โทบรามัยซิน (Tobramycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโทบรามัยซิน (Tobramycin) ถูกพัฒนามาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Streptomyces tene brarius เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด โดย เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเชื้อแกรมลบ (Gram negative) เช่น เชื้อ Pseudomonas ยาตัวนี้ไม่สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหาร ต้องใช้ในรูปแบบของยาฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังนำ มาผลิตเป็นรูปแบบของยาหยอดตา บางสูตรตำรับจะเพิ่มตัวยาสเตียรอยด์ Dexamethasone ผสม ร่วมด้วยเพื่อลดอาการระคายเคืองของดวงตา

ชื่อการค้าของยาโทบรามัยซินที่คุ้นหูกันในท้องตลาดคือ Tobrex และ TobraDex เป็นต้น

หลังได้รับยาโทบรามัยซินเข้าสู่ร่างกาย ระดับยาจะมีความเข้มข้นสูงสุดโดยใช้เวลา 30 – 90 นาที และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะภายในเวลา 2 - 3 ชั่วโมง ยานี้จัดเป็นยาอันตรายต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น

ยาโทบรามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โทบรามัยซิน

สรรพคุณของยาโทบรามัยซินในรูปแบบของยาหยอดตา รักษาภาวะหนังตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เยื่อตาอักเสบ รักษาการติดเชื้อในบริเวณกระจกตา (กระจกตาถลอก กระจกตาอักเสบ)

ยาโทบรามัยซินในรูปแบบของยาฉีด มีสรรพคุณรักษาการติดเชื้อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กทารก และรักษาการติดเชื้อในบริเวณอุ้งเชิงกราน

ยาโทบรามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทบรามัยซิน คือยาจะเข้าไปจับกับ 30s Ribosome (สารพันธุ กรรมชนิดหนึ่ง) ซึ่งอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ จึงหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด

ยาโทบรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยมักพบยาโทบรามัยซินจัดจำหน่ายในรูปแบบยาหยอดตาที่ความเข้มข้น 0.3% ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร, และขี้ผึ้งป้ายตาที่ความเข้มข้น 0.3% ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม โดยยังไม่มียาในรูปแบบฉีด

ยาโทบรามัยซินมีวิธีการใช้อย่างไร?

วิธีการใช้ยาโทบรามัยซิน คือ

  • ในรูปแบบของยาหยอดตา: หยอดตาข้างที่มีการอักเสบติดเชื้อครั้งละ 1 - 2 หยด ทุก 4 ชั่วโมง กรณีที่ติดเชื้อรุนแรง สามารถหยอดทุกชั่วโมง ครั้งละ 2 หยดจนกระทั่งอาการดีขึ้น
  • ในรูปแบบยาขี้ผึ้งป้ายตา: ให้บีบยาเป็นทางยาวประมาณครึ่งนิ้ว ป้ายตาข้างที่มีการอักเสบวันละ 2 - 3 ครั้ง หากติดเชื้อรุนแรงให้ป้ายตาทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการดีขึ้น
  • ในรูปแบบยาฉีดใช้ขนาด 3 - 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 - 4 ครั้ง เป็นเวลา 7 - 10 วัน

ทั้งนี้ ขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมสามารถตรวจสอบจากฉลากยา และ/หรือเอกสารกำกับยา และควรต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาโทบรามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินหรือฉีดแล้ว มีอาการคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หรือมีประวัติแพ้ยาหยอดตาบางตัวหรือไม่ (เช่น หยอดตาแล้ว เคืองตามากขึ้น คันตา ตาแดงมาก แสบตา น้ำตาไหล ตาพร่า ตาบวม)
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา หยอดยา อะไรอยู่ เพราะยาโทบรามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้

ยาโทบรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโทบรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้

  • ในรูปแบบยาหยอดตา สามารถก่อให้เกิดอาการ คัน บวมบริเวณตา เยื่อบุตาบวม และแดง
  • ในรูปแบบของยาฉีด อาจพบว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก คลื่นไส้ อา เจียน วิงเวียน มีอาการรู้สึกเหมือนบ้านหมุน ไตวายเฉียบพลัน เกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล มีอา การทางสมอง เช่น อาการสับสน ซึม ประสาทหลอน และการได้ยินของหูลดลง เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาโทบรามัยซินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาโทบรามัยซิน ได้แก่

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาโทบรามัยซิน
  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยาหยอดตาโทบรามัยซินที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับการติด เชื้อเริม เชื้อรา และเชื้อ Mycobacteria นอกจากนี้หากใช้หยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดต้อหิน หรือมีการทำลายของเส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณลูกตา และต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระจกตาบาง
  • ระหว่างการหยอดตาโทบรามัยซินไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์
  • สำหรับยาฉีด ควรระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีอาการได้ยินผิดปกติ ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน
  • ระวังการใช้ยาโทบรามัยซินทุกรูปแบบจำหน่ายกับ ผู้สูงอายุ เด็กทารก และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทบรามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโทบรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาโทบามัยซินกับยาตัวอื่นๆ คือ

  • การใช้โทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดภาวะไตทำงานผิดปกติ สูญ เสียการได้ยิน ร่างกายขาดน้ำ ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่น ฟูโลซิไมด์ (Furosemide )
  • การใช้โทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว สามารถทำให้ระดับความเข้มข้นของยา นั้นสูงขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายที่ไตและเส้นประสาท โดยอาจพบอาการวิงเวียน การได้ยิน เสียงไม่ชัดเจน กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle twitch) มีไข้ หนาวสั่น ยาปฏิชีวนะดังกล่าว ได้แก่ อะมิ คาซิน (Amikacin) แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
  • การใช้ยาโทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งบางตัว สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับไต (ไตวาย) การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งดังกล่าว ได้แก่ ซิสพลาติน (Cisplatin)

ควรเก็บรักษายาโทบรามัยซินอย่างไร?

การเก็บรักษายาโทบรามัยซิน

  • สำหรับยาหยอดตา ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 8 - 27 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาฉีดให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ เก็บยาทุกรูปแบบ ให้พ้นแสงแดด ให้อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโทบรามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโทบรามัยซินในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
DW Tobramycin (ดีดับเบิ้ลยู โทบรามัยซิน) Daewoong Pharma
Tobradex (โทบราเดกซ์) Alcon
Tobramycin Alcon (โทบรามัยซิน อัลคอน) Alcon
Tobrex (โทเบรก) Alcon
Zylet (ไซเลต) Bausch & Lomb

บรรณานุกรม

1.https://www.mims.com/Thailand/drug/info/DW%20Tobramycin/?q=tobramycin&type=brief [2014,May1]
2. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=tobramycin [2014,May1].
3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Zylet/?q=tobramycin&type=brief [2014,May1].
4. http://en.wikipedia.org/wiki/Tobramycin [2014,May1].
5. http://www.drugs.com/drug-interactions/tobramycin.html [2014,May1].
6. http://www.medicinenet.com/tobramcyin-ophthalmic_drops/page3.htm#Storage [2014,May1].
7. http://www.rxlist.com/tobramycin-injection-drug/indications-dosage.htm [2014,May1].
8. MIMS Pharmacy Thailand 9th Edition 2009 [2014,May1].