ไมโตมัยซิน (Mitomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไมโตมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไมโตมัยซินอย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไมโตมัยซินอย่างไร?
- ไมโตมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็ง (Cancer)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
บทนำ
ยาไมโตมัยซิน(Mitomycin) เป็นตัวยาที่แยกได้จากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptomyces caespitosus หรือ Streptomyces lavendulae หากมองจากโครงสร้างไมโตมัยซินยังถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย คือ Mitomycin A, Mitomycin B และ Mytomycin C ในแง่มุมของยารักษาโรคเมื่อกล่าวถึงยาไมโตมัยซินจะหมายถึง “ไมโตมัยซิน-ซี (Mitomycin C)” ทางคลินิกใช้ยาไมโตไมซิน ซี เป็นยาเคมีบำบัดสำหรับต่อต้านโรคมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะในร่างกายได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งทวารหนัก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และอื่นๆ
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไมโตมัยซิน-ซี(ต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า “ไมโตมัยซิน”)เป็นยาฉีด และไม่มีสูตรตำรับของยารับประทาน หลังจากฉีดยานี้เข้ากระแสเลือด ยาไมโตมัยซินจะกระจายตัวไปตามอวัยวะต่างๆได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ตัวยาในกระแสเลือดลดลงเป็นปริมาณมากเช่นเดียวกัน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ50 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ทิ้ง โดยผ่านไปกับปัสสาวะ การฉีดยานี้เข้าเส้นเลือด(หลอดเลือด)ต้องระวังมิให้เข็มฉีดยาแทงทะลุออกนอกหลอดเลือด เพื่อป้องกันยาไมโตมัยซินหลุดลอดไปสัมผัสกับเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงซึ่งจะทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง โดยจะสังเกตจาก เนื้อเยื่อใกล้เคียงรอยแทงเข็มฉีดยานี้จะมีอาการบวมแดง กรณีนี้ ต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที่
ตัวยาไมโตมัยซินสามารถใช้รักษามะเร็งภายในผนังกระเพาะปัสสาวะโดยปล่อยยานี้ผ่านท่อสวนทางเดินปัสสาวะให้ตัวยาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยปัสสาวะทิ้ง ถือเป็นข้อแตกต่างจากยาเคมีบำบัดอีกหลายตัว
การใช้ยาไมโตมัยซินให้เกิดประสิทธิผล ยังต้องอาศัยความต่อเนื่องในการมารับการให้ยานี้ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งมักจะได้รับผลข้างเคียงต่างๆหลังการทำเคมีบำบัดที่รวมถึงจากยาไมโตมัยซิน โดยผลข้างเคียงจากยาไมโตมัยซิน เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
ทั้งนี้ พอสรุป คำเตือน ข้อควรระวัง และข้อควรปฏิบัติต่างๆ ระหว่างที่ได้รับยาไมโตมัยซิน ดังนี้
- ยานี้สามารถกดไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดและระดับเกล็ดเลือดลดลง ระหว่างที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเลือดว่า เกิดความผิดปกติหรือไม่
- ห้ามใช้ยาAspirin ขณะที่ได้รับยาไมโตมัยซิน นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ เพราะยาไมโตมัยซินสามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับทารกในครรภ์ได้อย่างรุนแรง
- หากพบอาการมี ไข้ หนาวสั่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด ปวดขณะถ่ายปัสสาวะ หายใจขัด/หายใจลำบาก ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดาที่ได้รับยาไมโตมัยซิน
- ห้ามรับการฉีดวัคซีนขณะที่ใช้ยาไมโตมัยซิน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากตัววัคซีนนั้นเสียเอง
- ล้างมือบ่อยครั้งขึ้น พักผ่อน นอนหลับ รับประทานอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้รวดเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดด้วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไมโตมัยซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขการใช้งานดังนี้
1.ใช้เป็น Alternative drug ของ BCG สำหรับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดเกิดที่ผิวเยื่อเมือกบุกระเพาะปัสสาวะ(Superficial bladder cancer)
2. ใช้รักษามะเร็งตับ โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดแดงเฉพาะที่ที่ส่งเลือดเลี้ยงก้อนมะเร็ง ที่เรียกการรักษานี้ว่า Transcatheter oily chemoembolization (TOCE)
3. ใช้รักษามะเร็งทวารหนัก (An Mitomycin al canal) โดยใช้ร่วมกับรังสีรักษา
ตัวยาชนิดนี้ ถูกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ เราจึงพบเห็นการใช้แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น และการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ไมโตมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไมโตมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษามะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ
ไมโตมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไมโตมัยซินคือ ตัวยาจะเข้าทำลายสารพันธุกรรม อย่างเช่น RNA และ DNA ในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหมดความสามารถในการแบ่งตัวและตายลง
ไมโตมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไมโตมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่บรรจุตัวยา Mitomycin ขนาด 2 , 5 , 10 , 20 และ 40 มิลลิกรัม/ขวด ลักษณะเป็นยาผงแห้งปราศจากเชื้อ
ไมโตมัยซินมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ยาไมโตมัยซินใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิด ขนาดยาขึ้นกับแต่ละชนิดของมะเร็ง เม็ดเลือด และสภาพร่างกายแต่ละผู้ป่วย ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดยาในบางโรคมะเร็งเท่านั้น เช่น
ก. สำหรับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ:
- ผู้ใหญ่: หยอดยาเข้าทางท่อปัสสาวะขนาด 40 มิลลิกรัม ตามคำสั่งแพทย์
ข. สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับอ่อน: การใช้ยาไมโตมัยซินกับผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้จะกระทำเมื่อการใช้ยาเคมีบำบัดอื่นไม่ได้ผล หรือแพทย์พิจารณาเล็งเห็นประโยชน์จากการใช้ยานี้ร่วมกับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการทำเคมีบำบัดด้วยยาชนิดอื่นอยู่แล้ว
- ผู้ใหญ่: ก่อนใช้ยาผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์และปริมาณเม็ดเลือดว่ามีความพร้อมที่จะได้รับยาไมโตมัยซินเสียก่อน อาจต้องใช้เวลา 6–8 สัปดาห์เพื่อรอให้เลือดของผู้ป่วยมีความสมบูรณ์เต็มที่ จากนั้นให้ยาผ่านทางหลอดเลือดครั้งเดียวขนาด 20 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร
อนึ่ง:
- ทั่วไป จะไม่ใช้ยาไมโตมัยซินเป็นยาเดี่ยวเพื่อรักษาโรคมะเร็ง แต่จะใช้ร่วมกับ ยาเคมีบำบัดตัวอื่น
- การเตรียมยานี้เพื่อฉีดให้ผู้ป่วย ให้ผสมยาด้วยน้ำกลั่นปริมาณ 10, 40 หรือ 80 มิลลิลิตร ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาก่อนฉีดให้ผู้ป่วย
- กรณีพบอาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ได้รับการฉีดยา ให้ใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อลดอาการปวด แล้วรีบแจ้งแพทย์ให้ทราบโดยเร็ว
- เด็ก: ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในผู้ป่วยเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมโตมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาไมโตมัยซินต้องอาศัยความต่อเนื่อง การใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามที่แพทย์กำหนด หากผู้ป่วยไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ตามนัด ควรติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่ตรวจรักษาเพื่อทำการนัดหมายการให้ยาครั้งใหม่โดยเร็ว
ไมโตมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไมโตมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำแต่อาการนี้จะกลับมาเป็นปกติหลังหยุดใช้ยาไปแล้วประมาณ 10 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดพิษ(กดไขกระดูกรุนแรง)ต่อไขกระดูกและมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผมร่วง มีการติดเชื้อของผิวหนัง เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อปอด/ปอดอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น ระดับ Creatinine ในเลือด เพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจล้มเหลว บวมตามร่างกาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ง่วงนอน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
- ผลต่อท่อปัสสาวะ: เช่น เกิดภาวะเนื้อตายเฉพาะส่วนในท่อปัสสาวะ และอาจมีภาวะเนื้อตายเฉพาะส่วนที่องคชาติ
มีข้อควรระวังการใช้ไมโตมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโตมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการแทงเข็มฉีดยาทะลุหลอดเลือด จนทำให้ตัวยาไหลไปสัมผัสเนื้อเยื่อบริเวณรอบนอกเส้นเลือดซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นอักเสบจนอาจเกิดเนื้อตายเฉพาะส่วน
- แพทย์จะเป็นผู้กำหนดและนัดหมายการให้ยานี้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด
- ผู้ที่จะใช้ยานี้ได้จะต้องผ่านเกณฑ์การตรวจคัดกรองผลเลือดของร่างกายเสียก่อนแพทย์จะไม่ใช้ยานี้รักษามะเร็งขณะที่ระดับเลือดในร่างกายผู้ป่วยยังไม่สมบูรณ์
- มาโรงพยาบาลรับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด เช่น ดูการทำงานของไตตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- *การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิด ภาวะกดไขกระดูกรุนแรง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน กรณีนี้แพทย์จะรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไมโตมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไมโตมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมโตมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามผสมยาอื่นลงในขวดยาเตรียมของยาไมโตมัยซินเพื่อฉีดให้ผู้ป่วยพร้อมกัน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะยาเข้ากันไม่ได้กับยาไมโตมัยซิน(เช่น ยาตกตะกอน) กลุ่มยาดังกล่าว เช่นยา Aztreonam, Cefepime, Etoposide phosphate, Filgrastim, Gemcitabine, Piperacillin, Sargramostim, Topotecan, และ Vinorelbin
- ห้ามใช้ยาไมโตมัยซินร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะจะทำให้ร่างกายมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย
- ห้ามใช้ยาไมโตมัยซินร่วมกับ ยาFluorouracil ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเม็ดเลือดโดนทำลาย และมีอาการไตวายตามมา
- ห้ามใช้ยาไมโตมัยซินร่วมกับ ยาVinblastine เพราะจะก่อให้เกิดพิษต่อปอด/ปอดอักเสบของผู้ป่วย
ควรเก็บรักษาไมโตมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไมโตมัยซิน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาฉีดที่เป็นผงแห้งได้ที่อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- กรณีเตรียมยาเป็นสารละลายแล้วสามารถเก็บที่อุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียสได้นาน 1 สัปดาห์ หรือเก็บที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไมโตมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมโตมัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Mitocin (ไมโตซิน) | Dae Han New Pharm |
Vesimycin (เวซิมัยซิน) | Naprod Life Sciences |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Kyowa, Mitomycin C
บรรณานุกรม
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/mitomycin.aspx [2018,April7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mitomycins [2018,April7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/mitocin/?type=brief [2018,April7]
- https://www.drugs.com/pro/mitomycin.html [2018,April7]
- https://www.drugs.com/dosage/mitomycin.html [2018,April7]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/132#item-8769 [2018,April7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/mitocin/?type=brief [2018,April7]