลิกใช้เวลาประมาณ 0.5 - 1 ชั่วโมงในการออกฤทธิ์และทำหน้าที่ของตัวมัน กรดโฟลิกเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในน้ำ จึงไม่ค่อยพบปัญหาของการสะสมในร่างกายเพราะจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

ถึงแม้จะดูว่ากรดโฟลิกเป็นวิตามินที่มีประโยชน์และค่อนข้างปลอดภัย แต่การใช้ขนาดที่เหมาะสมถูกต้อง ควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

กรดโฟลิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โฟลิก

กรดโฟลิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ดังนี้ เช่น

  • รักษาภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด ประเภท Megaloblastic anemia อันมีสาเหตุจากการขาดโฟเลต
  • เสริมสร้างและป้องกันการขาดโฟเลตใน หญิงตั้งครรภ์ ทารก และในเด็ก

กรดโฟลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กรดโฟลิกมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยกรดโฟลิกมีความจำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น การสังเคราะห์สารต่างๆที่เป็นกระบวนการสำคัญของการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น เพียวรีน (Purine) และ ไพริมิดีน (Pyrimidine) อีกทั้งยังสนับสนุนการ สร้างเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด จากการขาดโฟเลตอีกด้วย

กรดโฟลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กรดโฟลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้ เช่น

  • จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 0.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • กรดโฟลิกยังมีรูปแบบที่เป็นยาผสมกับวิตามิน - เกลือแร่อื่นๆอีกมากมาย รวมถึงผลิต ภัณฑ์นมที่ใช้เลี้ยงทารกและอาหารเสริม แต่ขอไม่นำมากล่าว ณ ที่นี้

กรดโฟลิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

กรดโฟลิกมีขนาดรับประทาน ดังนี้ เช่น

ก. สำหรับภาวะโลหิตจาง / โรคซีด ประเภท Megaloblastic anemia: เช่น รับประทาน 1 มิลลิกรัม

วันละครั้ง อาจรับประทานจนกระทั่งภาวะโลหิตจางดีขึ้นหรือจนกว่าเป็นปกติ

ข. สำหรับภาวะร่างกายขาดกรดโฟลิก: เช่น

  • ในผู้ใหญ่: รับประทาน 400 - 800 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • ในเด็กทารก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 0.1 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: รับประทานได้ถึง 0.3 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป: รับประทาน 0.4 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ค. สำหรับการเสริมวิตามินในเด็ก: เช่น

  • เด็กอายุ 1 -3 ปี: รับประทานครั้งละ 150 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุ 4 - 8 ปี: รับประทานครั้งละ 200 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุ 9 - 13 ปี: รับประทานครั้งละ 300 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • เด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 400 ไมโครกรัม วันละครั้ง

*อนึ่ง: สามารถรับประทานกรดโฟลิก ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงกรดโฟลิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะกรดโฟลิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานกรดโฟลิก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานกรดโฟลิกในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า

กรดโฟลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กรดโฟลิกอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ได้เช่นกัน เพียงแต่พบเป็นกรณีไปขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยหลังรับประทานโกรดโฟลิก หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบพาผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น

  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • ผื่นคัน
  • หายใจลำบาก
  • แน่นหน้าอก

มีข้อควรระวังการใช้กรดโฟลิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กรดโฟลิก เช่น

  • ห้ามใช้วิตามินนี้กับผู้ป่วยแพ้ยา กรดโฟลิก
  • ห้ามใช้กรดโฟลิกกับผู้ป่วยด้วยโรค/ภาวะโลหิตจางที่ยังไม่ทราบประเภท ด้วยการรับประ ทานขนาด 1 มิลลิกรัม/วัน สามารถบดบังอาการของโรคโลหิตจางดังกล่าว และยังทำให้ผู้ป่วยไม่ปลอดภัยจากอาการโรคโลหิตจางที่แอบแฝงอยู่
  • เคยมีรายงานจากต่างประเทศว่า การใช้กรดโฟลิกในลักษณะของอาหารเสริมปริมาณสูง กับหญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 20 - 30% และมีรายงานเพิ่มเติมว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหืดในเด็ก 26% นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายด้วยเช่นกัน ในทีมของผู้วิจัยได้เสนอให้รับประทานพืชผักใบเขียวซึ่งมีโฟเลตจากธรรมชาติ กลับจะช่วยต้านโรคมะเร็งให้กับผู้บริโภค และใช้เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการรับประทานกรดโฟลิกชนิดสังเคราะห์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงกรดโฟลิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดโฟลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

กรดโฟลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้กรดโฟลิกร่วมกับยากันชัก อาจส่งผลให้ระดับของยากันชักที่อยู่ในกระแสเลือดลดต่ำลง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม ยากันชักดังกล่าว เช่นยา Phenobarbital, Phenytoin
  • การใช้กรดโฟลิกร่วมกับยาช่วยย่อย(ยาช่วยย่อยอาหาร) อาจทำให้การดูดซึมของกรดโฟลิกลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่เวลาใกล้เคียงกัน ยาช่วยย่อยอาหารดังกล่าว เช่น Pancrelipase

ควรเก็บรักษากรดโฟลิกอย่างไร?

สามารถเก็บยากรดโฟลิก เช่น

  • สามารถเก็บยาได้ที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดโฟลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดโฟลิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Blackmores Folic Acid (แบล็คมอร์ โฟลิก เอซิด) Blackmores
F-Min (เอฟ-มิน) Patar Lab
Foliamin (โฟเลียมิน) Takeda
Folic Acid Central Poly (โฟลิก เอซิด เซ็นทรัล โพลี) Pharmasant Lab
Folimed (โฟลิเมด) Medicine Products
Folivit (โฟลิวิต) Siam Bheasach
Folic Acid GPO (โพลิก เอซิด จีพีโอ) GPO

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Folic_acid[2020,Aug29]

2. http://www.rxlist.com/folvite-drug.htm[2020,Aug29]

3. http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/[2020,Aug29]

4. http://www.drugs.com/dosage/folic-acid.html[2020,Aug29]