ไม่อยากรักษาใกล้บ้าน

ไม่อยากรักษาใกล้บ้าน-1


      

      “สวัสดีครับหมอ ผมอยากพาพ่อผมมารักษากับหมอที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยครับ เพราะที่โรงพยาบาลใกล้บ้านผมนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 60 เตียง ไม่มีหมอผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทเลยครับ ผมไม่ไว้ใจหมอโรงพยาบาลนี้เลย กลัวพ่อผมจะไม่หายครับ” ผมได้รับการปรึกษากรณีแบบนี้บ่อยมากๆ ครับ ที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่ค่อยสบายใจที่จะรับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่มีหมอผู้เชี่ยวชาญ ที่ผู้ป่วยและญาติพูดมาก็ถูกครับว่าโรงพยาบาลใกล้บ้าน เป็นโรงพยาบาลชุมชนชนาดเล็ก ไม่มีหมอผู้เชี่ยวชาญ แต่ข้อสงสัยของผมคือว่า แล้วโรงพยาบาลชุมชนนั้นมีไว้ทำอะไร เมื่อคนในชุมชนไม่ไว้ใจ เหตุที่ไม่ไว้ใจ เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือเพราะไม่มีหมอ หรือเพราะอะไรกันแน่ ผมสงสัยครับ

      โรงพยาบาลชุมชนนั้นที่ก่อตั้งขึ้นมามีอยู่ในทุกอำเภอน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนไทยในชุมชน และมีศักยภาพในระดับที่สามารถดูแลปัญหาสุขภาพได้ในกรณีที่มีปัญหาไม่ซับซ้อน และทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย ดังนั้นเมื่อประชาชนมีปัญหาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเมื่อมีอาการที่รุนแรงแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนก็จะส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า และเมื่อรักษาอาการดีขึ้นแล้วก็ส่งกลับมารักษาตัวต่อ มาฟื้นฟูต่อในโรงพยาบาลชุมชน

      ถ้าผู้ป่วยไม่ไว้ใจในโรงพยาบาลชุมชน เพราะไม่เข้าใจในหลักการ ผมว่าก็น่าจะชี้แจงให้เข้าใจตรงกันได้ แต่ถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจ เพราะโรงพยาบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจได้ แบบนี้ก็แย่เหมือนกัน ผมเองยังมีความเห็นว่าถ้าทุกคนในชุมชน ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้บริหารชุมชนนั้นๆ มีส่วนร่วมกับทางโรงพยาบาลในการระดมความคิดว่าโรงพยาบาลของเรานั้นจะทำให้มีรูปแบบระบบบริการแบบใด มีความต้องการอะไร แล้วมาร่วมมือกันในการพัฒนาโรงพยาบาลของเราในชุมชนให้เป็นไปตามที่ทุกคนในชุมชนต้องการก็น่าจะดีนะครับ

      เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของเราทุกคนครับ ไม่ใช่เรื่องของหมอ หรือกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทุกคนต้องมาช่วยกันครับ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราทุกคนครับ