ภาวะรกเสื่อม (Placental insufficiency)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาวะรกเสื่อม

ภาวะรกเสื่อม (Placental insufficiency) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรก (Placenta) ซึ่งส่งผลให้รกทำงานผิดปกติ ส่งผลต่อเนื่องถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อันอาจส่งผลให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิด การแท้ง ทารกอาจเสียชีวิตหลังคลอด หรือเมื่อคลอดจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อสูง ตลอดจนการเจริญเติบโตช้าหลังคลอด

รกมีหน้าที่เป็นตัวนำอาหาร น้ำ เลือด อากาศจากเลือดของมารดาเพื่อการเลี้ยงดูทารกในครรภ์ พร้อมกับนำของเสียทั้งหมดจากทารกกลับเข้าสู่เลือดของมารดา โดยกระบวนการทั้งหมดผ่านทางหลอดเลือดในสายสะดือ โดยสายสะดือจะเชื่อมต่อระหว่างทารกกับรก ส่วนรกจะเชื่อมต่อกับร่างกายมารดาโดยการยึดเกาะกับเยื่อบุโพรงมดลูก

นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้ว รกยังสร้างฮอร์โมนเพื่อช่วยการเจริญเติบโตเพิ่มความแข็งแรงต่อเยื่อบุโพรงมดลูกและต่อผนังมดลูกซึ่งคือ ฮอร์โมน hCG (Human chorionic gonado tropin) และฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของต่อมน้ำนมในเต้านมเพื่อการสร้างน้ำนม (Human placental lactogen)

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกเสื่อมคือ โรคและภาวะต่างๆของมารดาที่สำคัญเช่น ภาวะขาดอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง โรคเลือด มารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ การได้รับสารพิษขณะตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา

แพทย์วินิจฉัยภาวะรกเสื่อมได้จากการตรวจร่างกายมารดา การตรวจการเคลื่อนไหว น้ำหนัก การเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ และอาจจากการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์

การป้องกันภาวะรกเสื่อมคือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และมารดาควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์พยาบาลตั้งแต่เริ่มการตั้งครรภ์ ดังนั้นเมื่อสงสัยการตั้งครรภ์จึงควรต้องพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ

บรรณานุกรม

  1. Placenta http://en.wikipedia.org/wiki/Placenta [2015,Sept19].
  2. Placental insufficiency http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001485.html [2015,Sept19].
Updated 2015, Sept 19