ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ (Hydroflumethiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
- ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- Thiaside
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคไต (Kidney disease)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
บทนำ
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ (Hydroflumethiazide)เป็นยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) ทางคลินิกใช้เป็นยาลดอาการบวมน้ำของร่างกายอันเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลว ป่วยเป็นโรคตับแข็ง หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ตัวยา กลุ่ม Corticosteroid หรือการใช้ฮอร์โมน Estrogen นอกจากนี้ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ยังสามารถนำมาใช้บำบัดโรคความดันโลหิตสูง ทางการแพทย์พบว่าการปล่อยให้เกิดความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้อวัยวะระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักจนก่อให้เกิด ภาวะเส้นเลือดฝอยในสมองเสียหาย, มีภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดความเสียหายที่ไตและเป็นที่มาของภาวะไตวาย
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ก็คล้ายกับยาไทอะไซด์ตัวอื่นๆ คือ การผลักดันให้น้ำออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ และในขณะเดียวกันตัวยาก็ยับยั้งการดูดสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ต่างๆกลับเข้าสู่ร่างกาย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์เป็นแบบรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทานยาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง และร่างกายสามารถกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ
ในปัจจุบัน ยังไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเราอาจจะพบเห็นยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Saluron” และ “Diucardin”
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ จะออกฤทธิ์ที่ไต โดยตัวยาจะเร่งการขับออกของน้ำและ สารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ต่างๆผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ส่งผลบรรเทาอาการบวมน้ำและทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ตามสรรพคุณ
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Hydroflumethiazide ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับลดอาการบวมน้ำของร่างกาย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาวันละ 50–100 มิลลิกรัม โดยแบ่งการรับประทานเป็น 1-2 ครั้ง จากนั้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานเป็น 25–50 มิลลิกรัม วัน-เว้น-วัน หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 12.5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25–50 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจใช้ยานี้เพียงลำพัง หรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงตัวอื่น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
- เด็ก: รับประทานยาวันละ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง: ยานี้สามารถรับประทานพร้อมอาหารได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด /หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ ขับปัสสาวะไม่ออก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อนึ่ง:
- ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำจาก แพทย์/เภสัชกร ล่วงหน้าว่า ในกรณีลืมรับประทานยาควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาตรงเวลา
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ตับอ่อนอักเสบ รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีอาการชัก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีน้ำตาลในปัสสาวะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ น้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะเก๊าต์คุกคาม
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดอาการ ตัวเหลือง มีภาวะดีซ่าน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อตา: เช่น เห็นภาพต่างๆมีสีเหลือง
- ผลต่อระบบเลือด :เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะโลหิตจาง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ลมพิษ
*อนึ่ง: กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด จะเกิด ภาวะกดการหายใจ ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก และคนชรา โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ ที่อยู่ในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยอาการ Addison’s disease
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับแข็ง โรคเก๊าต์ โรคเบาหวาน
- หากมีอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดการใช้ยาทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- กรณีที่ใช้ยานี้ไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยาAmiodarone จะส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยาทั้งสองอย่างรุนแรง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยาBarbital ด้วยเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงตามมา
- ห้ามใช้ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยาAbacavir ด้วยจะทำให้ร่างกายขับยาAbacavir ออกจากร่างกายมากขึ้น จนเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาAbacavirด้อยลง
- ห้ามใช้ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ ร่วมกับยาAllopurinol ด้วยก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะกระตุ้นร่างกายให้มีอาการแพ้ยา Allopurinol มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งทำลายยาลงในแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ
ไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฮโดรฟลูเมตไทอะไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Diucardin (ดิยูคาร์ดิน) | Wyeth |
บรรณานุกรม
- https://www.rxlist.com/diucardin-drug.htm#side_effects [2019,Jan12]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/hydroflumethiazide?mtype=generic [2019,Jan12]
- https://www.drugs.com/imprints/50-diucardin-2521.html [2019,Jan12]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00774 [2019,Jan12]