ไอเดลาลิซิบ (Idelalisib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไอเดลาลิซิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอเดลาลิซิบอย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอเดลาลิซิบอย่างไร?
- ไอเดลาลิซิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- Chronic lymphocytic leukemia
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma, NHL )
บทนำ
ในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.257) ยาไอเดลาลิซิบ(Idelalisib) ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาริทูซิแมบ(Rituximab) ตามลักษณะอาการป่วยของมะเร็ง โดยตัวยาไอเดลาลิซิบจะเข้ารบกวนการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
เภสัชภัณฑ์ของยาไอเดลาลิซิบเป็นยารับประทาน หลังการดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไอเดลาลิซิบออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
โดยทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาไอเดลาลิซิบวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะสั่งหยุดรับประทานก็ต่อเมื่ออาการมะเร็งเกิดการลุกลามโดยที่ยาไอเดลาลิซิบไม่สามารถควบคุมอาการมะเร็งได้ กับอีกกรณีคือ ผู้ป่วยได้รับพิษหรือเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรงจากการใช้ยาไอเดลาลิซิบ
ข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบในระหว่างที่ใช้ยาไอเดลาลิซิบดังนี้
- ตัวยาไอเดลาลิซิบสามารถทำอันตรายกับ ไต ปอด ลำไส้เล็ก โดยสามารถกระตุ้นให้มีอาการแทรกซ้อนต่ออวัยวะดังกล่าวให้ทำงานผิดปกติหรือมีการติดเชื้อ ดังนั้นระหว่างได้รับยาชนิดนี้/นี้ ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ เพื่อตรวจสอบการทำงานของ ไต ปอด และลำไส้เล็ก ควบคู่กันไป
- ยาไอเดลาลิซิบสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ลำไส้เล็กเกิดแผลและทะลุ หากพบอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือดระหว่างใช้ยานี้ ควรรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลที่ทำการรักษาผู้ป่วยโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคตับ โรคแผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร)หรือลำไส้อักเสบ ตลอดจนกระทั่งโรคปอด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา และหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอเดลาลิซิบกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร
- ระหว่างที่ได้รับยาไอเดลาลิซิบ ต้องระวัง โรคปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด ตลอดจนอาการไข้เหตุจากที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia) ผู้ป่วยควรเฝ้าระวัง เรื่องสุขลักษณะ สุขภาพอนามัย และไม่อยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด
- หากพบอาการทางผิวหนังที่เรียกว่า Stevens-Johnson syndrome ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การรับประทานยาใดๆ ร่วมกับยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
ปัจจุบัน ในประเทศไทย ยังไม่พบเห็นการใช้ยาไอเดลาลิซิบ อาจขึ้นอยู่กับขั้นตอนการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนยา ตลอดจนกระทั่งความต้องการภายในประเทศที่จะใช้ยาชนิดนี้หรือไม่ สำหรับไอเดลาลิซิบที่วางจำหน่ายในต่างประเทศจะใช้ชื่อการค้าว่า Zydelig และอยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Gilead Sciences,Inc.
ไอเดลาลิซิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอเดลาลิซิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
1. รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล(Chronic lymphocytic leukemia /CLL)ที่มีอาการย้อนกลับมาเป็นใหม่ โดยแพทย์อาจพิจารณาใช่ร่วมกับยาRituximab ตามความเหมาะสม
2. รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma)
3. รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Follicular lymphoma ที่ดื้อต่อยารักษาตัวอื่น
ไอเดลาลิซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีปัจจัยเกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ (B Cells หรือ B- Lymphocytes) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ กรณีที่เกิดความผิดปกติและมีการเปลี่ยนแปลงของบีเซลล์ในระดับยีน/จีน(Gene)คือระดับพันธุกรรมก็สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งตามมา ยาไอเดลาลิซิบจะเข้ายับยั้งการทำงานของโปรตีนที่มีชื่อเรียกว่า Phosphoinositide 3-kinase (PI3K) delta โปรตีนชนิดนี้มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้บีเซลล์เกิดการแบ่งตัว ซึ่งรวมถึงบีเซลล์ที่ผิดปกติด้วยเช่นกัน จากกลไกนี้จึงทำให้บีเซลล์ที่เป็นปัจจัยของมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หยุดการแบ่งเซลล์และตายลง
ไอเดลาลิซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอเดลาลิซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยาIdelalisib ขนาด 100 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด
ไอเดลาลิซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไอเดลาลิซิบมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหาร
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก รวมถึงขนาดยานี้ จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ขนาดรับประทานข้างต้น แพทย์อาจปรับเปลี่ยน ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
- การรับประทานยานี้ต้องกลืนทั้งเม็ดพร้อมน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ห้ามแบ่ง หัก กัด หรือละลายเม็ดยาในน้ำก่อนรับประทานเด็ดขาด
- ห้ามหยุดรับประทานหรือปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ให้รีบติดต่อแพทย์/โรงพยาบาล ที่ทำการรักษาโดยเร็ว
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอเดลาลิซิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอเดลาลิซิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไอเดลาลิซิบน้อยกว่า 6 ชั่วโมง สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกได้เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
ไอเดลาลิซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาไอเดลาลิซิบที่เกิดกับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละประเภทอาจมีความแตกต่างหรือคล้ายกัน ทั้งนี้อยู่ที่การตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เช่น
ก. สำหรับอาการข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยมะเร็งชนิด Chronic lymphocytic leukemia มีดังนี้ เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำลง ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูง น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น มีไข้ นอกจากนี้ อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยและไม่ค่อยพบได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์(Lymphocyte)เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ก็ต่ำลง มีภาวะปอดบวม ตัวสั่น ท้องเสีย เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ มีผื่นคัน อาเจียน และปวดศีรษะ
ข. อาการข้างเคียงที่เกิดกับผู้ป่วยมะเร็งชนิด Non-Hodgkin lymphoma มีดังนี้ เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไอ คลื่นไส้ มีไข้ เกล็ดเลือดต่ำ ปวดท้อง มีภาวะปอดบวม เกิดผื่นคัน นอกจากนี้อาการข้างเคียงที่อาจพบได้น้อย เช่น หายใจขัด เบื่ออาหาร อาเจียน เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เหงื่อออกกลางคืน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ตัวบวม
*หมายเหตุ: อาการข้างเคียงข้างต้นที่กล่าวมา สามารถหายได้เอง เมื่อหยุดการใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้ไอเดลาลิซิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอเดลาลิซิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามรับการฉีดวัคซีนทุกชนิดขณะใช้ยาไอเดลาลิซิบ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ป้องกันการตั้งครรภ์ขณะได้รับยานี้ โดยสวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อเพศสัมพันธ์ และสามารถตั้งครรภ์ได้หลังหยุดใช้ยานี้ไปแล้ว 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ
- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2–3 ลิตร/วัน
- กรณีมีอาการอาเจียน ผู้ป่วยสามารถใช้ยาแก้อาเจียนได้โดยต้องให้แพทย์ ผู้ที่ทำการรักษาเป็นผู้สั่งจ่ายยา ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารเป็นปริมาณน้อยต่อมื้อ แต่รับประทานอาหารบ่อยขึ้น
- ขณะได้รับยานี้ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
- พักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้อาการโรคดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
- รับประทานอาหารอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ระวังการติดเชื้อต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด
- ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา การแคะจมูก ซึ่งเป็นช่องทางทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลตามร่างกาย ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- เลี่ยงการออกแสงแดดจัด ด้วยจะทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นแพ้แสงแดด ตามมา หากจำเป็นต้องออกแดด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด หรือใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงตั้งแต่ 15 ทาผิว
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอเดลาลิซิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอเดลาลิซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอเดลาลิซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไอเดลาลิซิบร่วมกับ ยาHydrocodone ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นตามมา เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ขาดสมาธิ และสูญเสียความ สามารถในการตัดสินใจ
- ห้ามใช้ยาไอเดลาลิซิบร่วมกับ ยาLoperamide เพราะจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
- ห้ามใช้ยาไอเดลาลิซิบร่วมกับ ยาMethylprednisolone ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ ตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึม เกิดสิว ผิวหนังบางลง และสูญเสียมวลกระดูกได้ง่าย
- การใช้ยาไอเดลาลิซิบร่วมกับ ยาFentanyl จะทำให้ระดับยาFentanyl ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาFentanylสูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาไอเดลาลิซิบให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาไอเดลาลิซิบอย่างไร?
ควรเก็บยาไอเดลาลิซิบตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไอเดลาลิซิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอเดลาลิซิบมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Zydelig (ไซเดลิก) | Gilead Sciences,Inc. |
บรรณานุกรม
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/idelalisib.aspx[2018,March10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Idelalisib [2018,March10]
- https://www.drugs.com/mtm/idelalisib.html [2018,March10]
- http://www.gilead.com/~/media/CF1E73FFB80B42E2A39F9F5758DB3001.ashx [2018,March10]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/idelalisib-index.html?filter=3&generic_only= [2018,March10]