ไมแอนเซอริน (Mianserin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมแอนเซอริน(Mianserin หรือ Mianserin hydrochloride) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ประเภทเอ็นเอเอสเอสเอ(NaSSA/ Noradrenergic and specific serotonergic antidepressant) ยานี้มีการออกฤทธิ์ที่สมองบริเวณตัวรับ(Receptor)ชื่อ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors นอกจากใช้เป็นยาต้านเศร้าแล้วยังใช้เป็น ยาคลายกังวล ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ/ยานอนหลับ บำบัดอาการอาเจียน และช่วยให้เจริญอาหาร

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไมแอนเซอรินเป็นยาชนิดรับประทาน เมื่อตัวยนี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 20-30% เท่านั้น ยาไมแอนเซอรินในกระแสเลือดสามารถซึมเข้าสมอง และยังผ่านเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6–40 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการใช้ยาไมแอนเซอรินให้ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ต้องรับประทานยาตรงตามเวลาและต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์

ยาไมแอนเซอริน มีข้อจำกัดการใช้เหมือนยาชนิดอื่นทั่วไป เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs หรือต้องหยุดการใช้ยาMAOIs อย่างน้อย 14 วันก่อนที่จะใช้ยาไมแอนเซอริน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่มีอาการคุ้มคลั่ง
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา ด้วยจะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาทมากขึ้น
  • กรณีที่มีโรคประจำตัว ควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยเป็น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต โรคลมชัก รวมถึงผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางศีรษะ
  • ผู้ป่วยสูงอายุจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการตัวสั่น รู้สึกสับสน ความดันโลหิตต่ำ และมีอาการวิงเวียน เป็นลมได้ง่าย

สำหรับผู้ที่ใช้ยาไมแอนเซอริน อาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการ เช่น ง่วงนอน ตัวเหลือง เต้านมโตในผู้ชาย มีอาการชัก ความดันโลหิตต่ำ อาการข้างเคียงเหล่านี้ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา

*กรณีผู้ป่วยได้รับยาไมแอนเซอรินเกินขนาด จะมีอาการหมดสติเป็นเวลานาน หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้ากว่าปกติ กรณีเช่นนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน โดยแพทย์จะให้การรักษาโดยทำการล้างท้อง

โดยทั่วไป หลังการใช้ยาไมแอนเซอรินผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยาอย่างทันทีทันใด ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายและให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดการใช้ยานี้จะเป็นการปลอดภัยที่สุด

กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุยาไมแอนเซอรินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมากจะพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

ไมแอนเซอรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไมแอนเซอริน

ยาไมแอนเซอรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดรักษาอาการโรคซึมเศร้า

ไมแอนเซอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไมแอนเซอริน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองบริเวณตัวรับ(Receptor)ของสารสื่อประสาทที่ชื่อ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors ทำให้สมองเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆให้มีปริมาณเหมาะสม ด้วยกลไกดังกล่าว สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลับมามีอารมณ์ที่เป็นปกติมากขึ้น

ไมแอนเซอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมแอนเซอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Mianserin HCl/ Hydrochloride ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

ไมแอนเซอรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไมแอนเซอรินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน หรืออาจจะแบ่งรับประทานในระหว่างวันเป็น 3 ครั้งก็ได้ และแพทย์อาจปรับขนาดการรับประทานเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30–90 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยา ผลข้างเคียง และความปลอดภัย ในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามเคี้ยวยานี้ ให้กลืนยาพร้อมน้ำดื่มอย่างพอเพียง
  • ห้ามปรับลดหรือเพิ่มขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมแอนเซอริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาไมแอนเซอรินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไมแอนเซอริน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาไมแอนเซอริน อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา

ไมแอนเซอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมแอนเซอรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ ตัวสั่น ได้ยินเสียงแว่ว/หูแว่ว
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หน้าอกโต/เต้านมโตในผู้ชาย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คัดจมูก

มีข้อควรระวังการใช้ไมแอนเซอรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมแอนเซอริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ควรเว้นระยะเวลาหยุดการใช้ยา MAOIs อย่างน้อยประมาณ 14 วันก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้เอง ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคลมชัก หรือเคยมีประวัติชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต
  • หยุดใช้ยากลุ่มนี้ทันทีถ้าพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันตามร่างกาย อึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระหว่างใช้ยานี้แล้วมีอาการง่วงนอน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมแอนเซอรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไมแอนเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมแอนเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไมแอนเซอรินร่วมกับยา Phenobarbitone, Carbamazepine, และ Phenytoin, อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไมแอนเซอรินในกระแสเลือดลดต่ำลง จนส่งกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมแอนเซอรินร่วมกับยารักษาโรคลมชัก ด้วยยาไมแอนเซอรินสามารถทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยารักษาโรคลมชักด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมแอนเซอรินร่วมกับยา Bexarotene ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไมแอนเซอรินด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมแอนเซอรินร่วมกับยา Caroxazone ด้วยจะทำให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงกับระบบประสาทผู้ป่วยจากยาไมแอนเซอรินมากขึ้น

ควรเก็บรักษาไมแอนเซอรินอย่างไร?

ควรเก็บยาไมแอนเซอริน ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ไมแอนเซอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมแอนเซอรินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Servin (เซอร์วิน)Condrugs
Tolimed (โทลิเมด)Medifive
Tolvon (โทลวอน)MSD

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Depnon,Lantanon, Lerivon, Lumin, Norval, Tetradep

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mianserin [2017,Feb18]
  2. https://www.drugs.com/uk/mianserin-10mg-tablets-leaflet.html [2017,Feb18]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/66#item-8503 [2017,Feb18]
  4. http://www.nps.org.au/__data/cmi_pdfs/CMR08064.pdf [2017,Feb18]
  5. hhttp://www.mims.com/thailand/drug/search?q=mianserin [2017,Feb18] https://www.drugbank.ca/drugs/DB06148 [2017,Feb18]