ภาวะขาดโฟเลท (Folate deficiency) หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก (Folic acid deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและแหล่งอาหาร

ภาวะขาดโฟเลท (Folate deficiency) หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก (Folic acid deficiency) หรือ ภาวะขาดวิตามินบี-9 (Vitamin B-9 deficiency) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากร่างกายขาดสารโฟเลท โดยในผู้ใหญ่จะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลหิตจาง แต่ถ้าเกิดขณะเป็นทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้ทารกฯมีสมองและไขสันหลังพิการแต่กำเนิด

โฟเลท (Folate) หรือ Folic acid เป็นวิตามินที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี คือ วิตามินบี-9 (Vitamin B-9) เป็นวิตามินที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นวิตามินที่ร่างกายต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น

โฟเลท เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายจึงขับส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ง่าย ลดโอกาสที่จะสะสมในร่างกาย ดังนั้น ร่างกายจึงมีโอกาสที่จะขาดวิตามินนี้ได้ง่าย แต่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากวิตามินนี้สูงเกินได้น้อย

แหล่งอาหาร:

อาหารที่มีโฟเลทสูง ได้แก่ ผัก และผลไม้ โดยเฉพาะผักที่มีใบเขียวเข้ม (เช่น ผักโขม บรอกโคลี ถั่วกินฝัก ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง) ส้ม ธัญพืช ไข่แดง ตับ ไต และอาหารต่างๆที่เสริมอาหารด้วยโฟเลท เช่น นม นมถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล แป้งทำอาหารและทำขนมปัง

โฟเลทมีประโยชน์อย่างไร?

ภาวะขาดโฟเลท

โฟเลท มีหน้าที่ หรือประโยชน์ คือ

  • ช่วยการสร้าง สารดีเอ็นเอ (DNA) และสารอาร์เอ็นเอ (RNA)ที่เป็นสารจำเป็นของเซลล์
  • ช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก ซึ่งถ้าขาดโฟเลท จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติ มีอายุสั้นลง จึงส่งผลให้เกิดภาวะซีด
  • และช่วยการแบ่งตัวของเซลล์เพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งร่างกายในช่วงที่มีเซลล์แบ่งตัวสูงจะมีความต้องการโฟเลทสูงมากขึ้น เช่น ในระยะเป็นตัวอ่อน(ทารกในครรภ์) โดยเฉพาะเซลล์ตัวอ่อนที่จะเจริญไปเป็นสมองและไขสันหลัง(Neural tube) ดังนั้นถ้ามารดาขาดโฟเลทในช่วงตั้งครรภ์ โอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตผิดปกติของสมองและของไขสันหลังจะสูง อาจส่งผลให้เกิดความพิการของไขสันหลังแต่กำเนิดที่อาจส่งผลให้ทารกมีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง และ/หรือมีความผิดปกติในการปัสสาวะ(Spina bifida) หรือที่รุนแรง คือมีสภาพไร้สมองใหญ่/ภาวะที่สมองฟ่อลีบ(Anencephaly) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือภายหลังคลอดได้

คนทั่วไปต้องการโฟเลทวันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณโฟเลท ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ในปีค.ศ. 2011 คือ

มีผลข้างเคียงจากกินโฟเลทมากเกินไปไหม?

โดยทั่วไป ไม่ค่อยมีรายงานผลข้างเคียง หรือโทษ จากกินโฟเลทสูงกว่าคำแนะนำ แต่มีรายงานว่า การกินโฟเลทปริมาณสูงในขณะกินยากันชัก อาจกระตุ้นให้เกิดการชักได้ นอกจากนั้นโฟเลทจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องทำงานสัมพันธ์กับ วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, และวิตามิน บี 12 ด้วย

ภาวะขาดโฟเลทมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะขาดโฟเลทเกิดได้จาก ภาวะขาดอาหาร, ภาวะที่ร่างกายต้องการโฟเลทมากกว่าปกติ, ภาวะร่างกายขับโฟเลทออกจากร่างกายมากกว่าปกติ, และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

ก. ภาวะขาดอาหาร(ทุโภชนาการ): ได้แก่ ภาวะหรือโรคต่างๆที่ส่งผลให้ร่างกายได้รับโฟเลทน้อยกว่าความต้องการ เช่น

  • กินอาหารไม่มีประโยชน์ /อาหารที่มีโฟเลทต่ำ
  • ภาวะขาดอาหารที่มีโฟเลทสูง จากฐานะทางเศรษฐกิจ หรือขาดคนดูแล เช่น
    • เด็กอ่อน หรือผู้สูงอายุ
    • ติดสุรา: สุราจะลดการดูดซึมโฟเลท
    • มีโรคลำไส้เรื้อรัง จึงลดการดูดซึมโฟเลท เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ข.ภาวะร่างกายต้องการโฟเลทมากกว่าปกติ: เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • การให้นมบุตร
  • ทารกในครรภ์
  • เด็กอ่อน
  • โรคเลือดต่างๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย

ค. ภาวะร่างกายขับโฟเลทออกจากร่างกายมากกว่าปกติ: เช่น

  • ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีนมาก เพราะกาเฟอีนช่วยขับน้ำ จึงเพิ่มการขับออกของโฟเลททางปัสสาวะ
  • กินยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ เป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว หรือยารักษาอาการบวม
  • โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคไข้จับสั่น/มาลาเรีย
  • จากการล้างไต

ง.ผลข้างเคียงจากยา: ยาบางชนิดจะต้านการทำงานของโฟเลท เช่น

  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่นยา Trimethoprim
  • ยากันชัก
  • ยาเคลือบกระเพาะ
  • ยารักษาวัณโรค
  • ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด
  • ยาแอสไพริน
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs, Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ยาเคมีบำบัด และ
  • ยาต้านไวรัสเอดส์

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดโฟเลท?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดโฟเลท ได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร
  • เด็กอ่อน
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ
  • ผู้ป่วยโรคเลือด
  • ติดสุรา
  • ผู้ป่วยล้างไต
  • กินอาหารไม่มีประโยชน์
  • กินยาที่ต้านการทำงานของโฟเลท ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’

ภาวะขาดโฟเลทมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากการขาดโฟเลท เป็นอาการไม่เฉพาะ สามารถพบอาการเหล่านี้ได้จากภาวะขาดอาหารและขาดวิตามินต่างๆ หรือในโรคต่างๆ โดยอาการที่พบได้ เช่น

  • เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • ลิ้นเจ็บ/ ลิ้นอักเสบ อาจมีแผลที่ลิ้น
  • อาจปวดศีรษะไม่มาก แต่เรื้อรัง หาสาเหตุไม่ได้
  • อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน หลงลืมง่าย ชาปลายมือ ปลายเท้า และซึมเศร้า
  • เมื่อขาดโฟเลทเรื้อรังจะเกิดภาวะซีด จากมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ดังกล่าวแล้วใน “บทนำ”
  • ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ อาจคลอดก่อนกำหนด และมีปัญหาในการเกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะกับสมองและไขสันหลังดังได้กล่าวแล้วใน “บทนำ”
  • มีบางการศึกษาพบว่า การขาดโฟเลท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดโฟเลทอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดโฟเลทได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การกินอาหาร การมีปัจจัยเสี่ยง ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติกินยาต่างๆ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)ดูภาวะซีด และดูรูปลักษณะของเม็ดเลือดแดง
  • การตรวจเลือดดูค่าโฟเลทในเลือด
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูค่าวิตามินต่างๆ และ/หรือค่าเกลือแร่อื่นๆ เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคว่า เกิดโรคจากขาดวิตามินอื่นๆได้หรือไม่ เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคขาดอาหาร และขาดวิตามินต่างๆมักมีอาการคล้ายคลึงกัน

รักษาภาวะขาดโฟเลทอย่างไร?

แนวนางการรักษาภาวะขาดโฟเลท ได้แก่ การให้โฟเลทเสริมอาหารซึ่งอาจเป็นการกิน หรือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และการให้อาหารที่มีโฟเลทสูง

นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดศีรษะ เมื่อมีอาการปวดศีรษะ เป็นต้น

ภาวะขาดโฟเลทรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคกรณีขาดโฟเลท ได้แก่

ก. ภาวะขาดโฟเลทในผู้ใหญ่ มีการพยากรณ์โรคที่ดี เป็นภาวะไม่รุนแรง มักรักษาได้หาย

ข. แต่ถ้าเกิดกับทารกในครรภ์ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะกับสมองและไขสันหลังจนอาจเสียชีวิตได้

ในส่วนผลข้างเคียงจากการขาดโฟเลท คือ

  • ภาวะซีด ซึ่งถ้าเกิดเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • นอกจากนั้นคือ ความพิการแต่กำเนิด หรือการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ถ้าเกิดภาวะขาดโฟเลทในขณะตั้งครรภ์

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-7 วันหลังการดูแลตนเอง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนเมื่อทราบว่า ขาดโฟเลท การดูแลตนเอง ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภขนากร แนะนำ
  • กินโฟเลทเสริมอาหารตามแพทย์แนะนำ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน กินอาหารผัก ผลไม้ให้มากขึ้น กินอาหารที่มีโฟเลทสูง
  • เมื่อวางแผนที่จะแต่งงาน หรือมีบุตร สตรีควรต้องพบสูตินรีแพทย์เพื่อคำแนะนำในการกินโฟเลทเสริมอาหารตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดโฟเลท ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”
  • เลิก/ไม่ดื่มสุรา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง และ/หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดโฟเลทอย่างไร?

สามารถป้องกันการขาดโฟเลทได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “การดูแลตนเองฯ” ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน กินผัก และผลไม้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและเกลือแร่
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • ก่อนตั้งครรภ์ ควรต้องพบสูตินรีแพทย์ เพื่อได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง และความเหมาะสมในการกิน วิตามิน เกลือแร่ ต่างๆเสริมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
  • เลิก/ไม่ดื่มสุรา
  • เมื่อมีโรคเรื้อรังต่างๆ/โรคประจำตัว ควรต้องปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นของการกินวิตามินเสริมอาหาร

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Folate_deficiency[2019,March9]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Folate [2019,March9]
  4. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Folic_Acid [2019,March9]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/200184-overview#show [2019,March9]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2019,March9]