ไอโซอีทารีน (Isoetarine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไอโซอีทารีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอโซอีทารีนอย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอโซอีทารีนอย่างไร?
- ไอโซอีทารีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta-adrenergic agonist)
บทนำ
ยาไอโซอีทารีน(Isoetarine หรือ Isoetharine หรือ Isoetharine mesylate หรือ Isoetharine hydrochloride) เป็นยาประเภทเบต้า2 อะโกนิสต์ (Beta2 agonist หรือ Beta 2 adrenergic agonist) ตัวยาสามารถออกฤทธิ์บริเวณหลอดลมทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดลม ทางคลินิกจึงนำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลม ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด
ยาไอโซอีทารีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ 2 ลักษณะ คือ แบบสูดพ่นเข้าทางปาก สะดวกกับผู้ป่วยสามารถนำกลับมาใช้ที่บ้านได้ อีกแบบหนึ่งเป็นสารละลายที่ต้องใช้สูดดมโดยใช้กับอุปกรณ์พ่นยาหรือที่เรียกกันว่า Nebulizer ไม่ว่าจะใช้ยานี้ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดก็ตาม ยาไอโซอีทารีนจะออกฤทธิ์ได้ดีมีประสิทธิภาพเมื่อตัวยาถูกส่งผ่านเข้าสู่ปอดของผู้ป่วยอย่างถูกต้องเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาสูดพ่นชนิดสเตียรอยด์ร่วมในการรักษาด้วย แพทย์จะแนะนำให้ใช้ไอโซทารีนสูดพ่นก่อนเพื่อทำให้หลอดลมขยายตัว จากนั้นจึงสูดพ่นสเตียรอยด์ตาม
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ยา ไอโซอีทารีน ด้วยตัวยานี้อาจกระตุ้นให้อาการโรคประจำตัวดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ โรคไต เป็นต้น
นอกจากนี้ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยาไอโซอีทารีนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และในเด็กที่มีอายุตั้งแต่12 ปีลงมา การใช้ไอโซอีทารีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้
หลังการพ่นยาไอโซอีทารีน อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)คล้ายกับยาชนิดอื่นได้ เช่น ผู้ป่วยอาจมีอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย คลื่นไส้ ปากแห้ง หรือท้องเสีย กรณีที่มีอาการดังกล่าวเกิด ในระดับรุนแรงและเกิดอาการเป็นเวลานานๆ ควรรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการบริหารยา/ใช้ยาให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ยาไอโซอีทารีนยังก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาชนิดอื่นๆได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่า ตนเองมียาประเภทอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker), TCAs ,MAOIs และยาขยายหลอดลมชนิดอื่นๆ
ปัจจุบันมียารักษาอาการหอบหืดมากมายหลายชนิดที่แพทย์ใช้เป็นยาทางเลือก ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาถึงประสิทธิผลความปลอดภัยต่อผู้ป่วยรวมถึงราคาที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาไอโซอีทารีน สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
ไอโซอีทารีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอโซอีทารีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาขยายหลอดลมใช้บรรเทาอาการหอบหืด
ไอโซอีทารีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอโซอีทารีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ของผนังหลอดลมที่มีชื่อว่า เบต้า2 รีเซพเตอร์ (Beta2 receptor) ส่งผลให้หลอดลมเกิดการขยายตัว อากาศจึงไหลเวียนผ่านหลอดลมเข้าสู่ปอดได้ดีขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้เอง จึงทำให้ป้องกัน/บรรเทาภาวะหอบหืดได้ตามสรรพคุณ
ไอโซอีทารีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ไอโซอีทารีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาสูดพ่นเข้าทางปากแบบมีแรงดันในกระบอกยาโดยมีปริมาณยา Isoetarine ขนาด 0.34 มิลลิกรัม/การสูดพ่น 1 ครั้ง
- ยาประเภทสารละลายที่มีความเข้มข้นของ Isoetarine ที่มีขนาดความเข้มข้น 0.25 และ 1%
ไอโซอีทารีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอโซอีทารีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุเกิน 12 ปีขึ้นไป: ขนาดการสูดพ่นยาเข้าทางปากจะขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องสูดพ่นยาตามคู่มือการใช้งาน กรณีที่ต้องพ่นยามากกว่า 1 ครั้งต่อการใช้ยาแต่ละครั้ง ผู้ป่วยควรเว้นระยะเวลาห่างจากการสูดพ่นครั้งแรกนาน 1 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีลงมา: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้
อนึ่ง:
- เรียนรู้อาการของหอบหืดที่มีลักษณะเป็นสัญญาณเตือนเพื่อจะใช้ยาได้ทันเวลา และหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
- ผู้ป่วยต้องเรียนรู้วิธีใช้ยาไอโซทารีนแบบสูดพ่นเข้าทางปากและปฏิบัติ ตามคู่มือการใช้งานอย่างถูกต้อง เช่น เขย่ากระบอกยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ทำความสะอาดกระบอกยา ฝาครอบ วันละครั้ง และเก็บยาไว้ในที่แห้งที่ปราศจากความร้อนและความชื้น
- การใช้ยาในลักษณะอุปกรณ์พ่นชนิด Nebulizer ต้องกระทำใน สถานพยาบาลโดยมีการควบคุมการใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโซอีทารีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซอีทารีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมพ่นยาไอโซอีทารีน สามารถใช้ยา/พ่นยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพ่นยาเป็น 2 เท่า ให้พ่นยาในขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของยา การใช้ยาไอโซอีทารีน จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไอโซทารีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโซอีทารีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ตัวสั่น รู้สึกกระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปากแห้ง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการเหงื่อออก
อนึ่ง กรณีพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไอโซอีทารีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซอีทารีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีลงมา
- ห้ามปรับขนาดการพ่นยาด้วยตนเองและใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ตัวยาตกตะกอนแข็ง หรือสียาเปลี่ยนไป
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโซทารีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอโซทารีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอโซทารีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไอโซอีทารีนร่วมกับยา Labetalol , Nadolol , Propranolol , Sotalol, เพราะอาจเป็นเหตุให้หลอดลมหดตัวตีบตัน ด้วยยากลุ่มดังกล่าวต้านฤทธิ์ของยาไอโซทารีน
- การใช้ยาไอโซอีทารีนร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและมี ความดันโลหิตสูงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้ เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยาไอโซอีทารีนร่วมกับยา Promethazine ด้วยอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- การใช้ยาไอโซอีทารีนร่วมกับยา Phentermine อาจทำให้ความดันโลหิตสูง และ หัวใจเต้นเร็วเกิดขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยา ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไอโซทารีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไอโซอีทารีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไอโซทารีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโซอีทารีนมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bronkosol (บรอนโคซอล) | Sanofi-Aventis |
Bronkometer (บรอนโคมีเตอร์) | Sanofi-Aventis |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Arm-A-Med, Beta 2
บรรณานุกรม
- http://www.medicatione.com/?c=drug&s=bronkosol[2017,May20]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00221[2017,May20]
- https://www.drugs.com/mtm/bronkometer.html[2017,May20]
- http://www.medicatione.com/[2017,May20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Isoetarine[2017,May20]
- http://www.medschat.com/Drugs/Bronkometer/[2017,May20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/isoetharine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May20]