ไลโอไทโรนีน (Liothyronine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไลโอไทโรนีน(Liothyronine หรือ Liothyronine sodium) เป็นไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์โดยเลียนแบบไทรอยด์ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) ที่เรียกย่อๆว่า ที3 (T3) ทางคลินิกนำยาไลโอไทโรนีนมาบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไป(เช่น ในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือใช้กับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิด Grave’s disease ที่อยู่ในระหว่างการบำบัดด้วยสารกัมมันตรังสี/น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radio-iodine) ผู้ป่วยที่ได้รับยาไลโอไทโรนีนใน ขนาดต่ำๆจะช่วยกระตุ้นให้ภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนดีขึ้น

ไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายมี 2 ชนิด คือ Triiodothyronine (ย่อว่า T3) และ Tetraiodothyronine หรือ Thyroxine (ย่อว่าT4) ในแง่ของผู้บริโภคการเลือกใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดใดระหว่าง ที3 (T3) กับ ที4 (T4) จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ดังนี้ เช่น

  • กรณีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ตัดต่อมไทรอยด์ออก แต่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย/ทำงานต่ำ แพทย์มักจะเลือกรักษาโดยใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด Levothyroxine หรือที4 (T4) ที่มีอายุหรือค่าครึ่งชีวิต(Half life)ในร่างกายได้นานถึง 7 วัน การรับประทานยานี้เพียง 1 เม็ดต่อวันก็สามารถควบคุมภาวะพร่อง/ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้นาน
  • กรณีผู้ป่วยมีการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด Liothyronine หรือที3 (T3) ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่า ที4 (T4) สามารถออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อของร่างกายให้ทำหน้าที่และเกิดเมตาบอลิซึม (Metabolism/สันดาป)สารอาหารต่างๆได้โดยตรง ไม่เหมือนกับที4 (T4) ที่จะต้องถูกเปลี่ยนมาเป็นที3 (T3) เสียก่อน ทั้งนี้ ข้อด้อยของฮอร์โมนที3 (T3) คือมีอายุหรือค่าครึ่งชีวิตในร่างกายเพียง 24 ชั่วโมงซึ่งน้อยกว่าที4 (T4) ถึง 7 เท่า ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับยาที3 (T3) มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลทางคลินิกระบุว่า การใช้ยา Liothyronine หรือที3 (T3) เป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติได้ ซึ่งแก้ไขด้วยการให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด Levothyroxine หรือที4 (T4)แทน

สำหรับข้อจำกัดของการใช้ยาไลโอไทโรนีนมีเพียง ผู้ป่วยต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาไลโอไทโรนีนมาก่อน ทั้งนี้ผลข้างเคียงของยานี้จะเป็นไปในลักษณะเหมือนกับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) โดยจะสังเกตได้จากมี น้ำหนักตัวลดลงเร็ว มีอาการมือสั่น ปวดศีรษะ ไม่สบายในท้อง อาเจียน ท้องเสีย กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก มีไข้ และนอนไม่หลับ เป็นต้น อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เหล่านี้อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดรับประทานยานี้ หรือปรับแนวทางการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

ยาไลโอไทโรนีนเป็นยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ทางคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุเงื่อนไขการใช้ไลโอไทโรนีนดังนี้ คือ “ใช้แทนยา Levothyroxine sodium ชั่วคราวระหว่างรอทำ Total body scan(การตรวจสืบค้นทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมไทรอยด์) ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์”

ประชาชน/ผู้ป่วยสามารถพบเห็นการใช้ยาไลโอไทโรนีนได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนและสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาไลโอไทโรนีนเพิ่มเติมได้จากแพทย์และเภสัชกรได้โดยทั่วไป

ไลโอไทโรนีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไลโอไทโรนีน

ยาไลโอไทโรนีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ยานี้สามารถใช้ได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจที่แพทย์เห็นเหมาะสม
  • บำบัดรักษาภาวะ Myxedema (อาการบวมทั้งตัวจากร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)

ไลโอไทโรนีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไลโอไทโรนีนคือ ตัวยาจะกระตุ้นกระบวนการเมตาโบลิซึม/สันดาปของร่างกายให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ เช่น การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อนำมาเป็นพลังงาน กระบวนการสังเคราะห์สารโปรตีน กระบวนการการเต้นของหัวใจ ความคิดอ่านของสมอง ฯลฯ ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติและสมดุล

ไลโอไทโรนีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไลโอไทโรนีน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 25, และ 50 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ไลโอไทโรนีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาไลโอไทโรนีน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน อายุผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้เฉพาะกรณีเป็นยารับประทาน ดังนี้ เช่น

ก.บำบัดภาวะพร่อง/ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 25 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง แพทย์จะพิจารณาปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย โดยขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 – 75 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กทารก-เด็กอายุ3 ปี: เริ่มรับประทาน 5 ไมโครกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 5 ไมโครกรัม ทุก 3 วัน
  • สำหรับเด็กทารก: ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/วัน
  • สำหรับเด็กอายุ 1 – 3 ปี: ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/วัน
  • สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป: อาจใช้ยาขนาดเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ข.สำหรับรักษา Myxedema:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 5 ไมโครกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 5 – 10 ไมโครกรัม ทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ โดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองของอาการผู้ป่วยต่อยานี้ และเมื่อการใช้ยานี้เพิ่มถึงขนาด 25 ไมโครกรัม/วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 5 – 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 1 สัปดาห์ หรือทุกๆ 2 สัปดาห์ จนกระทั่งผลการรักษาออกมาเป็นที่น่าพอใจของแพทย์ ทั้งนี้ ขนาดที่ใช้คงระดับในการรักษาอยู่ที่ 50 – 100 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในการรักษาภาวะอาการนี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง หรือรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ยาดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไลโอไทโรนีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรือ อาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาไลโอไทโรนีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไลโอไทโรนีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไลโอไทโรนีน ตรงเวลา

ไลโอไทโรนีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไลโอไทโรนีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้น หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีภาวะกระตุก ชัก มีไข้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น อาจทำให้มวลกระดูกบางลง/โรคกระดูกบาง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด

มีข้อควรระวังการใช้ไลโอไทโรนีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไลโอไทโรนีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ผู้ป่วยต้องแจ้งรายละเอียด ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ อาการปัจจุบัน ให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบอย่างละเอียด
  • ขนาดการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานโดยดูจากการตอบสนองของยานี้ต่อผู้ป่วย
  • กรณีที่มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินของชีวิตประจำวัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว ปวดศีรษะ มีไข้ เกิดอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยควรรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการ รบกวนการดูดซึมของยาจากอาหาร
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ที่หมดอายุ เพราะนอกจากไม่ได้ทำให้การรักษาดีขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการป่วยแย่ลง และยังอาจได้รับพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้ที่เสื่อมสภาพตามมา
  • การใช้ยานี้ ต้องได้รับการตรวจเลือดตามแพทย์สั่ง และประเมินขนาดการใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นยาลดน้ำหนัก
  • กรณีได้รับยานี้เกินขนาด ให้สังเกตจากมีอาการ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก ผู้ป่วยบางรายมีอาการช็อก หากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจร่างกาย และ การตรวจเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไลโอไทโรนีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไลโอไทโรนีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไลโอไทโรนีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไลโอไทโรนีนกับยา Amiodarone, Carbamazepine,Phenytoin, Phenobarbital, Rifampicin, Estrogen, ด้วยยาเหล่านี้สามารถลดความเข้มข้นของยาไลโอไทโรนีนในกระแสเลือดจนอาจส่งผลทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาตามมา
  • การใช้ยาไลโอไทโรนีนร่วมกับยาอินซูลิน อาจส่งผลให้ร่างกายต้องการยาอินซูลินเป็นปริมาณมากขึ้นเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือด กรณีที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไลโอไทโรนีนร่วมกับยา Cholestyramine อาจทำให้การดูดซึมของยาไลโอไทโรนีนจากระบบทางเดินอาหารลดน้อยลงไป เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาให้ห่างกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไลโอไทโรนีนร่วมกับยา Ketamine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว และมีความดันโลหิตสูงตามมา

ควรเก็บรักษาไลโอไทโรนีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไลโอไทโรนีน ดังนี้

  • สำหรับยาฉีด ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทาน ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ยานี้ทุกรูปแบบ ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไลโอไทโรนีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไลโอไทโรนีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cytomel (ไซโทเมล)GlaxoSmithKline

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Triostat

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/liothyronine.html [2016,Nov26]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/liothyronine/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov26]
  3. https://www.drugs.com/dosage/liothyronine.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypothyroidism [2016,Nov26]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Liothyronine [2016,Nov26]
  5. http://labeling.pfizer.com/ShowLabeling.aspx?id=703 [2016,Nov26]