ไอโซโคนาโซล (Isoconazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอโซโคนาโซล (Isoconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อราตามผิวหนังและบริเวณช่องคลอด นอกจากนี้ยาไอโซโคนาโซลยังสามารถต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้อีกด้วย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไอโซโคนาโซลจะเป็นยาครีมใช้ทาภายนอกโดยใช้เพียงวันละครั้งเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ หรือการใช้ยานี้กับกลุ่มเชื้อราที่ค่อนข้างทนทานหรือดื้อต่อยานี้อาจต้องใช้ต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์ บางสูตรตำรับยานี้อาจผสมยา กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อย่างเช่นยาไดฟลูคอร์โทโลน (Diflucortolone) ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง

ถึงแม้ยาไอโซโคนาโซลจะเป็นยาใช้ทาภายนอก แต่ก็อยู่ในขอบข่ายที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยของยาไอโซโคนาโซลคือ อาการแสบคันหลังการใช้ยานี้

การรักษาเชื้อราตามผิวหนังจะต้องทายาไอโซโคนาโซลให้ครบคอร์ส การใช้ยาในช่วงสัปดาห์ แรกอาจพบอาการดีขึ้นแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเชื้อราในบริเวณผิวหนังจะตายหมดต้องใช้ยาต่อ เนื่องเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ในทางกลับกันการใช้ยานี้นานๆและบ่อยจนเกิน ไปก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นในบริเวณผิวหนังที่ทายาซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อราที่ไม่ตอบสนองต่อยาไอโซโคนาโซล

สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นยาไอโซโคนาโซลชนิดทาผิวหนังเพื่อบำบัดการติดเชื้อราเป็นส่วนมาก แต่จะไม่ค่อยพบสูตรที่ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ช่องคลอด ผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาไอโซโคนาโซลสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รัก ษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

ไอโซโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไอโซโคนาโซล

ยาไอโซโคนาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Corynebacterium ตามง่ามนิ้ว ใต้รักแร้
  • รักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)
  • รักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvo-vaginal mycosis)

ไอโซโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโซโคนาโซลคือ ตัวยานี้จะเข้าไปลดการสังเคราะห์สาร Ergosterol ที่ผนังเซลล์ของเชื้อราโดยรบกวนการทำงานของเอนไซม์ชื่อ Cytochrome P450 (เอนไซม์ช่วยสังเคราะห์สาร Ergosterol) การขาดสาร Ergosterol ซึ่งเป็นสารสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อรา จะทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารภายในเซลล์ของเชื้อราจนเป็นเหตุให้เชื้อราหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด

ไอโซโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโซโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาครีมทาผิวหนังขนาดความเข้มข้น 1%
  • ยาครีมทาช่องคลอดขนาดความเข้มข้น 1%

ไอโซโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไอโซโคนาโซลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อที่ผิวหนังทายาวันละครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ค่อนข้างดื้อต่อยานี้อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดของการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: การใช้ยานี้ทาแก้เชื้อราในบริเวณช่องคลอดต้องใช้อุปกรณ์ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์ในการกระจาย (ทา) ยาในบริเวณที่เกิดเชื้อราของช่องคลอด และขนาดการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโซโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาไอโซโคนาโซลสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไอโซโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโซโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น แสบ คันในบริเวณผิวหนังที่มีการทายา อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจจะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้ไอโซโคนาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซโคนาโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามนำยานี้มาป้ายตาโดยเด็ดขาด
  • ห้ามนำยาไอโซโคนาโซลที่ใช้ทาผิวหนังมาทารักษาในช่องคลอดด้วยเป็นคนละสูตรตำรับซึ่งจะใช้ส่วนประกอบที่มีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไป
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ในกรณีที่ยังใช้ยานี้ไม่ครบคอร์สการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์ด้วยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อราชนิดอื่นตามมา
  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลตามคำแนะนำของแพทย์เช่น การรักษาความสะอาดผิวหนัง
  • กรณีที่มีการติดเชื้อราในช่องคลอดแล้วยังอยู่ในระหว่างการรักษาควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
  • กรณีที่ใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมไอโซโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไอโซโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาไอโซโคนาโซลมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาทาภายนอกจึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาไอโซโคนาโซลอย่างไร?

เก็บยาไอโซโคนาโซลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไอโซโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโซโคนาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Azonit cream (อะโซนิท ครีม)Pharma International Co
Azonit vaginal cream (อะโซนิท วาไจนอล ครีม) Pharma International Co
Travogen (ทราโวเจน)Intendis
Travocort (ทราโวคอร์ด) Intendis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Isoconazole [2016,April23]
  2. http://www.mims.com/india/drug/info/isoconazole/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,April23]
  3. http://www.pic-jo.com/files/129520765362736021.pdf [2016,April23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/travogen/?type=brief [2016,April23]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/isoconazole/?type=brief&mtype=generic [2016,April23]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/travogen/?type=brief [2016,April23]
  7. http://www.dermnetnz.org/bacterial/erythrasma.html [2016,April23]
  8. http://drugs.for9.net/blog/azonit-d-cream/ [2016,April23]