ไอโอโพรไมด์ (Iopromide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไอโอโพรไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีขนาดบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอโอโพรไมด์อย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอโอโพรไมด์อย่างไร?
- ไอโอโพรไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- สารทึบแสง สารทึบรังสี การฉีดสี (Medical contrast medium)
- โรคไต (Kidney disease)
- เมทฟอร์มิน (Metformin)
บทนำ
ยาไอโอโพรไมด์(Iopromide) เป็นสารทึบรังสี(สารทึบแสง/ X-ray contrast agent)ชนิดหนึ่งที่ทางการแพทย์ใช้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ปอด ตับ และอื่นๆ การให้ยาไอโอโพรไมด์ต้องผ่านไปทางหลอดเลือดดำหรือไม่ก็หลอดเลือดแดง สารทึบรังสีชนิดนี้สามารถละลายน้ำได้เป็นอย่างดีแต่จะไม่แตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า และสามารถสร้างภาพสะท้อนเมื่อโดนรังสีเอ็กซ์ ยาไอโอโพรไมด์ในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนเพียง ประมาณ1% และตัวยาที่เหลืออีกประมาณ 99% จะถูกลำเลียงไปยังอวัยวะเป้าหมายที่พทย์ต้องการตรวจ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดสารทึบรังสีนี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะถึงประมาณ 97% อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามฉีดสารทึบรังสีตัวนี้เข้าทางน้ำไขสันหลังด้วยจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท
ก่อนที่จะได้รับการฉีดยาไอโอโพรไมด์ แพทย์/บุคคลากรทางการแพทย์จะสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อประเมินสภาพร่างกายว่า สามารถรองรับสารทึบรังสีชนิดนี้ได้หรือไม่ เช่น
- ประวัติการแพ้ยา/แพ้สารทึบรังสี และต้องไม่มีประวัติแพ้สารประกอบจำพวกไอโอดีนด้วยโครงสร้างเคมีของยาไอโอโพรไมด์ มีไอโอดีนเป็นองค์ประกอบเช่นกัน
- ร่างกายผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่ในภาวะขาดน้ำ ด้วยปริมาณของเหลวหรือน้ำมีอิทธิพลต่อการช่วยให้ไตขับถ่ายยาไอโอโพรไมด์ไปกับปัสสาวะ
- ผู้ป่วยโรคไต ที่มีโรคตับร่วมด้วย หรือผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเม็ดเลือดแดงรูปเคียว(Sickle cell disease) ผู้ป่วยมะเร็ง ชนิด Myeloma ผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้สารทึบรังสีไอโอโพรไมด์ หากไม่มีความจำเป็นใดๆแพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ไอโอโพรไมด์กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงซึ่งรวมยาไอโอโพรไมด์ด้วย
สิ่งที่แพทย์ต้องติดตามหลังจากผู้ป่วยได้รับยาไอโอโพรไมด์ ได้แก่ อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและรบกวนระบบการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หลอดเลือด การทำงานของหัวใจ สมอง กระเพาะอาหารและลำไส้ ตาตลอดจนกระทั่ง ระบบเดินปัสสาวะ กรณีที่เกิดปัญหาต่ออวัยวะดังกล่าว แพทย์จะรีบบำบัดรักษาโดยเร็ว
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไอโอโพรไมด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เราสามารถพบเห็นการใช้สารทึบรังสีชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ
ไอโอโพรไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ตรวจหาความผิดปกติของสภาพเส้นเลือด/หลอดเลือดต่างๆในร่างกาย(Digital subtraction angiography)
- ตรวจสอบหลอดเลือดสมองว่ามีการแตกหรืออุดตันหรือไม่(Cerebral Arteriography)
- ตรวจการอุดตันของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจและใช้เป็นสารทึบรังสีเพื่อถ่ายภาพ หัวใจห้องล่างซ้าย(Coronary Arteriography & Left Ventriculography)
- ใช้ตรวจวินิจฉัย หลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดแดง ของอวัยวะภายใน(Visceral Angiography)
- ตรวจสอบเส้นเลือดดำส่วนปลายอุดตัน(Peripheral Venography)
- ตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ(Excretory Urography)
- ใช้ในกระบวนการตรวจอวัยวะต่างๆด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน(CT-scan)
ไอโอโพรไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์เป็นสารอินทรีย์ที่มีไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ กลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะทำให้ยานี้สามารถปิดกั้นแสง/รังสีเอ็กซ์เรย์ไม่ให้ผ่านเนื้อเยื่อ/อวัยวะของร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาพสะท้อนที่หลอดเลือดหรือเห็นความผิดปกติของอวัยวะเป้าหมาย ยิ่งใช้ความเข้มข้นของยานี้สูงขึ้น ก็จะเกิดภาพสะท้อนของหลอดเลือด/อวัยวะที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ไอโอโพรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีด ที่ประกอบไปด้วยสารทึบรังสี Iopromide ขนาด
- 150 มิลลิกรัมไอโอดีน/มิลลิลิตร (32%)
- 240 มิลลิกรัมไอโอดีน/มิลลิลิตร (50%)
- 300 มิลลิกรัมไอโอดีน/มิลลิลิตร (62%)
- 370 มิลลิกรัมไอโอดีน/มิลลิลิตร (77%)
ไอโอโพรไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับตรวจหาความผิดปกติของสภาพเส้นเลือดในร่างกาย:
- ผู้ใหญ่: ใช้ความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรโดย กรณีใช้ตรวจเส้นเลือด Carotid arteries ฉีดยา 6–10 มิลลิลิตร; กรณีใช้ตรวจเส้นเลือด Vertebral arteries ฉีดยา 4-8 มิลลิลิตร; กรณีใช้ตรวจเส้นเลือด Aorta ฉีดยา 20-50 มิลลิลิตร; และห้ามใช้ยาเกิน 250 มิลลิลิตร
ข. สำหรับตรวจสอบหลอดเลือดมีการแตกหรืออุดตัน
- ผู้ใหญ่: ใช้ความเข้มข้น 300 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดย กรณีตรวจเส้นเลือด Carotid arteries ฉีดยา 3–12 มิลลิลิตร; กรณีตรวจเส้นเลือด Vertebral arteries ฉีดยา 4–12 มิลลิลิตร; กรณีตรวจเส้นเลือด Aortic arch ฉีดยา 20-50 มิลลิลิตร; และห้ามใช้เกิน 150 มิลลิลิตร
ค. ตรวจสอบเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน:
- ผู้ใหญ่: ใช้ความเข้มข้น 300 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดย กรณีตรวจ Subclavian หรือ Femoral artery ฉีดยา 5–40 มิลลิลิตร; กรณีตรวจ Aortic bifurcation ฉีดยา 25–50 มิลลิลิตร; และห้ามใช้เกิน 250 มิลลิลิตร
ง. ตรวจการอุดตันของเส้นเลือที่เลี้ยงหัวใจและใช้ถ่ายภาพรังสีหัวใจห้องล่างซ้าย:
- ผู้ใหญ่: ใช้ความเข้มข้น 370 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดย กรณีตรวจ Right หรือ Left Coronary artery ฉีดยาขนาด 3–14 มิลลิลิตร; ตรวจ Left Ventricle ฉีดยา 30–60 มิลลิลิตร
จ. สำหรับทำ CT-scan:
- ผู้ใหญ่: ใช้ความเข้มข้น 300 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรโดย กรณีตรวจจับภาพศีรษะ ฉีดยา 50–200 มิลลิลิตร; กรณีจับภาพอวัยวะของร่างกาย ฉีดยาครั้งเดียวขนาด 50–200 มิลลิลิตร หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว 100–200 มิลลิลิตร
อนึ่ง:
- การเตรียมผู้ป่วย แพทย์ต้องมั่นใจว่าร่างกายผู้ป่วยไม่มี ภาวะขาดน้ำ
- ต้องทำให้สารละลายไอโอโพรไมด์ให้มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิร่างกาย แล้วจึงฉีดให้ผู้ป่วย
- ห้ามให้ยานี้โดยคิดเป็นปริมาณไอโอดีนเกิน 86 กรัม
- เด็ก: ขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโอโพรไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา/สารทึบรังสีไอโอโพรไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไอโอโพรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน การรับรสชาติผิดปกติ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ เกิดอาการไมเกรน สมองบวม
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ทำให้หลอดเลือดคลายตัว/ขยายตัวส่งผลลดความดันโลหิต เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ เยื่อตาอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ไอโอโพรไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโอโพรไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้สารประกอบไอโอดีน
- ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาไอโอโพรไมด์โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- ห้ามฉีดยาไอโอโพรไมด์เข้าทางน้ำไขสันหลัง ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น เกิดอัมพาต มีภาวะโคม่า ไตวายเฉียบพลัน ชัก หัวใจหยุดเต้น
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม กล้ามเนื้อลายสลาย เลือดออกในสมอง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และสมองบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วแจ้งแพทย์ พยาบาล ทันที
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมไอโอโพรไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอโอโพรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอโอโพรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไอโอโพรไมด์ร่วมกับ ยาMetformin ด้วยจะทำให้ไตทำงานผิดปกติและเกิดภาวะเลือดเป็นกรด
ควรเก็บรักษาไอโอโพรไมด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาไอโอโพรไมด์ ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไอโอโพรไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโอโพรไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ultravist (อัลตร้าวิสท์) | Bayer Healthcare |
บรรณานุกรม
- https://reference.medscape.com/drug/ultravist-iopromide-343771 [2018,March24]
- https://www.drugs.com/mmx/iopromide.html [2018,March24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/iopromide/?type=brief&mtype=generic [2018,March24]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/200#item-9133 [2018,March24]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/20220scp018_ultravist_lbl.pdf [2018,March24]
- https://reference.medscape.com/drug/ultravist-iopromide-343771#4 [2018,March24]