ไวรัสอาร์เอสวี (ตอนที่ 3)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 12 กันยายน 2562
- Tweet
เชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถกระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ทำให้มีการอักเสบของทางเดินหายใจไปสู่ปอด โดยมีอาการ
- เป็นไข้
- ไอมาก
- หายใจเสียงหวีด (Wheezing)
- หายใจเร็วหรือหายใจลำบาก
- อาการตัวเขียวเพราะขาดออกซิเจน (Cyanosis)
ทั้งนี้ ทารกที่ติดเชื้อมักมีอาการรุนแรงซึ่งอาจสังเกตได้จากการที่อกบุ๋มเมื่อหายใจแต่ละครั้ง ส่วนอาการรุนแรงอย่างอื่นได้แก่
- หายใจสั้น ตื้น และ เร็ว
- ไอ
- ไม่ดูดนมหรือดูดนมน้อย (Poor feeding)
- อ่อนเพลียซึม (Lethargy)
- หงุดหงิด
ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์ทันที
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการตรวจร่างกาย เช่น การใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงปอดว่ามีเสียงผิดปกติหรือเสียงหวีดหรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจใช้
- การตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือการหาเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้ออื่นๆ
- การเอกซเรย์เพื่อดูการอักเสบของปอด
- การนำสารคัดหลั่งจากปากหรือจมูกไปตรวจหาเชื้อ
- การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry)
สำหรับอาการแทรกซ้อนของการติดเชื้ออาร์เอสวี ได้แก่
- โรคปอดอักเสบ หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ
- การติดเชื้อในหูส่วนกลางจนทำให้หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) ซึ่งมักเกิดในทารกและเด็กเล็ก
- โรคหอบหืด
- การติดเชื้ออาร์เอสวีซ้ำ (Repeated infections)
แหล่งข้อมูล:
- Respiratory syncytial virus (RSV). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/respiratory-syncytial-virus/symptoms-causes/syc-20353098 [2019, September 11].
- Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV). https://www.cdc.gov/rsv/index.html [2019, September 11].