ไรแมนตาดีน (Rimantadine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ไรแมนตาดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไรแมนตาดีนอย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไรแมนตาดีนอย่างไร?
- ไรแมนตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- โรคหวัด (Common cold)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
บทนำ
ยาไรแมนตาดีน(Rimantadine) เป็นยาต้านไวรัสสำหรับไข้หวัดใหญ่กลุ่มสายพันธุ์-เอ/ชนิดA (Influenza A) เช่น H1N1 , H2N2, และ H3N2, สามารถใช้เป็นยารักษาหรือป้องกันก็ได้ โดยยาไรแมนตาดีน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลระงับการเพิ่มปริมาณไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายมนุษย์ได้มากกว่า 50%
ด้วยยาไรแมนตาดีน สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารจึงถูกออกแบบเภสัชภัณฑ์เป็น ยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้ในกระแสเลือดส่วนมากจะถูกทำลายที่ตับร่างกายต้องใช้เวลา 25–38 ชั่วโมง เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยปริมาณยานี้น้อยกว่า 25% จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยาไรแมนตาดีน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แพทย์จึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาไรแมนตาดีนกับสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ ยาไรแมนตาดีนยังสามารถสร้างผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาชนิดนี้ไม่เหมาะต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ลมชัก, โรคตับ ตลอดจนกระทั่งโรคไต
อนึ่ง:
- ขณะที่ได้รับยาไรแมนตาดีน ห้ามใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับผู้ป่วย ด้วยตัวยานี้ส่งผลปิดกั้นการทำงานของวัคซีนฯนั่นเอง
- เพื่อประสิทธิผลในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ฯด้วยยาไรแมนตาดีน ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์ การใช้ยานี้ต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดจะทำให้อาการป่วยของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงจะได้ประสิทธิผลเต็มที่ในการรักษาต่อเมื่อรับประทานยานี้ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ
ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Flumadine แต่ขณะเขียนบทความนี้ยังไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ในประเทศไทย
ไรแมนตาดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไรแมนตาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้ป้องกัน หรือ บำบัดรักษา การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์-เอ
ไรแมนตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไรแมนตาดีน จะออกฤทธิ์ปิดกั้นวงจรการจำลองสารพันธุกรรมที่ยีน/จีน(Gene)เอ็ม2 (M2 Gene) ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์-เอ ส่งผลให้จำกัดการผลิตไวรัสไข้หวัดใหญ่ฯรุ่นใหม่ จึงส่งผลให้อาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ฯดีขึ้นเป็นลำดับ
ไรแมนตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาไรแมนตาดีน:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Rimantadine ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ไรแมนตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ไรแมนตาดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป): รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในกรณีนี้ในเด็กที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง: ระยะเวลาการรับประทานยานี้ ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
ข.สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็กอายุ 1–9 ปี: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัม: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
อนึ่ง: ระยะเวลาการรับประทานยานี้ ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไรแมนตาดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรแมนตาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไรแมนตาดีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
ไรแมนตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไรแมนตาดีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:เช่น ปากคอแห้ง ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด
- ผลต่อระบบประสาท:เช่น ปวดหัว วิงเวียน นอนไม่หลับ
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมี อาการกระสับกระส่าย ซึม
- ผลต่อกล้ามเนื้อ:เช่น มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
*อนึ่ง: กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด:
- จะเกิดอาการ วิตกจริต ประสาทหลอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือถึงขั้นตายได้
- การช่วยเหลือผู้ป่วย:
- ทั่วไปแพทย์จะใช้ยา Physostigmine ขนาด 1–2 มิลลิกรัมกับผู้ใหญ่ และ 0.5 มิลลิกรัมกับเด็ก และ
- หากจำเป็น แพทย์อาจต้องให้ยา Physostigmine ซ้ำโดยปริมาณยาที่ให้กับผู้ป่วยต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง
มีข้อควรระวังการใช้ไรแมนตาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไรแมนตาดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคลมชัก โรคตับ โรคไต
- หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย บ่อยครั้ง ให้หยุดใช้ยา แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไรแมนตาดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไรแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไรแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรแมนตาดีน ร่วมกับยา Bupropion , Ginkgo, และ Tramadol, ด้วยจะทำให้เสี่ยงกับการมีอาการชักตามมา
- ห้ามใช้ยาไรแมนตาดีน ร่วมกับ ‘วัคซีน Influenza-virus vaccine H1N1 ชนิดมีชีวิต’ ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของวัคซีนฯเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคด้อยประสิทธิภาพลง
ควรเก็บรักษาไรแมนตาดีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไรแมนตาดีน เช่น
- สามารถเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ไรแมนตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไรแมนตาดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Flumadine (ฟลูมาดีน) | Forest Pharmaceuticals, Inc |