ไอดารูซิซูแมบ (Idarucizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอดารูซิซูแมบ (Idarucizumab) ถูกผลิตจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการตัดต่อ DNAในรังไข่ของหนูแฮมเตอร์ของประเทศจีน ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยา Monoclonal Antibodiesที่มีความโดดเด่นเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งประเภทต่างๆ ยกเว้นยาไอดารูซิซูแมบที่ได้ถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นยาต้านพิษ (Antidote) ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Dabigatran หรือจะกล่าวโดยรวมว่า ยาไอดารูซิซูแมบนำมาใช้ยับยั้งฤทธิ์การเกิดลิ่มเลือดที่ลิ่มเลือดเกิดอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่ายหลังการผ่าตัด ตลอดจนกระทั่งใช้บำบัดอาการตกเลือดที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่สามารถควบคุมอาการได้จากยาทั่วไป จากประโยชน์ที่กล่าวมา ทำให้ยาชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนและเป็นที่ยอมรับทางคลินิกเมื่อปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของไอดารูซิซูแมบเป็นยาชนิดฉีด และมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการใช้ยาไอดารูซิซูแมบ ยังมีข้อควรระวัง และข้อควรทราบบางประการ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามผสมยาชนิดอื่นๆร่วมกับยาไอดารูซิซูแมบเพื่อเตรียมเป็นยาฉีด ทั้งนี้เป็นการป้องกันการทำปฏิกิริยาระหว่างกันกับยาไอดารูซิซูแมบ จนเป็นเหตุให้ประสิทธิผลของการรักษาของยาที่ผสมกันต่ำลง
  • หลังการเปิดขวดบรรจุยานี้ ควรใช้ยานี้ภายใน 1 ชั่วโมง ห้ามปล่อยทิ้งเป็นเวลานานๆด้วยเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากสภาพแวดล้อม
  • ห้ามนำยาไอดารูซิซูแมบไปใช้เป็นยาต้านพิษ(Antidote) ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวอื่น นอกจากใช้กับยา Dabigatran เท่านั้น ด้วยไม่มีข้อมูลความ ปลอดภัยทางคลินิกมารองรับ
  • ขณะใช้ยาไอดารูซิซูแมบต้องระวังก้อนลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือด การคำนวณขนาดและใช้ยานี้อย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันและลดปัญหานี้ได้
  • ตัวยาไอดารูซิซูแมบ อาจกระตุ้นให้มีสารโปรตีนปนมากับปัสสาวะ/มีโปรตีนในปัสสาวะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายานี้ทำอันตรายกับไตของผู้ป่วย เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้นซึ่งจะหายไปได้เองหลังหยุดใช้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมารองรับการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ถึงแม้ยานี้จะถูกขับทิ้งโดยผ่านการทำงานของไต แต่ผู้ป่วยมีภาวะไตทำงานบกพร่องระดับที่ไม่รุนแรงนัก ก็ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้น้ำตาลฟรุกโตส/น้ำตาลในกลุ่ม Sugar alcoholมาตั้งแต่กำเนิด ด้วยส่วนประกอบในสูตรตำรับยาไอดารูซิซูแมบ มีน้ำตาล Sorbitol (น้ำตาลอีกชนิดในกลุ่ม Sugar alcohol) ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้กับผู้ป่วย กลุ่มนี้ได้เช่นกัน

ปัจจุบันยังไม่มีการจัดจำหน่ายยาไอดารูซิซูแมบในประเทศไทย แต่จะพบเห็นมีใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ยาไอดารูซิซูแมบจัดอยู่ในกลุ่มยาใหม่และรอการนำเข้าในอนาคตอันใกล้

ไอดารูซิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอดารูซิซูแมบ

ยาไอดารูซิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ต้านพิษของยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีชื่อว่ายา Dabigatran
  • ใช้ยับยั้งฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดหลังการผ่าตัด
  • ช่วยบรรเทาภาวะเลือดออกที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้

ไอดารูซิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอดารูซิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

  • กรณีใช้ตัวยาไอดารูซิซูแมบต้านพิษของยา Dabigatran กลไกการออกฤทธิ์จะเกิดโดยตัวยาไอดารูซิซูแมบจะเข้าจับกับโมเลกุลของยา Dabigatran จนเกิดเป็นสารประกอบที่ทำให้ตัวยา Dabigatran หมดสภาพในการยับยั้งการทำงานของทรอมบิน(Thrombin)ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้เร่งการก่อตัวของลิ่มเลือด ส่งผลให้การทำงานของลิ่มเลือดกลับมาเป็นปกติ
  • กรณียับยั้งการแข็งตัวของเลือดจากกรณีอื่น โดยได้จากการศึกษทางคลินิก ระบุว่า ยาไอดารูซิซูแมบช่วยสนับสนุนทำให้การรวมตัวของลิ่มเลือดเกิดได้ง่ายขึ้น เลือดจึงหยุดไหลได้ง่ายขึ้น

จากกลไกดังกล่าวทั้งหมด จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาของยาไอดารูซิซูแมบตามสรรพคุณ

ไอดารูซิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอดารูซิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอยด้วยตัวยา Idarucizumab ขนาด 2.5 กรัม/50 มิลลิลิตร

ไอดารูซิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไอดารูซิซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 กรัม โดยใช้เวลา 5–10 นาที หรือจะใช้วิธีฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ หากพบว่าผู้ป่วยยังมีอาการเลือดออกไม่หยุด แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาไอดารูซิซูแมบกับผู้ป่วยอีก 5 กรัม เป็นครั้งที่สอง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • กรณีผู้ป่วยได้รับยา Dabigatran เกินขนาดและได้ใช้ยาไอดารูซิซูแมบ เพื่อหยุดการไหลของเลือดเป็นผลสำเร็จแล้ว หลังจากนั้นอีก 24 ชั่วโมง ก็สามารถบำบัดรักษาภาวะก้อนลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดโดยใช้ยา Dabigatran ได้ตามที่ควร

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอดารูซิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอดารูซิซูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไอดารูซิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอดารูซิซูแมบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคันตามร่างกาย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ไอดารูซิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอดารูซิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้น้ำตาลฟรุกโตส
  • ห้ามผสมยาไอดารูซิซูแมบร่วมกับยาชนิดอื่นๆ และฉีดพร้อมกันให้กับผู้ป่วย
  • ระหว่างให้ยาไอดารูซิซูแมบ บุคคลากรทางการแพทย์จะคอยทำการประเมินผู้ป่วยว่าผู้ป่วยยังมีภาวะเลือดออกอยู่หรือไม่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอดารูซิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอดารูซิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ห้ามผสมยาไอดารูซิซูแมบร่วมกับยาฉีดชนิดอื่นๆแล้วแล้วฉีดให้ผู้ป่วยพร้อมกัน ด้วยอาจส่งผลทำให้ประสิทธิภาพ การรักษาของยาทุกตัวดังกล่าวด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาไอดารูซิซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไอดารูซิซูแมบ ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาไอดารูซิซูแมบที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • กรณีนำยาออกมาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) โดยไม่เปิดขวดและป้องกันไม่ให้ยาโดนแสงสว่าง/แสงแดด สามารถเก็บยานี้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง
  • กรณีนำยามาไว้ที่อุณหภูมิห้องแต่มีการสัมผัสกับแสงสว่าง/แสงแดด จะมีอายุการจัดเก็บยานี้ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
  • กรณีเปิดฝาขวดยาเพื่อเตรียมฉีดภายใต้อุณหภูมิห้อง ตัวยาจะมีอายุจัดเก็บได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  • ในทุกกรณี ควรเก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อนึ่ง อายุการจัดเก็บยาไอดารูซิซูแมบภายใต้เงื่อนไขของผู้ผลิตก่อนมีการนำยานี้มาใช้ จะไม่เกิน 24 เดือน

ไอดารูซิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอดารูซิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
PRAXBIND (แพร็กซ์ไบนด์)Boehringer Ingelheim

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/761025lbl.pdf[2017,Dec2]
  2. https://ec.europa.eu/health/documents/community-register/2015/20151120133203/anx_133203_en.pdf[2017,Dec2]
  3. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/praxbind/?type=brief[2017,Dec2]
  4. http://www.mims.com/hongkong/drug/info/praxbind/mechanism-of-action[2017,Dec2]
  5. http://www.mims.com/singapore/drug/info/praxbind[2017,Dec2]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Idarucizumab[2017,Dec2]
  7. http://www.guidetopharmacology.org/GRAC/LigandDisplayForward?ligandId=8298[2017,Dec2]
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27981865[2017,Dec2]