เฟลบาเมท (Felbamate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟลบาเมท (Felbamate) เป็นยารักษาอาการชัก เหมาะที่จะใช้รักษาอาการชักแบบรุนแรง ในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล และครอบครัว ด้วยยาเฟลบาเมทสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงต่อระบบการทำงานของเม็ดเลือด โดยทำให้เม็ดเลือดทุกชนิด ของร่างกายมีระดับต่ำลง และอาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ

ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยาเฟลบาเมทแพทย์จะต้องตรวจเลือดดูการทำงานของตับว่าเป็นปกติดีหรือไม่ และระหว่างที่ใช้ยานี้ประมาณทุกๆ 1-2 สัปดาห์ แพทย์ก็จะให้ตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะๆไป

ยาเฟลบาเมท มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร ยาเฟลบาเมทในกระแสเลือดจะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 22–25% และสามารถซึมผ่านน้ำนมของมารดาได้ จึงต้องระวังเป็นอย่างมากเมื่อจะใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ตับจะเป็นอวัยวะหลักที่คอยทำลายโครงสร้างทางเคมีของยานี้ และด้วยขั้นตอนการกระจายตัวรวมถึงกระบวนการทางเคมีของยาเฟลบาเมทขณะอยู่ในกระแสเลือด จึงส่งผลให้ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14–23 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งยาส่วนมากไปกับปัสสาวะและบางส่วน(น้อยกว่า 5%)ไปกับอุจจาระ

อนึ่ง ยาเฟลบาเมทสามารถใช้รักษาอาการชักได้ ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก

ก.กรณีของผู้ใหญ่ซึ่งรวมผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป: สามารถใช้ยาเฟลบาเมทรักษาอาการชักเฉพาะที่ (Partial seizure) หรือลมชักกระตุกแบบทั้งตัว (Generalize seizure) เช่น Generalised tonic-clonic seizures ซึ่งอาจใช้ยานี้ในลักษณะยาเดี่ยวหรือจะใช้เป็นยาเสริมการรักษาร่วมกับยากันชักชนิดอื่นๆโดยต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

ข.กรณีของผู้ป่วยเด็กที่มีอายุระหว่าง 2–14 ปี: มักจะใช้ยาเฟลบาเมทเป็นตัวยาเสริมร่วมรักษาพร้อมกับยากันชักชนิดอื่น โดยใช้รักษาอาการชักเฉพาะที่ รวมถึงอาการชักเกร็งทั้งตัว(Generalized seizures associated with Lennox-Gastaut syndrome)

ยังมีข้อห้าม ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติอยู่หลายประการสำหรับผู้ป่วย/ผู้บริโภคที่ควรทราบก่อนที่จะใช้ตัวยาเฟลบาเมท อาทิ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคเลือด ผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานได้น้อย ผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของตับผิดปกติ
  • ต้องเพิ่มความระวังเป็นอย่างมากเมื่อต้องใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ตัวยาเฟลบาเมทสามารถส่งผ่านเข้าถึงทารกโดยผ่านไปกับน้ำนมของมารดา ยานี้จึงอาจก่ออันตรายต่อทารกได้
  • การใช้ยานี้ต่อเนื่อง สามารถสร้างผลกระทบ(ผลค้างเคียง)ต่อภาวะจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วย เช่น ทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงการคิดทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ แพทย์ พยาบาลจะประสานงานกับญาติของผู้ป่วยให้ช่วยเฝ้าระวังพฤติกรรมทางอารมณ์ขณะอยู่ในที่พักอาศัย
  • การใช้ยาหลายชนิดร่วมกับยาเฟลบาเมท สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงหรือทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเฟลบาเมทด้อยลง แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องทราบประวัติการใช้ยาที่เป็นปัจจุบันของผู้ป่วย รวมถึงห้ามมิให้ผู้ป่วยใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาเฟลบาเมทโดยมิได้ขออนุญาตจากแพทย์ผู้รักษาก่อน
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยพลการ เพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น เกิดอาการชักที่รุนแรง
  • การใช้ยานี้จะต้องมีความต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่ง ถึงแม้จะไม่มีอาการชักใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องใช้ยาต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะสั่งปรับลดขนาดการใช้ยานี้ ในที่สุด
  • ยานี้อาจทำให้มีอาการ ง่วงนอน วิงเวียน ผู้ป่วยต้องงดการขับขี่ยวดยานพาหนะ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลชนิดต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • สตรีที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และขณะเดียวกันก็ใช้ยาเฟลบาเมทร่วมด้วย จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ด้วยยาเฟลบาเมทสามารถลดการออกฤทธิ์ของยาเท็ดคุมกำเนิด การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน จึงต้องใช้การคุมกำเนิด วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใส่ถุงยางอนามัยชาย หรือ ใส่ห่วงอนามัย
  • เรียนรู้สภาวะร่างกายเมื่อเกิดความผิดปกติของระบบเลือด และของตับจาก แพทย์พยาบาล เภสัชกร ประกอบกับต้องมารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์นัดเป็นระยะๆทุกครั้ง

การใช้ยาเฟลบาเมทของผู้ป่วย ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด การรับประทานยานี้เกินขนาดสามารถทำให้เกิดอันตรายตามมา และปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษของยาเฟลบาเมทอย่างเป็นทางการ แพทย์จะรักษาตามอาการพิษที่เกิดขึ้นเท่านั้น ญาติผู้ป่วยต้องมีส่วนร่วมติดตามการใช้ยานี้กับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้ป่วยได้ใช้ยาเฟลบาเมท แต่อาการของโรคลมชักไม่ดีขึ้นหรือมีอาการทรุดลง จะต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

เฟลบาเมทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เฟลบาเมท

เฟลบาเมทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาอาการชักเฉพาะที่ รวมถึงอาการลมชักแบบชักทั้งตัว

เฟลบาเมทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์/แพทย์/เภสัชกร ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟลบาเมทอย่างชัดเจน แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับ(Receptor)ประเภท Gaba-receptor และ Benzodiazepine receptor จึงส่งผลต่อการนำกระแสประสาทของสมองให้กลับมาเป็นปกติ และเป็นเหตุให้บรรเทาอาการชักได้ตามสรรพคุณ

เฟลบาเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟลบาเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Felbamate 400 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Felbamate ขนาด 600 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เฟลบาเมทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟลบาเมท มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่/ผู้ที่อายุมากกว่า 14 ปี: กรณีใช้เป็นยาเดี่ยวให้รับประทานขนาด 1.2 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3–4 ครั้งตามแพทย์สั่ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 600 มิลลิกรัม ทุก 2 สัปดาห์ จนมีขนาดรับประทานเป็น 2.4 กรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3.6 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 2–14 ปี: รับประทานยาขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3–4 ครั้งตามคำสั่งแพทย์ และทุกสัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่ม ขนาดรับประทานอีก 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาโรคลมชัก/ยาต้านชัก ตัวอื่น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาเฟลบาเมทตามความเหมาะสม
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะลดขนาดรับประทานของยาเฟลบาเมทลงครึ่งหนึ่ง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟลบาเมท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคของระบบเลือด/โรคเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟลบาเมท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟลบาเมท สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเฟลบาเมท อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น เกิดอาการชักรุนแรง ดังนั้นจึงควรรับประทานยานี้ตรงเวลาเสมอ

เฟลบาเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟลบาเมทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดจ้ำห้อเลือด เม็ดเลือดขาวลดต่ำหรือไม่ก็สูง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากแห้ง ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น ไมเกรน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เกิดสิว ลมพิษ ผมร่วง มีกลิ่นตัว ผื่นแพ้แสงแดด เหงื่อออกมาก Stevens-Johnson Syndrome
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า หนังตากระตุก เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ก้าวร้าว รู้สึกสับสน มีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อจมูกอักเสบ เจ็บหน้าอก ไอ ไซนัสอักเสบ กดการหายใจ
  • อื่นๆ: เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอด/ประจำเดือนผิดปกติ ในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้เฟลบาเมทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟลบาเมท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ทันที โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟลบาเมทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภํณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ เมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฟลบาเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟลบาเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟลบาเมทร่วมกับยา Gabapentin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากเฟลบาเมทเพิ่มสูงขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเฟลบาเมทร่วมกับยา Carbamazepine , Phenytoin , Phenobarbital, เพราะจะทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาเฟลบาเมทลดลง
  • ห้ามใช้ยาเฟลบาเมทร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และยังมีผลลดการทำงานของไขกระดูก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟลบาเมทร่วมกับยา Hydrocodone เพราะจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ตามมา

ควรเก็บรักษาเฟลบาเมทอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟลบาเมทภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เฟลบาเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟลบาเมท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Felbatol (เฟลบาทอล)Meda Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/felbamate.html[2017,May6]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/felbamate/?type=brief&mtype=generic[2017,May6]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Felbamate[2017,May6]
  4. https://www.drugs.com/monograph/felbamate.html[2017,May6]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/felbamate,felbatol-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May6]