ไฮออสซีน (Hyoscine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไฮออสซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสซีนอย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไฮออสซีนอย่างไร?
- ยาไฮออสซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์: เอซีเฮชอีไอ (Acetylcholinesterase inhibitor: AChEI)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
บทนำ
ยาไฮออสซีน (Hyoscine หรือ Hyoscine butylbromide) เป็นยารักษาและบรรเทาอาการปวดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ถูกจดทะเบียนยาครั้งแรกที่ประเทศเยอรมันนีในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และจัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) และเป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้จากวงการแพทย์เป็นอย่างมาก
ยาไฮออสซีน ได้ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุไฮออสซีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย ประชาชนคนไทยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ในหลายสถานพยาบาลทั่วประเทศ
วิธีกระจายตัวยานี้ในร่างกายได้ถูกนำไปศึกษาและพบว่า เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าในกระแสเลือด ไฮออสซีนสามารถออกฤทธิ์ได้ภายในประมาณ 10 นาที มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 2 ชั่ว โมงโดยประมาณ ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่ว โมงในการกำจัดไฮออสซีน 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ
ยาไฮออสซีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา จึงควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
ยาไฮออสซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาไฮออสซีน เช่น
- รักษาและบรรเทาอาการปวดเกร็งของช่องท้องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหารรวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ
ยาไฮออสซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮออสซีนคือ ตัวยาจะเข้าไปแข่งขันและยับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า มาสคารินิก (Mascarinic receptors) ทำให้เกิดผลแสดงออกที่ระบบ ประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในเกิดการคลายตัว ประกอบกับลดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาไฮออสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮออสซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาไฮออสซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไฮออสซีนสำหรับรักษาอาการปวดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ โดยมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง
ข. เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
ค. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
อนึ่ง:
*ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้เกินขนาด จะมีอาการ เช่น
- รูม่านตาขยาย
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตสูง
- เกิดภาวะกดประสาทส่วนกลาง (เช่น ซึม)
- ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (เข่น ตัวเขียว)
- ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG: Electrocardiography) ผิดปกติ
- การหายใจล้มเหลว (เช่น หายใจเร็ว เบา หายใจลำบาก)
*ซึ่งหากพบอาการข้างต้น ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที เพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย ลดไข้ด้วยน้ำแข็งหรือแอลกอฮอล์ (Alcohol sponges) ซึ่งหากมีอาการหนักและรุนแรง แพทย์จะให้ ยา Physostigmine (ยากระตุ้นระบบประ สาทชนิดหนึ่ง) ขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม โดยฉีดใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้าเส้นเลือดอย่างช้าๆ อาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหลัง 2 ชั่วโมงจากการให้ยาครั้งแรก
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮออสซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไฮออสซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไฮออสซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไฮออสซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮออสซีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ใบหน้าแดง
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ความจำเสื่อม
- ผิวแห้ง
- ผิวหนังขึ้นผื่น
- เกิดผื่นแพ้แสงแดด
- ท้องผูก
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปัสสาวะไม่ออก
- รูม่านตาขยาย
- ปวดกระบอกตา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- บวมน้ำ
- น้ำมูกไหล
- แน่นจมูก
- ซึม
- ภาวะหายใจล้มเหลว
- อาจจนถึงขั้นโคม่า
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสซีน ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยในโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเลือดออกแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยในโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ และเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยที่มีแผลในลำไส้ ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮออสซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไฮออสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฮออสซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ซึม จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ดังกล่าว
- การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (เช่น ยาคลายเครียด, ยานอนหลับ) จะส่งผลให้เกิดอาการกล่อม/กดประสาทได้มากขึ้น ควรต้องเพิ่มความระวังหากต้องใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยากลุ่มต้านสารสื่อประสาท Acetylcholinesterase inhibitors เช่นยา Donepezil, Galantamine, Rivastigmine, และ Tacrine สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเหล่านี้ลดลงไปได้
ควรเก็บรักษายาไฮออสซีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไฮออสซีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไฮออสซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฮออสซีนที่มีใช้ในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amcopan (แอมโคแพน) | MacroPhar |
Antispa (แอนตี้สปา) | T P Drug |
Bacotan FC (บาโคแทน เอฟซี) | T.O. Chemicals |
Buscono (บัสโคโน) | Milano |
Buscopan (บัสโคแพน) | Boehringer Ingelheim |
Butyl (บูติล) | Masa Lab |
Cencopan (เซ็นโคแพน) | Pharmasant Lab |
Hybutyl (ไฮบูติล) | Pharmaland |
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม) | Patar Lab |
Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูติลโบรมายด์ จีพีโอ) | GPO |
Hyosman (ไฮออสแมน) | T. Man Pharma |
Hyosmed (ไฮออสเมด) | Medifive |
Hyospan (ไฮออสแพน) | Polipharm |
Hyostan (ไฮออสแทน) | Pharmaland |
Hyozin (ไฮโอซิน) | Union Drug |
Hy-Spa 10 (ไฮ-สปา 10) | Medicine Products |
Kanin (คานิน) | L. B. S. |
Myspa (มายสปา) | Greater Pharma |
Scopas (สโคพาส) | Asian Pharm |
Spascopan (สพาสโคแพน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Spasgone-H (สพาสกอน-เอ็น) | Chew Brothers |
Spasmo (สพาสโม) | Pharmahof |
U-Oscine (ยู-ออสซีน) | Umeda |
Uospan (ยูออสแพน) | Utopian |
Vacopan (วาโคแพน) | Atlantic Lab |
Vescopolamine Injection (เวสโคโพลามายด์ อินเจ็คชั่น) | Vesco Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17547475 [2020,Oct10]
- https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a6342/buscopan-hyoscine/ [2020,Oct10]
- http://mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscine&page=0 [2020,Oct10]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhyoscine%2f [2020,Oct10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hyoscine_butylbromide [2020,Oct10]