ไรซาทริปแทน (Rizatriptan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไรซาทริปแทน(Rizatriptan หรือ Rizatriptan benzoate) เป็นสารประกอบสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างหลักของกลุ่มยาทริปแทน (Triptan) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการปวดหัว/ปวดศีรษะไมเกรนทั้งชนิดที่มีและไม่มีอาการนำที่เรียกว่า ออร่า(Aura) แต่ห้ามใช้เป็นยาป้องกันอาการไมเกรน และไม่ควรนำมารักษาอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) ชื่อการค้ารู้จักกันดีคือ “Maxalt” รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไรซาทริปแทนเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงต้องระวังผลข้างเคียงเรื่องการเกิด ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ยาไรซาทริปแทนสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 40-45% ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 14% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยังมี ข้อจำกัด ข้อควรระวัง การใช้ยาไรซาทริปแทนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือด หัวใจ ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบ/โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • ไม่ควรนำยานี้ไปรักษาไมเกรนบางประเภทที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น Hemiplegic และ Basilar Migraine
  • ห้ามใช้ยาไรซาทริปแทนกับผู้ที่ได้รับยารักษาไมเกรนชนิดอื่นเมื่อเวลาผ่านไป ยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก ต้องเป็นคำสั่งของแพทย์เสมอ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเกิดอากากำเริบรุนแรงได้มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง และผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางประเภทร่วมกับยาไรซาทริปแทน ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา MAOIs, SSRIs, SNRIs, TCAs และ Ergot alkaloids
  • กรณีที่รับประทานยานี้ครั้งแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น การรับประทานยาครั้งที่ 2 จะต้องเว้นระยะเวลาห่างจากการรับประทานยาในครั้งแรก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • ห้ามใช้ยาไรซาทริปแทนเกิน 4 ครั้ง/เดือน กรณีที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อยๆ ควรรักษาที่ต้นเหตุโดยเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล

ยาไรซาทริปแทนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เช่นเดียวกับยารักษาโรคชนิดอื่นๆทั่วไป อาทิเช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปากแห้ง อ่อนแรง และคลื่นไส้

*กรณีได้รับยาไรซาทริปแทนเกินขนาด อาจเป็นเหตุให้ปวดศีรษะมากยิ่งขึ้น มีความดันโลหิตสูง กรณีนี้ควรรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการล้างท้อง และจะต้องควบคุมค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ให้เป็นปกติตลอดเวลา

เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาไรซาทริปแทนได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยานี้หรือไปหาซื้อยาไรซาทริปแทนมาใช้ด้วยตนเอง

ไรซาทริปแทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไรซาทริปแทน

ยาไรซาทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน สามารถใช้ได้กับอาการปวดศีรษะไมเกรนทั้งชนิดที่มีและไม่มีอาการนำแบบออร่า

ไรซาทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรซาทริปแทนมีคุณสมบัติเป็น Selective serotonin (5-HT1) agonist ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ที่หลอดเลือดของสมอง ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดดังกล่าว ด้วยกลไกนี้เอง ส่งผลต่อการนำกระแสประสาทที่รับความเจ็บปวดในสมอง และช่วยลดการปวดศีรษะไมเกรนได้ตามสรรพคุณ

ไรซาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรซาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Rizatriptan benzoate ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ไรซาทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไรซาทริปแทนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานขนาด 5–10 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หลังรับประทานยาครั้งแรกแล้ว ถ้ายังมีอาการปวดศีรษะไมเกรนอยู่ สามารถรับประทานยาครั้งที่ 2 โดยเว้นระยะเวลาห่างจากการรับประทานครั้งแรก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัมลงมา : เริ่มรับประทานยานี้ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป : เริ่มรับประทานยานี้ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สำหรับเด็ก ห้ามรับประทานยานี้เกิน 1 ครั้ง/วัน
  • สำหรับผู้ใหญ่ขนาดรับประทาน 10 มิลลิกรัม จะเป็นขนาดที่จะมี ประสิทธิภาพมากที่สุด
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ยานี้รักษาและบำบัดการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน ไม่ควรนำมาใช้เป็นยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน
  • ห้ามใช้ยานี้เกิน 4 ครั้ง/เดือน
  • ห้ามใช้ยานี้กับอาการไมเกรนบางประเภทที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น Hemiplegic หรือ Basilar migraine

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไรซาทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไรซาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรซาทริปแทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า แต่ทั้งนี้ การรับประทานยาไรซาทริปแทนแต่ละครั้ง ควรเว้นช่วงห่างกัน 2 ชั่วโมงขึ้นไป

ไรซาทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรซาทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ลิ้นอักเสบ กระหายน้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ตัวสั่น รู้สึกสับสน ความจำแย่ลง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก หน้าแดง หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตสูง หัวใจวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน ลมพิษ มีผื่นแดง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดและตึงกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อใบหน้า
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ตาบวม
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกเคลิบเคลื้ม นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก คอบวม

มีข้อควรระวังการใช้ไรซาทริปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรซาทริปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาชื้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้ อาจพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรต้องระวังการเกิดความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะSerotonin syndrome
  • การรักษาไมเกรน ควรสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง การใช้ยาบรรเทาอาการเป็นเรื่องปลายทาง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง จึงควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรซาทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไรซาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรซาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไรซาทริปแทนร่วมกับยา Ergotamine, Ergonovine, ด้วยจะทำให้หลอดเลือดในร่างกายหด/ตีบแคบลง จนอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนส่งผลให้ความดันโลหิตสูงตามมา รวมถึงอาจเกิดภาวะหัวใจวาย และมีเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายตายลงจากขาดเลือด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรซาทริปแทนร่วมกับยา Dolasetron, Duloxetine, Venlafaxine, ด้วยจะทำให้มีภาวะ Serotonin syndrome ตามมา
  • ห้ามใช้ยาไรซาทริปแทนร่วมกับยา Isocarboxazid ด้วยจะทำให้ระดับตัวยา ไรซาทริปแทนในกระแสเลือดสูงขึ้นจนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรงตามมาจากยาไรซาทริปแทน เช่น ทำให้หลอดเลือดในร่างกายตีบลง
  • การใช้ยาไรซาทริปแทนร่วมกับยา Droxidopa อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะอยู่ในท่านอนหรือที่เรียกว่า Supine hypertension เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไรซาทริปแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาไรซาทริปแทนภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไรซาทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรซาทริปแทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Maxalt (แมกซอล)MERCK

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Rizact, Rizatan

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rizatriptan/?type=brief&mtype=generic[2017,March4]
  2. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/3118[2017,March4]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Rizatriptan[2017,March4]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/rizatriptan-index.html?filter=3&generic_only=#E[2017,March4]