เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) เป็นสารประเภท Noradrenergic and Specific Seroto nergic Antidepressant (NaSSA, กลุ่มสารออกฤทธิ์ที่สมองต้านอาการซึมเศร้า) นำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า รวมถึงอาการวิตกกังวล ภาวะความเครียด อาการนอนไม่หลับ ภาวะคลื่นไส้อาเจียน ไปจนกระทั่งลดอาการปวดศีรษะ และบำบัดอาการโรคไมเกรน การใช้ยานี้ยังมีประเด็นสำคัญๆที่แพทย์ต้องสอบถามและตรวจร่างกายผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยก่อนเลือกใช้ยาเมอร์เทซาปีน เช่น

  • ผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOI อยู่ก่อนหรือไม่ด้วยการใช้ยาร่วมกันกับยาเมอร์เทซาปีนจะ ก่อให้เกิดอันตรายจากปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกัน
  • ยาต้านโรคซึมเศร้าที่ใช้กับผู้ป่วยในช่วงเริ่มต้น มักจะกระตุ้นให้อารมณ์แปรปรวน บางกรณี กระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากฆ่าตัวตายโดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แพทย์ให้ความสำคัญและต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก
  • ประสิทธิภาพในการรักษาของยาต้านโรคซึมเศร้ากว่าจะออกฤทธิ์และเห็นผลชัดเจน อาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และแพทย์จะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยรวมถึงญาติรับรู้ในประเด็นนี้ด้วย
  • ถ้าผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยานี้มาก่อนก็จะถือเป็นข้อห้ามและไม่สามารถนำยาเมอร์เทซาปีนมาใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเมอร์เทซาปีนที่พบเห็นได้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยการดูดซึมของยาจากระบบทางเดินอาหารอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 85%โดยประมาณ ก่อนที่จะถูกส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทาง เคมี ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 - 40 ชั่วโมง เพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ในประเทศไทยคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาเมอร์เทซาปีนอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดรับประทาน ระยะเวลาของการใช้ ข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียง ข้อห้ามใช้ ซึ่งแพทย์ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน

เมอร์เทซาปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมอร์เทซาปีน

ยาเมอร์เทซาปีนมีสรรพคุณรักษาอาการของโรคซึมเศร้า

เมอร์เทซาปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมอร์เทซาปีนคือ ตัวยาจะเพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองประ เภท Noradrenergic และ Serotoneric neurotransmission และจากการปรับสมดุลของสารเคมีดัง กล่าวก่อให้เกิดฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้าขึ้นมา

เมอร์เทซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมอร์เทซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 15, 30 และ 45 มิลลิกรัม/เม็ด

เมอร์เทซาปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมอร์เทซาปีนมีขนาดรับประทานดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 15 มิลลิกรัม/วัน แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเมื่อใช้ยาไปแล้ว 1 - 2 สัปดาห์ ขนาดรับประทานที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ที่ 15 - 45 มิลลิกรัม/วัน อาจให้ยาเพียงครั้งเดียวก่อนนอนหรือจะแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน และสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมอร์เทซาปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมอร์เทซาปีนอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมอร์เทซาปีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เมอร์เทซาปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมอร์เทซาปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น กระตุ้นให้อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม มีอาการบวมของร่างกาย ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับมีปริมาณเพิ่มขึ้น เกิดภาวะดีซ่าน ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นคันตามผิวหนัง ฝันร้าย ประสาทหลอน ประสาทสัมผัสเพี้ยน เกิดอาการชัก เกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เกิดภาวะทางเลือดเช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ (เช่น ภาวะAgranulocytosis Leucopenia และ ภาวะ Granulocytopenia)

สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะตรวจพบอาการง่วงนอน ความจำเสื่อม หัวใจเต้นเร็ว การรัก ษาจะต้องทำให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและควบคุมการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติ รวมถึงห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพราะจะเกิดการสำลักเศษอาหารเข้าปอด แพทย์อาจให้การล้างท้องกรณีที่เพิ่งรับประทานยาเกินขนาดมาใหม่ๆ

มีข้อควรระวังการใช้เมอร์เทซาปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมอร์เทซาปีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI ก่อนการใช้เมอร์เทซาปีนควรหยุดการใช้ MAOI อย่างน้อย 14 วัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา และเฝ้าระวังการใช้ยากับผู้ที่มีอายุช่วง 18 - 24 ปี ด้วยกลุ่มยาต้านซึมเศร้าสามารถทำให้อารมณ์ของช่วงวัยรุ่นแปรปรวนและก่อให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชักหรือเคยมีประวัติชัก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ และยังรวมไปถึงผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว/ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) และผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • หยุดใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการดีซ่านเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะ ที่ทำให้ง่วงนอน และอาจมีประสาทหลอนหรืออาการชัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมอร์เทซาปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมอร์เทซาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมอร์เทซาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาเมอร์เทซาปีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • การใช้เมอร์เทซาปีนร่วมกับยา Dextromethorphan, Fentanyl, Nortriptyline อาจเกิด ความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการ Serotonin syndrome ซึ่งอาจมีอาการสับสน ประสาทหลอน ชัก ความดันโลหิตเปลี่ยน มีไข้ หัวใจเต้นเร็วขึ้น กรณีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะโคม่าและเสีย ชีวิต (ตาย) ในที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาเมอร์เทซาปีนร่วมกับยา Bupropion โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาในขนาดสูงกับผู้สูงอายุสามารถกระตุ้นการชักให้เกิดขึ้นได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเมอร์เทซาปีนร่วมกับยา Hydrocodone (ยาแก้ปวดกลุ่มยา Opioid) อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ และความสามารถในการครองสติลดต่ำลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเมอร์เทซาปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมอร์เทซาปีนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมอร์เทซาปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมอร์เทซาปีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Remeron SolTab (เรเมอรอน โซลแท็บ) MSD

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Mirtazapine [2015,June6]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/mirtazapine?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June6]
3 http://www.drugs.com/mirtazapine.html [2015,June6]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Remeron%20SolTab/?type=brief [2015,June6]
5 http://www.medscape.com/viewarticle/410902_2 [2015,June6]
6 http://www.drugs.com/dosage/mirtazapine.html [2015,June6]