ไมโคนาโซล (Miconazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไมโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไมโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไมโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไมโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ไมโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไมโคนาโซลอย่างไร?
- ไมโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไมโคนาโซลอย่างไร?
- ไมโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
- กลาก (Tinea)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไมโคนาโซล (Miconazole) คือ ยาต้านเชื้อราที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีประเภท อิมิดาโซล (Imidazole, สารประกอบที่นำมาเป็นยาฆ่าเชื้อราในกลุ่มยา Azole) ถูกพัฒนาโดยบริษัท ยาแจนเซ่น (Janssen) ในทางคลินิกยาไมโคนาโซลถูกนำไปใช้รักษาโรคเชื้อรา เช่น โรคน้ำกัดเท้า, กลาก, การติดเชื้อราบริเวณขาหนีบ, การติดเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal thrush)} การอักเสบของมุมปากด้านในที่มีสาเหตุจากเชื้อราแคนดิดา/แคนดิไดอะซิส (Angular cheilitis), รูป แบบการใช้ยานี้จะเป็นลักษณะยาครีมทาผิวหนัง ยาเจลป้ายปาก ยาผง และยาเหน็บช่องคลอด เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาไมโคนาโซลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชนที่ควรมีประจำไว้ในสถานพยาบาลต่างๆ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราในปากโดยใช้เป็นรูปแบบยาเจล และจัดยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย ดังนั้นการใช้ยานี้เพื่อการรักษาเชื้อราตามบริเวณต่างๆของร่างกายควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยามาใช้เอง
ไมโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาไมโคนาโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคติดเชื้อราที่ ผิวหนัง หนังศีรษะ และเล็บ
- รักษาการติดเชื้อราช่องปาก
- รักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด
ไมโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไมโคนาโซลคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เมมเบรน/เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell membrane: เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) ทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
ไมโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไมโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาครีมทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 10 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาครีมทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาเจลทาภายในปาก ขนาดความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาครีมที่ผสมยาสเตียรอยด์เช่น
- Miconazole nitrate 2% + Hydrocortisone 1%
- Miconazole nitrate 20 มิลลิกรัม + Triamcinolone acetonide 2 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาเหน็บช่องคลอด ขนาด 0.2 กรัม/เม็ด
ไมโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไมโคนาโซลมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น
ก. สำหรับโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 12 ปีขึ้นไป: ทายาวันละ 1 - 2 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์
ข.สำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: เหน็บยาที่ช่องคลอด 1 เม็ดก่อนนอนเป็นเวลา 3 วัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด)
*อนึ่ง ยังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไมโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาไมโคนาโซล สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไมโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไมโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- สำหรับยาทา: อาจมีอาการ
- คัน หรือแสบร้อน บวม บริเวณที่ทายา
- สำหรับยาเหน็บช่องคลอด: อาจพบอาการ
- ปวดท้อง
- มีไข้
- หรือมีกลิ่นในบริเวณช่องคลอด
- สำหรับยาชนิดป้ายปาก: อาจทำให้รู้สึก คลื่นไส้-อาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้ไมโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคนาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้เอง
- ห้ามใช้ยาไมโคนาโซลชนิดป้ายปากใน ผู้ป่วยโรคตับ และ ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน
- การใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไมโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไมโคนาโซล ร่วมกับ ยา Warfarin อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไมโคนาโซล ร่วมกับ ยารักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ เช่นยา Darifenacin จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของ Darifenacin ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาไมโคนาโซล ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาคุมกำเนิดในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเหตุให้เกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียน, ประจำเดือนผิดปกติ, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมโคนาโซล ร่วมกับ ยา Amlodipine ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ บวมน้ำ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไมโคนาโซลอย่างไร?
สามารถเก็บยาไมโคนาโซล:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง /แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไมโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมโคนาโซล มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Daktacort (ดาคทาคอร์ท) | Janssen-Cilag |
Daktarin (ดาคทาริน) | Janssen-Cilag |
Daktarin Oral Gel (ดาคทาริน ออรัล เจล) | Janssen-Cilag |
Funga (ฟังกา) | Chinta |
Funcort (ฟังคอร์ท) | Thai Nakorn Patana |
Fungi-M (ฟังจิ-เอ็ม) | Nakornpatana |
Fungisil (ฟังจิซิล) | Silom medical |
Kelaplus (เคลาพลัส) | T. O. Chemicals |
Ladocort (ลาโดคอร์ท) | L.B.S |
Lymarin (ไลมาริน) | 2M (Med-Maker) |
Micazin (ไมคาซิน) | Chew Brothers |
Miconazole GPO (ไมโคนาโซล จีพีโอ) | GPO |
Mysocort (มายโซคอร์ท) | Greater Pharma |
Nikarin (นิคาริน) | T. O. Chemicals |
Ranozol (ราโนซอล) | ST Pharma |
Skindure (สกินเดียว) | March Pharma |
Trimicon (ไตรมิคอน) | Unison |
Tara (ทารา) | Polipharm |
Timi (ทิมิ) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Miconazole [2021,June5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/miconazole%20gpo [2021,June5]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/micotran?type=full [2021,June5]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/miconazole?mtype=generic [2021,June5]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=miconazole [2021,June5]
- https://www.drugs.com/dosage/miconazole-topical.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Vaginal_Candidiasis [2021,June5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/miconazole-index.html?filter=3&generic_only= [2021,June5]
- https://www.drugs.com/international/miconazole.html [2021,June5]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601203.html [2021,June5]