ไฮโดรมอร์โฟน (Hydromorphone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮโดรมอร์โฟน(Hydromorphone หรือ Hydromorphone hydrochloride) หรืออีกชื่อคือ ไดไฮโดรมอร์ฟิโนน (Dihydromorphinone) เป็นอนุพันธ์ประเภท แอลคาลอยด์(Alkaloid)กึ่งสังเคราะห์ของยามอร์ฟีน (Morphine) ยาไฮโดรมอร์โฟนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตั้งแต่ระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรง ตามกฎหมายไทยจัดให้ยาไฮโดรมอร์โฟนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 จะมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาไฮโดรมอร์โฟนมีทั้งยาประเภทรับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก ยาเหน็บทวารหนัก ยาอมใต้ลิ้น พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง โดยหลังการดูดซึมยาเข้ากระแสโลหิต ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15–30 นาที และมีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน ประมาณ 4–5 ชั่วโมง ขณะที่ตัวยาอยู่ในร่างกาย ตับจะคอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ด้วยยาไฮโดรมอร์โฟนมีฤทธิ์เสพติด การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่จัด เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้ในการบำบัดอาการเจ็บปวด ด้วยตัวยาอาจก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายหรือทำให้อาการของโรคประจำตัวต่างๆกำเริบมากขึ้น ซึ่งพอจะสรุปข้อจำกัดการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนได้ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง หรือผู้ที่มีปัญหาการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ผู้ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน ไม่เหมาะที่จะใช้ยาชนิดนี้ ด้วยตัวยาจะทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้น้อยลง และส่งผลเสียให้มีอาการมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาทั้ง2กลุ่มที่รุนแรงตามมา ทางคลินิกแนะนำให้เว้นระยะห่างของการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศอย่าง Hypogonadism(ภาวะมีฮอร์โมนเพศต่ำ)ด้วยการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนเป็นเวลานาน สามารถทำให้สภาวะพร่องฮอร์โมนดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ยาไฮโดรมอร์โฟน อาจทำให้ความดันโลหิตของผู้ใช้ยาลดต่ำลงมากยิ่งขึ้น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
  • ผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด หรือติดสุรา หรือมีปัญหาทางจิตประสาท/จิตเวช ไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้ ด้วยอาจกระตุ้นการติดยาให้กลับมาใหม่ หรืออาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมาภายหลัง เคยมีรายงานผู้ที่ใช้ยานี้พร้อมกับดื่มสุรา สามารถทำให้เสียชีวิตได้

ยาไฮโดรมอร์โฟน ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง วิงเวียน ง่วงนอน อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละรายต่อยานี้ที่จะแตกต่างกันออกไป

ในประเทศไทยอาจไม่พบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ แต่ในต่างประเทศจะพบการจัดจำหน่ายภายใต้การควบคุมของรัฐในชื่อการค้าว่า Dilaudid

ไฮโดรมอร์โฟนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไฮโดรมอร์โฟน

ยาไฮโดรมอร์โฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการปวดระดับปวดรุนแรงปานกลาง – ระดับรุนแรงมาก เช่น ปวดจากการผ่าตัด ปวดจากโรคมะเร็ง ปวดจากบาดแผลขนาดใหญ่ต่างๆรวมถึงแผลไฟไฟไหม้ขนาดใหญ่
  • บำบัดและบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดจากโรคมะเร็ง
  • บำบัดอาการไอเรื้อรัง

ไฮโดรมอร์โฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไฮโดรมอร์โฟนเป็นยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด มี กลไกการออกฤทธิ์สั้นกว่ายามอร์ฟีน แต่มีความแรงในการบำบัดอาการปวดมากกว่ามอร์ฟีนถึง 8 เท่า ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Opioid mu-receptors รวมถึง Kappa-receptors ส่งผลลดการนำกระแสประสาทและความรู้สึกเจ็บ/ปวดที่ถูกส่งผ่านไปตามไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้อาการเจ็บ/ปวดตลอดเวลาที่ตัวยานี้มีการออกฤทธิ์

ไฮโดรมอร์โฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮโดรมอร์โฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Hydromorphone HCl/hydrochloride ขนาด 2, 4,และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Hydromorphone HCl ขนาด 1,2, และ 4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวารหนักที่มีส่วนประกอบ Hydromorphone ขนาด 3 มิลลิกรัม/แท่ง

ไฮโดรมอร์โฟนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไฮโดรมอร์โฟนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับบรรเทาอาการปวด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 2–4 มิลลิกรัม ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง หากจำเป็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2–8 มิลลิกรัม ทุก 3–4 ชั่วโมง หรือใช้ยาเหน็บทวารหนักขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม เหน็บทวารหนักทุกๆ 6–8 ชั่วโมง หรือใช้ยาฉีดขนาด 1–2 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือใต้ผิวหนังทุกๆ 4–6 ชั่วโมง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับบรรเทาอาการไอ:

  • ผู้ใหญ่และผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 1 มิลลิกรัม ทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6–12 ปี: รับประทานยาครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม ทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ แพทย์อาจต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไฮโดรมอร์โฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรมอร์โฟน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮโดรมอร์โฟน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้ง อาจทำให้มีอาการถอนยาตามมาได้

ไฮโดรมอร์โฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ไฮโดรมอร์โฟนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะHypogonadism สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ท้องอืด ปวดท้อง อาเจียน ปากแห้ง เกิดภาวะลำไส้อุดตัน เกิดริดสีดวงทวาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ สูญเสียความจำความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เกิดภาวะหย่อนการรับรู้ร้อน/เย็น ตัวสั่น หนังตากระตุก ความดันในกะโหลกศีรษะสูงเพิ่มขึ้น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กดการไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า หัวใจหยุดเต้น ภาวะช็อก
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะหด/เกร็งตัวของท่อน้ำดี/ปวดท้องด้านขวาตอนบน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ภาวะขาดน้ำ เกลือยูริคในปัสสาวะเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาเล็กลง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หงุดหงิด ฝันร้าย อารมณ์แปรปรวน ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก/หลอดลมหดเกร็งตัว กล่องเสียงหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก กดการหายใจ น้ำมูกมาก

มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรมอร์โฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือสียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ที่บาดเจ็บทางศีรษะ ผู้มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ที่มีปัญหาการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  • รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮโดรมอร์โฟนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไฮโดรมอร์โฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮโดรมอร์โฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนร่วมกับยากลุ่ม TCAs ยาบำบัดอาการทางจิต/ยารักษาทางจิตเวช และยานอนหลับ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาทมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนร่วมกับยา Ciprofloxacin ด้วยจะทำให้ระดับยาCiprofloxacin ในเลือดน้อยลงจนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Ciprofloxacin ด้อยลงไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง อย่างเช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ ได้มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไฮโดรมอร์โฟนร่วมกับยา Tramadol ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการลมชักตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไฮโดรมอร์โฟนอย่างไร?

ควรเก็บยาไฮโดรมอร์โฟน ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไฮโดรมอร์โฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮโดรมอร์โฟน โดยทั่วไป มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dilaudid (ไดลอดิด)Hospira

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นๆของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Exalgo, Hydrostat, Palladone, Vicoprofen

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/hydromorphone.html[2017,Feb4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hydromorphone[2017,Feb4]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00327[2017,Feb4]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/019034s018lbl.pdf[2017,Feb4]