ไอวาบราดีน (Ivabradine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอวาบราดีน(Ivabradine หรือ S-16257) เป็นยาที่ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างจากยากลุ่ม Beta blockers และกลุ่ม Calcium channel blockers ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการเจ็บหน้าอก และอาการหัวใจล้มเหลว รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดเพียงประมาณ 40% จากนั้นยาไอวาบราดีนในเลือด ก็จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70% ก่อนที่จะถูกส่งไปทำลายโครงสร้างที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะและกับอุจจาระ

ข้อจำกัดของการใช้ยาไอวาบราดีนกับผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่ควรทราบมีดังนี้ คือ

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน (Acute decompensated heart failure) หรือ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ อย่าง Sick sinus syndrome, Sinoatrial block, ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะร่างกายหยุดพักต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที, ผู้ที่มีภาวะโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ร่วมกับ ยา CYP3A4 inhibitors คือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไซโตโครมพี450 3เอ4 (Cytochrome P450 3A4 ย่อว่า CYP3A4, เอนไซม์ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำลายยาต่างๆ) ยาCYP3A4 inhibitors เช่น ยา Ritonavir, Clarithromycin, Ketoconazole
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เพื่อให้อาการเจ็บหน้าอก จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina) ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาไอวาบราดีน ตรงเวลาและตามขนาดที่แพทย์สั่งจ่าย ซึ่งยานี้ควรรับประทานพร้อมอาหาร

ระหว่างที่ได้รับยาไอวาบราดีน ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการมองเห็น จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับน้ำผลไม้อย่าง Grape fruit juice และต้องหมั่นตรวจตราความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจว่า ยังเป็นปกติดีหรือไม่ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา พยาบาล และ/หรือเภสัชกร และผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) จากแพทย์ผู้รักษา/สถานพยาบาลเป็นระยะๆ

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาไอวาบราดีน เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่มีใช้แต่ในสถานพยาบาล ซึ่งต้องมีใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์กำกับเท่านั้น

ไอวาบราดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอวาบราดีน

ยาไอวาบราดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • บำบัดอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Chronic stable angina pectoris in coronary artery disease patients with normal sinus rhythm)

ไอวาบราดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาไอวาบราดีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระแสประสาทที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำลง โดยทำให้จังหวะการคลายตัวของหัวใจทำได้อย่างสม่ำเสมอ จากผลดังกล่าว ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณหัวใจได้เพียงพอมากขึ้น และยังทำให้หัวใจไม่ทำงานหนักมากจนเกินไป จากกลไกนี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไอวาบราดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอวาบราดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 7.5 มิลลิกรัม/เม็ด

ไอวาบราดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอวาบราดีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกินครั้งละ 7.5 มิลลิกรัม เช้า-เย็น
  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • ระหว่างการรักษา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยานี้ทุก 3-4สัปดาห์ โดยประเมินจากอาการผู้ป่วยต่อการตอบสนองต่อยานี้ เช่น สัญญาณชีพ เป็นต้น โดยร่วมกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอวาบราดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอวาบราดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอวาบราดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไอวาบราดีนตรงเวลา

ไอวาบราดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาไอวาบราดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้าผิดปกติ มีความดันโลหิตผิดปกติ คือ อาจสูงหรือไม่ก็ต่ำ มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า การมองเห็นภาพทำได้ไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เยื่อจมูกอักเสบ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจช่วงบน เกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นคล้ายเป็นเบาหวาน ไขมันคอเลสเตอรอลสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ คลื่นไส้ ปวดท้อง
  • ผลต่อไต: เช่น ไตล้มเหลว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์ทรานซามิเนส(Transaminase,เอนไซม์ที่บอกการทำงานของตับ)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นคัน และลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้ไอวาบราดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอวาบราดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจชนิด Sick sinus syndrome ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ(Pacemaker)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน และต้องรับประทานยานี้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • หมั่นตรวจสอบความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจในขณะได้รับยานี้ตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
  • ระวังการรับประทานยานี้เกินขนาด โดยสังเกตจากอาการที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าว ให้รีบแจ้งแพทย์ พยาบาล(เมื่อยังได้รับการรักษาอยู่ในสถานพยาบาล) หรือรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน กรณีอาการเกิดขึ้นที่บ้าน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้กับน้ำผลไม้ประเภท Grape fruit juice
  • หากมีอาการแพ้ยานี้ อย่างเช่น ตัวบวม ผื่นคันขึ้นทั่วตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล และ/หรือมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินกรณีอาการเกิดที่บ้าน
  • การปรับขนาดรับประทานยานี้ แพทย์อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์หลังเริ่มรับประทานยานี้ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม และสั่งปรับขนาดรับประทานเอง
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ด้วยผู้ป่วยอาจต้องรับการตรวจ ECG
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอวาบราดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไอวาบราดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอวาบราดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไอวาบราดีนร่วมกับยาบางกลุ่ม อย่างเช่น Rifampin, Barbiturates, Phenytoin, อาจทำให้ระดับยาไอวาบราดีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลเสียต่อการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาไอวาบราดีนร่วมกับน้ำผลไม้บางประเภทอย่าง Grape fruit ด้วยอาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไอวาบราดีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆของยาไอวาบราดีนตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอวาบราดีนร่วมกับยา Ofloxacin ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาไอวาบราดีนร่วมกับยา Ritonavir ด้วยจะทำให้ระดับยาไอวาบราดีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาไอวาบราดีนสูงขึ้นตามมา เช่น หัวใจเต้นช้าลง

ควรเก็บรักษาไอวาบราดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไอวาบราดีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไอวาบราดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอวาบราดีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Coralan (โคราแลน)Servier

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Procoralan, Coralan, Corlentor, Coraxan, Ivabid, Bradia

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/ivabradine.html [2016,July30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ivabradine [2016,July30]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/coralan/?type=brief [2016,July30]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/ivabradine-index.html?filter=3&generic_only=#P [2016,July30]